ประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ : ถูกต้องตามหลักวิชาการ - สอดคล้องเจตนารมณ์ของหลักสูตร ฯ


การวัดและประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์เป็นไปในลักษณะของการประเมินด้านจิตพิสัย

         หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2551 เป็นหลักสูตรอิงมาตรฐานซึ่งกำหนดสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้ไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด  ซึ่งประกอบด้วย  ความรู้ความสามารถ  คุณธรรมจริยธรรม  ค่านิยมที่พึงประสงค์  ดังนั้นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่หลักสูตรกำหนดนั้นต้องได้รับการปลูกฝังและพัฒนา  ผ่านการจัดการเรียนการสอน  การปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในลักษณะต่าง ๆ  จนตกผลึกเป็นคุณลักษณะเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในตัวผู้เรียน  การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ต้องใช้ข้อมูลจากการสังเกตพฤติกรรม  ซึ่งใช้เวลาในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมเพื่อนำมาประเมินและตัดสิน

         การวัดและประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2551 จึงเป็นการวัดและประเมินเพื่อพัฒนา (Assessment) มากกว่าที่จะประเมินเพื่อการตัดสินคุณค่า (Evaluation)  ดังนั้นการที่ครูผู้สอนนำค่าคะแนนที่ได้จากการวัดและประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไปรวมกับคะแนนการสอบในแต่ละวิชาและนำมาตัดสินผลการเรียนนั้น  ดูจะไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการวัดและประเมินผลแล้ว  ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลาง ฯ อีกด้วย

         หากเราพิจารณาดูจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จะเห็นได้ว่า  หลักสูตรดังกล่าวได้แสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่า  ให้นำคุณลักษณะอันพึงประสงค์ซึ่งหมายความถึงคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม ออกมาประเมินผลต่างหาก โดยถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเกณฑ์การจบหลักสูตรหรือระดับชั้นเรียน  และให้เป็นการประเมินผลเพื่อพัฒนามากกว่าประเมินเพื่อตัดสิน  ถ้าหากสถานศึกษาและครูผู้สอนมีความประสงค์ที่จะทำให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลาง ฯ และถูกต้องตามหลักวิชาการวัดและประเมินผล  น่าจะพิจารณาหลักการวัดผลว่าด้วยมาตรวัดทางจิตวิทยา

         เพราะการวัดและประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์เป็นไปในลักษณะของการประเมินด้านจิตพิสัย  จึงมิใช่เป็นการวัดความรู้ความสามารถทางสมอง  ที่มีผลการวัดเป็นคะแนน (Score)  แต่การวัดคุณลักษณะอันพึงประสงค์นั้นได้จากการสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในแต่ละวันทั้งอย่างเป็นทางการ (Formal Observation) และไม่เป็นทางการ (Informal Observation) เช่น  คุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านรักชาติ ศาสน์  กษัตริย์  ครูผู้สอนอาจสังเกตจากการยืนตรงเคารพธงชาติ  การร้องเพลงชาติ  โดยแทนการปฏิบัติหรือแสดงพฤติกรรมดังกล่าวด้วย  “1”   ไม่แสดงพฤติกรรมให้ “0”  ดังนั้นคะแนนจากการสังเกตจึงเป็นตัวเลขที่แทนการเกิดหรือไม่เกิดพฤติกรรมเท่านั้น  จึงไม่ใช่ข้อมูลต่อเนื่อง  การนำคะแนนจากการวัดจิตพิสัยมารวมกับคะแนนจากการสอบวัดความรู้ความสามารถทางสมอง (ซึ่งเป็นข้อมูลต่อเนื่อง) แล้วนำไปคำนวณเพื่อให้ระดับผลการเรียนหรือเกรด  จึงเป็นการนำคะแนนที่ได้จากมาตรวัดต่างระดับกันมาคำนวณรวมกัน  ถือว่าไม่เหมาะสมตามหลักวิชาการ  ดังนั้นสถานศึกษาและครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องวางแผน  ศึกษานิยามตัวชี้วัด  และพฤติกรรมบ่งชี้ของคุณลักษณะอันพึงประสงค์  สร้างเครื่องในการประเมินและเก็บหลักฐานการประเมินให้ชัดเจน  และเป็นระบบ  เพื่อสร้างความโปร่งใสในผลการประเมินให้กับผู้เรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันและสามารถตรวจสอบได้นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 394834เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2010 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท