๔๑.แม้บางความจริงของโลกขาดวิ่น ก็มีความรัก ความดี ความงาม ที่ยิ่งใหญ่สุดประมาณของชีวิตอยู่เสมอ


Scene : พื้นที่ความเป็นอิสรภาพของหัวใจและอาณาจักรความยิ่งใหญ่ของชีวิตในชนบทแห่งหนึ่งที่เหมือนกับอีกหลายแห่งของประเทศ
Actors : การงานและธรรมะจัดสรรให้เราต่างได้มาเจอกัน ชาวบ้าน อสม. ผู้นำชุมชน เครือข่ายประสานงานและเครือข่ายวิจัยของโครงการวิจัยโครงการหนึ่งที่ผู้เขียนได้เป็นผู้ร่วมทำวิจัยด้วย[๑]
Location : หมู่บ้านสหกรณ์ ตำบลป่าตุ้ม [๒] และตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
Prop and Custumes : ตามที่เห็น ที่มี ที่เป็นอยู่ ของชาวบ้าน 
Technique : กล้องดิจิตัลราคาถูก หากเสียก็พร้อมโยนทิ้งเพื่อซื้ออย่างดีและถูกกว่าเดิมเข้าไปอีก แสงธรรมชาติ   
Studio Works, CGA and Post-Production
: ทำงาน Post-Production บน Photo-Shop ใช้หลายฟังชั่นเพื่อทำ Croping จัดวางองค์ประกอบ ลดคอนทราสต์ ลด High-Ligth เล็กน้อย เป็นบางส่วน คงรายละเอียดและสภาพเดิม ย่อภาพที่ความกว้าง ๕๐๐ 
Date/Times : ๒ วัน ฤดูฝนและกาลแห่งการทำนาทำสวน พฤหัสบดีที่ ๙ - ศุกร์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๓
Artist, Dialogues and Narration : วิรัตน์ คำศรีจันทร์
SFX : ความเป็นธรรมชาติ สว่างไสว มีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยพลังชีวิต เบิกบานแจ่มใส รื่นรมย์ กว้างใหญ่ กลมกลืนเป็นพื้นหลัง
Acknowledgement : ขอบคุณข่ายประสานงานสุขภาพภาคประชาชน[๓] สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ อบต. อสม. อดีตกำนัน พ่อหลวง กลุ่มแม่บ้าน หมออนามัย หมู่บ้านสหกรณ์ ตำบลป่าตุ้มและตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

  ๑   โลกและชีวิต ที่ดีงามและงดงามด้วยรัก 

รูปเขียนสีน้ำมันเล็กๆที่มุมหนึ่งของบ้านหลังเล็ก ทำด้วยปีกไม้และเครื่องไม้ไผ่ ซ่อนตัวอยู่ในแมกไม้ ต้นลำใย เรื่องราวเป็นทิวทัศน์และวิถีชีวิตชนบท โครงเรื่องอย่างนี้ เป็นโครงเรื่องของโฟล์คอาร์ตที่มีอยู่อย่างมั่งคั่งของสังคมล้านนา ทั้งบนเกวียน เครื่องมือเกษตร จ้อง[๔] ศาสนสถาน ศิลปะการตบแต่งบ้านเรือน สื่อสะท้อนโลกรอบข้างซึ่งแวดล้อมด้วยขุนเขา ผืนป่า ธารน้ำ ละแวกบ้านยังคงอวลด้วยบรรยากาศท้องถิ่นชนบท.......ความรักร่ายรำไปบนสรรพชีวิต

  ๒    ยากแค้น อยู่ต่ำ แต่วิหารใจนั้นยิ่งใหญ่งดงามสุดชีวิต   

บ้านหลังหนึ่งของชายวัยกว่า ๗๐ ปี สติไม่ดีมาแต่รู้ความ แต่ก็อยู่เป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน ขออาศัยอยู่บนที่สวนของชาวบ้านผู้เผื่อแผ่เมตตาแบ่งปันให้อาศัย เมื่อหลายสิบปีก่อน ชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างบ้านหลังนี้ให้แกได้อยู่อาศัยและใช้แรงงานแลกข้าวกินไปตามบุญกรรม ปีนี้ อสม. ๑๑๑ คนของทั้งชุมชน ก็รวมเงินกันคนละ ๕ บาท พร้อมกับระดมทุนจากชาวบ้าน ได้เงินและวัสดุมาทำส้วมให้แกอีก ๑ หลัง ตัวแกเองก็สร้างถาวรวัตถุในอุดมคติของแก...ศาลพระภูมิและบ้านผีสางเทวดาอารักษ์ ทำด้วยปี๊บ ๑ ใบอย่างสุดฝีมือ

  ๓   เมตตาธรรมและความรักที่ค้ำจุนสุขภาวะของโลก 

แม่อุ๊ยคนหนึ่งวัย ๗๔ ปี[๕] ลูกสาวคนหนึ่งพิการมาแต่กำเนิด นอนและเคลื่อนไหวไม่ได้ ลูกคนอื่นออกเรือนและแยกบ้านไปแล้ว เหลือแม่อุ๊ยขออยู่กับลูกผู้พิการ แม่อุ๊ยต้องลากอยู่ในบริเวณบ้านตั้งแต่ตัวเล็กๆกระทั่งเจริญวัยอายุ ๓๘ ปีและน้ำหนักมากกว่าแม่อุ๊ยเกือบ ๓ เท่า แม่อุ๊ยก็ฟูมฟักและลากจนตนเองหลังก่องมากว่า ๒๐ ปี เมื่อแก่ตัวและชีวิตไม่แน่นอน แม่อุ๊ยเคยร่วมมือกับทางการนำลูกไปอยู่ในความดูแลของศูนย์สงเคราะห์ผู้พิการที่ปากเกร็ด กรุงเทพฯ แต่แม่อุ๊ยก็พบว่าชีวิตแม่อุ๊ยไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อีกหากขาดลูก แม่อุ๊ยถึงกับต้องยอมขายเครื่องสูบน้ำที่เพิ่งได้จากรางวัลชิงโชคไป ๒,๐๐๐ บาทเพื่อเป็นค่ารถไปรับลูกกลับมาอยู่ด้วยกันและจะไม่ทิ้งกันไกลอีกจนกว่าจะตายจากกันไปข้างหนึ่ง เพื่อนบ้านและ อสม. ลูกหลาน เห็นความลำบากและความรักความผูกพันอันยิ่งใหญ่ของแม่อุ๊ย จึงรวมตัวกันออมเงินและวัสดุไปสร้างบ้าน ทำลานคอนกรีตให้ลูกผู้ทุพลภาพของแม่อุ๊ยได้นอน แม่อุ๊ยออกปากว่าเหมือนตายแล้วได้เกิดใหม่ ดูแลคนหนึ่ง ก็ส่งผลความสุขความดีงามไปถึงคนรอบข้าง รวมทั้งชุมชน

  ๔   พลังชีวิตและสำนึกร่วมทางสังคม 

แม่อุ๊ยอีกคนหนึ่งอายุเกือบ ๘๐ ปีแล้ว ผัวแกเสียชีวิตไปก่อนหลายปี แกอยู่กับลูกชายและหลานชายตัวเล็ก ๑ คน รับสานตะกร้าไม้ไผ่ ใบละ ๔-๕ บาท ได้วันละ ๑๐-๑๕ ใบ ทุกวัน บนตู้ไม้เก่าๆข้างในบ้านที่แม่อุ๊ยนั่งพักผ่อน เลี้ยงหลาน และทำงานสานตะกร้า มีรูปหล่อของหลวงปู่แแหวนและพระพุทธเจ้าหลวง วางอยู่คู่กัน

  ๕   นางฟ้าและสายธารแห่งรักของชุมชน 

ชุมชนตั้งสถานีอนามัยสหกรณ์รองรับชุมชนชาวบ้านสหกรณ์ที่ใช้บริการสุขภาพคร่อมพื้นที่บางส่วนของ ๒ ตำบล ราชการสร้างสถานีอนามัยให้ส่วนหนึ่ง ชาวบ้านเองก็ร่วมกันทำบุญและระดมทุนสร้างชั้นล่างพร้อมจัดหาข้าวของมาช่วยหมออนามัยของชุมชน อีกทั้งอาสาเป็นเครือข่ายสร้างสุขภาพ จัดการสุขภาพและสาธารณสุขท้องถิ่นร่วมกับหมออนามัย หลังสถานีอนามัยนั้น กำนันคนแรกและผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนก็ปลูกป่าสักทิ้งไว้ให้เติบโตตามธรรมชาติมา ๒๐ กว่าปี จนเหมือนป่าร่มรื่น หมอเยาวลักษณ์ แม้กำลังอยู่ในภาวะบำบัดฟื้นฟูขาหักจากการถูกรถพุ่งเข้าชนซ้ำในขณะที่เธอกำลังกู้ภัยผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุ กับ อสม.ทีมงานและเพื่อนชุมชนของเธอ พากันเดินออกจากสถานีอนามัยและตระเวนเดินไปเยี่ยมชาวบ้านในชุมชน ทั้งชุมชนเรียนรู้ที่จะร่วมกันเป็นหมอ พยาบาล และสาธารณสุขชุมชน ดูแลกันและกันช่วยเธอและพึ่งตนเองในสิ่งที่ทำได้ทั้งชุมชน

  ๖   อาหารหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณและพลังแห่งขวัญชีวิตเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข 

พ่ออุ๊ย-แม่อุ๊ย อีกคู่หนึ่ง อายุกว่า ๘๐ ปีทั้งคู่ อยู่กันสองเฒ่า รอบข้างเป็นบ้านของลูกหลาน ทำนา ทำสวน รับจ้าง พออยู่พอกินและพอได้ดูแลกันไปตามอัตภาพ มาเมื่อหลายปีมานี้ แม่อุ๊ยนอกจากเป็นเบาหวานและความดันแล้ว ก็หกล้ม ลูกเพียรปรับปรุงบ้าน ทำราวให้เดินจับไปทั่วบริเวณเพื่อได้อยู่และช่วยตนเองได้ อสม.และชาวบ้านก็ร่วมลงแรงมาปรับปรุงบริเวณบ้าน แวะเวียนมาเยี่ยมยามกันให้เป็นกำลังใจและขวัญชีวิต ทุกวันพ่ออุ๊ยนั่งจักทางมะพร้าวทีละซี่-ละซี่ ได้วันละ ๑-๓ พันซี่ แล้วก็รวมกัน ๒-๓ วันขายให้กับชาวบ้านด้วยกันที่ช่วยเข้ามาซื้อได้ ๔๐-๕๐ บาท

บนหิ้งและฝาผนังเหนือหัวนอนและที่นอนหมอนมุ้งสีซีดจาง ขาดวิ่น มีพระพุทธรูป รูปในหลวงและราชินี รูปครูบาศรีวิชัย หลวงปู่แหวน บรรพบุรุษและตัวพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยเอง

แจกันที่ปักแซมด้วยใบไม้สดอย่างบรรจง รวมทั้งการให้ที่ทางอันพิเศษและการจัดวางอย่างมั่นคงงดงามหมดจรดที่สุดของบ้าน สื่อสะท้อนว่าแกร่วมสานสำนึกและบำรุงรักษาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตวิญญาณทางสังคม ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่นเป็นอย่างดี สูงที่สุดและมากที่สุดในทุกสิ่งที่มีในชีวิตของแก.

..............................................................................................................................................................................

[๑] โครงการวิจัยนโยบายเพื่อพัฒนาศักยภาพ อสม.สู่ระบบบริการสุขภาพชุมชน ดำเนินการโดยคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ นักวิจัยหลักและหัวหน้าโครงการวิจัย : รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง สาขาวิชาสังคมศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข
[๒] ตุ้ม ต้นไม้ชนิดหนึ่งลักษณะใบและลำต้นคล้ายต้นสักและต้นรัง ในภาคกลางเรียกต้นตะกู ในภาคเหนือนั้น จะพบชื่อพื้นที่หรือชื่อหมู่บ้านหลายแห่งว่าป่าตุ้มโฮ้ง ป่าตุ้มดอน ก็จะบ่งบอกลักษณะดั้งเดิมของพื้นที่ด้วย กล่าวคือ โฮ้ง หมายถึงพื้นที่ลุ่มสลับกับแอ่งน้ำที่มีต้นตุ้มหนาแน่นเป็นป่าตุ้ม และ ดอน หมายถึงที่เป็นเนินสูงที่มีต้นตุ้มขึ้นหนาแน่นเป็นป่าตุ้มดอน
[๓] คุณจิดาภา พวงเพ็ชรและคณะ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่
[๔] จ้อง  คือ ร่ม ในภาษาไทยกลาง
[๕] อุ๊ย หมายถึงผู้สูงอายุ ตา-ยาย ในภาษาไทยกลาง

หมายเลขบันทึก: 394775เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2010 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

แอบดูรูปตั้งแต่เมื่อวานแล้วครับ เป็นภาพแห่งความงดงามในชนบท ตอนแรกมีคำถามว่าปี๊บที่หน้าบ้านคืออะไร แต่พออาจารย์อธิบายพอเข้าใจได้ ในภาพที 7 เจอข้อความหน้ารูปหลวงปู่แหวนและพระพุทธเจ้าหลวง ขายผ้าเอา...รอดใช่ไหมครับ

การส่งเสริมให้ อสม ทำงานแบบจิตอาสา ช่วยเหลือกัน เป็นการทำงานเชิงลุก(ลุกจากที่งานของสาธารณสุข) ได้ดีทีเดียว สิ้นเดือนนี้จะไปเริ่มงานกับ อสม สมุทรสาคร และโรงพยาบาลสมุทรสาคร แล้วจะเล่าให้อาจารย์ฟังนะครับ

ศิลปแห่งชีวิต งดงามแม้ขาดวิ่น

 

ขอบคุณบันทึกนี้ของอาจารย์ค่ะ

สวัสดีค่ะ

เพราะความรักของแม่อุ้ยนะคะ  ทำให้แม่อุ้ยลากลูกสาวจนหลังก่อง  หมายถึงหลังค่อม ใช่ไหมคะ  "งดงามทุกถ้อยคำ" ค่ะ 

ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอื้ออาทรทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

น่าใจหายนะคะถ้าสิงเหล่านี้จะจางหายไปจากสังคมไทย

ขอบคุณเรื่องเล่าดีๆที่สะท้อนความเอื้ออาทรระหว่างเพื่อนมนุษย์ค่ะ..

ในด้านของโลกที่แหว่งวิ่น ชีวิตที่ลำเค็ญ กลับเป็นโอกาสให้หัวใจของคนได้สัมผัสกัน

เพราะเธอขาด ฉันจึงมีโอกาสเติม แล้วจึงเต็มหัวใจไปด้วยกัน..

โลกวันนี้ที่ขาดแคลน คือความเป็นชุมชนทางใจให้แก่กันและกัน

ผู้คนจึงมักรู้สึกโดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงชน

สถานการณ์ที่ดูคล้ายเลวร้าย มักเป็นโอกาสกระชากน้ำใจงาม ๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในใจออกมา เหมือนดั่งเช่นที่เราเห็นจากเหตุการณ์สึนามิ

คงจะดีไม่น้อย หากไม่จำต้องรอให้เหตุการณ์ย่ำแย่ แต่ผู้คนมีหัวใจที่ละเอียดอ่อนพอจะเอื้อเฟื้อต่อกันเป็นอาจิณ..

..............

เล่าเรื่องผ่านชีวิตแบบนี้ ได้อารมณ์ดีไปอีกแบบนะคะอาจารย์ ..^__^..

  • สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
  • อาจารย์ช่างสังเกตนะครับ แล้วผมจะเดาให้ต่างไปจากอาจารย์อย่างไรล่ะเนี่ย
  • งั้นก็ ..ขายผ้าเอา ห.....รอด  ก็ต้องเป็นหัวของคนที่อยู่หน้าของน้าสิครับที่รอด

สวัสดีครับอาจารย์ภูสุภาครับ ไปเห็นแล้วรู้สึกอยากนำมาแบ่งปันกันดูน่ะครับ ดีใจนะครับที่อาจารย์ได้เข้ามาอ่านและชมรูปถ่ายหาความคิดดีๆงามๆด้วยกันครับ

  • สวัสดีครับคุณครูคิมครับ
  • ถูกแล้วครับ หลังก่องคือหลังค่อมครับ แต่ไม่สามารถถ่ายทอดตอนที่แม่อุ๊ยเล่าถึงตรงนี้ออกมาได้เลยครับ แกบอกว่าหลังมันค่อยๆก่องอย่างไม่รู้สึก วันหนึ่งมีคนเขาให้ของเลยถือสองมือ ทำให้แกเดินหลังก่องลงจนหน้าทิ่มดิน จึงได้ตระหนักว่าแกลากลูกมาหลายปีจนหลังก่อง
  • เวลาที่แกพูดถึงความทุกข์ ความยากลำบาก และชีวิตประจำวันของแกกับลูก ใบหน้าของแกดูเรียบเฉย อารมณ์ต่อเนื่อง แววตาสดใสแข็งแกร่ง น้ำเสียงชัดเจน สนทนาและเหลียวซ้ายแลขวาดูลูกและพวกเราที่ไปเยือนอย่างทั่วถึง ราวกับว่าทุกอย่างในชีวิตไม่มีอะไรที่จะมาสั่นไหว ให้ความหมองเศร้า และยินดียินร้ายแก่แกได้อีกแล้ว ช่างเหมือนหินผาที่มีชีวิต

สวัสดีครับคุณ naree suwan ครับ

วิถีชีวิตชุมชนอย่างนี้ ก็สามารถทดแทนสิ่งที่ชุมชนในชนบทหลายแแห่งไม่มีอย่างโลกภายนอก ได้อย่างไม่ด้อยไปกว่ากันนะครับ ก็ไม่มีหลายอย่างอย่างโลกภายนอกแต่ก็มีหลายอย่างที่ซื้อหาไม่ได้จากที่ใด 

                      

                      

ดูแล้ว ทำให้ได้ความรื่นรมย์ในชีวิตที่ดีอย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ เลยเอามาฝากอีก ๒ รูปครับ

สวัสดีครับคุณพี่นงนาทครับ ชุมชนนี้น่าเรียกชุมชนเอื้ออาทรไม่ทอดทิ้งกันอีกชุมชนหนึ่งมากจริงๆครับ

  • สวัสดีครับคุณใบไม้ย้อนแสงครับ
  • เพราะเธอขาด ฉันจึงมีโอกาสเติมเต็ม .... อืมมม  เป็นอย่างนี้จริงๆเสียด้วย แถมผู้นำชาวบ้านก็พูดคล้ายๆกันอย่างนี้ บางเรื่องเขาบอกว่าพอเห็นชาวบ้านเดือดร้อน เขาก็พากันไปช่วยกันก่อน ไม่ต้องรอทำเรื่องขอความช่วยเหลือหรือรอให้ทางการอนุมัติ เพราะพอมันผ่านไปแล้ว นอกจากอาจจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ทันการณ์ได้แล้ว ก็ไม่เป็นที่ต้องการของชาวบ้านไปแล้ว
  • การเล่าและถ่ายทอดอารมณ์ของเหตุการณ์ต่างๆอย่างนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ดีเหมือนกันครับ เปิดโอกาสให้ภาษาศิลปะและการกลับเข้าไปคุยกับตนเองข้างในได้ทำงาน ได้จิตใจที่ละเอียอดอ่อนและได้ความคิดเห็นที่ลึกซึ้งต่อผู้คนดีครับ
  • คุณใบไม้ย้อนแสงสบายดีนะครับ

ความงามที่ขาดวิ่น

...

ขอบคุณ บันทึก ที่เติมเต็ม จิตวิญญาณและพลังแห่งชีวิต ได้มากเหลือเกิน

....

อาจารย์ สบายดี นะครับ

ด้วยความรักและเคารพ

  • สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดี
  • หายไปไหนเป็นครู่เลยนะครับ

สวัสดีค่ะ แวะเข้ามาอ่านหลายรอบแล้ว อาจารย์บรรยายได้ซาบซึ้งค่ะ

 

  • สวัสดีครับครูเอครับ
  • ถือว่าเข้ามาพักผ่อน และเยี่ยมเยือนกันไปด้วยเลยนะครับ
  • ขอบคุณมากเลยละครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท