แบนแอสเบสตอส จุดยืนของสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย


โรคมะเร็งปอด แอสเบสตอส แบน

สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ขอสนับสนุนการแบนไม่ให้มีการนำ asbestos เข้ามาในประเทศ

นพ อดุลย์ บัณฑุกุล

เป็นที่ทราบกันดีว่าแร่ใยหินหรือแอสเบสตอสนั้นมีอันตราย ปกติแร่ใยหินแบ่งเป็น กลุ่มแอมฟิโบล ได้แก่ ครอซิโดไลท์ อะโมไซท์ ทรีโมไลท์ แอนโธฟิลไลท์ และแอคทิโนไลท์ ซึ่งได้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว และกลุ่มเซอร์เพนไทน์ได้แก่ ไครโซไทล์ ซึ่งยังมีการใช้อยู่ และมีการพยายามแบนไม่ให้นำเข้าในประเทศหลายประเทศ ขณะนี้มีการเคลื่อนใหวที่สำคัญเกือบจะพร้อมกันทั่วโลกเพื่อให้เกิดการแบนแอสเบสตอสและนำสารอื่นมาใช้แทน  โรคที่เกิดจากแร่ใยหินได้แก่โรคแอสเบสโตสิส ซึ่งเป็นการอักเสบของเยื่อหุ้มปอดอย่างเรื้อรัง มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และเยื่อบุช่องท้อง และภาวะเยื่อหุ้มปอดหนา โรคนี้มีระยะฟักตัวยาวแต่ก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศอังกฤษ มีการประชุมและมีการออกมาตรการกำจัดโรคที่เกิดจากแร่ใยหินในมติขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ และสมัชชาองค์การอนามัยโลกหลายครั้ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าแร่ใยหินมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศรัสเซีย จึงน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดโรคจากแร่ใยหินขึ้นในประเทศไทย ในอนาคต อนึ่งกฏหมายที่ดูแลเกี่ยวกับแร่ใยหินในประเทศไทย ก็ยังไม่รัดกุมเพียงพอ  ในการนี้สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมมีความเห็นพ้องกันในการประกาศจุดยืนในการสนับสนุนภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาชน และนักวิชาการ ในการยับยั้งมิให้มีการนำเข้าแร่ใยหินเข้ามาในประเทศไทย โดยเร็วที่สุด โดยเสนอว่า

1. มีหลักฐานชัดเจนว่าแร่ใยหินทุกชนิดก่อโรคมะเร็งจึงไม่มีข้อสงสัยในทางวิชาการในเรื่องนี้อีกต่อไป

2. มาตรการการห้ามนำเข้าเป็นมาตรการป้องกันดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรอให้มีประชาชนป่วยด้วยโรคแอสเบสโตสิสหรือโรคแร่ใยหิน

3. มีประเทศที่ห้ามนำเข้าแร่ใยหินแล้วกว่า 50 ประเทศ และมีประกาศจากทั้งองค์กรแรงงานระหว่างประเทศและองค์การอนามัยโลก ซึ่งในแง่การประเมินความเสี่ยงแล้วถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สำคัญยิ่ง

4. ควรมีการเฝ้าระวังผู้สัมผัสในการทำงาน ทั้งระหว่างทำงานและหลังจากเกษียรออกจากงานแล้ว

5. ควรมีการส่งเสริมให้มีการวิจัย หรือรวบรวมข้อมูลระยะเวลาการสัมผัสที่จะทำให้เกิดโรค และนำมาใช้เตือนประชาชนที่มีการสัมผัสเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง และมีระบบเฝ้าระวังประชาชนเหล่านี้ด้วย (เช่นมีการรื้อถอนตึกหรือก่อสร้างตึกในบริเวณด้านข้างที่ทำงาน หรือมีการสร้างคอนโดมีเนียมขนาดสูง เป็นต้น)

6. สารที่นำมาใช้ทดแทนแอสเบสตอส เช่น fiber glass, rock wool, slag wool, ceramic fibers  และ polyvinlyalcohol fiber จะต้องแน่ใจว่าไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือถ้ามีผลกระทบจะต้องน้อยกว่าแอสเบสตอส อย่างน้อยหลายเท่า และจะต้องมีการเฝ้าระวังผลกระทบนั้นด้วย

                การที่มีการอ้างว่า case report case แรกนั้นไม่มีหลักฐานสนับสนุน ไม่ใช่ข้ออ้างเนื่องจากหลักฐานสนับสนุนทางวิชาการนั้นเป็นข้อยุติแล้วว่าแอสเบสตอสนั้นเป็นสารก่อมะเร็ง การที่มีประเทศอื่นแบนเป็นจำนวนมากและมีการแสดงทางงานวิจัยถึงการเป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดชัดเจนที่สัมพันธ์กับการใช้แอสเบสตอสชัดเจน การมองประเทศอื่นและกลับมาดูประเทศเรา เป็นการค้นหา hazards identification และ risk assessments ในที่นี้คือจำนวนแอสเบสตอสที่นำมาใช้ ขั้นตอนต่อไปคือการทำ risk management ซึ่งเริ่มจากการติดสลาก ให้ความรู้ประชาชน และในที่สุดก็คือการแบนไม่ให้นำเข้าประเทศ หลังจากนี้จะต้องมีการเฝ้าระวังต่อไปอีกกว่า 30-40 ปี จึงต้องมีการเตรียมพร้อมในเรื่องบุคลากร วิธีการ งบประมาณ อีกด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 399821เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยสองมือเลยครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท