๗๖. ทำชีวิตให้เป็นการเรียนรู้ : การพัฒนาวิถีเรียนรู้บนการทำงานและการดำเนินชีวิต


ความรู้ในทุกสาขานับแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน จะเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ (Phenomena) อยู่ ๒ อย่างคือ ปรากฏการณ์ธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางสังคม ปรากฏการณ์ธรรมชาตินั้น แม้นไม่มีมนุษย์เข้าไปรู้และไม่มีความรู้ของมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จะมีวิถีดำเนินไปเองโดยธรรมชาติ ส่วนปรากฏการณ์ทางสังคมนั้น ต้องมีคนและการจัดการตนเองของสังคมมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง 

ส้มโอ เป็นกรณีตัวอย่างความเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่มีมนุษย์และการรับรู้ของมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ส้มโอก็เป็นอย่างที่เป็น มีธรรมชาติของตนเองในการก่อเกิด การดำรงอยู่ และเปลี่ยนแปลงไปตามครรลองของธรรมชาติ ไม่ขึ้นต่อความรู้ การปรุงแต่ง และสิ่งสมมติของมนุษย์ เราจัดการความรู้ต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวสำหรับการปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ได้ ๒ แนวทาง คือ การจัดแหล่งประสบการณ์ให้มีความหมายต่อการเรียนรู้และหล่อหลอมความเป็นพลเมืองอันพึงประสงค์ของผู้คน และการพัฒนาวิถีปฏิบัติที่หลากหลาย (Approachs) ต่อปรากฏการณ์ต่างๆ เพื่อสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีจากทุกสิ่งได้อยู่เสมอ

 

การปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ทำให้มีองค์ประกอบของคนและสังคมของมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ หากมุ่งสู่ปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ ก็จะนำไปสู่การดำเนินชีวิตบนมรรค์วิถีแห่งการเรียนรู้  ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ในความหมายหนึ่ง จึงหมายถึงการเกิดประสบการณ์และการสะสมประสบการณ์ด้วยวิธีการต่างๆ ผ่านการได้เห็น การได้ยิน การได้สัมผัส การได้กินลิ้มรส  การได้ดมกลิ่น ดังนั้น การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาผัสสะและช่องทางติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกของเราในแง่นี้ ก็จัดว่าเป็นการพัฒนาเป็นเครื่องมือและวิธีสร้างประสบการณ์ ซึ่งทำให้เราสามารถสร้างความรู้ จัดการความรู้ และพัฒนาชีวิตตนเองให้มุ่งสู่มรรควิถีแห่งการเรียนรู้ดังที่พึงประสงค์ได้

ความรู้วิธีสังเกตและเรียนรู้ กับตัวความรู้เองในฐานะที่เป็นเครื่องมือและวิธีสังเกตเพื่อรู้ปรากฏการณ์ต่างๆนั้นมีบทบาทต่อเรามาก แต่ความรู้เพื่อจัดการความรู้ที่สร้างขึ้นและเก็บสะสมไว้สำหรับใช้ร่วมกันได้ กับความรู้เพื่อจัดการวิธีสังเกตและสร้างสรรค์วิธีเกิดประสบการณ์กับส้มโอหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ก็เป็นคนละชนิด

ความรู้ที่จัดเก็บและสามารถใช้ร่วมกันได้ เมื่อขาดการบริหารจัดการที่ดี หากเป็นงานวิจัย งานวิชาการและสิ่งตีพิมพ์ ก็อาจเป็นงานขึ้นหิ้ง ขาดการนำไปใช้ ขาดการแปรไปสู่การปฏิบัติ เป็นห้องสมุดและสื่อที่ไม่มีประชาชนเข้าไปศึกษาค้นคว้าเพื่อนำเอาความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในกรณีนี้ เมื่อกล่าวถึงการจัดการความรู้ ก็อาจจะหมายถึง การพัฒนาวัฒนธรรมการอ่านหนังสือ การพัฒนาสื่อและวิธีการเข้าถึงความรู้ของกลุ่มคนที่จำเป็นต้องใช้ความรู้ การศึกษาค้นคว้าเพื่อการจัดดิสเพล์สร้างบรรยากาศการเขาถึงความรู้ในสื่อและหนังสือ เหล่านี้เป็นต้น

หากเป็นวิธีสังเกต ในวิธีคิดทางพุทธธรรม ได้แบ่งความเป็นผู้มีประสบการณ์ชีวิตอย่างมีการเรียนรู้ให้ต่างจากการผ่านวันวารชีวิตที่ไม่มีการเรียนรู้โดยเรียกว่าเป็นผู้มีรัตตัญญุตา หรือเป็นผู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตอย่างวิถีผู้เรียนรู้ และเป็นผู้รู้ด้วยความมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิต ทว่า หากขาดการจัดการความรู้เกี่ยวกับการสังเกต วิธีรู้ และวิธีจัดความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ต่างๆ คนเราก็จะเติบโตและผ่านปรากฏการณ์ต่างๆไปอย่างปราศจากการเรียนรู้ มรรควิถีการเรียนรู้ในชีวิต จึงทำให้ผู้คนรับรู้ ใช้ภูมิปัญญา และจัดการความรู้ เพื่อปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งต่างๆ ด้วยวิถีทางและบริบทที่แตกต่างกัน

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงความรู้และการจัดการความรู้นั้น จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลาย แตกต่างกันไปตามมิติและองค์ประกอบการปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการฝึกฝนการเรียนรู้และจัดการความรู้อยู่ในวิถีชีวิต

ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เราสังเกต หรือสิ่งที่ถูกรู้กับสิ่งที่เรารู้จากการสังเกตนั้น เกี่ยวข้องกันแต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน อีกทั้งองค์ประกอบพื้นฐาน ตลอดจนวิธีจัดการที่แตกต่างกันทั้งการจัดการเกี่ยวกับชนิด ช่องทาง และระดับความเข้มข้นของการปฏิสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ที่สนใจ ทำให้ปรากฏการณ์และแหล่งประสบการณ์อย่างเดียวกัน ก่อให้เกิดสิ่งที่รู้และได้ความรู้ ที่มีความแตกต่างกันได้

การจัดการความรู้ที่เน้นความเป็นชีวิตแห่งการเรียนรู้ดังที่กล่าวมาโดยลำดับในกรณีดังกล่าวนี้ จึงครอบคลุมถึงการปฏิบัติตนเองในหลายสิ่ง อันได้แก่ การพัฒนาวิธีสังเกตและความเป็นผู้สังเกต ซึ่งในยุคหนึ่งทำให้เกิดการศึกษาที่เน้น สุ จิ ปุ ลิ  การจัดการกับสิ่งที่เป็นแหล่งประสบการณ์ชีวิตหรือตัวปรากฏการณ์ การจัดการความรู้และสื่อการเรียนรู้ ตลอดจนกาารสะสมและการต่อยอดความรู้

การปฏิบัติต่อความรู้ ทำให้ตนเองได้ลงมือและสร้างประสบการณ์ชีวิตต่อยอดความรู้ ก็จะทำให้ปัจเจกสามารถเข้าถึงมิติจำเพาะตนที่ความรู้ไม่สามารถที่จัดเก็บและเข้าถึงได้ทั่วไป ไม่สามารถให้ประสบการณ์ดังกล่าวได้ ความจำเพาะตนดังกล่าว ในระดับปัจเจกก็อาจอยู่ในรูปของสิ่งทีเรียกว่าความมีฝีมือ ความมีศิลปะ ความมีปรีชาญาณ ในระดับชุมชนและกลุ่มทางสังคม ก็เรียกว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุนทางสังคม ภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีอื่น นอกจากต้องเรียนรู้เพื่อเข้าไปน้อมตนปฏิบัติเรียนรู้กับปัจเจกและชุมชนต่างๆที่สนใจ

จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาตินั้น มีความเป็นอิสระจากความรับรู้และความปรุงแต่งของมนุษย์ก็ได้ แต่ในด้านที่มนุษย์เข้าไปรู้และสร้างความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์และสิ่งต่างๆนั้น ก็ทำให้เกิดความรู้และภูมิปัญญาปฏิบัติ ความรู้และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องจึงจัดว่าเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง ดังนั้น จึงย่อมมีแบบแผนและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างหลากหลายกันได้ การคิดให้แยบคายและมุ่งปฏิบัติดีแล้วในเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ จึงเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญ และทำให้การพัฒนามรรควิถีแห่งการเรียนรู้ เป็นอีกมิติหนึ่งในวงจรการจัดการความรู้ในแง่ที่กล่าวมา

รวมทั้งทำให้กิจกรรมที่เป็นการพัฒนาด้านในของปัจเจก ทั้งการพัฒนาจิตใจ กระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการทางปัญญา หรือจิตตปัญญาศึกษา เป็นองค์ประกอบที่เกื้อหนุนกัน

รวมกันทุกมิติแล้ว ก็จะเห็นการใช้ชีวิตเป็นการเรียนรู้ นับแต่การพัฒนาจิตใจ การเจริญสติภาวนา การพัฒนาการเรียนรู้ การพัฒนาความรู้ การจัดการความรู้ การปฏิบัติ การสร้างประสบการณ์และสะสมภูมิปัญญาจำเพาะตน ผสมผสานกลมกลืนอยู่ในชีวิตการงาน ตลอดชีวิต.

หมายเลขบันทึก: 392773เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2010 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณค่ะ..จวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต..บางคนอาจยังไม่เข้าถึงและรู้แจ้งวิถีการเรียนรู้และประยุกต์ใช้ตามแนวทางข้างต้นอย่างครบถ้วน..

..สว.(สูงวัย)อย่างพี่ซึ่งเหลือเวลาน้อยแล้ว พยายามเลือกดำเนินชีวิตที่จัดการง่ายๆ ..ไม่เรื่องมาก..ไม่สร้างความต้องการที่ต้องพึ่งผู้อื่น..หมั่นเพียรฝึกสติคุมจิตไม่ให้เกิดความประมาท...ได้อ่านบันทึกนี้มีความสุขมากค่ะ..

..ทอดสายตาไปไกล..เห็นท้องฟ้าใกล้ค่ำจากห้องทำงาน..นำภาพมาฝากค่ะ...

  • ตามมาอ่านและแล้ว apple ก็แปลงร่างเป็นส้มโอสุก
  • ฮ่าๆๆ
  • สวัสดีครับคุณพี่นงนาทครับ
  • คนเขียนรูป โดยเฉพาะภาพสีน้ำมัน จะชอบท้องฟ้า เมฆ และบรรยากาศแบบนี้มากเลยละครับ
  • หากเป็นทางผ่านระหว่างเดินทางไกล ก็จะทำให้รู้สึกจิตใจเอิบอิ่ม เห็นความกว้างขวางของโลกรอบข้างดีนะครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
  • นี่ทำซ้อนกันสองวงกลมเลยได้ส้มโอนะครับ หากทำได้ก้อนเดียว ก็ต้องลดจากลูกส้มโอเป็นลูกมะนาวเลยละครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท