แยกเขตพื้นที่ เพื่อ...?


แยกเพื่อประโยชน์ใคร...นายหรือลูกน้อง

มีคำพูดอมตะประโยคหนึ่งกล่าวว่า "รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย" ในความหมายให้เข้าใจและรู้จัก คำว่า "สามัคคี" นับตั้งแต่สมัยก่อน กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดแบ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสองกรม คือ กรมประถม (สปช.) และกรมมัธยม (สามัญ) จนกระทั้งล่วงเลยมาหลายสิบปี มีผู้หญิงเก่ง ใจกล้าท่านหนึ่งได้จัดการรวมทั้งสองกรมเข้าด้วยกันทำให้เกิดกรมใหม่ที่เรียกว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) มีการจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัด โดยแยกตามพื้นที่ ประชากร และจำนวนโรงเรียน ทำให้การบริหารงานเป็นสัดส่วนและชัดเจนในทางทฤษฎี (ทฤษฎีนะครับ) แต่ในทางปฏิบัติผู้ที่อยู่สำนักงานเขตฯ ยังเป็นบุคลากรจาก สปอ. สปจ. และสามัญศึกษาจังหวัด เดิมๆ การปฏิบัติงานจึงยังคงเป็นแบบเดิม (เช้าชาม-เย็นชาม) แต่ก็มีบางส่วนที่ดีและตั้งใจปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของทางราชการ (ส่วนนี้ผมขอยกย่อง) แต่มักจะถูกกลั่นแกล้งเสมอๆ กลุ่มอำนาจยังคงมีในแต่ละเขตพื้นที่ฯ บางส่วนเป็นกลุ่มอำนาจเดิมคือ กปจ. เพียงแค่เป็นหน้ากากใหม่เป็น อกคศ. เท่านั้นเอง และหัวหน้าหน่วยงานเดิม เช่น ผอปจ. หัวหน้าสปอ. ผอ.สศจ. บางส่วนได้ขึ้นเป็น ผอ.เขตฯ บางส่วนเป็นรองผอ.เขตฯ ตามแต่กำลัง...(ทรัพย์)... 

แล้ววันหนึ่งความคิดที่ว่าประถม-มัธยมไปกันไม่ได้ เหมือนดาราบางคู่ จำเป็นต้องแยกกันอยู่ ด้วยเหตุผลนานับประการสุดแต่จะสรรหามาบรรยายอ้างอิง กลุ่มอำนาจมัธยมเริ่มบีบคั้นรัฐมนตรีบางคน จนทำให้ เลขา สพฐ. คนเก่งของเราต้องจำใจลาออกไปทั้งๆที่ยังมีภารกิจสำคัญหลายอย่างที่ยังไม่ได้กระทำ เมื่อท่านเลขาฯ ลาออก เขตมัธยมฯ ที่อั้นไว้มานานก็คลอดออกมาทันที และทำการประกาศเขตพื้นที่ฯ อย่างด่วน ทั้งๆที่ยังมีหลายอย่างที่ยังไม่พร้อม แล้วใครที่เป็นหัวเรือใหญ่มีอำนาจต่อรองก็สามารถดึงศูนย์ประสานงาน (น้องๆเขตเลยละ) มาไว้ที่จังหวัดตัวเอง เพื่อที่ตนเองจะได้รั้งตำแหน่งรักษาการณ์ ควบสองเก้าอี้ทั้งผอ.รร.และรักษาการผอ.เขตฯ ทันที ประโยชน์เห็นๆ ได้กันจะจะ

แต่มีบางข้อที่ท่านลืมมอง (อาจเพราะหน้ามืดตามมัวกับสิ่งที่จะได้มาครอบครอง) การสอบ รอง ผอ.รร. และผอ.รร.ที่ผ่านมา พบว่า รองฯและผอ. ประถมว่างเยอะมาก บางเขตไม่พอใช้ พอแยกมัธยม-ประถม ครูมัธยมตัวเล็กที่อยากเป็นผู้บริหาร บางคนมีความสามารถเยอะ ต่อไปจะไม่สามารถได้เป็นผู้บริหารได้ง่ายๆ แล้ว ถ้าทรัพย์ไม่เพียงพอ เพราะผู้บริหารมัธยมจะใช้เกณฑ์การประเมินฯ น่าสงสารเพราะอย่างน้อยเขาเหล่านั้นก็มีอาชีพเดียวกันกับผม คือครู มีคำพูดของครูมัธยมท่านหนึ่งบอกผมว่า "สอบผู้บริหารมัธยม ได้อันดับ 3 เท่ากับได้อันดับ 100 ของประถม" ความหมายคือโอกาศบรรจุขึ้นตำแหน่งมีน้อยเหลือเกิน

ในแง่นี้มองว่า การแยกเขตประถม-มัธยม นายได้ประโยชน์ แต่ลูกน้องเสียประโยชน์เป็นอย่างมาก ขณะที่ ครูประถมเขายิ้มแน่นอน เพราะตัดคู่แข่งไปเยอะ และเมื่อท่านไม่ยอมรับครูประถม ไม่รับย้าย ไม่ให้สอบมัธยม แล้วจะให้ครูประถมยอมให้ท่านมาสอบแข่งขันในเขตประถมฯ ได้อย่างไร

*********** ขอให้ฉุกคิดถึงหัวอกครูผู้น้อยบ้างน่ะ ท่านผู้ใหญ่ทั้งหลาย***********

หมายเลขบันทึก: 399013เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดิฉันเห็นด้วยกับคุณครูวรโชติ การแยกครั้งนี้ทำให้โอกาสก้าวหน้าทางสายบริหารของครูผู้น้อยสายมัธยมโดนปิดกั้น

สงสารพวกเราครูน้อยตาดำๆบ้าง ในการกระทำครั้งนี้

ยังไงก็แยกไปอยู่บ้านใหม่แล้ว ที่สงสารก็ผู้บริหารที่เคยอยู่สามัญมาอยู่ประถมแล้วอึดอัด อยากกลับนี่ซิยากเหลือเกิน

ยังไงก็ไขประตูรับกลับด้วยเถิด อย่าลอยแพกันเลย

ส่วนชาวประถมเขาไม่เดือดร้อน สอบแข่งขันเขาก็สู้กันมาจนเป็นวัฒนธรรมแล้ว

เส้นทางชีวิตของเราวันนี้ยังไม่ราบรื่นอย่างที่คิด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท