การรู้สารสนเทศ


การรู้สารสนเทศ

  

            สารสนเทศในสถาบันอุดมศึกษา ส่งผลต่อการพัฒนานักศึกษาให้เป็นผู้ใฝ่การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นบทบาทสำคัญประการหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา จะเห็นได้ว่าสถาบันแต่ละแห่งมุ่งสอนให้นักศึกษาคิดอย่างมีวิจารญาณ คิดเป็น ทำเป็น และฝึกการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะให้ออกไปเป็นพลเมืองดีและจรรโลงสังคม ดังนั้นการรู้สารสนเทศจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายนี้ ทักษะการเรียนรู้สารสนเทศ จะทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวาง สามารถเรียนตามความสนใจของตนเองโดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ (สุจิน บุตรดีสุวรรณ, 2550, หน้า 75)

             ห้องสมุดกับการสอนการรู้สารสนเทศ บรรณารักษ์มีบทบาทเป็นผู้สอนหรือผู้ร่วมสอนการรู้สารสนเทศให้กับนักศึกษาในรายวิชาการรู้สารสนเทศ หรือร่วมกับอาจารย์ผู้สอนในการบูรณาการการสอนการรู้สารสนเทศในรายวิชาต่าง ๆ นอกจากนี้บรรณารักษ์ยังมีบทบาทในการสอนการรู้สารสนเทศให้กับผู้ใช้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การปฐมนิเทศ การนำชม การตอบคำถาม การจัดฝึกอบรมระยะสั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดกิจกรรมที่สื่อในเรื่องเกี่ยวกับการใช้ห้องสมุด

              ทักษะการรู้สารสนเทศ (Information Literacy Skills) เป็นทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้ด้วยตนเองทั้งได้รับการส่งเสริมให้เกิดทักษะการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ การมีทักษะการรู้สารสนเทศจึงเป็นเสมือนการเป็นผู้มีปัญญา มีความสามารถในการค้นคว้าแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ซึ่งมีทักษะหลายระดับ จะเห็นได้จากการมีการกำหนดมาตรฐานการรู้สารสนเทศของผู้เรียน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการรู้สารสนเทศตามมาตรฐาน โดยมีหลายองค์กรได้กำหนดมาตรฐานความสามารถการรู้สารสนเทศสำหรับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดังเช่น มาตรฐานการรู้สารสนเทศสหรัฐอเมริกา (Association of College and Research Libraries, 2007) มาตรฐานการรู้สารสนเทศของ UCLA (University of California Library Association, 2001) มาตรฐานการรู้สารสนเทศระดับอุดมศึกษา และบุคคลทั่วไปของประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (Australian and New Zealand Information Literacy Framework, 2004) และมาตรฐานตัวบ่งชี้ และลักษณะการรู้สารสนเทศ : เทคนิคเดลฟาย (ผลจากการวิจัย ของหนูไกร บุตตะวงษ์ 2549) เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะการรู้สารสนเทศ โดยสามารถระบุความต้องการ ค้นหา วิเคราะห์ และใช้สารสนเทศในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน และการตัดสินใจ เป็นทักษะสำคัญในการเรียนรู้วิธีการที่มีประสิทธิภาพ

ความหมายของการรู้สารสนเทศ

           การรู้สารสนเทศ เป็นคำที่รู้จักและกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แปลมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Information Literacy ซึ่งมักมีผู้สับสน ในบางครั้งจะใช้คำว่า Information Competency หรือ Information Skills แต่คำว่า Information Literacy เป็นคำที่ใช้แพร่หลายมากที่สุด (นงค์เยาว์ เปรมกมลเนตร, 2550, หน้า 145) โดยเฉพาะใน แวดวงการศึกษา

สำหรับความหมายของการรู้สารสนเทศ มีนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศได้ให้คำนิยามไว้หลากหลาย ดังนี้

           การรู้สารสนเทศ ความหมาย สรุปโดยรวมคือ การมีความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องนั้นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ สื่อ และดิจิทัล (ชุติมา สัจจานันท์, 2550, หน้า 27)

           Information Literay หมายถึง การรู้จักจัดเก็บและค้นคืนสารสนเทศ การรู้จักใช้อินเทอร์เน็ตและเครื่องมือค้นคืน ข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศตลอดจนเรื่องราวต่าง ๆจากระบบอินเทอร์เน็ตมาใช้งาน และมีความสามารถในการวิเคราะห์ ข้อมูล ข่าวสาร และสารสนเทศที่ค้นคืนได้ว่ามีความน่าเชื่อถือหรือเป็นเรื่องที่แท้จริงเพียงใด มีความทันสมัยที่ควรจัดเก็บหรือไม่ และมีความสามารถจัดเก็บ ป้องกันข้อมูลที่เป็นความลับได้ (ครรชิต มาลัยวงศ์, 2552, หน้า 50-51)

การรู้สารสนเทศในสถาบันอุดมศึกษา 

                    ความสำคัญของการรู้สารสนเทศในมหาวิทยาลัย

               การรู้สารสนเทศเป็นเงื่อนไขหลักของเศรษฐกิจฐานความรู้ ผู้เรียนในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้นั้น ต้องมีคุณลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ 1) รู้ทัน รู้นำโลก  2) เรียนรู้ชำนาญ เชี่ยวชาญปฏิบัติ  3) รวมพลังสร้างสรรค์สังคม และ 4) รักษ์ความเป็นไทย ใฝ่สันติ โดยเฉพาะผู้เรียนต้องมีความคิดใหม่ เพื่อจะได้เป็นคนที่รู้จักคิด และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้แก่สังคม ( เพ็ญพันธ์ เพชรศร, 2550, หน้า 57 อ้างอิงจาก ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2548)

                การเสริมสร้างการรู้สารสนเทศสำหรับสังคมไทย เป็นแนวคิดที่ต้องการให้ผู้เรียนเริ่มค้นหาตัวเองจากแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียน เรียนรู้วิธีการว่าจะเรียนรู้อย่างไร (Learn How to Learn) เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฉะนั้นสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะครูอาจารย์ที่ทำหน้าที่สำคัญ คือการเป็นกัลยาณมิตรของนิสิตนักศึกษา ต้องพัฒนาให้ผู้เรียนรู้จักคิด คิดเป็น ตามแนวปัญญา รู้จักพิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ และหารูปแบบเทคนิคการสอนที่เหมาะสม

                  ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาจึงให้ความสำคัญต่อการรู้สารสนเทศ และมีความพยายามที่จะสร้างการรู้สารสนเทศให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างอิสระ และเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต

                   ผลของการรู้สารสนเทศที่เกิดแก่ผู้เรียนในระดับอุดมศึกษา ดังนี้ (วนุชชิดา สุภัควนิช. 2547, หน้า 9)

                    1. เป็นการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมที่ผู้เรียนมีลักษณะเป็นผู้ตามและรับสารสนเทศจากผู้สอนไปสู่ผู้เรียน มาเป็นการเรียนรู้ที่มีความกระตือรือร้นและเป็นผู้ควบคุมการเรียนรู้ของตนเองมากขึ้น

                    2. ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสามารถและความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน

                    3. ผู้เรียนมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเองเมื่อได้รับมอบหมาย

                    4. ผู้เรียนจะเป็นผู้บริโภคสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรู้ว่าสารสนเทศมีการบันทึกในสื่อที่หลากหลาย และแต่ละรูปแบบจะสนองความสนใจและการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

                    5. ผู้เรียนจะมีความคิดเชิงวิเคราะห์มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรสารสนเทศ

                    การรู้สารสนเทศมีความสำคัญต่อการสร้างสังคมสารสนเทศ และสังคมความรู้ในมหาวิทยาลัยดังนี้

                    1. สารสนเทศเป็นทรัพยากรหลัก เป็นแกนกลางของกิจกรรมทั้งมวลในการนำสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย ทุกสาขาวิชาได้อย่างกว้างขวาง

                    2. อินเทอร์เน็ต เป็นขุมทรัพย์ความรู้ ข้อมูลข่าวสารสารสนเทศจำนวนมหาศาลที่มีเครือข่ายกว้างขวางเชื่อมโยงทั่วโลก เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการศึกษาวิจัย พัฒนาธุรกิจ และการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล ได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ ที่เปิดกว้างในเรื่องข้อมูล ข่าวสาร และสารสนเทศ สร้างวัฒนธรรมของความร่วมมือในมหาวิทยาลัย

                    3. การปฏิรูปการศึกษา การศึกษาอยู่ในกระแสแห่งการปรับเปลี่ยนของสังคมโลก มีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อปรับบทบาทของการศึกษา ให้สถาบันการศึกษามีแนวคิดทางการส่งเสริมการศึกษา สำหรับผู้เรียนทุกคน เป็นการศึกษาตลอดชีวิต และการเรียนรู้ในปัจจุบัน เปลี่ยนจากการเน้นเนื้อหามาสู่วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อต่างๆ การเรียนรู้โดยอิงแหล่งวิทยาการและบทบาทผู้สอนได้เปลี่ยนเป็นผู้เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ จึงมีการปรับเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างแพร่หลาย 

หมายเลขบันทึก: 414072เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2010 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท