“คุ้มบ้านสร้างชุมชน พลังชุมชนสร้างชาติ”


การพัฒนาชุมชนในชนบท นักพัฒนาต้องเข้าใจชุมชนอย่างแท้จริง และการพัฒนาชุมชนให้เกิด “พลังของชุมชน”ต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องร่วมกันวางแผนงาน โครงการ หรือกำหนดกิจกรรมร่วมกัน ระหว่างผู้นำการพัฒนากับผู้นำชุมชนในทุกระดับ และร่วมกับสร้างพลังของคนในชุมชนให้เกิดขึ้น โดยมุ่งเน้น “การสร้างจิตสำนึกของคน” ในชุมชนให้เกิดความรัก ความสามัคคี และมีพลังที่จะสร้างความเข้มแข็งของชุมชนตนเอง โดยการพึ่งตนเองเป็นหลัก

                 สืบเนื่องจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสว่างอารมณ์ ได้จัดทำโครงการ “ได้ใจได้งานเยี่ยมบ้านผู้นำ” จากโครงการดังกล่าว และเหตุการณบ้านเมืองที่เกิดขึ้น ผู้นำชุมชน ซึ่งมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้นำองค์กร ร่วมกับพัฒนากร ตำบลไผ่เขียว ได้มีการพบปะพูดคุยกันในช่วงเวลาเย็นในรูปแบบการสนทนากลุ่ม และเสนอแนวทางต่างๆที่จะสานพลังความสามัคคีให้เกิดในชุมชน และมุ่งเน้นการสร้างพลังของชุมชนให้รักในท้องถิ่นและร่วมกันปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้ขอสรุปว่า “จะร่วมกันสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนเพื่อให้เกิดพลังการพัฒนาชุมชน และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” จึงได้จัดทำโครงการ “คุ้มบ้านสร้างชุมชน พลังชุมชนสร้างชาติ” ในระยะที่ 1 ขึ้นมา โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายดำเนินการใน 5 หมู่บ้าน ในระยะแรกนี้จะดำเนินการในสองเรื่องคือ

               เรื่องที่หนึ่ง สร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนในการจัดระเบียบชุมชนในเรื่องของการกระจายอำนาจการปกครองดูแลในรูปของการแบ่งคุ้มบ้าน สร้างคุ้มบ้าน จัดทำป้ายเลขที่บ้าน ป้ายกลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อเทิดไท้ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องใน “วันแม่แห่งชาติ” และ “วันพ่อแห่งชาติ” ประจำปี 2553

              ขั้นตอนการดำเนินงาน

              1)ประชุมเวทีประชาคมผู้นำชุมชน โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำกลุ่มองค์กร และพัฒนากร ร่วมกันกำหนดโครงการและพื้นที่เป้าหมาย

              - ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในหมู่ที่ 9,11,16,17 และ 22 ตำบลไผ่เขียว โดยใช้พื้นที่บ้านคลองข่อย หมู่ 11 เป็นหมู่บ้านต้นแบบ

              2)จัดประชุมเวทีประชาคมสร้างจิตสำนึกคนในชุมชนเข้ามาร่วมกันคิด วางแผน และกำหนดสถานที่ วิธีการในการสร้างจัดทำป้ายคุ้ม ป้ายเลขที่บ้าน ป้ายจุดเรียนรู้ต่างๆในชุมชน โดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น

              3)ดำเนินการจัดทำคุ้มบ้าน ป้ายเลขที่บ้าน ป้ายกลุ่มต่างๆ โดยมีพัฒนากรตำบลเป็นผู้ดำเนินการเขียนป้าย ชาวบ้านและผู้นำคุ้ม กลุ่ม กรรมการหมู่บ้านเป็นฝ่ายจัดหาวัสดุ การดำเนินงานจะใช้เวลาหลังจากชาวบ้านเสร็จภารกิจจากการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้กระทบกับอาชีพหลักของชาวบ้าน โดยไม่มีวันหยุดราชการ

             เรื่องที่สอง ส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกประชาชนในการนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเน้นให้มีการปลูกผักสวนครัวไว้กินเองทุกครัวเรือน และจัดระเบียบของชุมชนโดยการปลูกผักสวนครัวลอยฟ้าบริเวณถนนในหมู่บ้าน หรือการจัดประดับคุ้มด้วยแปลงผักสวนครัว และการสร้างศูนย์เรียนรู้ของชุมชน เช่น จุดสาธิตการใช้วิถีชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การปรับปรุงและสร้างลานค้าชุมชนเพื่อเป็นศูนย์กลางให้ประชาชนนำ ผักสวนครัว เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ต่างๆในชุมชนมาจำหน่ายเพิ่มรายได้

            ผลการดำเนินงาน(ระยะแรก)ของโครงการ

            จุดที่หนึ่ง บ้านคลองข่อย หมู่ 11 ซึ่งเป็นหมู่บ้านหลักต้นแบบ ได้มีการจัดแบ่งคุ้มบ้านออกเป็น 4 คุ้ม

            1) มีการจัดระเบียบชุมชนโดยการจัดทำแปลงผักสวนครัวบริเวณถนนในหมู่บ้าน จัดทำและปรับปรุงรั้วบ้านให้เป็นรั้วสวยงามและรั้วกินได้ ทุกครัวเรือนได้จัดทำป้ายเลขที่บ้านในรูปแบบที่ชาวบ้านร่วมกันคิดและออกแบบซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนในชุมชน

           2)จัดสร้างศูนย์เรียนรู้ของชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในด้าน ต่างๆ เช่น ด้านวัฒนธรรมประเพณีชาวอีสานด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการพัฒนาอาชีพด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งด้านวิชาการ และการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในครัวเรือนต้นแบบ

          3)การพัฒนาด้านอาชีพ ได้มีการนำทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนมาแปรรูปและพัฒนาเพื่อสร้างเป็นรายได้ เช่น นำกกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากเสื่อกก โดยการผสมผสานกันระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ และวิทยาการรูปแบบสมัยใหม่ได้ผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกออกมาจำหน่ายสร้างรายได้                                           นอกจากผลิตภัณฑ์จากแล้ว การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างรายได้มีอีกมากมาย เช่น การแกะสลักไม้ไผ่ นวดแผนโบราณ การแปรรูปอาหารจากผลิตภัณฑ์ที่ปลูกกินเอง การทำบั้งไฟ เป็นต้น  

                                                                                

          จุดที่สอง บ้านวังเกษตร หมู่ที่ 17 ได้ดำเนินการจัดแบ่งคุ้มบ้านออกเป็น 3 คุ้ม มีการจัดทำป้ายคุ้ม ป้ายบ้านเลขที่ และส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้ และจัดส่งเสริมกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ไว้กินเองและจำหน่ายเพิ่มรายได้เช่น การเลี้ยงสุกร การเลี้ยงเป็ดและไก่พันธ์พื้นเมือง ร่วมทั้งมีกิจกรรมการพัฒนาทำความสะอาดบริเวณที่สาธารณะในหมู่บ้าน


          จุดที่สาม บ้านคลองลำปางเหนือ หมู่ 16 มีการดำเนินการในการจัดแบ่งคุ้มบ้านออกเป็น 5 คุ้ม และดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านจัดระเบียบชุมชนให้มีป้ายเลขที่บ้าน ป้ายคุ้มจุดตรวจของ ชรบ. และจัดทำแปลงผักสวนครัวทุกครัวเรือน และจัดทำแปลงผักสาธิตบริเวณคุ้มบ้านในแต่ละคุ้ม


          จุดที่สี่ บ้านทุ่งยาว หมู่ 9 ซึ่งได้ดำเนินการในเรื่องของลานค้าชุมชน ซึ่งในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ จะมีศูนย์ส่งเสริมความรู้และรักษาความสงบของคนในชุมชนและคนในตำบลคือ

           1)อาคารศูนย์ซึ่งใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนตำบลในด้านการส่งเสริมทางวิชาการ การฝึกอบรมการจัดเวทีประชาคม และ ศูนย์องค์กรชุมชนตำบล

           2) อาคารจุดตรวจและดูแลความสงบของคนในชุมชนทั้งด้านยาเสพติดและการป้องกันเหตุร้ายต่างๆ

           3)ศูนย์บริการรับ-ส่งผู้ป่วยของตำบล โดยมีรถพยาบาลและพนักงานบริการ 24 ชม.

           4)เป็นลานค้าชุมชนเพื่อจำหน่ายสินค้าของคนในชุมชน

           5)เป็นสถานที่จัดกิจกรรมวันสำคัญ เช่น “วันแม่แห่งชาติ” “วันพ่อแห่งชาติ” เป็นต้น


           จุดที่ห้า บ้านบึงต้น หมู่ที่ 22 ดำเนินการจัดแบ่งคุ้มบ้านออกเป็น 7 คุ้มและได้ดำเนินการจัดทำป้ายที่ทำการคุ้มบ้าน ป้ายเลขที่บ้าน และดำเนินการจัดระเบียบในชุมชน มีการปลูกผักสวนครัว และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง


การดำเนินการโครงการ “คุ้มบ้านสร้างชุมชน พลังชุมชนสร้างชาติ” ของตำบลไผ่เขียว การดำเนินการในทุกจุดจะใช้หลักการมีส่วนร่วมการเสียสละ การทำงานแบบพี่น้อง ครอบครัว ไม่มีการแบ่งชนชั้น คือ ร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน ร่วมกันลงทุน(ทั้งแรงกายและกำลังทรัพย์) ร่วมทำกิจกรรม และร่วมกันประเมินผลความสำเร็จของงาน การทำงานจะมีการจัดทำเวทีประชาคมทุกครั้ง และในการจัดทำเวทีประชาคม และการสนทนากลุ่มย่อย จะร่วมกันสอดแทรกความรู้ ความเข้าใจ ให้กับประชาชนในเรื่องของการสร้างความสามัคคี การช่วยเหลือตนเอง การนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในครอบครัว และที่สำคัญที่สุดคือ “การสร้างพลังในการปกป้องสถาบัน หลักคือ สถาบันชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์”

หมายเลขบันทึก: 392016เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นโครงการที่ดีสามารถเป็นแบบอย่างได้ ขอบคุณมากครับ

คุณภาพเยี่ยมจริงๆคะ สมเป็นพัฒนากรมืออาชีพ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท