ผลการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย


นิทานประกอบเกมการศึกษา , คณิตศาสตร์เด็กปฐมวัย

ผลการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย 

 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา 

            การศึกษามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศชาติ  นั่นคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ  สมบูรณ์พร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม  สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  ซึ่งการพัฒนามนุษย์นั้น จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัย หรือเด็กในช่วงวัยแรกเกิดถึง 6 ปี  ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของชีวิต เพราะเป็นช่วงที่มีการพัฒนาสูงสุดในทุกด้าน  ทั้งด้านร่างกาย และสมอง ซึ่งสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว หากได้รับการกระตุ้นส่งเสริมให้ถูกทาง

การพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ถือเป็นส่วนสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัย  หากเด็กมีทักษะในการสังเกต จำแนก เปรียบเทียบ เรียงลำดับ นับจำนวน และมีพื้นฐานการคำนวณ เด็กก็สามารถเรียนต่อในระดับประถมศึกษาได้อย่างมีความสุข  ซึ่งการสอนคณิตศาสตร์ให้แก่เด็กเล็กนั้น  ควรให้เด็กมีโอกาสทำกิจกรรมด้วยตนเอง ได้สัมผัส ได้จัดกระทำกับวัตถุของจริง มีประสบการณ์กับสิ่งที่เป็นรูปธรรม เด็กจะเรียนด้วยการปฏิบัติต่อวัตถุเท่านั้น  และการมีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อนๆ ในห้องเรียน  การจัดกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย คือ การให้เด็กได้เล่น มีอิสระในการตัดสินใจ ได้ใช้ความคิด เรียนรู้ผ่านการเล่น  ซึ่งกิจกรรมเกมการศึกษา เป็นการเล่นเกมที่ช่วยพัฒนาสติปัญญา มีกฎเกณฑ์กติกาง่ายๆ  เด็กสามารถเล่นคนเดียวหรือเล่นเป็นกลุ่มได้  ช่วยให้เด็กรู้จักสังเกต คิดหาเหตุผล และเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องสี รูปร่าง จำนวน ประเภท และความสัมพันธ์เกี่ยวกับพื้นที่ ระยะ

นอกจากนี้ การอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กฟังอย่างสม่ำเสมอ  เป็นสิ่งหนึ่งในการกระตุ้นเซลล์สมองให้เติบโต  เกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกัน  อันจะส่งผลต่อพัฒนาการในทุกด้านของเด็ก  นิทานเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนชื่นชอบ  ครูควรนำนิทานมาเป็นสื่อในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว  ข้าพเจ้าในฐานะครูผู้สอนระดับปฐมวัย จึงมีความสนใจที่จะศึกษาผลการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย   เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาในการจัดกิจกรรมการเล่านิทานและกิจกรรมเกมการศึกษา ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาสมองของเด็กปฐมวัย และมีความเข้าใจในเรื่องทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ พร้อมที่จะเรียนในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

  1. เพื่อหาคุณภาพและประสิทธิภาพของกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย
  2. เพื่อเปรียบเทียบทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย  ระดับชั้นอนุบาล 2   ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย
  3. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาล 2  ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย
  4. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาล 2  ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย

 สมมุติฐานของการศึกษา

  1. คุณภาพของกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย  อยู่ในระดับเหมาะสมมาก
  2. ประสิทธิภาพของกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ 80 / 80
  3. ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย หลังการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย  สูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรม
  4. เด็กปฐมวัยมีพฤติกรรมการเรียนรู้การจัดกิจกรรมนิทานสานสู่เกมการศึกษาพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย  อยู่ในระดับเหมาะสมมาก
  5. เด็กปฐมวัย มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย  อยู่ในระดับพึงพอใจมาก

 ขอบเขตของการศึกษา 

  1. กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นเด็กปฐมวัย  ชั้นอนุบาล 2/1  ปีการศึกษา 2552  โรงเรียนฉิมพลี  สำนักงานเขตตลิ่งชัน  กรุงเทพมหานคร  จำนวน 22 คน  ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง  เนื่องจากผู้รายงานเป็นครูประจำชั้น
  2. เนื้อหาที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้  ได้แก่  กิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย   ประกอบด้วยกิจกรรมเกมการศึกษา  จำนวน 45  กิจกรรม
  3. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา  ได้แก่ 

          1)   แบบทดสอบทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย 3  ด้าน  ได้แก่  ด้านการสังเกต จำแนก เปรียบเทียบ 20 ข้อ , ด้านการเรียงลำดับ 20 ข้อ และด้านการรู้ค่าจำนวนตัวเลข 20 ข้อ  รวม 60 ข้อ

          2)   แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก   จำนวน 10 ข้อ

          3)   แบบสอบถามความพึงพอใจของเด็ก   จำนวน 10 ข้อ

    4.  ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา   ใช้เวลาในภาคเรียนที่ 2  ปีการศึกษา 2552  (พฤศจิกายน 2552 ถึงมีนาคม  2553)

 วิธีดำเนินการศึกษา

                   ผู้รายงานได้จัดกิจกรรมนิทานสานสู่เกมการศึกษาพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ให้กับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2/1  โรงเรียนฉิมพลี สำนักงานเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร  โดยดำเนินการจัดกิจกรรมในภาคเรียนที่ 2  ปีการศึกษา 2552  ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน  2552  ถึงเดือนมีนาคม  2553   ซึ่งผู้รายงานเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรมด้วยตนเองเนื่องจากเป็นครูประจำชั้น ทั้งนี้ได้ดำเนินการทดสอบทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยก่อนการจัดกิจกรรม 1 สัปดาห์  แล้วจัดกิจกรรมในช่วงบ่ายหลังเด็กตื่นนอน เวลา 14.00 – 14.30 น.  สัปดาห์ละ 3 วัน คือ  วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์  เป็นเวลา 15 สัปดาห์  รวม 45 ครั้ง   และดำเนินการทดสอบทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย หลังการจัดกิจกรรม 1 สัปดาห์  มีการประเมินตามสภาพจริงด้วยการตรวจสอบความถูกต้องในการเล่นเกมการศึกษาของเด็กระหว่างการจัดกิจกรรม  สังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กขณะปฏิบัติกิจกรรม  และสอบถามความพึงพอใจของเด็กเมื่อสิ้นสุดการจัดกิจกรรม  แล้วนำผลการศึกษามาวิเคราะห์หาคุณภาพของกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน  โดยใช้ค่าเฉลี่ย (X)  และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD)   หาประสิทธิภาพของกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย  โดยใช้ค่า  E1 / E2  เกณฑ์  80 / 80    ศึกษาเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังการจัดกิจกรรม  โดยเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ย (X)  ค่าร้อยละ (%)  ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD)  และค่า t-test  แบบ  Dependent Samples   ศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ และความพึงพอใจของเด็ก  โดยใช้ค่าเฉลี่ย (X)  ค่าร้อยละ (%)  และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD)  

 สรุปผลการศึกษา

  1. คุณภาพของกิจกรรมนิทานสานสู่เกมการศึกษาพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย  โดยผู้เชี่ยวชาญประเมิน อยู่ในระดับเหมาะสมมากที่สุด   โดยมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 3.64   และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน  เท่ากับ 0.6
  2. ประสิทธิภาพของกิจกรรมนิทานสานสู่เกมการศึกษาพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย  มีประสิทธิภาพ  91.01 / 89.09  ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ 80 / 80
  3. ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย  หลังการจัดกิจกรรมนิทานสานสู่เกมการศึกษาพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ สูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรม  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .25  
  4. พฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมนิทานสานสู่เกมการศึกษาพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย อยู่ในระดับดีมาก  คือมีค่าเฉลี่ย 3.51  และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน 53.92   คิดเป็นร้อยละ 87.69
  5. ความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาล 2/1  ที่มีต่อการจัดกิจกรรมนิทานสานสู่เกมการศึกษาพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย   อยู่ในระดับพอใจมาก คือมีค่าเฉลี่ยรวม 37.59  และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.46   คิดเป็นร้อยละ 93.98

 อภิปรายผล

                   เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา มีทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ สูงกว่าก่อนได้รับการจัดกิจกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .25  ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย  ทำให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง โดยการสังเกต สัมผัส ลงมือกระทำ ได้ย้ำทวนความรู้ความเข้าใจ จนเกิดความคิดรวบยอด  และได้เรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม   ทั้งนี้เป็นผลมาจากเกมการศึกษา เป็นที่สนใจของเด็กเกือบทุกวัย โดยเฉพาะเด็กวัย 3 ถึง 6 ขวบ เป็นวัยที่ไม่ชอบนั่งเรียนอยู่กับที่แล้วรับการสอนเหมือนเด็กวัยอื่นๆ แต่สิ่งที่พวกเขาชอบคือ “การเล่น”  วิธีการเล่นของเด็กวัยนี้มีมากมายหลายวิธี ซึ่งบางทีผู้ใหญ่อาจจะมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่จริงๆแล้วการเล่นของเด็กเป็นการพัฒนาการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว พร้อมกับเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองไปด้วย ซึ่งถ้าเด็กได้รับการกระตุ้นฝึกให้ใช้ความคิดในระหว่างการเล่น เช่น ใช้การสังเกต จำแนก เปรียบเทียบ เชื่อมโยงเหตุผลอย่างเหมาะสมกับวุฒิภาวะ จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านสติปัญญาได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการฝึกเด็กให้เล่นเครื่องเล่นที่เป็นรูปธรรม เช่น เกมการศึกษา จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้จากประสาทสัมผัสต่างๆ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. 2536 : 1)  ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ในกิจกรรมนิทานสานสู่เกมการศึกษานี้ เริ่มต้นตั้งแต่ครูกระตุ้นความสนใจในการทำกิจกรรมด้วยนิทาน  ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนชื่นชอบ  เด็กมีความสุขกับการฟังนิทานได้อย่างไม่รู้เบื่อ  โดยเฉพาะการฟังนิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์  ทำให้เด็กได้เรียนรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์อย่างเป็นธรรมชาติ  สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย  ทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น  

                  นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ผลการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย พบว่ามีพฤติกรรมการเรียนรู้อยู่ในระดับเหมาะสมมากที่สุด  โดยมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 3.51  คิดเป็นร้อยละ 87.69   ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ เด็กได้ร่วมกิจกรรมทุกวัน บางวันเล่นเกมการศึกษาหลายครั้ง ทั้งตอนเช้า ช่วงกิจกรรมเสรี และตอนบ่าย  เมื่อครูและเพื่อนช่วยกันดูแลการเก็บเกมเข้าที่ให้เรียบร้อยอย่างสม่ำเสมอ เด็กจะเกิดเป็นนิสัยที่คงทนถาวรได้โดยไม่ต้องเตือน  แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมนี้สามารถพัฒนาพฤติกรรมทางสังคมของเด็กให้มีความรับผิดชอบมากขึ้นได้  เด็กจะมีโอกาสเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อน มีโอกาสได้แสดงน้ำใจ ช่วยเหลือแบ่งปัน รู้จักอดทนและรอคอยมากขึ้นเป็นลำดับ

                  เมื่อวิเคราะห์ผลการสอบถามความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบเกมการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์  พบว่า  เด็กมีความ    พึงพอใจมากที่สุด  มีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 3.76  คิดเป็นร้อยละ 93.98  แสดงให้เห็นว่า เด็กมีความสุขสนุกสนานกับกิจกรรม เนื่องจากเป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมกระบวนการเล่นการทำงานทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่ม ส่งเสริมกระบวนการคิด การตัดสินใจ และการวางแผนร่วมกัน  การค้นหาความรู้ด้วยตนเอง การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  ได้ฝึกทักษะการสังเกต  มีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน  ร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องในการเล่นเกม  สรุปความรู้ที่ได้รับร่วมกัน  ทำให้เด็กทุกคนร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุข สนุกสนาน  โดยเฉพาะการฟังนิทาน  เห็นได้จากเด็กทุกคนมีความสนใจ รอคอยเวลาที่จะเข้าร่วมกิจกรรม  กระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรม ในการสังเกต จำแนก เปรียบเทียบมากขึ้นด้วย

                  จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า การจัดกิจกรรมนิทานสานสู่เกมการศึกษา สามารถพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ทั้งยังส่งเสริมพฤติกรรมทางสังคม ในด้านการมีระเบียบวินัย  มีน้ำใจ  มีความมุ่งมั่นพยายาม  และมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น  จากผลการวิจัยครั้งนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งของครูปฐมวัยได้นำไปเป็นแนวทางในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 407497เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2010 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท