เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว


มาเริ่มเด็ดดอกไม้กันตั้งแต่วันนี้ ในไม่กี่ปีข้างหน้า รับรองว่ามันจะต้องสะเทือนถึงดวงดาวอย่างแน่นอน

วันนี้โชคดีมีโอกาสได้ไปประชุม Palliative Care ที่คณะแพทย์ มช. ได้เรียนรู้สิ่งดีๆน่าประทับใจหลายอย่าง ทุกครั้งที่มาเชียงใหม่รู้สึกว่าชีพจรเต้นช้าลง และรับสัมผัสสิ่งรอบๆตัวได้ละเอียดขึ้น ดีใจที่ได้มาเจอทีมงานหลายๆคนที่เคยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไปตั้งแต่ มกราคม 53 ที่ผ่านมาและยังจำกันได้เป็นอย่างดี

ตอนเช้าได้ฟัง ร.ศ.พญ.สุปรียา วงศ์ตระหง่าน กับน้องนักศึกษาแพทย์พฤทธิ์ (อ่านว่า พริท) มาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การจัด elective palliative care 1 สัปดาห์ สำหรับนศพ. ปี 4 จำนวน 4 คน เป็นการฟังบรรยายที่ฟังไปอมยิ้มไปด้วยความประทับใจ น้องๆดูแลคนไข้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยสารพัดวิธี ตั้งแต่ไปซื้อที่ชาร์ทแบตมือถือเพื่อให้คนไข้ได้ชาร์ทโทรศัพท์คุยกับคนที่บ้าน download เพลงที่คนไข้ชอบมาให้ฟังข้างเตียง และเข็นรถพาคนไข้ไปเที่ยวข้างนอก เรื่องเล่าดีๆกระทบใจคนฟังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในอย่างมากมาย อย่างนี้นี่เองที่ปัจจุบันมีการนำ Narrative Medicine มาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพองค์กร (Organizational development)

ดอกไม้ดอกแรกนี้ถูกเริ่มเด็ดโดย อ.พญ.ปัทมา โกมุทบุตร หรือน้องแต้ อาจารย์สุปรียาเล่าให้เราฟังถึงความตั้งใจของอาจารย์ปัทมาในการจะพัฒนางาน Palliative Care ในทุกๆด้านรวมถึงด้านการศึกษา เพราะไฟแรงกล้าของอาจารย์ปัทมาเมื่อปีก่อนทำให้เกิดพลังในการสานต่อ Project นี้ต่อมา และเมื่อผู้บริหารให้การสนับสนุนงานดีๆแบบนี้จึงเกิดขึ้น

ดอกไม้ดอกที่ 2 ที่เคยถูกเด็ดเอาไว้คือเรื่องของ PPSv2 หรือ Palliative Performance Scale version 2 ที่เป็นความพยายามของทีมพยาบาลโรงพยาบาลสวนดอกที่ค้นคว้าหาข้อมูลจนเจอแบบสอบถามนี้ และพยายามอย่างต่อเนื่องโดยขอแปลแบบสอบถามนี้มาใช้ต่อ ในวันนี้มีการใช้ PPSv2 ในคนไข้ 3 กลุ่มของที่โรงพยาบาล ได้แก่ คนไข้มะเร็ง คนไข้ Chronic disease และคนไข้ระยะสุดท้ายใกล้เสียชีวิต แถมไม่ใช่แค่ใช้ประเมินเฉยๆแต่มีการแบ่งอย่างชัดเจนอีกด้วยว่าหาก PPS ได้ 0-30 จะมีแนวทางการดูแลคนไข้อย่างไร ถ้า 40-60 จะดูแลอย่างไร และถ้า 70-100 จะดูแลอย่างไร โรงพยาบาลสวนดอกนำ PPSvs มาใช้เป็นตัวกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าจะดูแลผู้ป่วย Palliative Care ในแต่ละระดับได้อย่างไรบ้าง

ดอกไม้ดอกที่ 3 ถูกเด็ดไว้เมื่อ 7-8 ปีก่อนตอนที่ทีมงานที่มีใจอยากพัฒนางาน Palliative Care เริ่มต้นทำงานในส่วนของตนเอง จนเมื่อมีการตั้งคณะทำงานอย่างเป็นระบบ งาน Palliative Care ที่เชียงใหม่จึงก้าวหน้าไปมาก มีการพัฒนาระบบ Family nurse สำหรับดูแลผู้ป่วย Spine injury และมี ward พิเศษที่ดูแลผู้ป่วยอย่างดีจนได้รับเงินบริจาคมาปรับปรุงสถานที่ในหลายๆส่วน

ในฐานะผู้สังเกตการณ์รู้สึกชื่นชมทีมงานของเชียงใหม่มากๆ ในความตั้งใจพัฒนางาน Palliative Care และขอขอบคุณที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆมักเริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆที่มีพลังเสมอ

มาเริ่มเด็ดดอกไม้กันในวันนี้ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รับรองว่ามันจะต้องสะเทือนถึงดวงดาวอย่างแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 411745เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2010 00:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอมอบดอกไม้ในสวน นี้ให้มวลประชา สามดอกที่มากความหมาย ขยายต่อให้กว้างขวาง

ขอบคุณสำหรับกำลังใจค่ะครูหยุย

ประทับใจเช่นกันค่ะอาจารย์ดาริน ผลิตผล palliative care กำลังงอกงามในทุกที่ เเละที่เชียงใหม่ก็ไม่Tธรรมดาค่ะ

เสียดายอาจารย์ไม่อยู่ต่ออีกวันนะคะ ทราบว่าติดภารกิจ วันที่สองฟังพระมหาอาวรณ์เเล้วยิ่งประทับใจค่ะ

อิจฉาชาวเชียงใหม่มากๆ ที่มีพระ on call

ขอบคุณพี่กุ้งนางที่มาเล่าให้ฟังต่อค่ะ น่าอิจฉาจริงๆด้วย

สวัสดีคะพี่เป้ ขอบคุณที่ให้เกียรติคะ แต่จริงๆ แล้วดอกไม้ดอกแรกคือพี่เป้เองต่างหาก เป็นแรงบันดาลใจสำคัญตั้งแต่ตอน Toronto เรื่อยมาจนงานต้นปี 2553 ก็มาเติมไฟให้อีก หวังว่าในอนาคต ทีมเชียงใหม่จะได้ทำงานเรียนรู้จากทีมรามาธิบดี ขอนแก่น และคณะแพทย์อื่นๆ อีกนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท