จาก “ ป้าเจรียง” ถึง “ศุภกรณ์” ... “หนูจะต้องไม่เป็นอย่างป้า : ดูแลกันด้วยนะมนุษย์ในยุคเลข ๑๓ หลัก”


... “ป้าเจรียง”ไปสบายแล้วฉันเชื่อว่าป้าคงจะมีความสุขมากกว่าการมีชีวิตอยู่ในยุคมนุษย์เลข ๑๓ หลัก แต่ไม่วาย...ถึงแม้ไม่มีใครห่วงป้าแต่ป้าก็คงยังห่วงมนุษย์คนอื่นๆ อยู่ กระซิบข้างหูบอกฉันว่าให้ดูแลกันให้ดีๆ นะ...อย่าให้ “ศุภกรณ์” ต้องเป็นอย่างป้า...

จาก ป้าเจรียง ถึง ศุภกรณ์ ...

หนูจะต้องไม่เป็นอย่างป้า : ดูแลกันด้วยนะมนุษย์ในยุคเลข ๑๓ หลัก 

บ่นนำ

ฉันยังไม่ค่อยคุ้นกับการนั่งรถเมล์มาที่ทำงานแห่งใหม่เท่าไหร่ เพราะโดยปกติสะดวกแต่นั่งเรือ  แต่วันนี้เข้าใจผิดว่ารถเมล์สายที่ขึ้นนั้นจะผ่านไปทางท่าขึ้นเรือ  รถเมล์ก็ไม่ยอมผ่านไปทางนั้นอย่างที่เข้าใจ จึงเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่าต้องเสียเวลาเพราะความเข้าใจผิดนั้นอีกนานมากทีเดียว และยังต้องเสียเงินขึ้นรถไฟฟ้าอีกต่อหนึ่งเพื่อซื้อเวลาที่คิดว่าน่าจะเอาไปทำอะไรได้มากกว่าอยู่บนถนน..บ่นเพราะงานหลายอย่างที่ตั้งใจจะทำให้เสร็จแต่เช้าก็ไม่ได้ทำ และเมื่อมาถึงที่ทำงานก็สวนกับคุณสุดารัตน์  เสรีวัฒน์ หรือ พี่ตุ้กเจ้าแม่ใหญ่แห่งมูลนิธิเพื่อการคุ้มครองเด็ก พี่ตุ้กทิ้งจดหมายฉบับหนึ่งไว้และฝากว่าให้ช่วยดูแลให้หน่อย  บอกว่าเป็นเรื่องของเด็กที่ยังไม่ได้รับการแจ้งเกิด  ฉันยังไม่ได้เอะใจเพราะไม่รู้สึกหนักใจเท่าไหร่ และเชื่อว่าเป็นเรื่องที่แก้ไขปัญหาได้ไม่ยาก 

ที่มาของปัญหา...การปรากฏตัวของ ศุภกรณ์

จดหมายฉบับนั้นส่งมาจากบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุรินทร์  ซึ่งขอความอนุเคราะห์มาในเรื่องของการแจ้งเกิดให้กับ เด็กชายศุภกรณ์  ชีพรม ซึ่งพ่อแม่เด็กไม่ได้แจ้งเกิดไว้และปัจจุบันเด็กอายุ ๓ ขวบแล้ว อาศัยอยู่กับตาและยายที่แก่เฒ่ามากแล้วที่จังหวัดสุรินทร์  ความที่เรียบเรียงและเข้าใจได้จากจดหมายซึ่งคุณสุวรรณ์  พรมผล หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุรินทร์ซักถามมาจากคุณตาคุณยายของน้องศุภกรณ์ คือ แม่ของน้อง(ฉันยังไม่รู้ชื่อเล่น) ไปคลอดน้องที่โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา อ.เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี แล้วเผอิญว่าติดหนี้ค่าทำคลอดกับโรงพยาบาลอยู่กว่า ๖,๐๐๐ บาท ตอนแรกจึงยังไม่ได้หลักฐานเอกสารเกี่ยวกับการเกิดของน้องจากโรงพยาบาล  ซึ่งในที่นี้ก็คือ หนังสือรับรองการเกิด หรือ ทร.๑/๑ ที่ผู้ทำคลอดจะต้องออกให้นั่นเอง   ภายหลังคุณแม่ไปจ่ายเงินแล้วแต่ก็ได้ความว่าไม่มีทะเบียนบ้านที่จะแจ้งเพิ่มชื่อเด็กเข้าทะเบียนบ้านที่จังหวัดชลบุรี(เหตุผลนี้ยังงงๆ)   ต่อมาหลังคลอดได้นำน้องมาให้ตากับยายเลี้ยงที่จังหวัดสุรินทร์   ส่วนพ่อและแม่เด็กก็ได้ทิ้งร้างกันไปแล้ว  ตัวของแม่เด็กนั้นตากับยายเชื่อว่ายังคงทำงานอยู่ที่พัทยานั่นเอง แต่ไม่ทราบที่อยู่แน่นอนและไม่สามารถติดต่อได้ ส่วนพ่อของน้องก็น่าจะอาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ แต่มีพฤติกรรมชอบดื่มสุราและเล่นการพนัน ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ และไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง บ้านพักเด็กฯ เห็นว่าปัจจุบันไม่สามารถติดตามพ่อแม่เด็กให้ไปดำเนินการแจ้งเกิดให้ได้และตากับยายก็แก่มากไม่สามารถไปเดินเรื่องให้ได้เช่นกัน จึงขอความช่วยเหลือมาที่พี่ตุ้ก  

ปัญหาที่พบ...

คือ เราไม่ทราบเลยว่าข้อมูลที่ให้มานั้นใกล้เคียงกับความเป็นจริงแค่ไหน เป็นความเข้าใจไปเองของตาและยายหรือไม่ หากไม่สามารถดึงข้อเท็จจริงได้จากพ่อหรือแม่เด็กแล้ว  ความคลาดเคลื่อนและความไม่ชัดเจนของข้อมูลจะทำให้เราไปไม่ได้ถึงปมของปัญหา เช่น เป็นการคลอดที่โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาจริงหรือไม่   เด็กคลอดในวันไหน หรือ ช่วงเดือนไหนของปีกันแน่ ปัจจุบันเด็กอายุ ๓ ขวบ แก่อ่อนเดือนแค่ไหนบ้าง ...ไม่เป็นไร...ไม่เป็นไร..ฉันคิดในใจ  เราจะเช็กไปที่โรงพยาบาลเอง  กรณีนี้ยังมีข้อมูลเยอะหน่อย  มากกว่าเกือบทุกกรณีที่เรามักเจอข้อมูลแบบขาดวิ่นและไม่น่าเชื่อถือกว่านี้อีกมาก

ทางแก้ของปัญหา...

เบื้องต้นถ้ายังไม่ได้ความจริงจากพ่อและแม่ของน้องที่น่าจะมีข้อมูลชัดเจนกว่านี้  ฉันก็ต้องควานหาความจริงจากโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ว่าในประวัติของห้องคลอดมีชื่อของแม่น้องศุภกรณ์มาคลอดที่นี่ในช่วงย้อนหลังไป ๓ ปี หรือไม่ โดยปกติประวัติการคลอดเราจะต้องหาจากชื่อแม่เด็กที่ไปคลอด เพราะทุกโรงพยาบาลจะบันทึกว่ามีนางหรือนางสาวชื่ออะไร นามสกุลอะไรมาคลอดบ้าง การหาประวัติการคลอดโดยเริ่มต้นที่ชื่อเด็กจะเป็นการยากมากทีเดียว เพราะฉะนั้นเด็กที่ถูกทิ้งแล้วไม่รู้ชื่อแม่ของตนเอง จะเป็นปัญหามาก  และถ้ารู้วันหรืออย่างน้อยช่วงเดือนของปีก็จะช่วยได้มาก ...เอาเหอะน่า..เรารู้ชื่อและนามสกุลแม่และพ่อของเด็กชัดเจนแล้ว( ชื่อพ่อเด็กที่ชัดเจนก็มีส่วนสำคัญนะเพราะบางครั้งถ้าชื่อแม่ตรงแต่ชื่อพ่อที่เราเข้าใจว่าใช่หรือใช้ชื่อนี้กลับไม่ตรงกับที่แม่แจ้งไว้กับโรงพยาบาลก็จะเป็นปัญหาว่าเด็กที่คลอดออกมาคนนั้นไม่ใช่เด็กคนเดียวกันกับคนที่เรากำลังแก้ปัญหาให้อยู่หรือเปล่าและโรงพยาบาลก็จะไม่กล้ารับรอง)  อีกอย่างเด็กก็เพิ่งเกิดได้ ๓ ปีเอง เราเชื่อว่าเดี๋ยวนี้โรงพยาบาลเค้ามีระบบฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์เกือบหมดแล้วน่าจะเช็กได้ง่ายขึ้น  ใส่ชื่อแม่เด็กเข้าไปก็เจอแล้วไม่ต้องมานั่งค้นจากต้นขั้วเก่ากึ้กในห้องเก็บเอกสารหรอก แต่ถ้าเด็กที่เกิดนานแล้ว หรือ โตจนแก่มากแล้ว เราจะต้องไปค้นจากคอนโดกระดาษที่ร้างและทรุดโทรมมากแน่ๆ ซึ่งหากโรงพยาบาลทำลายทิ้งไปแล้วหรืออาจถูกน้ำท่วม  ไฟไหม้  ปลวกกิน เชื้อรา โอย...หายากแน่ๆ เลย  ทันสมัยหน่อยน่าโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ...ฉันภาวนาในใจ อีกทางหนึ่งขนานกัน  แต่อาจจะเป็นมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ขึ้นหน่อย  คือ การงมข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของศาลาว่าการเมืองพัทยา ชื่อหรูดีจัง..ก็พัทยาเป็นเขตปกครองพิเศษนี่นะ เอาน่าเป็นไปได้อีกทางนะ เนื่องจากว่าโดยปกติโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลจะต้องส่งข้อมูลการเกิด ไปที่อำเภอหรือเขตว่าเดือนๆนี้ หรือ ช่วงเวลานี้ๆ ได้มีคนเกิดเท่าไหร่ เขตหรืออำเภอของกรมการปกครอง ซึ่งในที่นี้ก็คือ ศาลาว่าการเมืองพัทยา ก็จะรู้ข้อมูลประชากรว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีคนเกิดในพื้นที่รับผิดชอบของฉันเท่าไหร่ รวมไปถึงคนตายก็เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ด้วยเหมือนกัน และโดยมากบางครั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็จะเป็นผู้ที่แจ้งเกิดให้เด็กที่เกิดในโรงพยาบาลเองเสียด้วยซ้ำ พ่อหรือแม่เด็กเพียงแต่ไปแสดงตน หรือ แสดงทร.๑/๑ที่โรงพยาบาลออกให้แล้วก็รับสูติบัตรที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้งไว้ให้ก่อนแล้วที่อำเภอในเขตที่รพ.อยู่เท่านั้นเอง  บางโรงพยาบาลใหญ่ๆ เจ้าหน้าที่เขตหรืออำเภอก็มาบริการรับแจ้งเกิดจากเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลนั้นเองเลยด้วย ผู้แจ้งเกิดในสูติบัตรเด็กก็จะเป็นชื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเด็กเลย ตัวอย่างเช่น เด็กชายขวัญ  วรรัตน์ ที่เกิดที่โรงพยาบาลจุฬา เมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าในสูติบัตรของคุณ ผู้แจ้งเกิดให้คุณกลับเป็นใครก็ไม่รู้ที่ชื่อและนามสกุลไม่คุ้นว่าจะเป็นญาติคนไหนๆ ของคุณได้เลย  และชื่อในสูติบัตรก็อาจตลกพิกลหรือไม่เคยได้ยินมาก่อน[1]  ดังนั้นถ้าคิดในแง่ดี น้องศุภกรณ์อาจจะมีสูติบัตรรออยู่ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยาแล้วก็ได้  และ อาจมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ซึ่งก็สามารถตรวจสอบได้อีกทางจากอำเภอหรือเขตไหนๆ ใกล้บ้าน เพราะเดี๋ยวนี้ระบบทะเบียนราษฎรออนไลน์แล้ว เหมือนกับที่เราไปทำบัตรประชาชนที่ไหนก็ได้ไม่ต้องเป็นที่ทำการของเขตที่เรามีชื่ออยู่

น่าจะใช่...นี่คือทางแก้ปัญหาเบื้องต้นที่จะช่วยตรวจสอบสภาพปัญหาที่แท้จริงได้อีกด้วย..เราต้องทำตรงนี้ก่อนเพื่อจะได้เรียนรู้ไล่ไปหาปัญหาที่แท้จริง

 

จุดเริ่มต้นของความสำคัญของปัญหา...ฉันและการเผชิญหน้ากับ ป้าเจรียง

 ฉันวางจดหมายลงและลงมือทำงานอื่นที่ตั้งใจไว้ ใจก็คิดว่าจะส่งต่อเรื่องนี้เข้าสู่ระบบที่ควรจะเป็น คือ ในกรณีที่ปัญหาไม่เร่งด่วน ไม่มีข้อจำกัดให้ต้องแก้อย่างทันใด ฉันจะส่งต่อให้อาจารย์บงกช หรือ น้องเตือน ได้บันทึกปัญหาและทำการบ้านกับเจ้าของปัญหาก่อน กรณีนี้เจ้าของปัญหาอาจเป็นบ้านพักเด็กฯ หรือ คุณตาคุณยายที่เราต้องขอให้เค้าลองทำการบ้านเชิงข้อมูลให้มากที่สุดเพิ่มด้วย  แต่เมื่อฉันได้เสร็จงานบางส่วนที่ต้องทำ ก็ได้อ่านข่าวเรื่องของ ป้าเจรียง  เอี่ยมละออ แกอายุ ๕๐ ปีแล้ว แต่ไม่เคยบัตรประชาชนมาตลอดเพราะแกหนีออกจากบ้านตอนเด็กๆ กลับบ้านมาอีกทีทุกคนก็ไม่อยู่ที่เดิมแล้ว ตอนนี้แกป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้าย แต่ไปรักษาพยาบาลในโครงการ ๓๐ บาทฯ ไม่ได้และแกก็ยากจนมาก จึงกำลังนอนรอความตาย[2] ฉันอ่านจบด้วยความไม่สบายใจ และคิดๆดูว่าต้นเหตุของปัญหาป้าเจรียงอาจจะไม่ได้รับการแจ้งเกิด ทำให้แกไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร  ความพยายามของแกมาตลอดจึงที่จะทำบัตรประชาชนจึงทำไม่ได้  หรือ จริงๆ แล้วพ่อแม่แกอาจจะเคยแจ้งเกิดให้แกแล้วก็ได้ แต่แกจดจำชื่อ-นามสกุลของตนเองและครอบครัวผิดๆ ทำให้แกหาตัวคนในครอบครัวของแกไม่เจอ เหมือนกับกรณีของแม่ชีสุริยาที่แก่แล้วและเป็นเวลามากกว่า๒๐ปีที่ไม่ได้ใช้ชื่อตามข้อมูลทะเบียนราษฎรของตนเอง แกจึงจดจำชื่อของตนเองผิดๆ และต้องใช้เวลานานมากกว่าจะค้นหาตัวตนทางกฎหมายที่แกอ้างว่าเคยมีอยู่แล้วเจอ[3] แต่แม่ชีสุริยายังโชคดีที่จำได้ว่าตนเองเคยมีบัตรประชาชน ผิดกับป้าเจรียงที่ออกจากบ้านไปก่อนที่จะถึงวัยทำบัตรประชาชน ทำให้ไม่รู้ว่าจริงๆ ป้าเจรียงมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรไทยแล้วหรือยัง  อย่างไรก็ตามความไร้ตัวตนของป้าเจรียงก็จะสิ้นสุดลงด้วยการปฏิบัติได้จริงของระเบียบสำรวจบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ที่จะทำให้ป้าเจรียงได้มีโอกาสบันทึกตัวตนในระบบทะเบียนราษฎรไทย และ สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้ง่ายเพราะปรากฏเอกสารแสดงตน  แต่เอาเถอะ...ถึงยังไม่มีบัตรก็ต้องเข้าโรงพยาบาลให้ได้ก่อน...ฉันคิด ยังไงป้าเจรียงก็เป็นคนนะ จะทิ้งให้นอนเจ็บรอวันตายเฉยๆ ได้ไง เมื่อเป็นมนุษย์ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามหลักมนุษยธรรม ถ้าใครใจร้ายได้ขนาดนั้นฉันจะประจานให้ละอายไปจนถึงลูกถึงหลานเลยเชียว  

ความสำคัญอย่างยิ่งของปัญหา... บทเรียนของป้าเจรียง ป้าเจรียงทำให้ฉันกระวนกระวายใจถึงน้องศุภกรณ์ จนอดไม่ได้ที่จะหยิบจดหมายขึ้นมาและเริ่มที่จะทำอะไรบางอย่างดังที่ตั้งข้อสังเกตและคิดไว้ ไม่ใช่เพราะอะไรเลย เหตุผลง่ายๆ คือ ฉันกลัวว่าที่สุดแล้วถ้าน้องศุภกรณ์เดือดร้อนจะต้องใช้สิทธิใดๆ ที่มีเงื่อนไขจากการแสดงตนด้วยเลข ๑๓ หลัก เหมือนอย่างป้าเจรียงหรือ น้องออยล์บาปบริสุทธิ์ตัวน้อยแห่งแม่อาย หรือน้องแพรหลานของครอบครัวแซ่ลีที่ต้องมารับมรดกบาป แล้วจะเป็นยังไง หรือ ถ้าปล่อยนานไปน้องศุภกรณ์ จะอยู่กินกับปัญหาจนกลายเป็นอย่างป้าเจรียงหรือไม่  ฉันมีเหตุผลที่จะกลัวอย่างนั้น เพราะตลอดเวลาเพียงไม่นานที่ฉันได้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฉันพบคนทุกเพศทุกวัย ที่ไม่มีตัวตนทางกฎหมาย เพราะไม่ได้แจ้งเกิด เพราะไร้รากเหง้าของตนเอง  หรือ เพราะขาดพยานหลักฐานที่เพียงพอที่จะพิสูจน์ตนหรือพิสูจน์สัญชาติไทย  และหลายคนก็อยู่กับปัญหาเช่นนั้นจนปัญหาก็โตไปด้วยตามตัว

ซึ่งการที่คนๆ หนึ่งไม่มีตัวตนทางกฎหมาย เป็นเรื่องยากมากในการดำเนินชีวิตประจำวันและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ฉันคิดเหมือนทุกท่านที่รู้ต้นตอของปัญหาในเรื่องการไร้ตัวตนทางกฎหมายนี้ว่าจะทำอย่างไรเด็กทุกคนที่เกิดมาจะได้รับการบันทึกตัวตน ซึ่งเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับสัญชาติอย่างที่คนจำนวนมากเข้าใจผิดและหวาดกลัว

 

อันที่จริงแล้วถ้าจะอธิบายกันโดยทิ้งความเห็นแก่ตัวที่อาจเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลอยู่บ้าง ก็จะเข้าใจได้มากขึ้นว่าเรื่องของสัญชาติเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลที่เป็นไปตามหลักและคุณสมบัติที่กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ(มีศักดิ์รองลงมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ)ที่ว่าด้วยเรื่องสัญชาติเป็นตัวกำหนด ไม่ใช่เรื่องการแจกหรือการได้มาโดยง่ายของใครก็ได้

 กฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทยได้วางหลักและกำหนดคุณสมบัติไว้แล้ว และคนที่มีสัญชาติหรือเสียสัญชาติไทยทุกคนก็ได้สัญชาติหรือเสียสัญชาติไทยตามบทบัญญัติของกฎหมายนี้ ดังนั้นถ้าหากบุคคลหนึ่งมีสิทธิในสัญชาติไทย มีสิทธิในสถานะบุคคลอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชนใดๆ ตามที่กฎหมายกำหนดและรับรองให้ไว้ บุคคลนั้นก็ควรได้รับการเข้าถึงสิทธินั้น และการกีดกันไม่ให้บุคคลนั้นได้ใช้สิทธิของตนตามที่เค้าควรจะได้จึงเป็นเรื่องที่ออกจะเห็นแก่ตัวและถือเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นอีกด้วย  ความโหดร้ายยิ่งกว่า คือ การกีดกันสิทธิของบุคคลที่กำลังตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก ด้อยโอกาส ตลอดจนการหาประโยชน์จากความยากลำบากและด้อยโอกาสเช่นนั้น แต่เรื่องของการจดทะเบียนการเกิดอาจไม่ใช่เรื่องที่ว่าเห็นแก่ตัวหรือไม่ เพราะคงจะหนักไปทางความไม่ตระหนักถึงผลร้ายที่จะเกิดขึ้นและขาดความใส่ใจต่อเด็ก(ซึ่งไม่ใช่ลูกของตนเอง)ซึ่งก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้เกิดมา ความสำคัญของการจดทะเบียนการเกิด คือ การได้บันทึกตัวบุคคล ข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ รูปพรรณสันฐาน สถานที่เกิด พ่อแม่ผู้เป็นเจ้าของมรดกโดยเฉพาะอย่างยิ่งมรดกทางสายเลือด เช่น ความสัมพันธ์ทางครอบครัว ชาติพันธุ์ สัญชาติ 

และถ้าหากว่ามนุษย์คนนั้นโชคร้ายเกิดมาในยุคที่เลขประจำตัว ๑๓ หลัก มีความสำคัญต่อการมีตัวตนของมนุษย์ในทางกฎหมายมากกว่าความมีตัวตนทางชีวิตและจิตใจ ยุคที่ระบบของการให้เลข ๑๓ หลักเองก็ยังไม่ดีพอและผิดพลาด ยุคที่มนุษย์ด้วยกันเอง(ที่มีเลข ๑๓ หลักประจำตัวแล้ว) เหยียดหยามและแล้งน้ำใจต่อมนุษย์ที่ยังไม่มีเลข ๑๓ หลัก  ในท้ายที่สุดมนุษย์ผู้ไม่มีเลข ๑๓ หลักนั้นก็จะตกอยู่ในสภาพเดียวกับป้าเจรียงที่ถูกทอดทิ้งไม่มีใครเหลียวแล และต้องทนเจ็บปวดต่อโชคชะตาที่โชคร้ายที่เกิดมาในยุคนี้

 

ฉันสลดใจกับ ป้าเจรียงที่โดดเดี่ยว  และ นึกย้อนกลับไปหา ศุภกรณ์ ที่กำลังเติบโตมาในเส้นทางเดียวกัน

 สิ่งหนึ่งที่ฉันรู้ทันที คือ วันนี้ศุภกรณ์เดินเข้ามาหาฉันและขอให้ฉันเดินไปเป็นเพื่อนแล้ว ดังนั้นจึงมีสิ่งเดียวที่ฉันคิดได้ คือ ศุภกรณ์ จะต้องไม่เป็นมนุษย์ที่โชคร้ายอย่าง ป้าเจรียง อีกต่อไป เพราะว่าเรามีมนุษย์ที่ประสบเคราะห์กรรมอย่างป้าเจรียงมากมายเพียงพอแล้วในยุคนี้  

ป้าเจรียงมากระซิบข้างหูบอกว่า....ฝากดูแล ศุภกรณ์ ด้วย

ขณะที่ฉันเขียนถึงป้าเจรียงและศุภกรณ์ค้างไว้อยู่  ในวันถัดมาฉันก็เพิ่งได้รับข่าวร้ายว่า ป้าเจรียง เสียแล้ว ฉันเองรู้สึกเสียใจที่ยังเข้าไปไม่ถึงตัวป้าเจรียง ท่านก็ไปสบายเสียก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วฉันก็ไม่ได้หวังว่าจะเข้าไปห้ามไม่ให้ป้าเจรียงตาย เพียงแต่อยากให้ป้าเจรียงได้รับการปฏิบัติและดูแลเอาใจใส่อย่างสมเกียรติที่ป้าควรได้รับสมกับความเป็นมนุษย์ที่ป้าคงเคยพยายามเรียกร้อง

 ... ป้าเจรียงไปสบายแล้วฉันเชื่อว่าป้าคงจะมีความสุขมากกว่าการมีชีวิตอยู่ในยุคมนุษย์เลข ๑๓ หลัก แต่ไม่วาย...ถึงแม้ไม่มีใครห่วงป้าแต่ป้าก็คงยังห่วงมนุษย์คนอื่นๆ อยู่ กระซิบข้างหูบอกฉันว่าให้ดูแลกันให้ดีๆ นะ...อย่าให้ ศุภกรณ์ ต้องเป็นอย่างป้า...


[1] เช่น สูติบัตรของพี่ชายฉันถูกแจ้งเกิดโดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ชื่อในสูติบัตรชื่อเด็กชายบอย(แบบห้วนๆเลย)และใช้นามสกุลของบ้านเรา แม่บอกว่าไม่เคยคิดจะตั้งชื่อให้พี่อย่างนั้นและยืนยันอยู่กับอำเภอนานว่าสูติบัตรของพี่ฉันควรมีชื่อตามที่ใช้อยู่มาตั้งแต่เกิด เอ..แต่ชื่อพ่อแม่ก็ชื่อเดียวกัน ฉันเองเริ่มงงว่าแม่ลืมไปว่าตัวเองมีลูกแฝดรึเปล่า แม่ก็จำได้ว่าคลอดลูกครั้งนั้นออกมาคนเดียว เรามองหาตัวคนที่น่าจะทำให้อะไรดูผิดพลาดก็คิดว่าคงจะเป็นคนแจ้งเกิดที่เป็นใครก็ไม่รู้แต่ที่อยู่คือโรงพยาบาลที่แม่ไปคลอด เมื่อพ่อจะไปแจ้งเกิดให้พี่ด้วยชื่อที่คิดไว้ก็คงไม่ทันแล้ว ทางอำเภอได้ออกสูติบัตรไว้รอเลย  แม่โทษตัวเองตามประสาคนเป็นแม่ว่าพยาบาลอาจจะได้ถามถึงชื่อลูก แต่แม่ไม่ได้สนใจเพราะตอนนั้นยังนึกไม่ออก พยาบาลเลยช่วยตั้งให้เพราะแม่นิยมชื่อที่เรียกง่ายๆ  เราเชื่อว่าพ่อหรืออำเภอคงได้ช่วยเปลี่ยนชื่อให้พี่ชายฉันเพราะชื่อที่มีในทะเบียนบ้านแม่ก็ว่าเป็นชื่อจริงที่ใช้อยู่ทุกวันมาตลอด ฉันได้คิดเองตอนนี้ว่า บอยอาจเป็นชื่อที่เคยอยู่ในสูติบัตรและในทะเบียนบ้านกลาง เมื่อย้ายมาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านของเราเองก็ได้เปลี่ยนเป็นชื่อที่ใช้อยู่จริงซะแล้ว จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่านะ เพราะครอบครัวเราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพี่ฉันเคยมีชื่อว่าบอยจนวันที่เราไปขอคัดสำเนาสูติบัตรให้พี่ที่อำเภอเพราะเค้าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย และพี่ก็ไม่เคยใช้ใบเปลี่ยนชื่อเพราะชื่อที่ใช้ก็ตรงกับชื่อในทะเบียนบ้านมาตั้งแต่ต้น แต่ตอนนั้นก็เป็นเรื่องแปลกดีสำหรับเรา เรายังคงขำกลิ้งกันทั้งบ้าน และพ่อก็จำเหตุการณ์ตอนแจ้งเกิดไม่ได้แล้ว เวลาผ่านไปถึง ๑๘ ปี เราทั้งครอบครัวเพิ่งรับรู้ว่าพี่ฉันเคยมีชื่อว่าบอยในทะเบียนราษฎร ถ้าเราเอาแต่ชื่อปัจจุบันไปค้นโดยไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับวันเดือนปีเกิดหรือข้อมูลอื่นๆ ชาตินี้คงไม่มีทางเจอ และ ไม่คิดว่าเป็นคนๆ เดียวกันอย่างแน่นอน 

[2] อาจารย์พันธุ์ทิพย์ฯ ส่งอีเมล์ รายละเอียดมาจากข่าวรัฐเลือดเย็น ในคอลัมน์กวนตะกอน หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙  http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01way08090749&day=20

[3]

แม่ชีสุริยา เดินเข้ามาหาเราที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่าเคยมีบัตรประชาชนตอนสาวๆ แต่เนื่องจากถูกสามีนำไปทอดทิ้งไว้ที่วัดด้วยเสื้อผ้าในถุงหิ้วเพียงใบเดียว ทำให้ต้องอยู่วัดมาเป็นเวลา ๒๐ กว่าปีไม่รู้จะไปอยู่ไหนเพราะสามีมีภรรยาใหม่แล้ว และตัวแม่ชีไม่มีบัตรอะไรติดตัวเลย แม่ชีอยากมีบัตรประจำตัวประชาชนเพราะเวลาจะไปเข้าเฝ้าในหลวงเค้าจะขอตรวจบัตร หรือเวลาไปนอนค้าง เข้าโรงพยาบาล หรือขอรับความช่วยเหลือที่ไหนเค้าก็จะตรวจบัตรเช่นกัน  เราได้พยายามช่วยกันเช็คจากระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรออนไลน์ ในเบื้องต้นหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ แต่เมื่อเราช่วยแกระลึกความทรงจำมากๆ เข้า ก็ทำให้เรามีชื่อที่อาจจะใช่มากขึ้น ในที่สุดเราก็เจอชื่อของผู้หญิงคนหนึ่งในฐานข้อมูลที่น่าจะใช่แม่ชีสุริยา เพราะข้อมูลหลายอย่างตรงกันอีกด้วย  แต่เป็นชื่อและนามสกุลที่แม่ชีไม่ชอบและไม่ยอมใช้จนตัวแกเองเกือบจะลืมชื่อนี้ไปแล้ว เพราะเป็นชื่อและนามสกุลหลังแต่งงานซึ่งเป็นชื่อที่เปลี่ยนใหม่ไม่ใช่ชื่อเดิมที่แม่ตั้ง(แกลืมด้วยว่าเคยเปลี่ยนชื่อ) และนามสกุลก็เป็นของสามี โชคดีที่ว่าหน้าแกยังมีเค้าจากตอนสาวๆ ที่อยู่ในฐานข้อมูลมาก แต่ก็ต้องไปแสดงตนที่อำเภอที่มีชื่อและมีพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือไปรับรองว่าเป็นคนๆ เดียวกัน
หมายเลขบันทึก: 41814เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2006 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ข้อคิดเห็นโดย นายก๊อต เมื่อ ส. 15 ก.ค. 2549 @ 18:03 จาก 202.57.146.225 ลบ ทางด้านการแพทย์ คงต้องมาเรียนเพิ่มในวิชากฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นอีก อย่างน้อยก็ต้องมีใบรับรองการเกิดว่าคนๆนี้ เกิดที่โรงพยาบาลนี้ โดยที่ยังไม่ต้องเอาเข้า ทร.14 ก็ได้..
ข้อคิดเห็นโดย archanwell เมื่อ ส. 15 ก.ค. 2549 @ 20:01 จาก 58.9.94.238 ลบ เสนอชลให้ใส่ linkถึงแต่ละกรณีศึกษาที่เราทำเสร็จแล้วด้วย จะได้เป็นทานทางปัญญาแก่บุคคลอื่นๆ ที่จะตามมาศึกษาเรื่องคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ ท่านที่เคารพทั้งหลาย แนขอฟ้องว่า คุณชลฤทัยเป็นทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่ดี เก่งมาก พลิกคดีมานัดต่อนัก แต่ขี้เกียจเขียน "บันทึกการทำคดีค่ะ" เป็นเหตุใหคนอื่นต้องมาทำแทน แต่คราวนี้ เรื่องของ น้องแพร อ.อายุ แล้วก็ต่อมา เรื่องป้าเจรียง และน้องศุภกรณ์ ดูคุณชลฤทัยแกจะพยายามปรับเปลี่ยนทัศนคติค่ะ สาธุ แสดงว่า ความเป็นผู้ใหญ่มาถึงแล้ว กรุณาเติม link ไปยังบทความของน้องขัวญ ป้าเจรียงอื่นๆ นะคะ
ข้อคิดเห็นโดย Bongkot Napaumporn เมื่อ อ. 16 ก.ค. 2549 @ 02:08 จาก 203.209.102.28 ลบ สุดยอดดดดด...พี่เรา :) ขออีกหลายๆ บทความเลยค่า..
ข้อคิดเห็นโดย จุฑิมาศ สุกใส เมื่อ จ. 17 ก.ค. 2549 @ 00:42 จาก 203.153.169.237 ลบ แอบถามเเม่สมัยเราเกิดว่า เรื่องชื่อสูติบัตร บางโรงพยาบาลที่เขาทำให้ เขาจะมีชื่อสำเร็จรูป ประมาณสมชาย สมหญิง หรืออะไรโหลๆ ที่ระบุเพศเด็ก บอยก็น่าจะใช่้ได้ เนี่ยไว้เลย ถ้าพ่อเเม่ไม่เเจ้งชื่อจริงลูก หรือตั้งชื่อไม่ทันกับวันที่เจ้าหน้าที่จะไปเเจ้งเกิดให้ เขาก็จะใส่ชื่อนี้ไปเลย เเล้วก็นามสกุล พ่อ หรือเเม่ที่มีในเวชระเบียน กรณีที่พยาบาลจดชื่อไม่ถูก ไม่รอชื่อเด็ก จึงเกิดขึ้นได้เสมอ ระหว่างความวุ่นวายร้อยเเปด ของครอบครัวที่เพิ่งคลอด ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาถามคุณพ่อหรือคุณเเม่หมาดๆ ว่่าลูกชื่ออะไร เเล้วเมื่อก่อนไม่มีอุลตราซาวน์ จะตั้งชื่อไว้ก็ลำบาก เพราะต้องดูฤกษ์มาอีก ว่าเกิดวันนี้ๆ จะเอาชื่ออะไรดี ถ้าลูกผู้ชายจะเอาชื่ออะไร ไม่เหมือนสมัยนี้ ที่ตั้งชื่อไว้ก่อนได้ ถ้าซาวน์เเล้วได้เพศ พอได้ฤกษ์ ได้เวลาเเละวันที่ถูกใจก็บอกหมอให้ลงมีด เเล้วชื่อเด็กในสูติบัตร ออกมาเเล้วเขาไม่เปลี่ยนให้ ต้องมาขอเปลี่ยนตอนเอาชื่อเข้าทะเบียนบ้านเเล้ว โชคดีจริงๆ ที่ไม่ได้ชื่อสมหญิงหรือ เด็กหญิงจ๊อบเเล้วมาเปลี่่ยนเอา เป็นชื่อจริงๆ กระบวนการเเจ้งเกิดของโรงพยาบาลยังไม่ค่อยมีมิติทางวัฒนธรรม ทีเอื้อกับการตั้งชื่อ เเละความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามขนาดหนักของคนไทย หลายคนจึงเปลี่ยนชื่อกันมาก หลังจากเกิด เพราะชื่อเดิมที่อยู่ในสูติบัต อาจจะเป็นชื่อฉุกเฉิน ที่ได้โดยไม่ได้ "ถามพระ" ประกอบกับถ้าโรงพยาบาลทำให้ กระบวนการทั้งหมดต้องทำเร็วมาก เห็นใจทางโรงพยาบาลเหมือนกัน เเต่หวังว่าชลคงจะโชคดีในการค้นหาเอกสารนะ
ข้อคิดเห็นโดย archanwell เมื่อ จ. 17 ก.ค. 2549 @ 23:28 จาก 58.9.98.48 ลบ ชลจ๊ะ ป้าเจรียงยิ้มได้แล้วล่ะ คุณหมอชาญวิทย์ของเรารับว่าจะหารือมิให้เกิดปัญหาในลักษณะของป้าเจรียงอีกแล้ว อ่านดูเลยค่ะ http://www.archanwell.org/newwebboard/main.php?board=000423&topboard=1
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท