อินทนนท์
นาย ชูชาติ พูลทอง ชูชาติ พูลทอง

“ ชุมชนในความฝันของผม ”


ปัจจุบันที่นี่ ยังคงมีสิ่งใหม่ๆเข้ามาในชุมชนเสมอ หากแต่สิ่งใหม่ที่เข้ามานั้นมิได้เข้ามาแทนที่สิ่งเดิมที่มีอยู่ แต่กลับเพิ่มมูลค่าด้านความมั่นคงให้กับชุมชน
บทความเรื่อง “ ชุมชนในความฝันของผม ”
21 ปีกับตำบลเล็กๆที่ผมเองไม่ได้ถือกำเนิด ณที่แห่งนี้ ชุมชนที่ผมเรียกอยู่ในใจเสมอมาว่า“ชุมชนแห่งความฝัน”
ก้าวแรกที่ผมก้าวเข้ามาชุมชนแห่งความไม่คุ้นเคยชุมชนนี้ สิ่งแรกที่ผมเคยบอกกับตัวเองว่า “ใช่ที่นี่คือที่ที่ผมต้องการ”
  ตลอดระยะเวลาการทำงานในชุมชน ในฐานะประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง ผมเห็นชุมชนแห่งนี้เติบโตไปพร้อมกับความเจริญก้าวหน้า หากแต่ความเจริญนั้นมิเคยบดบังความมีเสน่ห์ดั้งเดิมที่เคยเป็นอยู่  สองสิ่งเติบโตไปคู่กันด้วยความลงตัวที่สุด ความสวยงามของจิตใจผู้คน ศิลปะที่ทรงคุณค่าต่างๆ ถูกปกป้องจากผู้คนในชุมชน ประเพณีที่งดงามยังคงยืนหยัดด้วยรากฐานที่มั่นคง แม้ความห่างไกลจากตัวเมืองจะใช้เวลาแค่สิบนาทีก็ถึง 
                ผมเห็นพระประธานองค์ใหญ่สมัยล้านนาที่งดงาม ตั้งสง่าอยู่ที่วัดข้าวแท่นหลวง ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ในชุมชนแห่งนี้ พระประธานที่ยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์ต่อสายตาและจิตใจผมยิ่งนัก เด็กๆในชุมชนเกิดการเรียนรู้และหวงแหนถิ่นฐานที่ตัวเองถือกำเนิด หลายครั้งกับการทำงานทางด้านการท่องเที่ยว เด็กในชุมชนจะตื่นตาตื่นใจที่ตัวเองได้เป็นผู้ต้อนรับ    อคันตุกะจากต่างแดน ที่นี่เกิดการเรียนรู้ เกิดการปลูกฝังจิตสำนึก หาใช่ว่าจะมีนักวิชาการที่ทรงคุณวุฒิ  หรือนักโบราญคดีมาเป็นคนปลูกฝัง หากแต่สิ่งเล่านี้เกิดขึ้นเพราะพื้นฐานสถาบันครอบครัวที่เป็นของเขา ผมชื่นชมคนรุ่นเก่าก่อน ที่ถ่ายทอดเรื่องที่ดีงามให้กับชุมชน จนบางครั้งผมแอบเรียกที่แห่งนี้อีกว่า“มหาลัยชีวิต” ความสวยงามของวิถีชีวิตชนบทกึ่งเมือง ถูกหล่อหลอมเข้าด้วยกันอย่างลงตัวแม้หลายคนอาจจะคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ที่นี่คือความจริงและเกิดขึ้นจริงที่นี่                 ที่“ตำบลสันทรายหลวง”
                ไม่ใช่เพียงแค่ศิลปะประเพณีที่งดงามเท่านั้น หากแต่ที่นี่ ยังคงรักษาวิถีชีวิต ที่เป็นรากเหง้าของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทำนา การทำหมากดิบ การทำข้าวแต๋นพื้นเมือง การทำศิลปเครื่องปั้นดินเผา และสิ่งละอันพันละน้อยอีกมากมายที่ยังคงยึดแน่นอยู่กับชุมชน ผมเองไม่ได้เป็นคนมีความรู้มากนัก ความรู้สึกต่างๆจึงออกมาอย่างที่สายตาและจิตใจได้เห็นและได้คิด
                ปัจจุบันที่นี่ ยังคงมีสิ่งใหม่ๆเข้ามาในชุมชนเสมอ หากแต่สิ่งใหม่ที่เข้ามานั้นมิได้เข้ามาแทนที่สิ่งเดิมที่มีอยู่ แต่กลับเพิ่มมูลค่าด้านความมั่นคงให้กับชุมชน หน่วยงานหลากหลายหน่วยงาน มองเห็นการพัฒนาไปในทางเดียวกัน การสร้างฐานที่มั่นคงแข็งแรงให้กับชุมชนคือคำตอบที่ทุกฝ่ายมองเช่นเดียวกัน ตำบลสันทรายหลวง อยู่ในเขตปกครองของเทศบาลสันทรายหลวง ซึ่งรวม ตำบลสันทรายน้อย เข้าอยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน แม้จะมีตำบนคู่แฝดหากแต่ความแตกต่างมิได้ห่างไกลกันมากนัก ที่ตำบลสันทรายน้อย ยังคงมีศิลปวัฒนธรรมที่สวยงามเฉกเช่นเดียวกับตำบลสันทรายหลวง มีวิหารไม้สักทองหลังใหญ่ที่งดงามตั้งตระหง่านอยู่ที่วัดสันคะยอม มีการทำงานศิลปะที่เรียกว่าบ้านทำสลุงเงินแม่ย่อย มีตลาดนัดวัวความ ที่ยังมีกลิ่นอายของวิถีชีวิตดั่งเดิมไว้เป็นที่เรียนรู้ ในการดำเนินชีวิตจริงให้กับเยาวชนรุ่นหลัง
                เด็กๆหลายคนได้สืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ ที่ปลูกฝังการรักบ้านเกิด ที่นี่จึงไม่มีใครย้ายถิ่นฐานกันมากนัก  น้ำท่าก็อุดมสมบูรณ์ มีอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ในชุมชน ทุกคนกินดีอยู่ดี แม้จะไม่ได้เรียกว่ามีฐานะดีก็ตาม ความพอเพียงที่อยู่ในชุมชน ถูกสืบทอดเป็นศูนย์การเรียนรู้หลายแห่งในชุมชน ผมเห็นเยาวชนตัวเล็กๆ ตั้งหน้าตั้งตาปลูกต้นหมากรากไม้ ทำปุ๋ยไว้ใช้เอง เก็บผักพื้นบ้านไว้ทำอาหารมื้อเย็น แต่แค่เพียงผมละสายตาจากพวกเขาไปชั่วครู่ เยาวชนตัวเล็กๆ เล่านั้นก็พากันไปนั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีที่เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด ผมดีใจที่ผู้ใหญ่ในเขตปกครองเห็นความสำคัญกับเรื่องพื้นฐานของเยาวชน สิ่งจะนำมาซึ่งการพึ่งพาตนเอง และสุดท้ายที่ผู้ใหญ่หลายคนหวังไว้ “ชุมชนจะดูแลชุมชนได้ด้วยตัวของชุมชนเอง”
                ผมเองไม่รู้หรอกว่า บทความธรรมดาที่ผมเขียนขึ้นจากเรื่องราวในชุมชน จะถูกถ่ายทอดไปที่ใดบ้าง แต่สิ่งที่ผมรู้อยู่เสมอมานั่นก็คือ หัวใจของผมได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือในแบบฉบับที่คนในชุมชนรู้สึกจริงๆ และสิ่งที่คิดไว้เสมอมามิเคยเปลี่ยน “ที่นี่เป็นชุมชนในความฝันของผมจริงๆ”
                                                                                                                                           อินทนนท์
หมายเลขบันทึก: 415226เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2010 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท