การสอนวิชาโลกศึกษาโดยใช้แหล่งวิทยาการในชุมชน


กรณีศึกษาของโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553

ความเป็นมา

          โรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School) เป็นนวัตกรรมการจัดการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำมาใช้เป็นมาตรการเร่งด่วนในการจัดยกระดับการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐานเทียบเท่าสากล  ให้ผู้เรียนมีศักยภาพและความสามารถแข่งขันทัดเทียมกับผู้เรียนนานาชาติ  โลกศึกษา (Global Education) เป็นหนึ่งรายวิชาของสาระสากลที่บรรจุไว้ในหลักสูตรโรงเรียนมาตรฐานสากล  มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ (Interdisciplinary) มุ่งเน้นการเพิ่มพูนความรู้ ความคิดรวบยอดและเนื้อหาสาระของวิชา  หรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในมิติขยายกว้างระดับโลก

         โลกศึกษาเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงลึก ทั้งด้านพื้นฐาน ความคิด ความรู้สึก และการกระทำที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การเชื่อมโยงประสานความสัมพันธ์  ความเสมอภาคเท่าเทียม  ความยุติธรรมในสังคม ความเข้าใจกันระหว่างมนุษย์  โดยมีขั้นตอนหลักในการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง การวิเคราะห์สถานการณ์โลกปัจจุบัน เพื่อการกำหนดทิศทางหรือพัฒนารูปแบบวิธีการในการแก้ไขปัญหา และกระบวนการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งสู่ความเป็นพลเมืองโลก   การเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่นที่จะส่งผลต่อระดับโลก  ทำให้ผู้สอนมีความสนใจที่จะพัฒนารูปแบบการสอนโลกศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจสามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ในระดับท้องถิ่นกับระดับโลกกว้างโดยใช้แหล่งวิทยาการในชุมชนเป็นฐานของการจัดการเรียนรู้


วัตถุประสงค์
        1. พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาโลกศึกษาของโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี
        2. ศึกษาผลสัมฤทธิ์การจัดการเรียนการสอนวิชาโลกศึกษาโดยใช้แหล่งวิทยาการในชุมชน
 

วิธีการดำเนินการ
         ในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาโลกศึกษาของโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี  ภาคเรียนที่ 1ปีการศึกษา 2553 ผู้สอนได้ดำเนินการดังนี้

        1. ทำการวิเคราะห์บริบทของโรงเรียนและการจัดหลักสูตรมาตรฐานสากลของกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี  ด้วยกระบวนการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง (Action Learning)  ผลการวิเคราะห์ได้ข้อสรุปในการดำเนินการควร พัฒนาจากรากฐานที่แข็งแกร่ง ยึดหลักการพัฒนาต่อยอดจากฐานเดิม ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยผลงานเด่นที่เป็นต้นทุนเดิมอยู่ 2 ประการ คือ

            1.1  มีการจัดหลักสูตรที่หลากหลายสอดคล้องกับบริบทของสังคมและท้องถิ่น ด้วยการเปิดสอนรายเพิ่มเติม ได้แก่  วิชาตามรอยพระยุคลบาท ภูมิปัญญาไทย  เพชรบุรีศึกษา  ภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว จีนศึกษา Phetchaburi Studies  Environment  Studies และ วิชา World Today เป็นต้น

           1.2  มีการจัดการเรียนรู้จากชุมชนสู่โลกกว้าง การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของท้องถิ่นได้แก่ การพัฒนารูปแบบการสอนที่ใช้แหล่งวิทยาการภายในชุมชน ในรายวิชาต่าง ๆ
         2. กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาวิชาโลกศึกษาดังนี้
             2.1 เปิดสอนรายวิชาโลกศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 8 ห้องเรียน ภาคเรียนละ1 ชั่วโมง จำนวน 0.5 หน่วยกิต
             2.2 บูรณาการสาระโลกศึกษาในรายวิชาพื้นฐานต่าง ๆ เช่น วิชาสังคมศึกษา 6 หน่วยการเรียนโลกและวิทยาการ เป็นต้น
             2.3 บูรณาการสาระโลกศึกษาในรายวิชาเพิ่มเติม ซึ่ง ได้แก่ รายวิชาภูมิศาสตร์กับการท่องเที่ยว  รายวิชาประวัติสังคมและวัฒนธรรมไทย
        3. พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโลกศึกษาโดยใช้แหล่งวิทยาการในชุมชน

             คำว่า Community Resource เป็นคำที่นักวิชาการไทยได้ให้ความหมายแตกต่างกันไป เช่น แหล่งวิทยาการในชุมชน แหล่งเรียนรู้ภายในชุมชน  แหล่งความรู้ชุมชน แหล่งวิชาในชุมชน แหล่งทรัพยากรในชุมชน และแหล่งการศึกษานอกโรงเรียน เป็นต้น การเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้หรือแหล่งวิทยาการในชุมชน มีความหมายรวมถึง ทุกสิ่งทุกอย่างในชุมชนที่นำมาใช้เป็นตัวอย่างให้เกิดแนวคิด ข้อสรุป ค่านิยมแก่ผู้เรียน เป็นแหล่งวิทยาการที่รวมไปถึงสถานการณ์ต่างๆ ในชุมชนทุกรูปแบบที่ครูผู้สอนสามารถนำมาออกแบบการเรียนรู้เพื่อนำมาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ฝึกฝนสติปัญญา ความคิด และเจตคติต่าง ๆ

             ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้จากแหล่งวิทยาการในชุมชน

             3.1 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นขั้นตอนแรกที่ผู้สอนจะต้องกระตุ้นชักจูง โน้มน้าวให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้น และสนใจอยากค้นคว้าหาความรู้ โดยผู้สอนใช้เอกสาร การสนทนา ทบทวนประสบการณ์เดิม  เพื่อเชื่อมโยงกับประสบการณ์ใหม่ที่ต้องเรียนรู้  โดยใช้กรณีศึกษาเรื่องราวจากชุมชนข้อมูลข่าวสารจากชุมชนในการสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนได้ตอบสนอง

             3.2 ขั้นศึกษา/วิเคราะห์  เป็นขั้นตอนการแบ่งกลุ่มผู้เรียนทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันโดยการแสวงหาความรู้ แสดงความคิดเห็นร่วมกันวิเคราะห์และหาข้อสรุปในประเด็นที่ได้ตั้งไว้ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนผู้เรียนได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของสมาชิกกลุ่ม  ศึกษาเรียนรู้จากสื่อและแหล่งวิทยาการในชุมชน ตัวแทนของกลุ่มนำเสนอผลงานของกลุ่มด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยที่ผู้สอนทำหน้าที่อภิปรายให้กลุ่มใหญ่ร่วมกันวิเคราะห์ให้ข้อมูลในประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน

            3.3 ขั้นปฏิบัติ/ฝึกหัด/ทดลอง เป็นขั้นที่ผู้เรียนได้ทดลองฝึกปฏิบัติตามขั้นตอน ฝึกการคิดวิเคราะห์ จินตนาการ สร้างสรรค์ ผ่านการจัดทำโครงงานเรียนรู้ในชุมชน  โดยผู้สอนเป็นที่ปรึกษาดูแล ช่วยเหลือและประเมินการปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาหากมีปัญหาเกี่ยวกับแหล่งวิทยาการที่ใช้ในการศึกษา  โดยผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันวางแผนในการใช้แหล่งวิทยาการในชุมชนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้

              3.4 ขั้นสรุปและเสนอผลการเรียนรู้  เป็นขั้นที่ผู้เรียนแต่ละกลุ่มจะได้ประมวลความรู้จากประสบการณ์ทั้งหมดมาวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ วิธีการใหม่ สรุปและนำเสนอสิ่งที่ค้นพบต่อกลุ่มใหญ่ในรูปแบบที่หลากหลาย  เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  เกิดการขยายเครือข่ายความรู้อย่างกว้างขวาง  ทำให้การเรียนรู้มีความหมายยิ่งขึ้น

              3.5 ขั้นปรับปรุงการเรียนรู้/นำไปใช้  เป็นขั้นที่ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มปรับปรุงผลงานของตนเองที่ได้จากการนำเสนอของแต่ละกลุ่มในการปรับปรุงผลงานนั้นอาจนำความรู้ที่ได้จากกลุ่มอื่นมาพัฒนาให้ดีขึ้น หรือเกิดความคิดใหม่ สร้างสรรค์งานที่ต่างไปจากเดิม  หรืออาจได้รับแนวคิดจากข้อเสนอแนะของผู้สอนมาประยุกต์สร้างผลงานใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงของสังคมและชุมชนของตนได้

              3.6 ขั้นการประเมินผล วัดผลประเมินผลตามสภาพจริง โดยเน้นการวัดผลจากการปฏิบัติจริง จากชิ้นงาน  รายงานผลการทำโครงงานที่ลงปฏิบัติจริงจากชุมชน  ผู้เรียนประเมินตนเอง ผู้สอนมีบทบาทร่วมวัดและประเมินผลด้วย

 ผลการดำเนินการ
        1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนรายวิชาโลกศึกษา 1 สูงขึ้นในระดับดีและดีมาก เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทของโลกและชุมชนของตน

        2. นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้วิชาโลกศึกษา  มีส่วนร่วมในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนของตนในฐานะพลเมืองโลก  มีความสุขต่อการทำงานร่วมกับผู้อื่นในฐานะสมาชิกของกลุ่มสังคม

 การสะท้อนความคิดเห็นต่อผลงาน
        1. ความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนโลกศึกษาโดยใช้แหล่งวิทยาการในชุมชน  เป็นผลมาจากวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เริ่มจากบริบทชุมชนของผู้เรียน   นำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวผู้เรียนมาเป็นฐานของการเรียนรู้  มาบูรณาการกับวิธีการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญหลายวิธีด้วยกัน เช่น การสอนแบบสืบสวนสอบสวน  การสอนด้วยโครงงาน  การสอนที่เน้นการปฏิบัติจริง
        2. การจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งวิทยาการในชุมชนสามารถนำไปใช้ในสาระมาตรฐานสากลอื่นๆ ได้ทุกสาระ ซึ่งได้แก่
           1. ทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowlededge : TOK) ด้วยการใช้ชุมชนเป็นฐานของประเด็นในการศึกษา ทดลอง วิจัย ตอบโจทย์ปัญหาสังคม การเปลี่ยนแปลงสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยองค์ความรู้ต่าง ๆ
           2. ความเรียงชั้นสูง (Extended-Eassay : EE) ด้วยการเขียนเรียบเรียงผลงานการศึกษา วิจัย องค์ความรู้ใหม่ จากชุมชนนำมาเสนออย่างมีระบบ
           3.  กิจกรรมสร้างสรรค์ประโยชน์ (CAS : Creativity,Action,Service) ด้วยการเรียนรู้ภูมิปัญญาจากชุมชน สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนและชุมชน 
           การจัดการเรียนการสอนวิชาโลกศึกษาโดยใช้แหล่งวิทยาการในชุมชน จึงเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้รู้เข้าใจบทบาทของตนเอง ท้องถิ่น  ประเทศและสังคมโลก สอดคล้องกับความมุ่งหวังในการจัดการเรียนรู้โรงเรียนมาตรฐานสากลที่สังคมไทยต้องการ

 

หมายเลขบันทึก: 416641เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2010 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท