ฉันทำความผิดเพราะพูดความจริง อย่างนั้นหรือ?


"คุณถูกล็อตเตอรี่มาหรือยังไง ถ้าคุณเพียงแต่บอกว่าลูกคนโตอายุ ๖ ขวบ คุณก็ประหยัดไป ๓ เหรียญ เพราะผมไม่มีทางรู้"

ผมไปประชุมเรื่องการศึกษาผู้ใหญ่ในระดับอุดมศึกษาที่อเมริกา ขากลับแวะเยี่ยมลูกสาวที่กำลังเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น ลูกสาวเรียนไปด้วย ทำงานในร้านอาหารแห่งหนึ่งหลังเลิกเรียนไปด้วย

วันที่ผมไปถึง ลูกสาวลางานหนึ่งวันเพื่อพาผมไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้านนั้นและจะได้แสดงความขอบคุณต่อเจ้าของร้านที่กรุณาให้ลูกผมได้ทำงานด้วย โดยเธอชวนเพื่อนคนไทยในโตเกียวไปด้วย ๒ คน พนักงานร้านอาหารที่เป็นเพื่อนทำงานด้วยกันที่เป็นชาวญี่ปุ่นมาต้อนรับที่ประตู หลังจากโค้งคำนับกันหลายรอบตามธรรมเนียมญี่ปุ่น พนักงานก็พาพวกเราทั้ง ๔ คน ไปนั่งโต๊ะที่กั้นเป็นช่องๆ แคบๆ ขนาด ๖ ที่นั่ง ก่อนที่พวกเราจะนั่งลงที่โต๊ะนั้น ลูกสาวผมพูดบางอย่างเป็นภาษาญี่ปุ่นกับเพื่อนพนักงานคนนั้น ผมถามลูกสาวว่า มีอะไรหรือ เธอตอบว่า เขาจัดให้นั่งโต๊ะแบบ ๖ ที่นั่ง เลยบอกเขาว่า เรามากันเพียง ๔ คน แต่เขาบอกว่าให้นั่งโต๊ะนี้แหละ เขาอยากบริการป่าป๊า เธอบอกว่า ร้านนี้ขายดีมาก โดยเฉพาะวันหยุด (วันนั้นเป็นวันหยุดประจำปีของญี่ปุ่นพอดี) จะมีคนมาเข้าคิวยาวมาก บางครั้งต้องรอนาน เพราะที่นั่งเต็ม ทางร้านจึงมีนโยบายให้พนักงานจัดลูกค้าให้เหมาะสมกับโต๊ะที่สุด

ลูกสาวผมเล่าว่า มีอยู่เนืองๆ ที่ลูกค้าบอกจำนวนคนที่มาไม่ตรงกับที่มาจริงๆ บางกลุ่มก็บอกว่าจะมีคนตามมาสมทบแล้วก็มาจริง แต่บางกลุ่มก็หลอกเพราะอยากได้ที่กว้างๆ เธอบอกว่า เท่าที่เจอมา คนญี่ปุ่นมักจะบอกตรงไปตรงมา พวกที่หลอกมักเป็นคนเอเชียประเทศอื่น (ความจริงเธอระบุประเทศด้วย แต่ผมขอไม่เขียนในที่นี้) 

เธอเล่าว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีกลุ่มหนึ่ง มากัน ๓ คน เป็นเด็กคนหนึ่ง อายุน่าจะ ๕ - ๖ ขวบ เมื่อเธอไปต้อนรับที่ประตู ถามว่า กี่คนคะ ผู้หญิงในกลุ่มนั้นบอกว่า ๕ คน ทั้งที่เห็นยืนอยู่ ๓ คน เด็กน้อยที่มาด้วยพูดขึ้นว่า "แม่ เรามากัน ๓ คนเท่านั้น" แต่แม่เด็กคนนั้นก็ยังยืนยันว่า ๕ คน ก็เลยพาไปนั่งโต๊ะแบบ ๖ ที่นั่ง ลูกผมเข้าใจว่าที่แม่คนนั้นต้องการแบบ ๖ ที่นั่งเพราะเธอรูปร่างค่อนข้างท้วม ต้องการพื้นที่เยอะหน่อย แต่เลือกใช้วิธีโกหก ไม่พูดขอ(ความกรุณา)อย่างตรงไปตรงมา เธอว่าหากใครบอกเธอตรงๆ ก็จะหาวิธีจัดให้ตามที่พอจะช่วยได้

เมื่อเธอไปเสริฟอาหารที่โต๊ะนั้น พบว่า แม่คนนั้นยังคงดุด่าลูกไม่เสร็จ ลูกสาวผมเป็นนักศึกษาสาขาจิตวิทยา เมื่อสบตากับเด็กน้อยคนนั้นแล้วเธอรู้สึกว่า เป็นสายตาที่สับสน คล้ายกับว่า "ฉันทำความผิดเพราะพูดความจริง"

ส่วนผมฟังเรื่องนี้แล้วก็นึกถึงหนังสือชื่อ โรคแม่ทำ ของ ศาสตราจารย์ นพ.ชิเงโมริ คิวโตกุ ที่ผมเคยอ่านเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ตั้งแต่ลูกผมยังเล็ก หนังสือเล่มนี้ นพ.สมอาจ วงษ์ขมทอง หมอที่เรียนแพทย์จากญี่ปุ่น เป็นผู้แปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย

บนเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ ผมนำหนังสือพ็อกเก็ตเล่มเล็กๆ ประเภทอ่านง่ายๆ (easy reading) เพื่อฆ่าเวลา ที่ผมซื้อจากร้านหนังสือใกล้ๆ สถานีรถไฟฟ้าแห่งหนึ่งในโตเกียว ชื่อหนังสือ Chicken Soup for the Soul: 101 Stories to Open the Heart and Rekindle the Spirit (แกงจืดไก่สำหรับวิญญาณ: 101 เรื่องเล่าเพื่อเปิดหัวใจและจุดไฟขึ้นในจิตวิญญาณ) โดย Jack Canfield และ Mark Victor Hansen ที่ซื้อเพราะพลิกดูข้างในเห็นสไตล์การเขียนรวมทั้งเนื้อหาสาระเป็นอย่างเดียวกับที่ผมเขียนบล็อก "แรงบันดาลใจ" นี้ ก่อนซื้อได้เปิดอ่านอย่างเร็วๆ ไป ๒ - ๓ เรื่อง บางเรื่องก็มีความยาวแค่ครึ่งหน้า บางเรื่องก็หลายหน้า มีเรื่องที่เขียนโดยเวอร์จิเนีย ซาเทียร์ ที่ผมชื่นชอบด้วย อีกทั้งยิ่งอ่านก็เหมือนกำลังอ่านเรื่องที่ผมเขียนเอง เลยซื้อมา ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว 921 เยน เทียบเป็นเงินไทยก็ 300 กว่าบาท 

มีเรื่องหนึ่งที่เทียบเคียงได้กับเรื่องเด็กน้อยที่พูดความจริงในร้านอาหาร แต่เรื่องนี้กลับกันตรงที่ผู้ใหญ่เป็นฝ่ายพูด เรื่องมีอยู่ว่า พ่อคนหนึ่งพาลูกชาย ๒ คน ไปสนามกอล์ฟขนาดเล็ก เมื่อถึงซุ้มขายตั๋วก็ถามหนุ่มคนขายตั๋วว่า "ค่าตั๋วเท่าไร"

คนขายตั๋วตอบว่า "ผู้ใหญ่คนละ ๓ เหรียญ ส่วนเด็กที่อายุไม่เกิน ๖ ขวบเข้าฟรี"

พ่อคนนั้นบอกว่า "คนเล็ก ๓ ขวบ ส่วนคนโต ๗ ขวบ" แล้วก็ควักเงินออกมาสำหรับ ๒ คน คือตัวเขากับลูกคนโต รวม ๖ เหรียญ

หนุ่มขายตั๋วพูดขึ้นว่า "คุณครับ คุณถูกล็อตเตอรี่มาหรือยังไง ถ้าคุณเพียงแต่บอกว่าลูกคนโตอายุ ๖ ขวบ คุณก็ประหยัดไป ๓ เหรียญ เพราะผมไม่มีทางรู้"

พ่อเด็กตอบคนขายตั๋วว่า "ก็อาจจะจริงของคุณ แต่ลูกผมทั้งสองคนรู้ความจริงว่าเขาอายุเท่าไร" จึงจ่ายไป ๖ เหรียญ

อ่านเรื่องนี้แล้ว ทำให้ผมนึกถึงคำสอนของท่านปัญญานันทภิกขุที่ว่า "ตัวอย่างนั่นแหละคือคำสอนที่ดีที่สุด"

หากพ่อคนนั้นบอกคนขายตั๋วว่าลูกเขาอายุ ๖ ขวบ จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กน้อยทั้งสองคน

ผมชื่นชมพ่อคนนั้นที่เขาใช้การดำเนินชีวิตของเขาเป็นแบบอย่างแก่ลูกๆ

ปลูกฝัง (implant) คุณธรรมที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของมนุษย์ให้ค่อยๆ เจริญงอกงามขึ้นในจิตใจของเด็ก นั่นคือ ความซื่อสัตย์

ผมเชื่อว่าเด็กน้อยทั้งสองคนที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่มีผู้ใหญ่ดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างเช่นนี้ จะไม่สับสนอย่างเด็กน้อยในครอบครัวที่มารับประทานอาหารในร้านที่ลูกผมทำงานอยู่.

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๓

 

หมายเลขบันทึก: 404885เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2010 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นความผิด ที่น่าคิดมากครับ...

"ตัวอย่างนั่นแหละคือคำสอนที่ดีที่สุด"

พ่อแม่ ควร..มีความสุขให้ลูกเห็น เป็นคนดีให้ลูกดู

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์สุรเชษฐ

เป็นเรื่องราวที่นำเอาของคิดดีๆมาให้มากมายเลยครับ

ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ

พ่อแม่บางรายรักลูกที่ปัจจุบัน  ไม่นึกถึงอนาคต และจิตใจหรือความรู้สึกของลูก  ยายคิมมีประสบการณ์จากน้องเฌวา เด็ก ๓ ขวบว่า "แบบอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน" มากค่ะ

และเขียนไว้ในบันทึกวันนี้แล้วค่ะ

ทั้งสองตัวอย่าง "เท็จ/จริง" สามารถอธิบายได้ถึงจิตใต้สำนึกของบุคคลได้ ๒ ระดับ คือ

เท็จ ระดับ "มองเห็นด้วยตา" เหมือนภูเขาน้ำแข็งที่พ้นน้ำ อธิบายได้ว่าปรากฎการณ์ เหตุการณ์

จริง ระดับ "มองเห็นด้วยจิต" เหมือนภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ในน้ำ อธิบายได้ว่า เป็นจิตใต้สำนึก หรือโครงสร้าง กำหนดทิศทางเดินของน้ำ

Ico64 อาจารย์"สุรเชษฐ"สวัสดีค่ะ

พ่อแม่บางคน..ไม่เห็นความสำคัญของเรื่อง"แบบอย่างที่ดี"

เพราะไม่ทันคิด..คิดเห็นแต่เรื่องของปัจจุบัน

ความซื่อสัตย์ ทำให้ สบายใจ

ความไม่ซื่อสัตย์ ทำให้ ไม่สบายใจ

อยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคน

สวัสดีค่ะอาจารย์ บางครั้งพ่อแม่ก็เข้าข่าย พ่อแม่รังแกฉันโดยไม่รู้ตัว

เรื่องเล่าทั้ง 2 เรื่องแสดงตัวอย่างของการปลูกฝัง (Implant) สิ่งที่เรียกกันว่า "ดี" และ "ไม่ดี" จากพ่อแม่ไปสู่ลูก และ(ด่วน) สรุปออกมาว่า "ตัวอย่างนั่นแหละคือคำสอนที่ดีที่สุด"

เราให้เวลาพิจารณาเรื่องนี้...น้อยไปหรือเปล่า ?

แม่ที่เลือกใช้วิธีพูดโกหกต่อหน้าลูก ๆ เพราะต้องการที่ว่างเยอะะหน่อย เพื่อความสะดวกสบายเหมาะกับรูปร่างค่อนข้างท้วมของเธอ เป็นไปได้ไหมว่า...

  • ความเป็น "คนเอเชียประเทศอื่น" เป็นอุปสรรคทำให้เธอไม่เคยได้รับ "ไมตรีจิต" อย่างที่ควรจะเป็นเมื่อเธอเลือกพูดขอความกรุณาอย่างตรงไปตรงมา
  • ร้านอาหารที่มีชื่อเสียง มีผู้คนนิยมใช้บริการมาก เหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังนั้น คำถาม+คำทักทายลูกค้า ไม่ควรจะถามสั้น ๆ ว่า "กี่คนค๊ะ" แต่ควรคิดเตรียมการล่วงหน้าเมื่อลูกค้าก้าวเท้าเข้ามาในร้าน ให้เหมือนกับการแสดงออกของเพื่อนทำงานด้วยกันที่เป็นชาวญี่ปุ่นจัดให้คณะของ อ.สุรเชษฐ์ นั่งโต๊ะแบบ 6 ที่นั่ง ทั้งที่ได้บอกไปแล้วว่า มากันเพียง 4 คน เพราะสิ่งที่เขาบอกกลับมาว่า "ให้นั่งโต๊ะนี้แหละ เขาอยากบริการป่าป๊า" นั่นคือ ความประทับใจ

เรื่องของพ่อที่บอกอายุลูกทั้ง 2 คน จริง ตรง และชัดเจน เป็นเรื่องปกติธรรมดา  แต่เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมา เมื่อเอามาเปรียบเทียบกับมุมมองของคนขายตั๋ว เป็นไปได้ไหมว่า...

  • สิ่งที่คนขายตั๋วต้องเผชิญอยู่ตลอดในการขายตั๋วให้กับเด็ก ๆ ที่มากับผู้ใหญ่ คือ "คำโกหก" เพื่อหลบเลี่ยงหรือประหยัดค่าตั๋ว
  • มุมมองของคนขายตั๋วจึงเต็มไปด้วยความคิดด้านลบ และคำเยาะเย้ยเสียดสีเมื่อเขาพูดขึ้นมาว่า "คุณครับ คุณถูกล็อตเตอรี่มาหรือยังไง..." จะดีกว่านี้หรือไม่ถ้าเขารู้จัก "ขอบคุณ" และ "ชื่นชมกับความดีงาม" ที่เขาประสบ

อื่น ๆ อีกมากมายครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท