043 : 'เวียง' คืออะไร?


 

เกิดนึกสงสัยว่าคำว่า 'เวียง' 

เช่น เวียงพิงค์ เวียงจันทน์ เวียง-วัง-คลัง-นา ฯลฯ 

หมายถึงอะไร?

 

ลองค่อยๆ ปะติดปะต่อข้อมูลไปเรื่อยๆ น่าสนุกดี ^__^

 


1. เปิด พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ หน้า 1087 พบความหมาย 2 แบบ

เวียง ๑  น. เมืองที่มีกำแพงล้อม.  เวียงวัง  น. เมือง, วัง, เช่น จะแบ่งปันข้าวของในท้องคลัง ให้ครอบครองเวียงวังเห็นทันตา.  (สังข์ทอง).

เวียง ๒  (โบ; เลิก) น. ตำแหน่งเจ้ากระทรวงปกครองครั้งโบราณ มีหน้าที่ปกครองท้องที่ ดูแลทุกข์สุขของราษฎร.

 


2. เปิด พจนานุกรม ฉบับมติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๗ หน้า ๘๑๕ ให้ความหมายไว้สั้นๆ ว่า

เวียง น. วัง, เมือง

แต่มีอีกคำหนึ่งคือ เวียงเหล็ก ซึ่งน่าสนใจทีเดียว

เวียงเหล็ก น. ค่าย เช่น แล้วก็ให้คนในเมืองเขินแต่งตั้งเวียงเหล็ก ตั้งลำไม้และรั้วงา ตอกหอหิ้งหอเรือ ขุดคูเวียงหลวง (เงินยางเชียงแสน)

 


3. ในหนังสือ กว่าจะเป็นคนไทย เขียนโดย อาจารย์ ดร.ธิดา สาระยา หน้า 74-75 มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

        "พัฒนาการของการตั้งหลักแหล่งในที่ราบลุ่มเชียงราย เป็นข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งซึ่งยืนยันให้เห็นความสำคัญและความเก่าแก่สืบเนื่องมาโดยตลอดของเมืองพะเยา กล่าวคือ ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้วที่ชุมชนซึ่งตั้งหลักแหล่งบนไหล่เขาเนินเขา จะสร้างศูนย์กลางที่เรียกว่า เวียง มีคูน้ำลึก กำแพงสูงล้อมรอบ เป็นที่มั่นหลบภัยยามมีศึกสงคราม

         หลักฐานทางเอกสารที่กล่าวถึงการเกณฑ์คนไปรักษาเวียงในยามมีศึกสงคราม ล้วนแสดงให้เห็นว่าเวียงในที่ราบลุ่มเชียงรายและเชียงใหม่มีความสำคัญในเรื่องการเป็นที่มั่นที่หลบภัยในยามมีศึกสงคราม

         ความแตกต่างระหว่างเวียงในภาคเหนือกับภาคอื่นๆ ก็คือ ในภาคอื่นๆ เวียงอาจทำหน้าที่เป็นตัวเมืองอันเป็นที่ทำงานของรัฐ เป็นสถานที่ประทับของกษัตริย์ ตลอดจนที่อยู่ของขุนนาง ข้าราชการ และย่านการค้าข้ายของพวกพ่อค้าวาณิชได้ แต่ว่าเวียงในภาคเหนือนั้นไม่ทุกแห่งที่เป็นตัวเมือง เพราะการตั้งเวียงอยู่บนไหล่เขาหรือเนินเขา ห่างไกลจากลำน้ำลำธารและแหล่งเพาะปลูก ไม่อาจเป็นที่อยู่อาศัยถาวรของชุมชนได้ เช่นเมืองพร้าวในเขตติดต่อกับที่ราบลุ่มเชียงใหม่

         เพราะฉะนั้นจึงทำความเข้าใจได้ว่า เวียงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นการดำรงอยู่ร่วมกันของสังคมในที่ราบลุ่มตามหุบเขา ที่จำเป็นต้องมีระบบป้องกันตัวเองอย่างมีแบบแผนและรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ทั้งด้านกายภาพและด้านสังคม โดยเฉพาะด้านสังคมนั้นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนแต่ละแห่งแยกกันอยู่อย่างโดดๆ และค่อนข้างมีความเป็นอิสระต่อกัน ซึ่งในขณะเดียวกันก็อาจขัดแย้งและสู้รบกันได้

         จึงสันนิษฐานได้ว่า ในระยะแรกเริ่มของการรวมตัวของชนเผ่าในที่ราบลุ่มเชียงราย ก่อนที่จะมีอิทธิพลของศาสนาและอารยธรรมแบบอินเดียแพร่หลายเข้ามาทำให้เกิดการบูรณาการทางวัฒนธรรมและเมืองขึ้นนั้น การสร้างเวียงขึ้นเป็นที่พำนักหรือที่มั่นในยามมีข้าศึกมาจู่โจม คือจุดเริ่มต้นของการรวมตัวของกลุ่มชนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน คนในชุมชนเหล่านั้นคงมีหลายเผ่าพันธุ์มาสังสรรค์และอยู่ร่วมกัน

 

         เมืองพะเยามีลักษณะเป็นทั้งเวียงดังกล่าวมานั้น และเป็นตัวเมืองอันเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของชุมชนด้วย บริเวณที่เป็นทั้งเวียงและตัวเมืองนี้มีเอกสารกล่าวถึงอยู่หลายแห่ง ที่สำคัญคือ เวียงพะเยา เวียงเชียงแสน เวียงเชียงราย ซึ่งต่างเป็นเมืองสำคัญที่มีลักษณะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม เพราะเมืองเหล่านี้อยู่บนเส้นทางคมนาคมกับบ้านเมืองภายนอก ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองทั้งสามแห่งอาจพิจารณาได้ดังต่อไปนี้"

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

 


4. น้องเอก-จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจจากมุมมองของคนเหนือ ในช่องความคิดเห็น #4 ดังนี้ (ตัวอักษรสีน้ำตาล)

หากเป็นคนเหนือเเบบผมก็จะคุ้นชินคำว่า "เวียง"ครับ 

ตั้งเเต่เด็กด้วยความเป็นเด็กบ้านนอก อยู่ปายก็อยู่ห่างจากปาย ๗ กม.  หากเราจะเข้า "เวียง" เมื่อไหร่ก็ดีใจมากที่จะได้ไปเจอเเสงสี ความเจริญ

เราเรียก ตัวเทศบาลปาย ว่า "เวียง" ด้วยครับ "เวียงปาย"

 เเละหากจะตื่นเต้นมากกว่าเดิม (แบบดีใจจนนอนไม่หลับ ประสาเด็ก) ก็คือคุณพ่อคุณเเม่จะพาไปเที่ยว "เวียงเจียงใหม่" (เมืองเชียงใหม่) ครับ

 

   โดยนัยนี้ เวียง บ่งถึงความเป็นบ้านเป็นเมือง & ความเจริญนั่นเอง - ขอบคุณน้องเอกมากครับ

 


5. คุณอัฐ-พงศธร กิจเวช ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ในช่องความคิดเห็น #7 ดังนี้

ที่ อ.เมือง เชียงใหม่ ถ้าบอกว่า "เวียง" จะหมายถึง เขตตัวเมืองเก่า เป็นรูปจัตุรัส มีกำแพงและคูเมืองล้อมรอบ ตัวอย่างเช่น "วัดพระสิงห์อยู่ในเวียง วัดสวนดอกอยู่นอกเวียง"

ตามพจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง 2547 หน้า 692 นิยามความหมายของคำว่า "เวียง" ไว้ว่า "น๑. รั้วเพนียด, กำแพง, ป้อมค่ายทหาร, เมืองชั่วคราว, เมืองขนาดเล็ก, เมือง น๒. เรียกแหล่งที่มีคนหนาแน่นหรือแหล่งความเจริญภายในกำแพงเมืองว่า ในเวียง คู่กับ บ้านนอกคือบ้านที่อยู่นอกกำแพงเมือง ว. ทิศใต้ (ว.มอญ-เขมร)"

คำว่า "เวียง" เข้าใจว่าใกล้เคียงกับคำว่า "เชียง" ที่แปลว่าเมือง บางครั้งใช้ด้วยกันเช่น "เวียงเชียงใหม่" หรือออกเสียงเป็นภาษาเหนือว่า "เวียงเจียงใหม่" (ภาษาเหนือไม่มีเสียง ช ช้าง)

ขอบคุณคุณอัฐ ไว้ ณ ที่นี้ครับ



เพื่อนๆ ท่านใดมีข้อมูล หรือข้อคิดเห็น ก็ฝากไว้ได้เลยครับ

เราจะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ^__^


 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เวียง
หมายเลขบันทึก: 393645เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2010 05:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

วิเคราะห์ได้ความรู้ความเข้าใจดีมากครับ ขอบคุณ

ดีจังเลยครับพี่ชิว ที่เหนือมีคำว่าเวียงมากกว่า แต่ เอ ที่ใต้ มีเวียงสระ ฮ่าๆ

พี่ชิวครับ

หากเป็นคนเหนือเเบบผมก็จะคุ้นชินคำว่า "เวียง"ครับ 

ตั้งเเต่เด็กด้วยความเป็นเด็กบ้านนอก อยู่ปายก็อยู่ห่างจากปาย ๗ กม.  หากเราจะเข้า "เวียง" เมื่อไหร่ก็ดีใจมากที่จะได้ไปเจอเเสงสี ความเจริญ

เราเรียก ตัวเทศบาลปาย ว่า "เวียง" ด้วยครับ "เวียงปาย"  เเละ หากจะตื่นเต้นมากกว่าเดิม(แบบดีใจจนนอนไม่หลับ ประสาเด็ก)ก็คือคุณพ่อคุณเเม่จะพาไปเที่ยว "เวียงเจียงใหม่"(เมืองเชียงใหม่) ครับ

 

 

ผมทึ่งพี่ชิวจัง พี่เป็นนักวิทยาศาสตร์ เเต่พี่สนใจภาษาศาสตร์ด้วย

สวัสดีครับ

      ครูหยุย : ขอบคุณมากครับ ถ้าพบข้อมูลเพิ่มเติม ก็ชี้แนะ link หรือฝากข้อความไว้ได้นะครับ

      อ.แอ๊ด 014 : เวียงสระ อยู่ไหนเอ่ย น่าสืบค้น...

      น้องเอก : แจ๋วไปเลย พี่ขอแฮ้บไปไว้ในข้อ 4 นะคร้าบ (ปล. ยังไม่เคยไป เวียงปาย แต่จะหาโอกาสไปให้ได้)

ลองไปค้น เวียงสระ ที่ อ.แอ๊ด-ขจิต ได้พาดพิงถึง

พบว่าเป็นชื่อตำบลและอำเภอ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดูข้อมูล Wiki

ที่ อ.เมือง เชียงใหม่ ถ้าบอกว่า "เวียง" จะหมายถึง เขตตัวเมืองเก่า เป็นรูปจัตุรัส มีกำแพงและคูเมืองล้อมรอบ ตัวอย่างเช่น "วัดพระสิงห์อยู่ในเวียง วัดสวนดอกอยู่นอกเวียง"

ตามพจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง 2547 หน้า 692 นิยามความหมายของคำว่า "เวียง" ไว้ว่า "น๑. รั้วเพนียด, กำแพง, ป้อมค่ายทหาร, เมืองชั่วคราว, เมืองขนาดเล็ก, เมือง น๒. เรียกแหล่งที่มีคนหนาแน่นหรือแหล่งความเจริญภายในกำแพงเมืองว่า ในเวียง คู่กับ บ้านนอกคือบ้านที่อยู่นอกกำแพงเมือง ว. ทิศใต้ (ว.มอญ-เขมร)"

คำว่า "เวียง" เข้าใจว่าใกล้เคียงกับคำว่า "เชียง" ที่แปลว่าเมือง บางครั้งใช้ด้วยกันเช่น "เวียงเชียงใหม่" หรือออกเสียงเป็นภาษาเหนือว่า "เวียงเจียงใหม่" (ภาษาเหนือไม่มีเสียง ช ช้าง) ดูแผนที่เวียงเชียงใหม่ http://maps.google.com/maps?f=q&source=s_q&hl=en&geocode=&q=Chiang+Mai+Thailand&sll=37.0625,-95.677068&sspn=54.269804,79.013672&ie=UTF8&hq=&hnear=Chiang+Mai,+Thailand&ll=18.789643,98.986387&spn=0.032056,0.038581&z=15

สวัสดีค่ะ   มาเรียนรู้ค่ะ

สวัสดีครับ

        คุณอัฐ : ขอบคุณมากครับ ได้นำข้อมูลไปประดับไว้ในบันทึกแล้ว ช่วยเติมเต็มบันทึกนี้ได้เป็นอย่างดี ^__^

        อ.อรวรรณ : ดีใจที่ได้คุยกันอีกครับ เมื่อเดือนก่อนผมไป พิพิธภัณฑ์สิรินธร มาด้วยครับ 

สวัสดีค่ะ อ.ดร.ชิว

ข้าเจ้าเป็นสาวเวียงเจียงใหม่เจ้า...

คุ้นกับคำว่าเวียงมาแต่เด็กเลยค่ะ...เวลาใครถามว่าไปไหน ไปไหน  ก็จะบอกว่า ไปแอ่วเวียงเจ้า....^^

สวัสดีครับ พี่ชิว

ที่นนทบุรี อ.บางกรวย มี "บางคูเวียง" ด้วยครับ

เวียง คือ เมืองใหญ่ ตามความหมายของคุณเอก

อยู่เชียงใหม่คุ้นเคยกับคำว่า "เข้าเวียง" ครับ (บอกรถแดง)

เวียงที่มีกำแพงเมืองล้อมรอบ มีคูเมือง มีแจ่งต่าง ๆ ตามมุมเมือง

;)

ขอแถมคำว่า "พิงค์" ก็คือ "ปิง" หรือแม่น้ำปิงนั่นเอง เชียงใหม่มีอีกชื่อหนึ่งว่า "นครพิงค์" หรือ "เวียงพิงค์" หมายถึง เมืองแห่งแม่น้ำปิง

คำว่า "ปิง" นี้แปลกดี เพราะออกเสียงอย่างหนึ่ง เขียนอีกอย่างหนึ่งคือ ออกเสียง "ป" แต่เขียนด้วยตัวอักษรล้านนาใช้ตัว "พ" เป็น "พิง" ไม่ใช้ตัว "ป" เพราะถ้า ใช้ตัวอักษรล้านนา "ปิง" จะหมายถึง "ปลิง" ที่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มาเกาะดูดเลือด ส่วน "ค์" ที่เติมท้ายนั้น มาจากการผูกศัพท์ภาษาบาลี "พิงคนคระ"

อ้างอิงจาก พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง 2547 หน้า 506

  • สวัสดีครับ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ
  • ขอบคุณครับ สำหรับ "เวียง"
  • ผมเคยไปเที่ยว อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
  • ชื่อเทศบาลว่า "เทศบาลตำบลเวียงฝาง"
  • ผมเป็นอยู่บุรีรัมย์ มีเพื่อนชื่อ เอกภพ  ธนบุญสมบัติ

  • รบกวนอาจารย์ เป็นครั้งที่สอง ครับ
  • อยากทราบข้อมูล การอบรมการพับกระดาษแบบออริงามิ ครับ
  • อยากพาเด็กๆ  ที่ ร.ร.ไปฝึกด้วยครับ
  • แนะนำด้วยนะครับ

สวัสดีครับ

         อิง : ดูเหมือน 'เวียงเจียงใหม่' เป็นคำที่ใช้กันมานาน และยังคงใช้อยู่นะครับ ^__^

         อ.หมู : น่าสนใจเหมือนกันว่า 'เวียง' ใน 'บางคูเวียง' มีความหมายเหมือนกับที่พูดๆ กันมาหรือไม่

         อ.เสือ : 'แจ่ง' คืออะไรเอ่ย?

         อัฐ : ขอบคุณมากครับ พิงค์ = ปิง คำเดียวกัน ^__^

 

สวัสดีครับ อ.ฐานิศวร์

        คุณเอกภพ น่าจะเป็นญาติอีกสายหนึ่งครับ

        เรื่องพับกระดาษนี่ อาจทำได้ 2 ช่องทางครับ

             1) เชิญวิทยากรไปสอนที่โรงเรียน : อาจเป็นวิทยากรจาก ชมรมนักพับกระดาษไทย (ลอง Google ดูได้) หรือ ผม (ต้องเตรียมงานล่วงหน้า)

             2) พาเด็กนักเรียนมาเข้าค่ายแบบ 1 วัน (One-day camp) ที่ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร (ที่ทำงานของผม) ครับ

                      ดูข้อมูลจากเว็บ : http://www.nstda.or.th/ssh/

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับ อ.ฐานิศวร์

          ลองเข้าเว็บ http://portal.in.th/origami เพื่อดูตัวอย่างกิจกรรมที่ผมเคยจัด (อยู่ในหัวข้อ สัมมนาเชิงปฏิบัติการ) ส่วนเบอร์มือถือของผม 081-42-42-010 ครับ

คิดถึงเวียงเจียงใหม่หลายๆ เจ้าอ. หมอเมฆ  จาก เวียงใจ ณ อันดามัน ;)

  • ขอบคุณ อาจารย์บัญชา มากครับ
  • ที่ให้ความกรุณาข้อมูลที่เป็นประโยชน์

น้องปูพูดได้หลายภาษาเลยนะครับเนี่ย ^__^

ด้วยความยินดีครับ อ.ฐานิศวร์ ^__^

อาจารย์ไปเที่ยวหรือไปทำงานคะ

เสียดายจริงๆ ที่ไม่มีโอกาสได้ต้อนรับ

ที่บ้านครูอรวรรณ  เปิดร้านอาหารใหม่ค่ะ  อยู่ริมถนนสายกาฬสินธุ์

ไว้โอกาสหน้า เมล์บอกล่วงหน้าบ้างนะคะ

จะขอจองตัวไปที่โรงเรียนด้วยและที่บ้านด้วยนะคะ

 

แจ่ง คือ หัวมุมกำแพงเมือง และมีคูน้ำอยู่ด้วย เพื่อป้องกันข้าศึกในสมัยโบราณ

เช่น แจ่งหัวริน แจ่งกะต้ำ ฯลฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท