เด็กเสมือนไร้สัญชาติ ๓ แผ่นดิน - ด.ช.เบ็นจมิน ซานเดอร์


เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันว่าเด็กจะอยู่กับแม่อย่างไรในประเทศไทยต่อไป

เรื่องนี้ผมไม่ได้เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการแจ้งเกิด แต่มาเริ่มเมื่อนางเก๋ หรือนางมะเก๋ หรือนางซานซานเท่ ซึ่งผมจะเรียกสั้น ๆ ตามความคุ้นเคยว่า “เก๋” เข้ามาขอให้ช่วยเด็กชายเบ็นจมิน ซานเดอร์ หรือบูบู้ ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อย้ายเข้าป.๑ ในปีการศึกษาที่ ๑/๒๕๕๓ ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง

แล้วเรื่องราวของเก๋กับครอบครัวก็ไหลพรูออกมา หากใครในจังหวัดระนองแถวตลาดสดจดจำชายฝรั่งร่างใหญ่ปั่นจักรยานโบราณบรรทุกกล่องโฟมขนาดใหญ่ไว้ด้านหลัง เร่ขายขนมปัง พิซซ่าได้ เขานั้นแหละที่เป็นต้นกำเนิดของประเทศที่ ๑ ให้กับบูบู้ ในสถานะของพ่อ สัญชาติเยอรมัน

หากมีผู้ชื่นชอบกลิ่นกรุ่นกาแฟ และได้ไปร้านที่มีกระโจมอินเดียนแดงตั้งด้านหน้า อาจพานพบหญิงสาวร่างสันทัด เปรี้ยวนิด ๆ นั่นแหละต้นกำเนิดของประเทศที่ ๒ ให้กับบูบู้ ในสถานะของแม่ สัญชาติพม่า

สุดท้ายต้นกำเนิดประเทศที่ ๓ ก็คือบ้านของเรา บนเรื่องราวความรักของคน ๒ สัญชาติ ที่มิใช่คนไทย ซึ่งได้ก่อร่างสร้างตัวเป็นครอบครัว ตลอดจนให้กำเนิดบูบู้-บุตร ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๗ บนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งประเทศของเราได้ให้เอกสารชิ้นแรกที่รับรองความเป็นมนุษย์ตามกฎหมายแก่เขา มิให้เขาต้องตกเป็นคนไร้รัฐ นั้นก็คือสูติบัตร ท.ร.๓ ซึ่งพ่อไปเป็นผู้แจ้งการเกิด

แต่ทว่าเพียง ๔ ปี ๑๔ วัน เท่านั้นที่ครอบครัวซานเดอร์ ได้อยู่พร้อมหน้ากัน ๓ พ่อแม่ลูก พ่อก็จากไปในผืนแผ่นดินไทย ในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๑

คุณหมอฝรั่งที่ดูแลรักษานายเคล้า มาติน เบ็นจมิน ซานเดอร์ - พ่อของบูบู้ จนวาระสุดท้าย ได้แนะนำเก๋ให้ติดต่อกับกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำภูเก็ต เพื่อติดต่อเรื่องสถานะบุคคลของน้องบูบู้

เก๋โชคดีที่ยังเก็บเอกสารของสามีไว้ จึงได้ทราบว่าสามี  เกิดในวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๙๖ ที่ Allagen, Jetzt Warstein ประเทศเยอรมัน มีสัญชาติเยอรมัน และได้เข้าประเทศไทยโดยมีหนังสือเดินทางจากประเทศเดนมาร์ก

นอกจากนี้เก๋ยังได้เก็บภาพถ่ายความทรงจำขณะที่สามียังมีชีวิตอยู่ ภาพของครอบครัว ตั้งแต่อยู่กินกับสามีมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ รวมทั้งสูติบัตร ท.ร.๓ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่เก๋ในเวลาต่อมา

ส่วนตัวเก๋ นั้นมีชื่อจริงตามบัตรประชาชนพม่าว่า ซานซานเท่ เกิดที่พม่า มีสัญชาติพม่า เข้าประเทศไทยมาตั้งปี ๒๕๔๑ ในปี ๒๕๔๗ เก๋ได้ขึ้นทะเบียนตนเองเป็นแรงงานต่างด้าว ๓ สัญชาติ ท.ร.๓๘/๑  ได้รับการกำหนดเลข ๑๓ หลัก มีเลขตัวหน้าเป็น “๐๐” มีชื่อว่า “นางมะเก๋”  ถึงปัจจุบัน

เก๋ได้ติดต่อกับสถานกงสุลเยอรมัน ประจำภูเก็ต โดยมีเพื่อน ๆ ของสามีคอยช่วยเหลือ เพื่อดำเนินเรื่องของบูบู้ ที่นั่นเจ้าหน้าที่ของสถานกงสุล ได้กล่าวว่าการที่จะยื่นเรื่องขอสัญชาติเยอรมันให้กับบูบู้ เก๋จะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลไทย เสียก่อนว่านายเคล้า มาติน เบ็นจมิน ซานเดอร์ เป็นพ่อโดยชอบด้วยกฎหมายของลูก

เนื่องจากตามกฎหมายสัญชาติเยอรมัน มาตรา ๓ ย่อหน้า ๑ ข้อ ๑ และมาตรา ๔ ย่อหน้า ๑ ระบุว่า บุตรจะได้สัญชาติเยอรมันโดยการเกิด เมื่อบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติเยอรมัน กรณีเฉพาะบิดาเท่านั้นที่ถือสัญชาติเยอรมันและไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้เป็นมารดา บุตรจะได้สัญชาติเยอรมันก็ต่อเมื่อบิดาได้จดทะเบียนรับว่าตนเป็นบิดาของบุตร หรือมีการตรวจพิสูจน์การเป็นบิดา-บุตรตามกำหนดของกฎหมายเยอรมันแล้วเท่านั้น

และมาตรา ๑๙ ย่อหน้า ๑ ประโยค ๑ ของกฎหมายว่าด้วยการใช้กฎหมายแพ่งของเยอรมัน (กฎหมายว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย) ระบุว่าการกำหนดสายสัมพันธ์ระหว่างบิดา-มารดาและบุตรให้ดำเนินตามกฎหมายของประเทศที่บุตรพำนักอาศัยอยู่อย่างเป็นปกติ หมายความว่า การตรวจพิสูจน์สายสัมพันธ์บิดา-บุตรตามกำหนดของกฎหมายไทย จะถือว่ามีผลบังคับตามกฎหมายเยอรมันเช่นกัน

ดังนั้นบุตรที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย และได้รับการตรวจพิสูจน์สายสัมพันธ์ระหว่างบิดาสัญชาติเยอรมันและบุตรตามกำหนดของกฎหมายไทยแล้ว ย่อมได้สัญชาติเยอรมันด้วย[๑]

ท่านเดิร์ก เนาว์มันน์ กงสุลกิตติมศักดิ์ประจำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน มีใจเอื้อเฟื้อต่อเก๋และบูบู้มาก ช่วยเหลือทุกอย่างตั้งแต่จัดหาทนายยื่นคำร้องต่อศาล ค่าใช้จ่าย การออกหนังสือรับรองเพื่อให้เก๋ขออนุญาตเดินทางมาที่ภูเก็ต การยื่นคำร้องขอสัญชาติให้กับบูบู้ เป็นต้น

ที่ศาลจังหวัดระนองแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้บูบู้เป็นลูกโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕๕ ซึ่งในกรณีนี้ การฟ้องคดีข้อเท็จจริงของครอบครัวซานเดอร์  เข้าองค์ประกอบ มาตรา ๑๕๕๕(๔)(๕)(๗) กล่าวคือ มีหลักฐานเป็นสูติบัตร ท.ร.๓ ที่พ่อเป็นผู้แจ้งเกิดบูบู้, พ่อแม่ได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ โดยมีภาพถ่ายของครอบครัวต่าง ๆ ที่เก๋เก็บไว้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ, เพื่อน ๆ รับรู้ว่านายเคล้า มาติน เบ็นจมิน ซานเดอร์ เป็นพ่อของบูบู้ และสุดท้ายนายเคล้า มาติน เบ็นจมิน ซานเดอร์ ยอมให้บูบู้ ใช้นามสกุล “ซานเดอร์”  ด้วย

ศาลรับคำร้อง และนัดไต่สวนในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ ศาลได้มีคำสั่งว่า “เด็กชายเบ็นจมิน ซานเดอร์ ผู้เยาว์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเคล้า มาติน เบ็นจมิน ซานเดอร์ บิดาผู้วายชนม์”

โดยให้เหตุผลว่า “พยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบรายงานและความเห็นของผู้อำนวยการสถานพินิจจังหวัดระนองแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายเคล้า มาติน เบ็นจมิน ซานเดอร์ ผู้ตาย และบรรดาญาติมิตรก็ได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสอง ทั้งเมื่อผู้ร้องได้คลอดผู้เยาว์แล้ว ผู้ตายก็ยังได้แจ้งเกิดต่อนายทะเบียนว่าตนเป็นบิดาของผู้เยาว์ พฤติการณ์ที่ผู้ตายแสดงออกต่อสาธารณะและทางราชการจึงถือได้ว่า นายเคล้า มาติน เบ็นจมิน ซานเดอร์ ผู้ตาย ได้รับรองเด็กชายเบ็นจมิน ซานเดอร์ เป็นบุตรของตนโดยชอบ”[๒]

ต่อมาวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ทางสถานกงสุล ภูเก็ตได้มีจดหมายไปถึงเก๋ ให้เก๋ใช้หนังสือรับรองที่ออกโดยสถานกงสุล ขออนุญาตเดินทางจากจังหวัดระนองไปภูเก็ตต่อที่ว่าการอำเภอเมืองระนอง ไปยังสถานกงสุลเพื่อยื่นคำร้องขอสัญชาติเยอรมันให้กับลูก

เก๋ก็พาบูบู้ไปภูเก็ต โดยไม่ได้ผ่านการขออนุญาตออกนอกพื้นที่ เมื่อผ่านด่านตรวจเก๋ก็ได้แต่ยื่นหนังสือรับรองฉบับนี้ ในที่สุดก็ถึงภูเก็ต และได้ทำตามคำแนะนำของท่านกงสุลทุกอย่าง

กระทั่งเก๋เดินเข้ามาหาผมขอให้ช่วยบูบู้ ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อย้ายเข้าป.๑ ที่โรงเรียน เมื่อผมได้พูดคุย และตรวจสอบเอกสาร จึงได้ทราบว่าบูบู้ตกอยู่ในสภาพคนเสมือนไร้สัญชาติ กล่าวคือ แม้บูบู้จะได้เกิดในประเทศไทย ก็ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติ, แม้แม่ของบูบู้จะมีสัญชาติพม่า แต่แม่ก็เป็นแรงงานต่างด้าว ๓ สัญชาติ ซึ่งยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ชื่อของแม่ที่ปรากฎในสูติบัตร ท.ร.๓ ก็เป็นชื่อที่ทางการไทยเป็นผู้บันทึก หาใช่ชื่อที่แท้จริงตามบัตรประชาชน และทะเบียนราษฎรของพม่า และบูบู้ก็ยังไม่ได้เพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้านของแม่แต่ประการใด และแม้บูบู้จะได้รับการเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนราษฎรของพม่า บูบู้ก็ยังมิใช่คนที่มีสัญชาติพม่า (Burma Citizen)ตามแม่แต่ประการใด แต่เป็น Naturalized Citizen[๓] เพราะพ่อของบูบู้เป็นคนต่างชาติ, ส่วนการที่บูบู้ได้เป็นลูกของพ่อซึ่งมีสัญชาติเยอรมัน ก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการยื่นคำร้องขอสัญชาติเยอรมัน ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์สัญชาติเยอรมันของพ่อด้วยว่า พ่อเป็นคนเยอรมันจริงหรือไม่ ความคลุมเครือทั้งหลายนี้เป็นบ่อเกิดของความเสมือนไร้สัญชาติ

เก๋เดินเข้ามาหาผมขอให้ช่วยบูบู้ ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ผมตรวจสอบเอกสารพบว่า บูบู้ยังมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง กระบวนการของบูบู้เพื่อให้มีชื่อในทะเบียนบ้านที่อยู่จริง ๆ และมีบัตรประจำตัวยังไม่เสร็จสิ้น ผมให้คำแนะนำแก่เก๋ และเขียนบันทึกขั้นตอนการย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลาง และย้ายเข้าทะเบียนบ้านนายจ้างของเก๋นำไปให้เจ้าบ้าน(นายจ้าง) ไปดำเนินการตามขั้นตอน จนเสร็จกระบวนการย้ายเข้าในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓  และทำบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนในเวลาต่อมา บูบู้ได้อยู่บ้านเดียวกับแม่ แต่คนละสถานะแม่อยู่บ้านในสถานะทะเบียนประวัติ ท.ร.๓๘/๑ ลูกอยู่ในสถานะทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓

กลางกันยายน ๒๕๕๓ เก๋โทรศัพท์มาแจ้งข่าวดีของลูกชาย เด็กชายเบ็นจมิน ซานเดอร์ ได้รับสัญชาติเยอรมันแล้ว ทางกงสุลเยอรมัน ภูเก็ต นัดไปรับหนังสือเดินทางในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ บูบู้พ้นสภาพของคนเสมือนไร้สัญชาติแล้ว เขาไม่ใช่คนไม่มีสัญชาติอีกต่อไป เขาเป็นคนเยอรมัน

แต่ทว่านายเคล้า มาติน เบ็นจมิน ซานเดอร์ – พ่อของบูบู้ ได้ด่วนลาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่นางซานซานเท่-แม่ของบูบู้ ยังมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินไทย อยู่ในสถานะคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่ได้รับให้อยู่ในประเทศเป็นกรณีพิเศษ ผู้ซึ่งยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีสัญชาติพม่าจริงหรือไม่ ส่วนเด็กชายเบ็นจมิน ซานเดอร์ (บูบู้)-ลูกชาย มีสัญชาติเยอรมัน มีชีวิตอยู่บนแผ่นดินไทยพร้อมกับแม่ เข้าเรียนป.๑ ในโรงเรียนไทย อยู่ในสถานะอย่างไร เช่นไร เป็นเรื่องของอนาคต ภาค ๒ ของเบ็นจมินกำลังจะมา

 

...................................................................................................................................................................

 

 


[๑] หนังสือรับรอง เลขอ้างอิงที่ RK 5 E/SANDER ลว.๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กรุงเทพมหานคร

[๒] คำสั่งศาลจังหวัดระนองแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว คดีดำที่ ๙/๒๕๕๑ คดีแดงที่ ๑๒/๒๕๕๑

[๓] Burma Citizenship Law, 1982, Section 43(a) The following persons born in or outside the State from the date this Law comes into force may also apply for naturalized citizenship: (a) persons born of Parents one of whom is a citizen and the other a foreigner;

หมายเลขบันทึก: 400709เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2010 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 11:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบใจจ๊ะเพ้ง

เอกสารประกอบการสอนเลยนะเนี่ย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท