นปส.55 (46): ง่วงเหงาหาวนอน


การทำงานมีผลงานแล้วต้องรู้จักเผยแพร่ผลงานเป็นให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย ต้องทำงานแบบ “ไก่ไข่” ที่ก่อนไข่ขณะไข่หลังวางไข่แล้วก็จะร้องเสียงดังให้คนได้ทราบ อย่าทำงานแบบ “ปลาวางไข่” ที่วางไข่ในน้ำขุ่นใครๆมองไม่เห็น

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 14 ของการฝึกอบรมแล้ว ช่วงเวลาที่ผ่านมาที่พวกเราเข้าชั้นเรียนเพื่อฟังบรรยาย เสวนา สนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนั้น บรรยากาศในห้องเรียนจึงมีทั้งสนุกสนาน เงียบและหลายคนก็อาศัยเป็นช่วงพักผ่อนในขณะฟังบรรยาย ผมก็เป็นคนหนึ่งที่แอบงีบหลับในชั้นเรียนบ่อยๆ พอตื่นมาแล้วก็ต้องรีบอ่านเอกสารเพื่อติดตามเนื้อหาให้ทัน

ผมลองวิเคราะห์สาเหตุของการง่วงหลับในเวลาเรียนน่าจะมาจากหลายปัจจัยทั้งตัวผู้เรียนเองที่อาจจะไม่สนใจเนื้อหา หรืออ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ยิ่งต้องตื่นแต่เช้ามืดมาออกกำลังกายด้วยแล้วอาจจะทำให้เพลียและงีบหลับได้ง่ายปัจจัยด้านสถานที่ก็มีผลเพราะห้องเรียนเป็นแบบโรงหนัง เก้าอี้นั่งสบาย เอนพิงได้สะดวก รองรับสรีระร่างกายได้อย่างดี การเปิดไฟสลัวๆเพราะต้องฉายสไลด์ทำให้บรรยากาศเป็นใจต่อการหลับอย่างมาก ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือตัวผู้บรรยายที่อาจพูดไม่น่าสนใจ เสียงเบา เสียงค่อย น่าเบื่อหรือพูดเรื่องง่ายให้เข้าใจยาก เป็นต้น ช่วงเวลาที่ผ่านมาของการเรียนและการทำกิจกรรมมีเพื่อนๆหลายคนที่เป็นคนสนุกสนาน พูดคุยสร้างบรรยากาศในห้องเรียนได้อย่างดีเช่น  พี่ชู พี่หน่อง พี่โต ในขณะที่หลายคนก็สนใจเรียนรู้อย่างเงียบๆเช่นพี่หลอง พี่ช้าง เป็นต้น

สัปดาห์ก่อนได้ไปศึกษาเรียนรู้ชุมชนบ้านนาจาน กลุ่มได้พยายามสรุปบทเรียนที่ได้รับจากการศึกษาเรียนรู้จริงในชุมชน ได้ดังนี้

1)   ชุมชนบทแม้จะล้าหลังห่างไกลความเจริญจากแสงสีสมัยใหม่แต่กับอบอวลไปด้วยมิตรภาพไมตรีจิตและสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเครือญาติซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่ทรงคุณค่ายิ่ง

2)      ยิ่งวางแนวทางการพัฒนาไปตามกระแสทุนนิยม ชีวิตยิ่งห่างไกลการพัฒนาแบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตพอเพียง ภาครัฐจึงควรหันกลับมาพิจารณาทุนทางสังคมของแต่ละชุมชนแล้วช่วยกันเสริมพลังและเสริมส่วนขาดให้ชุมชนมีความเข้มแข็งบนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียงตามบริบทของชุมชน

3)      ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายสิ่งหลายอย่างกำลังสูญหายไปเพราะมีคนเห็นคุณค่าแต่ไร้คนสืบทอด เนื่องจากเยาวชนรุ่นใหม่ถูกกระแสทุนนิยมกระชากออกไปจากชุมชนบ้านเกิด

4)      ชีวิตพอเพียงเป็นสิ่งที่ชาวเมืองเอามาพูดกันในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ชนบทเขาเอามาปฏิบัติกันเป็นวิถีชีวิตมานานแล้ว การจะไปบอกให้ชาวบ้านดำรงชีวิตพอเพียง ข้าราชการเองควรต้องปฏิบัติให้ได้ก่อนจึงจะไปสอนชาวบ้านได้

5)      ชุมชนมีระบบจัดการของชุมชนเองที่คอยค้ำจุนชุมชนให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข การเข้าไปจัดตั้งองค์กรใดองค์กรหนึ่งขึ้นมาด้วยความปรารถนาดีแต่ขาดความเข้าใจวิถีแห่งชุมชนอาจนำมาซึ่งผลลบที่กระทบต่อชีวิตของคนในชุมชนได้

6)      ชาวบ้านเขาอยู่ของเขาดีแล้ว เราอย่าไปเจ้ากี้เจ้าการ สั่งการให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้เลย เพียงรอดูว่าเขาขาดอะไร ร้องขออะไรก็พยายามหนุนช่วยเขา แค่นี้ก็ทำให้เขาอยู่กันได้อย่างปกติสุขแล้ว

7)      ความรู้กับปัญญาไม่เหมือนกัน เวลาเราลงไปในหมู่บ้าน เราอาจจะดูถูกชาวบ้านว่าเขาไม่มีความรู้เพราะเขาเรียนน้อยกว่าเรา แต่จริงๆแล้วแม้ชาวบ้านไม่มีปริญญาแต่เขาก็มีปัญญา “ความรู้จึงดูกันที่ปริญญา แต่ปัญญาดูที่การปฏิบัติ” การปฏิบัติของชาวบ้านบ่งชี้ได้ว่าเขามีปัญญามากมาย

พี่ชูหรือชูศักดิ์ อนุศักดิ์เสถียร ผู้เชี่ยวชาญระดับ12 (ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นคนสนุกสนานเป็นกันเอง พูดเก่ง น่ารัก ใจดี ถ้าได้พูดด้วยแล้วอาจพูดไม่ทัน พี่ชูไม่ถือตัวและมักถูกเพื่อนๆแกล้งหรืออำบ่อยๆ

พี่หน่องหรือชัยสิทธิ์ วรคำแหง อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เป็นคนสนุกสนาน พูดคุยสร้างบรรยากาศได้ดี ชอบแซวคนนั้นคนนี้ ชอบอำ มีคำถามสนุกๆมาชวนให้ขำกันอยู่เสมอ พี่หน่องเป็นคนสนุกสนานแต่ก็ตั้งใจเรียนมาก

พี่หลองหรือฉลอง ของเดิม  ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี บุคลิกเป็นคนเงียบๆ สบายๆ แต่ก็ยิ้มง่าย พูดคุยเป็นเรื่องเป็นราวๆ ไม่ถือตัว เป็นลักษณะผู้ใหญ่ใจดี

พี่ช้างหรือชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทะเบียนที่ดิน สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน กรมที่ดิน เป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มเก่ง เป็นมิตร พูดเล่นพูดแซวกันได้ ไม่ถือตัว ผมกับพี่ช้างสนิทกันเพราะอยู่หมู่นกเค้าแมวด้วยกันและนอนในค่ายพักแรมด้วยกัน พี่ช้างเป็นคนคุยสนุก

พี่โตหรือคณกร เครือสุวรรณ นายอำเภอปากชม จังหวัดเลย เป็นผู้สร้างบรรยากาศของรุ่นให้สนุกสนานได้อีกคนหนึ่ง เป็นกันเองกับเพื่อนๆ คุยสนุก

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2553 ช่วงเช้ารายวิชายุทธวิธีการให้บริการที่เป็นเลิศ โดยอาจารย์โสภณ หงส์ทอง เป็นการนำแนวคิดการพัฒนาคุณภาพบริการมาใช้ในงานบริการของภาครัฐ ผมเคยเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพองค์กรหลายครั้งทั้งที่เกี่ยวกับการประเมินรับรองคุณภาพโรงพยาบาล การพัฒนาตามแนวทางการบริหารภาครัฐสู่ความเป็นเลิศ (PMQA) และกิจกรรม 5 ส ผมพบว่า "คนเราให้ความสนใจกับรูปแบบการพัฒนาคุณภาพบริการมากกว่าแนวคิดหลักการสำคัญ จึงทำให้เราไปติดกับรูปแบบกิจกรรมกันมาก"

คุณภาพการบริการมีความเป็นนามธรรมสูงมาก จับต้องได้ยาก วัดโดยใช้ความรู้สึกของลูกค้าหรือผู้รับบริการ เตรียมไว้สำรองก่อนส่งมอบไม่ได้ จะต้องจัดบริการขณะส่งมอบเท่านั้น ทำผิดแล้วย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้ ลูกค้าจะประเมินคุณภาพไปทุกจุดของการบริการถ้าไปพบสิ่งไม่ดีหรือบกพร่องแค่จุดหนึ่งลูกค้าก็จะตัดสินว่าบริการทั้งหมดนั้นไม่ดีไปเลย ทำให้การพัฒนาคุณภาพบริการทำได้ยาก จะทำการควบคุมคุณภาพ (QC: Quality control) ก็ไม่ได้เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ก่อนเหมือนสินค้าทั่วๆไป ที่เมื่อตรวจพบข้อผิดพลาดแล้วก็เปลี่ยนอันใหม่ให้ลูกค้าไป แต่บริการทำไม่ได้ ไม่สามารถดึงบริการอันเดิมถอยกลับมาปรับแก้แล้วส่งกลับไปให้ลูกค้าใหม่ได้ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมตรวจสอบกระบวนการต่างๆในระบบบริการให้ดีให้เชื่อใจได้ว่าจะส่งบริการให้ลูกค้าได้อย่างดี ซึ่งเป็นที่มาของการประกันคุณภาพ (QA: Quality assurance)

ผมชอบแนวคิดของฟิลิป ครอสบี้ ที่กล่าวว่า “คุณภาพคือการตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า” ซึ่งให้หลักการในการพัฒนาคุณภาพได้ดีมาก ถ้าเราจะทำเรื่องคุณภาพ เราจะต้องรู้จัก “ลูกค้า” ก่อน ทั้งลูกค้าภายในและลูกค้าภายนอก ทั้งลูกค้าทางตรงและลูกค้าทางอ้อม พอรู้จักลูกค้าแล้วเราก็จะต้องไปค้นหา “ความต้องการ” และ “ความคาดหวัง” ของลูกค้าออกมาเพื่อส่งมอบบริการให้ตรงใจเขาได้ โดยความต้องการลูกค้าจะบอกเราแต่ความคาดหวังเขามักจะไม่บอก เราต้องค้นหาเอาเอง การจัดบริการที่มีคุณภาพแบบมุ่งเน้นลูกค้าจะทำได้ 2 แบบคือแบบ “Product out” ผลิตสินค้าหรือบริการที่คิดว่าลูกค้าต้องการ กับ “Market in” คือออกไปสืบเสาะหาความต้องการของลูกค้าแล้วจึงมาผลิตสินค้าหรือจัดบริการให้ตรงตามนั้น

อีกแนวคิดหนึ่งก็คือของอาจารย์ชูชาติ วิรเศรณี ที่กล่าวว่า “คุณภาพไม่ใช่แค่การไม่บกพร่อง ไม่ผิดพลาด ไม่มีปัญหาเท่านั้น แต่คุณภาพคือการทำให้เกิดคุณลักษณะที่สำคัญ 3 ประการในต่างเวลากันในใจของลูกค้าคือยอมรับ อยากได้และชื่นชม” เมื่อยังไม่ต้องการใช้บริการก็ยอมรับว่าบริการของเราดี เมื่อจำเป็นต้องใช้บริการก็อยากมาใช้บริการกับเราและเมื่อได้มาใช้บริการแล้วก็ชื่นชมว่าบริการของเราดีจริงสมคำร่ำลือ

การทำงานให้มีคุณภาพตามที่กล่าวมาเป็นการทำงานตามใจผู้มารับบริการ แต่หากต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วยแล้ว จะรอให้ลูกค้าชื่นชมอย่างเดียวก็อาจไปไม่ถึงหูเจ้านายหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือผู้รับบริการกลุ่มอื่นๆที่อาจไม่ได้ยินได้ฟังหรือข้อมูลไปไม่ถึง จึงต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ไปประกอบด้วย นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก อดีตนายอำเภอแหวนเพชรสองวง ได้บรรยายให้หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดจังหวัดตากฟังเมื่อคราวมารับตำแหน่งใหม่ว่า “การทำงานมีผลงานแล้วต้องรู้จักเผยแพร่ผลงานเป็นให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย ต้องทำงานแบบ “ไก่ไข่” ที่ก่อนไข่ขณะไข่หลังวางไข่แล้วก็จะร้องเสียงดังให้คนได้ทราบ อย่าทำงานแบบ “ปลาวางไข่” ที่วางไข่ในน้ำขุ่นใครๆมองไม่เห็น

วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม 2553 ช่วงเช้าเรียนรายวิชา บทบาทของฝ่ายปกครองกับการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน โดย ศ. (พิเศษ) ดร. จรัญ ภักดีธนากุล อาจารย์บรรยายดีมาก น่าสนใจ ช่วงบ่ายเรียนรายวิชา ประสบการณ์นักปกครองกระทรวงมหาดไทย: การบริหารราชการจังหวัดแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ โดยอาจารย์สุธี มากบุญ

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2553 รายวิชา การค้ามนุษย์ โดยคุณปวีณา หงสกุล ซึ่งบรรยายได้น่าสนใจ การค้ามนุษย์มีมาตั้งแต่สมัยโบราณที่มีการค้าทาส พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ผู้หญิงได้มีโอกาสศึกษามากขึ้นจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการเลิกทาส ทำให้การค้ามนุษย์ในรูปแบบทาสที่เป็นที่ยอมรับของสังคมหายไป แต่การค้ามนุษย์ก็ยังคงมีอยู่ เพราะการค้ามนุษย์เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลและเป็นปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นการใช้อำนาจเงินในการสร้างอิทธิพลในการค้ามนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่สมัยก่อนเน้นไปที่การค้ามนุษย์เพศหญิง เพื่อนำไปบังคับข่มขู่ให้ขายบริการทางเพศ

สถานการณ์ในปัจจุบัน ปัญหาการข่มขืน อนาจาร ทารุณกรรม กักขัง การล่อลวงค้าประเพณี และมีการเพิ่มขึ้นของการล่อลวงทางสื่อโทรคมนาคมและอินเตอร์เน็ต การทำงานปราบปราม ต้องอาศัยความร่วมมือบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการและภาคประชาชน เพราะขบวนการค้ามนุษย์มีเครือข่ายอิทธิพลโยงใยกว้างขวางมาก และผู้บริหารบ้านเมืองมักมีความละอายไม่ค่อยพูดถึง

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 เน้นการพัฒนาคน มุ่งสนใจพัฒนาและเห็นคุณค่าของศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งประสบปัญหาจากแผนพัฒนาฯฉบับก่อนๆที่เน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ไม่ค่อยสนใจด้านสังคม จนเกิดปัญหาตามมามากมาย พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีและ พ.ร.บ. การค้ามนุษย์ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมีขอบข่ายประกอบด้วยการต้มตุ๋นแรงงาน แรงงานทาส การค้าประเวณี การล่อลวงทางอิเล็กโรนิกส์ การกักขังหน่วงเหนี่ยว การทารุณกรรม และการข่มขืนอนาจาร

ช่วงสัปดาห์นี้ ถือเป็นสัปดาห์หฤโหดเพราะพวกเราส่วนใหญ่ต้องรีบเร่งจัดทำรายงานการศึกษาอิสระส่งให้ทันภายในวันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคมนี้ ตอนแรกพวกเราเข้าใจว่าจะให้ส่งหลังจากเข้าพรรษาแล้ว หลายคนจึงอดตาหลับขับตานอน นั่งวิเคราะห์เรียบเรียงรายงาน และเดือดร้อนไปถึงอาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละท่านก็พลอยวุ่นไปด้วยเพราะมีการขอคำปรึกษากันอย่างถี่ยิบ ทั้งทางโทรศัพท์และทางอีเมล์ ผมก็ส่งเมล์ปรึกษาอาจารย์แก้ว (จรัญญา) ถี่และกระชั้นชิดมาก เพื่อขอให้อาจารย์ช่วยให้คำแนะนำในการเรียบเรียงเนื้อหาและการวิเคราะห์สังเคราะห์ อาจารย์แก้วก็ช่วยตอบเมล์ให้คำแนะนำอย่างรวดเร็วมากและอาจารย์ให้ข้อเสนอแนะที่ดีมากและเป็นมิตรมาก ทำให้ได้แนวทางการปรับปรุงได้ดีและรวดเร็วภายในเวลาที่เร่งรัดนี้ได้

ผมโชคดีได้เจออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หรือไอเอสที่เป็นกันเอง ทำให้ไม่กลัวที่จะปรึกษา เวลาตัวเองไปเป็นที่ปรึกษาก็จะพยายามเก็บเอาสิ่งดีๆจากอาจารย์หลายๆท่านโดยเฉพาะการแนะนำที่เป็นมิตร ชี้แนะถึงความเป็นไปได้และให้โอกาสเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างเรากับนักศึกษา เกิดเป็นบรรยากาศสบายๆ ไม่เครียด คนจะปลดปล่อยพลังศักยภาพในตัวออกมาได้ง่ายกว่าบรรยากาศเคร่งเครียดกดดันหรือกลัว

การเขียนรายงานการศึกษาอิสระมีรูปแบบคล้ายๆวิทยานิพนธ์ ประกอบด้วย คำนำ สารบัญ สารบัญตาราง สารบัญแผนภาพ บทนำ แนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง วิธีดำเนินการศึกษา ผลการศึกษา สรุปอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ เอกสารอ้างอิง และภาคผนวก (ภาคผนวก ก แบบสัมภาษณ์ ภาคผนวก ข ประวัติผู้วิจัย) ผมเพิ่มในส่วนของบทคัดย่อ (ภาษาไทย) บทคัดย่อ (ภาษาอังกฤษ) และกิตติกรรมประกาศ

ในส่วนของเนื้อเรื่องแบ่งเป็น 5 บท มีรายละเอียด ดังนี้

บทที่ 1 บทนำ

1.1    สภาพและความสำคัญของปัญหา     

1.2    วัตถุประสงค์ของการศึกษา               

1.3    ขอบเขตการศึกษา   

1.4    กรอบแนวคิดในการวิจัย

1.5    นิยามศัพท์ปฏิบัติการ

1.6    ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

บทที่ 2 แนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

2.1   แนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์

2.2   แนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยด้านการบริหารบุคคลภาครัฐ

2.3   แนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยด้านระบบสุขภาพไทย

2.4   แนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยด้านระบบสุขภาพจังหวัดตาก

2.5   แนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ด้านสุขภาพ

บทที่ 3 วิธีดำเนินการศึกษา

            3.1   ประชากรและตัวอย่าง

            3.2   การเก็บรวบรวมข้อมูล

            3.3   เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย                                                      

            3.4   ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล                                                              

            3.5   วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล                     

บทที่ 4 ผลการศึกษา

            4.1   ข้อมูลของผู้ถูกสัมภาษณ์                                        

            4.2   ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์                   

บทที่ 5 สรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ

            5.1   สรุปผลการวิจัย                                          

            5.2   การอภิปรายผล                                                      

            5.3   ข้อเสนอแนะ                     

ผมออกไปพิมพ์รายงานการศึกษาอิสระที่ห้องคอมพิวเตอร์และสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้เพราะที่ห้องพักดันมีปัญหาเข้าระบบไม่ได้ ช่วงสองสามคืนที่ผ่านมานอนเกือบตีสองทุกวัน ตอนเช้าตีห้าครึ่งถูกปลุกไปออกกำลังกายจึงไม่ค่อยอยากตื่น งานวิจัยศึกษาอิสระนี้ผมจัดทำเองทั้งหมดรวมทั้งพิมพ์เองด้วย

หมายเลขบันทึก: 394138เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2010 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท