ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

Celeb-Buddhism: พระพุทธศาสนาเพื่อชุมชนชาวเซเลป


 Celeb-Buddhism: พระพุทธศาสนาเพื่อชุมชนชาวเซเลป

************
 

โดย พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ผศ.ดร.
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาผู้บริหาร
Mini MBA รุ่นที่ ๗๑
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

๑. เกริ่นนำ 


          นักวิชาการ และนักคิดทั่วไปที่ศึกษาและสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาในแง่มุม และบริบทต่างๆ  ทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้พยายามแบ่งพระพุทธศาสนาออกเป็นประเภทต่างๆ (Segmentation)  เพื่อให้ง่ายต่อการจำแนก อธิบาย วิเคราะห์ และตีความพระพุทธศาสนาให้สอดรับกับกลุ่มเป้าหมาย (Target Group) มากยิ่งขึ้น  ในการที่จะสะท้อนภาพลักษณ์ที่แท้จริง (Positioning) ของกลุ่มคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆ

           ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบว่าได้มีการแบ่งพระพุทธศาสนาออกเป็นประเภทหรือรูปแบบต่างๆ เช่น แนวคิดการแบ่งประเภทของพระพุทธศาสนาแบบ “TIPE” กล่าวคือ พระพุทธศาสนาแบบคัมภีร์ (T:Textual Buddhism) พระพุทธศาสนาแบบปัญญา (I: Intellectual Buddhism) พระพุทธศาสนาแบบปฏิบัติ (P: Practical Buddhism) และพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (E: Engaged Buddhism)  นอกจากนี้ ได้มีการอธิบายพระพุทธศาสนาในรูปแบบอื่นๆ เช่น พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม (Early Buddhism) พระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน (Local Buddhism) และพระพุทธศาสนาแบบสีเขียว (Green Buddhism) ที่เน้นการพัฒนาพระพุทธศาสนาเพื่อการรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

          อย่างไรก็ดี  บทความนี้ ผู้เขียนได้ศึกษา และวิเคราะห์กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์ อธิบาย  ตีความ และประยุกต์ใช้พระพุทธศาสนาให้สอดรับรับการวิถีชีวิต และการทำงานซึ่งเอื้อต่อความสำเร็จ ชื่อเสียง และเงินทอง  ซึ่งเราได้เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มคนเซเลป” คำถามคือ “กลุ่มคนกลุ่มนี้มีท่าทีและมุมมองต่อพระพุทธศาสนาอย่างไร”  และ “ได้นำหลักการทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้กับชีวิตและการทำงานเพื่อสร้าง และรักษาชื่อเสียงของตัวเองอย่างไร” อีกทั้งเราจะออกแบบผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือการบริการที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาตามหลักของ ๔ Ps (Product, Place, Pricing และ Promotion) อย่างไร จึงจะสอดรับวิถีชีวิต และการทำงานของคนเหล่านี้

๒. เซเลป (Celeb): ใครเป็นใคร อะไรเป็นอะไร

          คำว่า “เซเลป”  เป็นคำที่สังคมไทยได้ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อเรียก “กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง” ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งย่อมาจากคำว่า  “Celebrity”   โดยให้ความหมายว่า “เป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่เป็นที่รู้จักของสาธารณะชน และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของตน หรือ อาจรวมถึงทายาทหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ประสบความสำเร็จนั้นด้วย
          คำถามมีว่า “ไฮโซ” กับ “เซเลป”  นั้นต่างกันอย่างไร หากมองในภาพรวม อาจจะตีความได้ว่า “ไฮโซ” คือ บรรดาผู้ดี มีเชื้อสาย ซึ่งหมายถึง “บุคคลชั้นสูง” ในขณะที่ “celebrity” หรือ เรียกในภาษาไทยว่า “เซเลป” หมายถึง ผู้ที่มีชื่อเสียง ในด้านใดด้านหนึ่ง และได้รับการยอมรับจากสังคม ว่าเป็นผู้มีความถนัด หรือความสามารถในด้านนั้นๆ อย่างชัดเจน
          ดังนั้น  “ไฮโซ” จึงไม่จำเป็นต้องเป็น “เซเลป” และ “เซเลป”  สามารถค้นหาได้จากวงการ หรือศาสตร์ต่างๆ เช่น ด้านกีฬา การเมือง การแสดง การร้องเพลง ศาสนาและด้านอื่น ๆ

๓. บุคคล หรือกลุ่มบุคคลเซเลปสำคัญอย่างไร

          แม้ว่าคน หรือกลุ่มคนเซเลปจะเพียบพร้อมไปด้วยความสำเร็จทั้งด้านความสามารถ ชื่อเสียง และประสบความสำเร็จในชีวิตและการงาน จนนำมาซึ่งความชื่นชม ชื่นชอบ และได้รับความนิยมอย่างสูงจากสาธารณชนโดยทั่วไป  แต่การเป็น “Celebrity” ของคนเหล่านั้น ไม่ได้หมายว่า “จะไม่ได้รับการคุกคามจากปัญหาของโลกธรรม”  ที่เกียรติยศ ความดัง และชื่อเสียงจะดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง และยาวนานโดยไม่ตกอยู่ภายในกฎไตรลักษณ์  เนื่องจากว่า โลกธรรมนั้นไม่เที่ยงแท้แน่นอน  ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาให้สิ่งเหล่านั้นเป็นไปตามที่ใจเขาเหล่านั้นปรารถนา

          ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้กลุ่มคนที่เป็น “Celebrity”   ต้องเตรียมตัว และเตรียมใจที่จะเข้าใจ เรียนรู้ที่จะยอมรับความจริงซึ่งเกิดขึ้นตามมา  เพราะในความเป็นจริงคนเหล่านี้  มักจะมองไม่เห็น หรือมองข้ามความเป็นกฎไตรลักษณ์ในขณะที่ทุกอย่างเพียบพร้อม และสมบูรณ์  แต่คำถามที่สำคัญคือ “เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น” คนเหล่านี้จะเตรียมตัว และเตรียมใจอย่างไรต่อสถานการณ์ต่างๆ  

           นอกจากนี้  คนเหล่านี้เป็นที่ต้องการอย่างสูงของนักการตลาด ในฐานะช่วยสนับสนุน แผนการทำการตลาดและโฆษณา  ทั้งนี้ เพราะ “Celebrity” เป็นผู้ที่มีอำนาจในการสร้างกระแส ความนิยม ในสินค้าและบริการได้แล้ว คนเหล่านี้ ยังได้กลายเป็นแบบอย่างของ ผู้บริโภคทั้งหลายที่รอคอย ที่จะเฝ้าดูรูปแบบการแต่งกาย ของนักแสดง หรือนักร้องที่ตนชื่นชอบ

            ด้วยเหตุนี้  “Celebrity” จึงเป็นผู้นำทางด้านความคิดเนื่องจากคำพูด และการแสดงออกของเขาเหล่านั้น มีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรม และแนวความคิด ของผู้บริโภคที่มีความชื่นชอบอีกด้วย  ซึ่งการเป็นผู้นำด้านความคิดในลักษณะเช่นนี้ ทำให้สถานะ “Celebrity” ถูกใช้ในโฆษณาประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น  การรณรงค์เพื่อสร้างความดี การรักษาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ การต่อต้านการซื้อเสียง และการต่อต้านยาเสพติด

             การดำเนินชีวิตของกลุ่มคน “เซเลป”  จึงเป็นเหมือนละครในชีวิตจริงที่ผู้ชมจำนวนมากเฝ้าจับตามองความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สำหรับผู้คนจำนวนมาก การได้เห็น “Celebrity” คือการได้มองหาความเป็นตัวของตัวเองผ่านกระจก  ผลที่เกิดขึ้นก็คือ คนดัง และมีชื่อเสียงเหล่านั้นเป็นต้นแบบสำหรับเยาวชน และบุคคลทั่วไป ในหลายแง่มุม พวกเขาทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ในการเรียนหนังสือ ความสำเร็จในหน้าที่การงาน การใช้ชีวิตคู่ การเลี้ยงดูบุตร และด้านอื่น ๆ  

             การที่ “Celebrity” มีอิทธิพลมากขนาดนี้  หากมองในเชิงการตลาดหากไม่มีการนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด ย่อมเป็นประเด็นที่ผิดปกติสำหรับการสร้างมูลค้าเพิ่มให้แก่สินค้า และการบริการ  ในขณะเดียวกัน หากมองในมิติของศาสนา  กลุ่มคนที่มีบทบาทในบริบทต่างๆ เกี่ยวกับศาสนา หรือองค์กรศาสนามองคนเหล่านี้อย่างไร เพราะการมองจะมีผลต่อการกำหนดท่าทีต่อการนำเสนอรูปแบบการสื่อธรรมะเพื่อคนกลุ่มนี้ รวมไปถึงการกำหนดกิจกรรมเพื่อดึงคนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมบทบาทและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่วัยรุ่น หรือกลุ่มคนอื่นๆ ต่อไป

๔. ชาวพุทธมองชุมชนคน “เซเลป” อย่างไร

              คำถามที่สำคัญคือ “กลุ่มบุคคล หรือกลุ่มองค์กรทางพระพุทธศาสนาจะมีท่าทีต่อกลุ่มคนเหล่านี้อย่างไร”  จะตั้งคำถามต่อท่าที และการแสดงออกต่อคนเหล่านี้อย่างไร  ซึ่งการตั้งคำถามอาจจะเป็นไปได้ทั้งแนวบวกและลบ

              (๑) กลุ่มคน “เซเลป” เป็นพวกวัตถุนิยม สรรเสริญ และบูชาบริโภคนิยมมากจนเกินไป  โดยไม่ใส่ใจต่อคุณค่าแท้ของสิ่งที่แต่ละคนสัมพันธ์  อีกทั้งอยู่ในวังวนของ “โลกธรรม”  การดำเนินชีวิตที่สวมหน้ากากเข้าหากัน  และหวังผลจากการสร้างคุณงามความดี เพื่อให้ได้มาซึ่งเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ และการยกย่อง  ไม่ใส่ใจต่อวิธีการที่จะได้มาซึ่งเกียรติยศ และชื่อเสียงโดยมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายเป็นสำคัญ

              (๒)  กลุ่มคน “เซเลป” เป็นคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่หาความสำเร็จ มีวินัยในตัวเอง มีอุดมการณ์ เป้าหมาย และกำหนดทิศทางในการคิด พูด และกระทำที่สะท้อนอัตลักษณ์ของความเป็นตัวตนอย่างชัดเจน หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การค้นหาตัวเองพบ และฉายความเป็นตัวตนออกมาจนประสบความสำเร็จและเป็นที่ชื่นชน และนิยมของสาธารณชนทั่วไป  

               โดยสรุปคือ กลุ่มคน “เซเลป” ตามที่ปรากฏในสังคม ได้สะท้อนทั้งแง่บวกและแง่ลบทั้งด้านวิธีคิด พฤติกรรมการแสดงออก  แต่สาระสำคัญประการหนึ่งก็คือ กลุ่มคนเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อวิธีคิดและการกระทำของบุคคลอื่นๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยรุ่นทั่วไป หรือกลุ่มคนที่ขาดวุฒิภาวะ และกลุ่มคนที่มีจิตใจที่ไม่เข็มแข็งเพียงพอต่อการดำเนินชีวิต และแสวงหาความสำเร็จ และชื่อเสียง จีงต้องการแรงบันดาลใจ เพื่อที่จะเติมเต็มความฝันโดยการนำกลุ่มคน “เซเลป” มาเป็นแบบอย่าง (Role Model) หรือเป็นตัวอย่างที่ดี (Best Practice) ในการดำเนินชีวิตและการทำงานต่อไป

๕. Celeb-Buddhism คืออะไร และอย่างไร

          “Celeb-Buddhism” หรือ “พระพุทธศาสนาเพื่อชาวเซเลป” เป็นวาทกรรมที่ผู้เขียนได้สร้างขึ้นเพื่ออธิบายวิธีคิด พฤติกรรม และการดำเนินชีวิตของบุคคลที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยมจากสาธารณชนทั่วไป  ซึ่งความนิยมดังกล่าวได้นำไปสู่แบบอย่างทั้งที่ดีและไม่ดีในการดำเนินชีวิต จนนำไปสู่การนำบุคคลเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงบันดาลใจต่อการดำเนินชีวิต การศึกษา และการทำงาน

          ด้วยเหตุนี้  คำว่า “Celeb-Buddhism” หรือ “พระพุทธศาสนาเพื่อชาวเซเลป” หมายถึง “การที่กลุ่มคนซึ่งประสบความสำเร็จทั้งด้านชีวิต การทำงาน การเงิน มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของสาธารณชน มีอิทธิพลทั้งด้านความคิด และพฤติกรรมต่อสาธารณชนได้พัฒนา ประยุกต์ วิเคราะห์ ตีความ และบูรณาการหลักการทางพระพุทธศาสนาไปสนองตอบต่อการแสวงความสุข ที่อิงแอบอยู่กับโลกธรรม ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ทรัพย์สิน และเงินทอง

          นอกจากนี้ กลุ่มคนเหล่านี้มุ่งหวังที่จะทำให้หลักการทางพระพุทธศาสนายึดโยงอยู่กับแนวคิดวัตถุนิยม และบริโภคนิยม กล่าวคือ มองว่าพระพุทธศาสนาไมได้แยกขาดจากสิ่งเหล่านี้  ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง หรือความสำเร็จในการทำงานอีกทั้ง อีกทั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาสิ่งดังกล่าว และในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องในการยืนยันว่าการเพียบพร้อมด้วยสิ่งเหล่านี้มีความหมายทั้งวิถีโลก และวิถีธรรมมากยิ่งขึ้น  หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง พระพุทธศาสนาทำให้การเป็นเซเลปนั้นมีคุณค่าและมีความหมายทั้งในเชิงอัตวิสัย และปรวิสัยมากยิ่งขึ้น

 ๖. Celeb-Buddhism:  พระพุทธศาสนาเพื่อชาวเซเลป (Celeb)

          จากการได้สัมภาษณ์เชิงลึก และวิเคราะห์จากสื่อต่างๆ ต่อประเด็นนี้ ทำให้พบคำตอบที่น่าสนใจว่า สิ่งที่สังคมชาวเซเลปได้ปฏิบัติตนต่อพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน และมุ่งหวังคาดหวังต่อพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ได้ทำหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการของกลุ่มดังกล่าวในการเข้าถึงพระพุทธศาสนา สามารถสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

          ๖.๑ ไม่เน้นพิธีกรรม หรือพิธีรีตองมากจนเกินไป   เพราะทำให้รุ่งรังเสียเวลา เนื่องจากคนเหล่านี้มีวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตแบบ Hyper  กล่าวคือ คิดเร็ว พูดเร็ว และทำเร็ว  อีกทั้งมีระยะเวลาค่อนข้างจะจำกัดในการดำเนินชีวิต เพราะถูกรัดรึงด้วยการทำงาน และการดำเนินธุรกิจ  ฉะนั้น  การเข้าถึงง่าย ค้นง่าย เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ง่าย จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความใส่ใจ  โดยเน้นรูปแบบธรรมะแบบเร่งด่วน  หรือเรียนลัด

          ๖.๒ ธรรมะแบบสูตรสำเร็จ ส่งตรงถึงบ้าน   แนวคิดเรื่องการส่งสินค้าให้แก่ผู้บริโภคถึงบ้าน  (Delivery)  จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบรับแนวทางดังกล่าว   ด้วยเหตุนี้ จึงมีพระรุ่นใหม่บางกลุ่มจนพยายามสร้างสรรค์ Dhamma Delivery ซึ่งเป็นธรรมะที่ส่งตรงถึงบ้าน  เป็นธรรมะที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค กล่าวคือ สนใจประเด็นใด หรือเรื่องใดผู้บริโภคจะสั่งธรรมะชุดดังกล่าว หรือวิทยากรชุดดังกล่าวไปนำเสนอทางเลือกตามที่ลูกค้าต้องการ

          ๖.๓ ไม่เน้นคัมภีร์ แต่เน้นเชิงประยุกต์  กลุ่มคนเหล่านี้ ไม่สนใจ หรือใส่ใจว่า คัมภีร์จะว่าอย่างไร หรือบาลีกล่าวไว้อย่างไร  แต่สนใจกระบวนการและวิธีการในการย่อยธรรมะจากคัมภีร์เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้สอดรับความปัญหา และสถานการณ์จริง ที่เกิดขึ้นจริง และมีแนวทาง และคู่มือที่สามารถไปประยุกต์ใช้ได้จริง  โดยไม่ตรงเสียดายกับการไปอธิบายและตีความให้สูญเสียเวลา

          ๖.๔ เน้นปัญญา มากกว่าอารมณ์  คือเน้นการใช้งานจริง  กลุ่มนี้เป็นนักคิด นักเขียน นักทำงานที่ผ่านการเรียนรู้ในวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์  ผ่านกระบวนการคิดแบบเป็นระบบ   และเรียนรู้ถูกผิดกับการใช้อารมณ์ เป็นการดำเนินชีวิตโดยใช้อารมณ์นำหน้ามาอย่างยาวนาน และประสบกับความติดตันในประเด็นปัญหาดังกล่าว  ทางออกคือ ปัญญาเข้าจะเข้ามาช่วยให้เกิดประบวนการเรียนรู้เพื่อออกจากกำดักของอารมณ์ได้อย่างไร

          ๖.๕ เน้นธรรมะเพื่อโลกียวิสัย  ด้วยเหตุที่ว่า “คนกลุ่มนี้ยังเพลิดเพลินอยู่กับชื่อเสียงและความสำเร็จ”  และปรารถนาที่จะให้สิ่งเหล่านี้มีอยู่และคงอยู่กับเขา ตราบเท่าที่คนเหล่านี้ยังไม่สามารถตระหนักว่า “สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปตามกฎของธรรมชาติ”  ดังนั้น การพัฒนาธรรมะเพื่อให้สอดรับกับการแสวงหาความสุขแบบโลก ธรรมะที่สอดรับการแสวงหาลาภ ยศ และชื่อเสียง การออกแบบชุดธรรมเพื่อให้เกิดการสร้างแรงบันดาลใจ การช่วยเติมความฝัน สร้างฝันให้เป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่คนเหล่านี้ค้นหา

          ๖.๖ เน้นธรรมะสีเขียว (Green Dhamma)  กระแสเรื่อง “สีเขียว”  เน้นเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการที่คนกลุ่มหนึ่งใส่ใจต่อความเป็นไปของโลก  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกระแสแฟชั่น หรือการเกิดการตระหนักรู้ก็ตาม แต่กระแสเช่นนี้ได้เกิดขึ้น และขยายความคิดไปทั่วไป ฉะนั้น จึงเกิดสินค้าต่างๆ ที่ให้ความใส่ใจต่อเรื่องนี้ เช่น ชาเขียว โรงเรียนสีเขียว โรงงาน หรือองค์กรสีเขียว ครอบครัวสีเขียว และพลังงานสีเขียว   ด้วยเหตุนี้ คนกลุ่มนี้ จึงหันมาให้ความใส่ใจกับ “ธรรมะสีเขียว” โดยผ่านทางวัดสีเขียว ใจสีเขียว และกิจกรรมทางศาสนาสีเขียว  ทำอย่างไร เราจึงจะออกแบบธรรมะ หรือพัฒนาวัดวาอารามให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว

          ๖.๗ ธรรมะเพื่อสุขภาพ   ในยุคปัจจุบันนี้ ชาว Celeb ให้ความใส่ใจกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น  จะเห็นว่ามีสถานออกกำลังกายเพื่อคนเหล่านี้ ทั้งที่จัดหาไว้ในบ้าน และตามห้างต่างๆ  เพื่อดึงดูดคนเหล่านี้มาใช้สินค้าและบริการ นอกเหนือจากนี้  คนกลุ่มนี้จะสนใจเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแกร่งพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งท้าทายต่างๆ  การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาดบริสุทธิ์     อย่างไรก็ดี สิ่งที่คนกลุ่มนี้พยายามให้ความใส่ใจมากขึ้นก็คือ การปฏิบัติโยคะที่ผสมผสานระหว่างการดูแลร่างกายให้แข็งแกร่งสอดรับกับจิตใจที่เข้มแข็ง  ฉะนั้น ธรรมะเพื่อสุขภาพของคนเหล่านี้จึงมีความจำเป็นที่จะพัฒนาเคียงคู่กันไปกับสิ่งอื่นๆ

๗. เราจะตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเซเลปได้อย่างไร

            จากแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับชุมชนชาวเซเลปในเบื้องต้น พบว่า คนกลุ่มนี้มีความคาดหวังและความต้องการจากสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตในหลายแง่มุม และเป็นที่ประจักษ์ว่า คนกลุ่มนี้ย่อมมีความคาดหวังและความต้องการจากพระพุทธศาสนาในแง่ของ ศาสนธรรม ศาสนาบุคคล และประเด็นอื่นๆในมิติที่หลากหลายเช่นกัน  คำถามมีว่า เราควรออกแบบสิ่งต่างๆ เพื่อรองรับกลุ่มคนที่พัวพันอยู่กับโลกธรรมทั้งในแง่วัตถุนิยม และบริโภคนิยมได้อย่างไร จึงจะทำให้คนกลุ่มนี้ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เรียนรู้ และปฏิบัติเพื่อใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชีวิต การทำงาน และสภาพจิตให้สูงขึ้นในโอกาสต่อไปได้อย่างไร

             ๗.๑ การออกแบบยี่ห้อ (Brand) ของสินค้า เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้ให้ความสนใจและใส่ใจกับยี่ห้อ หรือตรา (Brand) ของสินค้าที่ทันสมัย และทันต่ออารมณ์และความรู้สึก  ฉะนั้น การออกแบบยี่ห้อสินค้า และการบริการ เช่น ปกหนังสือธรรมะ การโฆษณาตามสื่อต่างๆ และของที่ระลึกรูปแบบต่างๆ เพื่อคนกลุ่มนี้ จึงเป็นสิ่งที่องค์กรศาสนาต้องให้ความใส่ใจกับสีสัน และการออกแบบซึ่งดูแล้วทันสมัย และสบายใจ ง่ายต่อการรับรู้ และง่ายต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และเข้ารับการบริการ

             ๗.๒ การพัฒนาหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้สำหรับรองรับความต้องการ และพัฒนาทักษะในการดำเนินชีวิตและการทำงาน   การจัดหลักสูตรเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ควรจะเน้นความแตกต่าง (Differentiate) ของตัวสินค้า (Product) หรือตัวหลักสูตร เพราะชุมชนชาวเซเลปเป็นกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านชื่อเสียง ชีวิต การทำงาน และเพียบพร้อมด้วยเงินทอง ฉะนั้น คนกลุ่มนี้อาจจะมองการศึกษา หรือแสวงองค์ความรู้เพิ่มเติมสอดรับกับสิ่งที่ตัวเองมีและเป็น  ด้วยเหตุนี้ การจัดหลักสูตรจึงควรจะมุ่งเน้นทั้ง ๓  ระยะคือ  การจัดหลักสูตรระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว  อันทั้งการบริหารหลักสูตรนั้น ควรจะเน้นอาจารย์บรรยายที่สามารถสื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถ “บูรณาการโลกและธรรมให้ประสานสอดคล้องกันอย่างประสมกลมกลืน”  เพื่อที่จะชี้ว่า การมีอยู่ที่พัวพันอยู่กับโลกธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ปุถุชนคนธรรมดาย่อมสามารถมีและเป็นได้ แต่จะมีและเป็นอย่างไรจึงจะมีความสุขกับสิ่งที่มีและเป็นซึ่งสอดรับกับหลักการ “คิหิปฏิบัติ” ในพระพุทธศาสนา

              ๗.๓ ผลิตสื่อธรรมะ และแผ่นซีดี (Green Media)  คนกลุ่มนี้มักจะเลือกซื้อสินค้าและตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยใช้อารมณ์เป็นตัวตั้งหลังจากนั้นใช้เหตุผลในการคิดวิเคราะห์ถึงสภาพการใช้งานจริงของสินค้า  ด้วยเหตุนี้ การผลิตสื่อธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบตัวสินค้า (Packaging) ควรที่จะเน้นสีสันเพื่อให้สอดรับกับจริตของคนกลุ่มนี้ อีกทั้งสื่อธรรมควรจะเป็นไปในลักษณะ “ธรรมะสบายๆ สไตล์เซเลป” ซึ่งสอดรับกับวิถีชีวิต ความมีชื่อเสียง และการดำรงอยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้ ฉะนั้น การนำเสนอธรรมะอาจจะเริ่มต้นด้วยอารมณ์ (Emotional Dhamma) โดยการโน้มนำเพื่อให้เกิดอารมณ์ร่วมในการเลือกตัดสินใจเพื่อเข้าสู่บทเรียน หลักจากนั้นจึงนำเสนอธรรมะซึ่งเป็นไปเพื่อการใช้งานจริงกับชีวิต (Functional Dhamma)

              ๗.๔ การเปิดพื้นที่เพื่อรองรับคนกลุ่มนี้มาเป็น “อาสาสมัคร” โดยใช้ชื่อว่า “ธรรมทูต” หมายถึงทูตที่จะนำสิ่งดีๆ ไปสู่คนกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม เหตุผลสำคัญเพราะคนกลุ่มนี้เป็นที่ชื่นชอบและเป็นแบบอย่างที่ต่อการเลียนแบบ หรือเป็นแรงบันดาลให้กลุ่มคนอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเลียนมักใช้คนกลุ่มนี้เป็นแบบอย่างในการคิด พูด และแสดงออกทางพฤติกรรม ฉะนั้น การเผยแผ่ธรรมหรือทำกิจกรรมต่างๆ โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มเหล่านี้เป็น “ผู้ส่งสาสน์หรือเป็นผู้นำธรรมะซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและมีคุณค่าไปสู่วัยรุ่น วัยทำงาน หรือผู้กระหายความสำเร็จในชื่อเสียง และการเงิน ย่อมเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนและส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง”

               ๗.๕ การจัดสถานที่พักผ่อนทางกายและใจเพื่อให้เป็น “บ้านธรรมะ”  (Green Place)  เนื่องจาก “จริต” ของคนกลุ่มนี้เป็นห่วงเรื่องภาพลักษณ์ (Image) ของตัวเอง อีกทั้งมีจริตที่รักความสะอาด รักความสะดวก รักสวยรักงาม การแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูดี และภูมิฐาน    ฉะนั้น การออกแบบสถานเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสได้พักผ่อนทั้งทางกายและใจจึงควรสอดรับกับจริต  ฉะนั้น สถานที่เช่นนี้ อาจจะต้องจัดบรรยากาศ เครื่องอำนวยความสะดวก และสามารถแต่งกายตามที่คนกลุ่มนี้ประสงค์ที่จะเป็นโดยไม่มีข้อห้ามหรือข้อความใดๆ ที่ส่อแสดง หรือขัดจริตกับคนกลุ่มนี้  ด้วยเหตุนี้ ธรรมะในสถานที่ หรือการสื่อต่างๆ ต้องเป็นไปเพื่อความสวยงาม สอดรับกับเกียรติยศชื่อเสียง อีกทั้งบรรยากาศของการผักผ่อนทางกายและใจควรจะเป็นมีลักษณะ “ผ่อนคลาย” และ “ไม่ตึงเครียด” ด้วยกฎเกณฑ์ พิธีรีตอง พิธีกรรมและระบบต่างๆ ที่สร้างขึ้นเป็นกรอบในการปฏิบัติตน 

                ๗.๖ ร้านอาหาร Mind and Body (Green Restaurant)  เนื่องจากคนกลุ่มนี้ใช้เวลาส่วนมากในการแสวงหาความสำเร็จ เงินทอง และชื่อเสียง ด้วยเหตุนี้ ในช่วงเวลาหนึ่งจึงหันมาสนใจเรื่องสุขภาพของตัวเองมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น จึงมุ่งเน้นกิจกรรมการออกกำลังกายมากขึ้น และหันมารับประทานอาหารที่มีคุณค่ากับสุขภาพของตัวเองมายิ่งขึ้น  ด้วยเหตุนี้ การออกแบบร้านอาหารจึงควรจัดบรรยายเพื่อความอิ่มเอมทางกาย และมีความสุข สงบ และเย็นทางใจด้วย บรรยากาศร้านอาหาร เสียงเพลงจึงเป็นไปเพื่อการบูรณาการสองสิ่งเข้าหากัน อีกทั้งอาหารจึงควรเน้นอาหารที่เป็นไปเพื่อการสร้างความแข็งแรงของสุขภาพ ที่สอดรับกับความเข้มแข็งของจิตใจ ด้วยเหตุนี้ ร้านอาหารนี้จึงควรเน้นปรัชญาที่ว่า “สุขกายสบายใจ”  ๘. หมู่บ้านธรรมะ

                ๗.๗ การท่องเที่ยวที่เน้นความสะดวกสบายและได้สาระธรรม การจัดทัวร์ธรรมะเพื่อคนกลุ่มนี้นับว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน  เนื่องจากเป็นคนมีชื่อเสียง ชื่นชอบความสะดวกสบาย การออกแบบรูปแบบของทัวร์ธรรมะจึงควรการบริการที่สะอาด รวดเร็ว และปลอดภัย อีกทั้งได้สาระธรรมที่เน้นการรู้ ตื่น และเบิกบาน  ซึ่งสถานที่นั้นต้องมีความชัดเจนในแง่ของประวัติศาสตร์และความเป็นมาเพราะคนกลุ่มนี้ต้องการความเป็นของแท้ดั้งเดิม และมีระดับ เช่น สถานที่ควรจะเน้นประเทศอินเดีย ซึ่งมีสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ที่แสดงธรรม และปรินิพพาน  และสถานที่ที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น ประเทศศรีลังกา ทิเบต พม่า และลาว

๘. บทส่งท้าย

                “Celeb-Buddhism” หรือ “พระพุทธศาสนาเพื่อชุมชนชาวเซเลป”  เป็นพระพุทธศาสนาที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านชีวิต การทำงาน การเงิน มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของสาธารณชน มีอิทธิพลทั้งด้านความคิด และพฤติกรรมต่อสาธารณชนได้พัฒนา ได้เพียรพยายามที่จะประยุกต์ วิเคราะห์ ตีความ และบูรณาการหลักการทางพระพุทธศาสนาไปสนองตอบต่อการแสวงความสุข ที่อิงแอบอยู่กับโลกธรรม ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ทรัพย์สิน และเงินทอง  กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ต้องการที่จะให้แยก “โลกกับธรรมออกจากกัน” และมองว่า สองสิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกัน  ธรรมะย่อมไร้ซึ่งคุณค่าหากไม่สามารถที่จะไปสนองตอบต่อการพัฒนาความสำเสร็จในการสร้างชื่อเสียง การทำงานเพื่อแสวงหาเงินทาง และเกียรติยศ

                 เมื่อกล่าวถึงวิธีคิด และท่าทีของคนกลุ่มนี้ต่อศาสนา พบว่า ศาสนาควรเน้นเรื่องสาระธรรมที่สอดรับกับความเป็นไปของโลกมากกว่าการเน้นหนักเรื่องพิธีกรรม หรือพิธีรีตองมากจนเกินไป อีกทั้งศาสนาควรจะเน้นเรื่องคุณค่าแท้ของแก่นศาสนาที่ไม่พยายามจะนำสิ่งใดก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องกับแก่นมาฉาบทาจนทำให้แก่นและแกนสูญเสียไป แม้ว่าบางกลุ่มจะเน้นเรื่องอารมณ์ (Emotion) แต่ถึงกระนั้นเป้าหมายที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้คือ “การใช้งานได้จริง” (Function) โดยผ่านกระบวนการในการอธิบาย วิเคราะห์ และตีความให้ง่ายต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตและการงาน

                 ฉะนั้น คนกลุ่มนี้จึงมีความคาดหวังและความต้องการจากพระพุทธศาสนาในแง่ของ ศาสนธรรม ศาสนาบุคคล และประเด็นอื่นๆในมิติที่หลากหลาย แต่ถึงกระนั้น เราควรออกแบบสิ่งต่างๆ เช่น สถานที่พักผ่อนที่เน้นการประสานสอดคล้องระหว่างกายและใจ การนำเสนอตราสินค้าที่ทันสมัย และการนำเสนอธรรมะที่สอดรับกับความต้องที่ง่ายต่อการเข้าใจและนำไปประยุกต์โดยไม่ขัดกับโลกียวิสัยที่คนเหล่านั้นดำรงตนและเป็นอยู่

                  คำถามที่สำคัญคือ องค์กรทางศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนบุคคล นักวิชาการ นักการศึกษาและนักปฏิบัติ จะออกแบบและนำเสนอธรรมะเพื่อคนกลุ่มนี้อย่างไร จึงจะทำให้ตัวเนื้อแท้ของธรรมะไม่สูญเสียความเป็นอัตลักษณ์  อย่างไรก็ดี เพราะหากประยุกต์ อธิบาย และตีความธรรมะให้หลุดจากกรอบมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า “เป็นสัทธรรมปฏิรูปหรือไม่?” 

                  เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เราหลักการที่เราประยุกต์ หรือองค์กรทางศาสนาที่เข้าไปพัวพันกับประเด็นดังกล่าวจะไม่ทำให้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการปรนเปรอและบำรุงรำเรอตนมากจนเกินไป จนเอื้อต่อ “กามสุขัลลิกานุโยค” ที่ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้นำเสนอว่า “เป็นทางสุดโต่ง” เพราะเป็นความสุขที่อิงแอบอยู่กับวัตถุนิยม  แต่ถึงกระนั้น อาจจะมีคำถามว่าต่อประเด็นนี้ว่า “เป็นเพราะกามสุขัลลิกานุโยคมิใช่หรือ” จึงทำให้เราได้มีโอกาสได้ค้นพบคำว่า “พุทธะ” ซึ่งหมายถึง พลังแห่งการ “รู้ ตื่น และเบิกบาน” ในที่สุด 

                  ฉะนั้น ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ “โลกธรรมที่พรั่งพร้อมด้วยวัตถุนิยม และบริโภคนิยม” แต่อยู่ที่ว่า “ชุมชนชาวเซเลปจะเข้าไปรับรู้และสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้อย่างไร จึงไม่ตกเป็นทาสและรู้เท่าทัน โดยการนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือในการยกระดับจิตของตนให้สูงเพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดของพระพุทธศาสนาในโอกาสต่อไป” โดยมีองค์กรศาสนา และศาสนบุคคลได้เข้าไปหน้าที่ประดุจกัลยาณมิตรเพื่อช่วยในการออกแบบหลักธรรมะ และกิจกรรมต่างๆ ให้สอดรับกับความคาดหวังและความต้องการของชุมชนชาวเซเลปมากยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 401499เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2010 00:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท