e-Training : ครูเครียดทั้งระบบ


นำบทความที่เขียนลงมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 13 พ.ย. 2553 หน้า 9

e-Training  : ครูเครียดทั้งระบบ

สายพิน  แก้วงามประเสริฐ

                กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายพัฒนาคุณภาพครู ด้วยระบบ e-Training  โดยให้ครูทั่วประเทศที่มีกว่า  4  แสนคน  สมัครเข้ารับการอบรมผ่านเวปไซต์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้  3 เวปไซต์  ซึ่งมอบหมายให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโปรแกรมขึ้นมา

                ปัญหาที่เกิดขึ้นของการพัฒนาครูด้วยวิธีนี้  เริ่มตั้งแต่เวลาที่แจ้งให้ครูกว่า 4 แสนคนสมัครเข้ารับการอบรมในวิชาต่าง ๆ กว่าครูจะรู้ก็เป็นช่วงปิดเทอม   ครูคนใดที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารในอินเทอร์เน็ตแทบไม่รู้เรื่อง  รู้อีกครั้งก็เปิดเทอมแล้ว   ทำให้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบช้ากว่าคนอื่น  หรือแทนที่จะได้เรียนได้อบรมในระบบ e-Training   ตั้งแต่ช่วงปิดเทอม  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด

                การลงทะเบียนเป็นสมาชิกเพื่อเข้าไปเรียนมีปัญหามากมาย  เพราะทั้ง 3 เวปไซต์ล่มเป็นเวลานาน   ระบบไม่สามารถรองรับครูกว่า 4 แสนคนได้   ด้วยความกลัวว่าจะไม่ได้พัฒนาตนเองตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  ครูต้องเพียรพยายามเข้าไปในเวปไซต์ดังกล่าว  สิ่งที่ปรากฏคือ  เปิดไปครั้งใดมักจะพบข้อความว่า  มีผู้ใช้เป็นจำนวนมากให้รอก่อน  บางครั้งเปิดรอเป็นวัน ๆ  ยังไม่สามารถเข้าได้  ทำให้ครูไม่เป็นอันทำอะไร  เกิดวิตกจริต 

เมื่อเข้าเวปไซต์ได้แล้ว  กว่าระบบจะตอบรับให้เข้าไปเลือกวิชาที่สมัครเรียนได้  บางทีใช้เวลาอีกวันสองวันบ้าง   หรือครูบางคนระบบก็ยังไม่ตอบรับให้เข้าใช้งานได้  ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด  รวมทั้งปัญหาอีกมากมาย  แสดงให้เห็นว่าเวปไซต์มีระบบการจัดการที่ไม่ดีเท่าที่ควร

                เมื่อต้องการโหลดเอกสารมาอ่าน  บางเรื่องในบรรดาหลายเรื่องที่ต้องอ่าน  เอกสารมี 50 – 60 หน้า  แต่สามารถคัดลอกมาวางในเวิร์ดเพื่อปริ้นออกมาอ่านได้ครั้งละหน้า  การโหลดเอกสารจึงต้องเสียเวลามาก    ส่วนจะให้ครูนั่งอ่านจากจอคอมพิวเตอร์ทีละหน้า  วัน ๆ ครูคงไม่ต้องทำอะไร  รวมถึงอาจมีผลต่อสายตา  ส่วนจะให้ฟังเสียงบรรยายอย่างเดียว  บางทีเสียงบรรยายก็ไม่น่าฟังอีก

                นอกจากครูต้องนั่งอ่านเอกสารแล้ว  ยังต้องเขียนความคิดเห็นหรือตอบประเด็นคำถามในกระดานสนทนา  หรือแสดงความคิดเห็นกับเรื่องที่อ่าน  ประมาณ 8 ประเด็น  จึงจะถือว่าผ่านเรื่องนั้น ๆ แล้ว  ถ้าครูมีจำนวนสี่แสนคน  แบ่งเป็นครู 8 กลุ่มสาระวิชา  เฉลี่ยครูกลุ่มสาระหนึ่งมีประมาณ 50,000  คน   คนจำนวนนี้ต้องตอบประเด็นที่อ่านคนละ 8  ครั้ง  เป็นคำตอบทั้งระบบต่อ  1 วิชา  400,000  ครั้ง รวม 8 วิชา เป็น 3,200,000 ครั้ง   ระบบไม่ล่มให้รู้ไป!

                ถามว่าระบบของเวปไซต์ที่เขียนขึ้นมาในโครงการนี้จะรองรับไหวหรือไม่  แค่เข้าไปสมัครสมาชิก เข้าไปอ่านเอกสาร ระบบยังเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย   ที่สำคัญเขียนแล้วใครจะอ่าน  เหมือนครูให้นักเรียนส่งการบ้านแล้วครูไม่อ่าน หรือไม่ตรวจงาน  แล้วจะเขียนทำไมให้เสียเวลา   อีกทั้งระบบจะสามารถตรวจสอบคุณภาพของการเขียนได้หรือเปล่า   เพราะเห็นข้อความที่คล้าย ๆ  กันเหมือนจะลอกกันมา  รวมทั้งมีคำตอบที่เหมือนจะไม่ถูกด้วย  แล้วระบบจะรู้ไหมนี่!   หากไม่เน้นคุณภาพก็ไม่เห็นความจำเป็นต้องให้ครูเขียน

                การพัฒนาครูด้วยระบบ  e-Training   สร้างภาระให้ครูเป็นอย่างยิ่ง  ทั้งเวลาเรียนที่มีกำหนดเวลาประมาณ 1 เดือนเศษ  กลางวันครูต้องสอน  แทบไม่มีเวลาว่าง  จะเอาเวลาที่ไหนจดจ่อกับคอมพิวเตอร์   แค่ตอนสมัครเข้าระบบครูก็เครียดไปตาม ๆ กันว่าเมื่อไรจะสมัครได้   แล้วเรียนตอนไหน  คอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้   อาจมีเพียงพอสำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่  ส่วนโรงเรียนเล็ก ๆโรงเรียนในชนบทระบบอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกท้องที่แล้ว ?  มีเพียงพอแล้ว ?  แล้วครูที่โรงเรียนน้ำท่วมจะทำอย่างไร

                แต่กระทรวงศึกษาธิการคงไม่ต้องซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อการนี้หรอก  เพราะจะทำให้ต้องเสียงบประมาณอีก   รวมทั้งการให้ครูอบรมผ่านระบบ e-Training   ไม่เหมาะกับครูที่ไม่ได้มีเวลานั่งอยู่เฉย ๆ  จะได้นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา  หรือถึงแม้จะนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ได้  ก็ไม่สามารถเข้าอบรมได้  เพราะเวปไซต์ไม่เวิร์คมาก ๆ

                ถ้าจะให้ครูไปใช้อินเทอร์เน็ตที่บ้าน   ครูส่วนหนึ่งที่อายุมาก ๆ  และไม่เชี่ยวชาญการใช้คอมพิวเตอร์ก็จะเกิดความเครียด  หรือบางทีการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแต่ละบ้านอาจมีปัญหายังไม่ทั่วถึง  อุปกรณ์การต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย  ที่เรียกว่า แอร์การ์ด  จึงขายดิบขายดี  เพราะครูส่วนหนึ่งที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตแต่ดั้งเดิม  ต้องลงทุนซื้อแอร์การ์ดที่มีราคาตั้งแต่พันกว่าบาทไปถึงหลายพันบาท แล้วยังมีค่าชั่วโมงในการใช้งานอีก  บริษัทขายอุปกรณ์เหล่านี้พากันรวยไป ตาม ๆ กัน

                ระบบ e-Training   พัฒนาคุณภาพครูได้จริง?  หากจะวัดแค่ผลการสอบก่อนเรียนหลังเรียน  การทำกิจกรรมระหว่างอบรม ด้วยการอ่านเอกสาร  การตอบประเด็นที่กำหนดแค่นั้น  แน่ใจได้อย่างไรว่าการทำข้อสอบได้จะแสดงว่าครูพัฒนาจริง   เพราะการทำข้อสอบด้วยความเบื่อหน่ายระบบการเรียนแบบนี้  ครูอาจเดา ๆ ข้อสอบ  หรืออาจนั่งทำพร้อม ๆ กันหลายคนแล้วช่วยกันทำ   ดีไม่ดีอาจให้คนอื่นทำให้ก็ได้  โดยครูไม่อ่านเอกสาร  หรือการอ่านเอกสารอย่างเดียวไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร  จะก่อให้เกิดการพัฒนาระดับสติปัญญาได้อย่างไร

                โครงการพัฒนาครูด้วยระบบ e-Training   ใช้งบประมาณสำหรับโครงการนี้ประมาณ 40 ล้านบาท  โดยแบ่งเป็นเงินที่จัดสรรให้เขตพื้นที่การศึกษาละ 55,000  บาท รวมทุกเขตพื้นที่การศึกษา  ประมาณ 12 ล้านบาท  เป็นเงินที่ให้ใช้สำหรับการกำกับติดตาม หรือสรุปโครงการ แค่นั้นเองใช้เงินไปประมาณ  12 ล้านบาท

                ส่วนที่เหลือคงหนีไม่พ้นค่าจ้างเขียนโปรแกรมในโครงการนี้  ค่าเขียนหลักสูตร  เนื้อหา ค่าวิทยากร และอื่น ๆ

                เงิน 40 ล้านบาท เป็นเงินจำนวนไม่น้อย   หากได้นำมาใช้อบรมครูจริง ๆ ในหลักสูตรที่จำเป็น  ด้วยวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ  เงินจำนวนนี้น่าจะได้ใช้พัฒนาครูได้ดีกว่าที่เป็นอยู่   เพราะระบบ e-Training    ที่ระบบเองไม่พร้อม  เปิดได้บ้างไม่ได้บ้าง  ล่มเป็นวัน ๆ  ครูต้องเฝ้ารอว่าเมื่อไรจะใช้ได้  เสียเวลามาก  ก่อให้เกิดความเครียดมากกว่าจะได้พัฒนาครูทั้งระบบจริง ๆ

                ระบบก็ไม่พร้อม  ไม่รู้รีบร้อนอะไรนักหนา  การพัฒนาครูด้วยวิธีนี้ในเวลา 1 เดือน ท่ามกลางอุปสรรคมากมาย  คิดหรือว่าจะเป็นวิธีพัฒนาครูที่ดีที่สุด  และเป็นการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองให้กับครูได้จริง ๆ ? 

                บางทีการอยู่กับเทคโนโลยีที่เป็นวัตถุมาก ๆ  อาจทำให้ชีวิตของเราขาดอะไรไปบางอย่างหรือเปล่า ?   แทนที่จะให้ครูมัวสาละวนอยู่กับคอมพิวเตอร์   ไม่พูดไม่จากัน  กลายเป็นคนขาดมนุษยสัมพันธ์   ทั้งที่อาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องฝึกทักษะการสื่อสารกับผู้คนรอบด้าน  ความเคยชินกับการอยู่กับอุปกรณ์ที่ไร้ชีวิตจะทำให้ครูพัฒนาคุณภาพของตนเองได้จริง ๆ ?

                การพัฒนาครูทั้งระบบด้วยการอบรมสัมมนา  ศึกษาดูงาน  พบปะผู้คน  หรือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับครูหลากหลายโรงเรียน   และกับวิทยากรที่มีความรู้  ความเชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ   น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่าให้ครูมัวนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์  โดยไม่รู้ว่าตนเองได้อะไร  นอกจากรีบ ๆ อ่าน  รีบ ๆ ทำข้อสอบให้แล้วไป  รวมทั้งระบบโปรแกรมที่ยังไม่เสถียร  ยิ่งทำให้ครูเครียดกันทั้งระบบ  แล้วการพัฒนาคุณภาพครูทั้งระบบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

               

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 408213เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2010 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ผลักดันการพัฒนาอย่างเร็วและแรงเกินไปหรือเปล่าครับ เลยทำให้เครียดกันทั้งระบบเลย น่าเห็นใจจริงๆ

โดยส่วนตัว ผมมองเป็นเรื่องปกติที่อยู่ๆ ภาครัฐจะมีความคิดแบบนี้ออกมา

เพราะว่าไม่จะเป็นกรมกระทรวงไหน ความคิดของคนนั่งโต๊ะ

มักจะสวนทางกับความสามารถของผู้น้อย

บลาๆๆๆ

ผมเองก็เครียดมาก เพราะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของระบบราชการ ทางผู้รับผิดชอบน่าจะประเมินเป็นระยะ แม้แต่วิทยากรเจ้าของสาระเองก็แจ้งกลับ ทาง E-mail ไปถึงผมว่า เข้าสู่ระบบยากเหลือเกิน แล้วอย่างนี้จะมีประโยชน์อะไร

อาจารย์เขียนได้โดนใจครูทั้งประเทศ ณ เวลานี้ขณะนี้ที่สุด ถ้ามองในแง่ดีเป็นการพัฒนาครูได้จริง ๆด้วยระบบ e-Training แต่ดูข้อไม่พร้อมมากมายมหาศาลไม่สมกับงบประมาณที่ลงทุนไป อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ได้มาอ่าน ความเครียดของครูว่าท่านที่คิดค้นวิธีนี้ว่าดูดีแล้วหรือยัง จะคิดอะไรต้องกว้างไกลว่าประเทศไทยของเรานี้มีความพร้อมที่จะพัฒนาครูไปทั้งระบบได้หรือไม่ อย่างไรและเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มากน้อยเพียงไร ควรจะทำให้ครูไทยได้มีขวัญและกำลังใจที่จะพัฒนาเยาวชนของชาติเข้าสู่ระดับสากลดีกว่า มาเคร่งเครียดด้วยระบบ e-Training

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท