ข้อสังเกตสำหรับแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาในประเทศไทย


เป็นการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔ เพื่อวิเคราะห์แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา

ในการประชุมครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งประกอบด้วย

วิสัยทัศน์ : การศึกษาแห่งอนาคตเป็นจริงได้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ

พันธกิจ : (๑) ส่งเสริมสนับสนุนทรัพยากรบุคคล โดยเพิ่มสมรรถนะให้มีวัฒนธรรมการใช้ไอซีทีอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม วิจารณญาณ และ รู้เท่าทัน (๒) ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของไทย (๓) ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง (๔) ส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการด้านการศึกษาที่มีการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล

ยุทธศาสตร์ ๔ ด้าน : สร้างกำลังคนให้มีศักยภาพในการใช้งานอย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการศึกษา และ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและบริการด้านการศึกษา

โดยผู้เขียนตั้งข้อสังเกตที่ต้องคำนึงถึงในการจัดทำแผนแม่บทฉบับนี้อยู่ ๖ ข้อ

ข้อที่ ๑               หลักการพื้นฐานสำคัญของแผนแม่บทฉบับนี้ คือ การทำให้ทุกคนในสังคมไทยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในฐานะเป็นเครื่องมือในการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างเท่าเทียม

ข้อที่ ๒                   ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ไอซีทีหัวใจชุมชน หมายความว่า แผนแม่บทนี้ควรเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างเด็ก เยาวชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอซีทีที่สามารถใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสังคม และ ชุมชน คู่ขนานไปกับการสร้างความสามารถ รวมทั้ง ทักษะในการใช้งานทั่วไป และสามารถใช้ทักษะในการพัฒนาเชิงลึก อันที่จริงแล้ว ในสังคมไทยเรามีความคาดหวังต่อการพัฒนาเด็ก เยาวชนด้านไอซีทีในฐานะมนุษย์ที่มีความรู้ และทักษะในการใช้งานไอซีทีที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางไอซีทีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสังคม และ ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่มนุษย์ไอซีทีแบบเครื่องจักรกล

ข้อที่ ๓               จำเป็นที่จะต้องเน้นการสร้างวัฒนธรรมในการใช้งานไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ หรือ เรียกว่า วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ ในขณะที่แผนแม่บทนี้ฉบับนี้เน้นการสร้างทักษะความรู้ ความสามารถในการใช้งาน การสร้างหรือปลูกแนวคิด ความเชื่อในการใช้งานไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ ที่พิจารณาถึง (๑) การรู้เท่าทัน ทั้งการรู้เท่าทันเทคโนโลยี รู้เท่าทันสารสนเทศและรู้เท่าทันการสื่อสาร (๒) การใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ทั้ง การพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม และ (๓) การเคารพกติกา มารยาท หรือกฎเกณฑ์พื้นฐานที่เด็ก เยาวชนควรมีในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ข้อที่ ๔               การเสริมสร้างประสิทธิภาพของการใช้งานไอซีทีเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงบรรยากาศของการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายทางภายภาพและเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยครูเป็นผู้อำนวยให้เกิดบรรยากาศของการใช้งาน บรรยากาศของการเรียนรู้ ซึ่งประเด็นหนึ่งของวิธีการในการทำงานที่น่าสนใจก็คือ การสนับสนุนให้เด็ก เยาวชนสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน หมายถึง คงต้องเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเข้ามามีบทบาทในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้โดยครูเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน

ข้อที่ ๕              การบริหารจัดการแผนแม่บทที่ถูกสร้างขึ้นแบบเชื่อมโยง การสร้างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างเป็นเอกเทศ อาจจะมีปัญหาในทางบังคับใช้แผนในสังคมที่อาจไม่มีความสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น นอกจากเด็ก เยาวชนจะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในโรงเรียนแล้ว ยังมีการใช้บริการในร้านเกมคาเฟ่ หรือ ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน ซึ่งหากจะต้องส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน สามารถใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ ไม่อาจจะจัดการเพียงแค่สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนอย่างเดียวได้ คงต้องพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมอื่นประกอบด้วย ดังนั้น การจัดทำแผนแม่บทที่มีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไอซีทีในชีวิตประจำวัน ทั้ง ร้านเกมคาเฟ่ และ ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน

ข้อที่ ๕               การพัฒนาเนื้อหาสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้โดยการบริหารจัดการผ่านเครือข่าย ในที่ประชุมให้ความสำคัญกับการพัฒนาเนื้อหาออนไลน์ มีการยกตัวอย่างประสบการณ์ในการทำงานของ KERIS ความน่าสนใจของการสร้างและพัฒนาเนื้อหามีด้วยกัน ๓ ส่วน คือ ส่วนแรก การจัดตั้งศูนย์กลางของการทำงานด้านการพัฒนา หรือที่เรียกว่า ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศแห่งชาติ ตามนโยบาย 3N ที่มีภาระหลัก ๕ เรื่อง คือ (๑) พัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บฐานข้อมูล (๒) การเผยแพร่ฐานข้อมูลไปยังสาธารณะ (๓) การสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนเข้าถึงและเข้าใช้ (๔) การอบรมให้ความรู้เพื่อให้ครู เด็ก ชุมชนสามารถสร้างเนื้อหาด้วยตนเองได้ และ (๕) การจัดแบ่งหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาและใช้งาน ส่วนที่สอง เนื้อหาเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตอบสนองต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย และ ส่วนที่สาม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด ก็คือ การบริหารจัดการเพื่อสะสม สร้าง สนับสนุนการพัฒนาเนื้อหาจากเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว เพราะการดำเนินการเองเพื่อจัดทำเนื้อหาด้วยกระทรวงเองน่าจะช้ากว่าการบริหารการสร้าง และพัฒนาเนื้อหาผ่านเครือข่าย โดยอาจมีการบริหารจัดการแบบพัฒนาเนื้อหาด้วยกระทรวงเอง ผ่านครู อาจารย์ร่วมกับนักเรียนในแต่ละกลุ่มสาระ หรือสาขาวิชา หรือ ผ่านเครือข่ายองค์กรต่างๆที่มีการทำงานเรื่องนี้

ข้อที่ ๖               การสร้างประสิทธิภาพของการบังคับใช้แผนแม่บทที่มีประสิทธิภาพ ควรต้องพิจารณาถึงสาระสำคัญของการทำงานใน ๓ ส่วนคือ ส่วนแรกซึ่งสำคัญอย่างมาก คือ การสร้างความเชื่อร่วมกันของคนในสังคมโดยเฉพาะผู้บังคับใช้แผนแม่บทฉบับนี้ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ และ คนในสังคม โดยถือว่าแผนแม่บทนี้เป็นแผนแม่ของชาติ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่แผนของรัฐบาล หรือ แผนของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ซึ่งจะมีผลไปยัง ส่วนที่ ๒ คือ การสร้างเสถียรภาพของแผนแม่บทที่ไม่แปรเปลี่ยนไปตามนโยบายทางการเมือง และ ส่วนที่ ๓ การสร้างความเป็นเอกภาพของการทำงานระหว่างหน่วยงานและส่วนที่เกี่ยวข้อง

หมายเลขบันทึก: 418712เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2011 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อาจารย์ดร.อิทธิพลครับ น่าสนใจมากเลยนะครับ ขอชื่นชมในความริเริ่มมากๆครับ
ขอร่วมสะท้อนข้อสังเกตบางประการครับอาจารย์

  • ตัววิสัยทัศน์นั้น เบาไปและลดความสำคัญของเรื่องทางการศึกษาให้มาขึ้นต่อบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศเกินไปครับ รวมทั้งลดความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศลงไปอีกด้วยหรือเปล่านะครับ ทั้งนี้ การได้ภาพของการเป็นตัวแทนแห่งอนาคตของเทคโนโลยีสารสนเทศไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องพิจารณากันใหม่นั่นเอง ที่ทำให้เรามีอคติไปว่า เพียงนำไปเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีสารสนเทศเท่านั้น การศึกษาก็จะมีภาพของความเป็นอนาคตและความเป็นสิ่งใหม่  ซึ่งลดคุณค่าและลดบทบาทความสำคัญของการศึกษาที่จะมีต่อสังคมมากเลยทีเดียวครับ ผมคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณให้สังคมตระหนักถึงสิ่งที่จะต้องทำและลงทุนเพื่อการศึกษาเรียนรู้ของสังคมเบา-น้อยไป อาจจะทำให้คนคิดไปตามความเคยชินอย่างที่มักเป็นว่าเพียงแค่ Install ระบบและเทคโนโลยี IT เท่านั้น หน่วยงานและเครือข่ายนั้นๆ ก็ทำเรื่องการศึกษาที่ก้าวหน้า ทันอนาคต และทันสมัยมากกว่าคนอื่นเสียแล้ว ซึ่งทำให้เรามักสนใจกันแต่เพียงเปลือกและรูปแบบที่ผิวเผินกันอยู่เสมอน่ะครับ
  • การศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ต้องมีมิติหนึ่งที่ใส่ใจแนวโน้มในอนาคตของสังคมและเตรียมตนเองให้เดินไปได้อย่างมั่นใจโดยใช้สติปัญญา ความรู้ และศักยภาพประดามีของสังคมที่จะสร้างขึ้นได้ด้วยการศึกษามาเป็นเครื่องชี้นำ โดยยังไม่ต้องรอให้ปัญหาและความจำเป็นมาถึงก่อน ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ จะมาทำให้การศึกษาแห่งอนาคตเป็นจริงได้ ทำให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีบางประเภทนั้นอาจจะเป็นได้ แต่การศึกษาแห่งอนาคต ต้องสื่อนัยที่หนักแน่น เข้มข้น แข็งแรง และจริงจัง มากกว่าเพียงชูความเป็นตัวแทนภาพแห่งอนาคตของเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยที่เมื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการทั้งหลายแล้ว สังคมก็ไม่รักการเรียนรู้และไม่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้มุ่งไปในทางสร้างพลังความรู้อีกด้วย อย่างที่ักเป็นอยู่ทั่วไปในสังคมไทยและนานาประเทศน่ะครับ
  • ขณะเดียวกัน ก็ลดความสำคัญของเรื่อง IT ให้เป็นเพียงการจัดหาให้มีเท่านั้น ไม่เน้นด้านที่เป็นกระบวนการและวิธีแก้ปัญหาสำคัญของการศึกษาและการพัฒนาต่างๆของประเทศ เพราะการศึกษาแห่งอนาคตนั้น จะก่อเกิดขึ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบที่เชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรมแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้และสื่อสารการศึกษาอีกหลายองค์ประกอบ มากกว่าการจัดหาให้มีมิติเดียว แต่ตัววิสัยทัศน์สื่อนัยว่าเพียงจัดให้มีเทคโนโลยีสารสนเทศ การศึกษาแห่งอนาคตก็จะเป็นไปได้ อย่างนั้นหรือเปล่านะครับ
  • พันธกิจ ตัวพันธกิจนั้นก็ชัดเจนและเจาะจงดีครับ แต่ดูเป็นเรื่องเฉพาะกิจเกินไปมากเลยครับ เหมือนกับเป็นพันธกิจเพื่อสนองตอบนโยบายเฉพาะหน้าเท่านั้น จึงทำให้ฐานคิดซึ่งด้านที่เจาะจงก็ดูว่าชัดเจนดีนั้น เมื่อมองดูว่านี่เป็นอผนแม่บทระดับประเทศและเป็นกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งควรจะสะท้อนทรรศนะระดับมหภาคและครอบคลุม Sector ต่างๆที่สำคัญในระดับจุลภาค ก็เลยดูเป็นเรื่องที่แคบไปมากเลยครับ
  • การพัฒนาการศึกษาของประเทศในอนาคต ต้องครอบคลุมมากกว่าการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะหน้าและตั้งอยู่บนประเด็นความสนใจร่วมสมัยในสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยภาพรวมจึงเหมือนกับชุดพันธกิจเพื่อสนองตอบเป้าหมายระยะใกล้ ไม่สอดคล้องกับการมุ่งอนาคตดังวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาพื้นฐานสังคมสำหรับการพัฒนาในระยะยาวไปด้วย ผมคิดว่าจะต้องนำเอากรอบหน่วยทางสังคมการศึกษาที่ใหญ่และซับซ้อนกว่าความเป็นประเทศไทยในทางดินแดนเข้ามาคิดด้วยครับ โดยเฉพาะความเป็นหน่วยสังคมที่เชื่อมโยงและมีกิจกรรมการศึกษาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่มีความร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นของประเทศไทยกับเพื่อนบ้าน มิตรประเทศ และการรวมกลุ่มในกรอบต่างๆ ทั้งในระดับอนุภูมิภาคและในเวทีโลก การคิดถึงการศึกษาแบบเอาประเทศและกรมกองเป็นตัวตั้งมาเป็นฐานคิดนั้น จะทำให้ครอบคลุมไปไม่ถึงมิติที่จะต้องมีได้แล้วของแผนแม่บททางเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาในบริบทใหม่ๆของโลกน่ะครับ
  • การตั้งศูนย์กลางระดับชาติ เพื่อเป็นฐานข้อมูลและ Operate ระบบของทั้งประเทศ ก็เชื่อว่าไม่สอดคล้องกบแนวคิดการพัฒนาและระดมพลังสังคมเพื่อการศึกษาแบบเครือข่าย อีกทั้งบทเรีบนในระยะที่ผ่านมาของประเทศต่างๆ ก็เชื่อว่าจะทำไม่ได้ดีครับ จะเป็นทั้งการผูกขาดการตัดสินใจและล้าหลังมากกว่าหน่วยเล็กๆต่างๆภายในสังคม ผมเสนอว่า แทนที่จะเป็นกลไกแบบ Operation และ Controler อันเทอะทะแต่ไม่นานก็จะเต็มไปด้วยข้อจำกัดนั้น น่าจะเป็นองค์กรที่เป็น Faciltation, Technical Support, Collaboration และ Resources Mobilization จะดีกว่าครับ ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ทางด้านนี้ของสังคม แล้วเป็นฝ่ายหนุนและเป็นเวทีประสานเครือข่ายความร่วมมือ หรือสร้างความตกลงกันในระดับกว้างๆ จะเหมาะสมกว่านะครับ
  • ทางแก้ไขและปรับปรุงที่เหมาะสม จึงน่าจะลองริเริ่มวิธีทำแผนแม่บทแบบฉีกแนวออกไปจากในอดีต คือ ไม่ต้องพยายามกำหนดให้แข็งและตายตัวไปทีเดียวก็ได้ แต่ทำเป็นขั้นการเดินอย่างมียุทธศษสตร์สัก ๓ ระยะก็ได้กระมั่งครับว่า ระยะใกล้ ระยะกลาง และการปรับปรุงเพื่อแผนยุทธศาสตร์ต่อเนื่องระดับชาติ จะเป็นอย่างนี้ๆ ใช้ระยะเวลาเท่านี้ๆ

ด้วยความเคารพและเสนอแนะ เพียงเพื่อทักทายและบอกว่าน่าสนใจเท่านั้นหรอกนะครับ สบายๆนะครับ ไม่ยักรู้ว่ามีคนของเรา ผมหมายถึงคนมหิดลเกาะติดและได้ทำเรื่องนี้ให้กับงานทางการศึกษาระดับชาติ

ขอบคุณมากเลยครับ อาจารย์ วิรัตน์

ต้องเรียนก่อนว่า วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ นั้นเป็นการพัฒนาจัดทำโดยกระทรวงศึกษาธิการครับ เราในฐานะนักวิชาการเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น

จะส่งความเห็นของอาจารย์ไปที่กระทวงศึกษาธิการครับ ความเห็นของอาจารย์น่าสนใจมากครับ

ผมกำลังพัฒนาแผนแม่บทกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ให้กับ ศธ คงจะเชิญอาจารย์มาร่วมเสนอแนะครับ

เรียน อ.วิรัชต์ ผมเห็นด้วยอย่างมากกับกระบวนการจัดการเพื่อการพัฒนา การรวมศูนย์ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เป็นจุดอ่อนที่สุด ที่ว่าเป็นจุดอ่อนเพราะการรวมศูนย์แบบไม่กระจายกำลังให้กับเครือข่าย ร่วมแบ่งปันและบริหารจัดการร่วมกับเครือข่าย น่าจะต้องชวนกันมองเรื่องการบริหารจัดการความรู้ร่วมกับเครือข่ายกันจริงจังสักรอบ ถ้าเป็นไปได้ชักชวนประชาคมมหิดลร่วมมองกัน จะดีหรือไม่ครับ

หมายถึง การชัดชวนชาวประชาคมมิหดลมามองเรื่องการจัดการแผนแม่บทไอซีทีเพื่อการศึกษาผ่านเครือข่ายในสังคมไทย น่าสนุกนะครับ

เป็นเรื่องที่ดีและควรทำครับอาจารย์ ขอเอาใจช่วยครับ
แต่อาจจะต้องทำไปหลายๆทางหรือเปล่านะครับ ตามประสบการณ์ผมนี่ จำเพาะเรื่องนี้ผมเห็นความจำเป็นว่าควรจะได้มีการเตรียมความรับรู้และการทำให้กลุ่มคนที่จะต้องมาคิดเรื่องนี้ด้วยกันนั้นมีประสบการณ์ต่อสังคมที่กว้างขึ้นและได้รับรู้ความเป็นจริงใหม่ๆก่อน ซึ่งอาจจะทำได้หลายๆทางก่อนหรือเลือกเอาวิธีที่พอทำได้สบายๆน่ะครับ เมื่อไม่สามารถทำได้แล้วจึงค่อยทำไปตามอย่างทั่วๆไปซึ่งก็เสมอตัวอยู่แล้ว แต่ทำสิ่งเหล่านี้ก่อนได้ก็ย่อมจะดีกว่าแน่ๆครับ เช่น

  • เรียนรู้และตกผลึกประสบการณ์ตนเองของคนทำงาน นั่งคุยและถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของตนเอง และย่อยบทเรียนให้ละเอียด ให้ได้ความคิดที่ดี ประเด็นที่ดี และกรอบวิธีคิดที่กว้างขวางครอบคลุมวิทยาการหลายสาขาโดยให้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาเป็น Focal Point มากกว่าจะเป็นหน้าที่เฉพาะทางแต่จำเพาะของคนในสาขาวิชาชีพนี้ ซึ่งจะทำให้ไม่สะท้อนโลกความเป็นจริงของการศึกษาเรียนรู้
  • ทำ Mini Research Program ทำวิจัยหรือกระจายเครือข่ายระดมกันเรียนรู้และพัฒนาความรู้ก่อนถือติดมือมาจัด Academic Forum
  • หาข้อมูลและเข้าถึงความเป็นจริงใหม่ เตรียมคนให้มีข้อมูลโดยสื่อปฏิสัมพันธ์เพื่อเรียนรู้และรับ Input ของการศึกษาเรียนรู้ในความหมายที่กว้างทุก Sector ของประเทศ จากของจริงทางการปฏิบัติก่อน ก่อนที่จะมาคุยปรึกษาหารือและระดมความคิดกันหลายๆรอบ ไม่อย่างนั้นจะไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์สังคมและติดกรอบแบบคิดเอาจากประสบการณ์ตนเอง อาจจะทำให้มองไม่ทั่วและไปไม่ถึงความจำเป็นใหม่ๆ  วิธีที่พอทำได้และไม่เบียดเบียนเวลา ก็น่าจะลองใช้อบล๊อกของสำนักพัฒนาคุณภาพ หรือเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายบล๊อกเกอร์ใน GotoKnow นี้ก็เหมาะสมดีนะครับ
  • เคลื่อนไหวสังคมและชุมชนการเรียนรู้ จัดนั่งสนทนาและถ่ายทอด IPTV ของมหาวิทยาลัย โดยมีประเด็นนี้หลายๆหัวข้อย่อย ช่วยกันคุยและสนทนาหลายๆแง่มุมและเผยแพร่กระเพอื่มในมหาวิทยาลัยไปก่อนสักพักหนึ่ง
  • เรียนรู้ตนเองและเดินเข้าไปเตรียมคนเท่าที่ทำได้ ถอดบทเรียนและเสริมพลังกลุ่ม CoP และหน่วยงานย่อยระดับคณะสถาบัน ทำเป็นเวทีย่อยๆเป็นรายกรณี ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย ไปสักระยะหนึ่ง
  • หากมีการทำวิจัย ก็ควรเลือกในฐานะเป็นวิธี Approach ที่กระบวนการวิจัยเป็นเหตุให้ผู้คนได้ปฏิสัมพันธ์และคุยกัน อย่าไปวิจัยที่ได้แต่ข้อมูลมาก่อนแล้วก็พยายามดึงให้คนมาฟังและรับไปคิด-ทำกันเลยครับ งานอย่างนี้มันมีสิ่งที่เหนือกว่าที่จะสะท้อนความเป็นจริงได้ด้วยความรู้เป็นตัวหนังสือง่ายๆ

ในขั้นการเดินและจังหวะก้าวนั้น เรื่องนี้ต้องให้น้ำหนักการบูรณาการไปด้วยกันกับการปฏิบัติ มากกว่าการได้ความคิดที่ดีและเข้มข้นแต่ขาดการขับเคลื่อนภาคปฏิบัติ ดังนั้น ค่อยคิดค่อยทำไปก็ได้ครับ ค่อยๆเริ่มจากกลุ่มที่พอเกาะเกี่ยวกันติดและคุยกันได้ แล้วค่อยๆ ออกแบบกระบวนการที่พอเหมาะก็ได้ครับ

มีบางส่วนอยากฝากเป็นของแถมเอาไว้เมื่ออาจารย์มีโอกาสทำ และเมื่อผมมีโอกาสก็จะกระเพื่อมไปเรื่อยๆเสมอนะครับ คือ ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาเรียนรู้นั้น นอกจากมองระดับพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว มหาวิทยาลัยมหิดลน่าจะเป็นเวทีระดมพลังสังคมเพื่อประเด็นระดับชาติ ในเรื่องที่มหิดลควรเป็นเจ้าภาพได้นะครับ คือ.................

  • เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาเรียนรู้และปฏิรูปการเรียนรู้ของสังคมในแนว Brain-Based Learning : ให้สถาบันแห่งชาติเพื่อเด็กฯของอาจารย์และเครือข่ายวิจัยบางส่วนที่เชื่อมโยงกับสถาบันวิจัยโภชนาการเป็นแกน ภารกิจคือจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพคนของประเทศในอนาคตผ่านการพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม
  • เทคโนโลยีสารสนเทศการศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายเวชนิทัศน์และการสื่อสารเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศไทย : ให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศศิริราชและอาจารย์ดร.ชัยเลิศกับคณะสาธารณสุขเป็นแกน ภารกิจคือ พัฒนาขีดความสามารถสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขในกระบวนทัศน์ทางสุขภาพที่เปลี่ยนไป
  • เทคโนโลยีสารสนเทศการศึกษาเรียนรู้เพื่อปฏิรูปสังคมสุขภาพ : ให้สถานเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์และเวทีขุนพลคนทำสื่อที่มหาวิทยาลัยมีอยู่เป็นแกน ภารกิจเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวสังคมคือ ทำให้กระบวนทัศน์การพัฒนามีเรื่องสุขภาพ สุขภาวะ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดดเด่นแทนกระแสหลักเดิมๆ
  • Digital and Virtual Mahidol University : ภารกิจคือ พัฒนาระบบการเรียนรู้และการสื่อสารเรียนรู้ การวิจัย ของมหิดลทั่วประเทศ ทั้งเพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ทรงประสิทธิภาพและการเข้าถึงการเรียนรู้ทุกอย่างของมหิดล ผ่าน Digtal Mahidol Virtual Mahidol จากทั่วประเทศและจากทั่วโลก อันนี้ให้หอสมุดและคลังความรู้กับทุกคณะเป็นแกนทำ รวมทั้งวิทยาลัยสารสนเทศ ซึ่งในรายละเอียดก็มีสาขาความเป็นเลิศที่สะท้อนสิ่งที่มีอยู่ภายในมหาวิทยาลัมหิดล เช่น ทางด้าดนตรี ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ทางด้าน Specific Population Minority Group ก็สถาบันวิจัยภาษา สถาบันวิจัยประชากร ทางด้าน Thai Studies ก็คณะศิลปศาสตร์ เหล่านี้นะครับ
  • Alternative Education Studies และเทคโนโลยีการศึกษาชุมชน : ภารกิจคือ ทำให้ชุมชนทั่วประเทศ และพื้นที่ Area-Based Resrach ที่มหาวิทยาลัยทำ เป็นหน่วยการเรียนรู้ Digital-Based แบบผสมผสาน และปฏิบัติการแก้ปัญหาในบริบทของท้องถิ่น อันนี้ผมอาสาเป็นแกนทำให้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเครือข่าย Alternative Education Studies โครงการหลักสูตรการศึกษาทางเลือกซึ่งผมจะทำให้มหาวิทยาลัยอยู่ก็ได้นะครับ และส่วนหนึ่ง ผมกำลังเรียนรู้ดูว่าจะทำงานข้ามมหาวิทยาลัย ร่วมมือเป็นเครือข่ายกันต่อจากสิ่งที่มีอยู่แล้วได้อย่างไร เช่น กับ มอ.และมหาวิทยาลัยขอนแก่น บนฐานประสบการณ์ของเครือข่ายจัดการความรู้บน GotoKnow นี้ รวมทั้งกำลังมองเห็น Online Gallery และ Online Community Art and Living Musuem of Community Learning for Equity Development of Globalization and Localization อย่างกรณีของเวทีคนหนองบัว ซึ่งก็อาจจะได้รูปแบบการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาในอนาคตไปอีกมิติหนึ่ง
  • ทาง New Media และ Creative Economy ก็วิทยาลัยนานาชาติและวิทยาลัยสารสนเทศ
  • ทาง Special Education ก็วิทยาลัยราชสุดา

ส่วนเรื่องอื่นๆนั้น ก็ไปมีส่วนร่วมทำให้เป็นส่วนกลางของกระทรวงและแหล่งอื่นๆซึ่งเขาก็ย่อมมีความเชี่ยวชาญและมีคนที่พอจะดูแลกันไปได้ แต่เรื่องเหล่านี้ ควรจะเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยมหิดลควรจะดูแลเพราะอยู่ใน Line ของเราและมีคน จึงควรเป็นเจ้าภาพในประเด็นระดับชาติและเป็นเวทีระดมเครือข่ายความร่วมมือจากทั่งประเทศและจากนานาชาติน่ะครับ

คิดฉับพลันอย่างไม่เป็นระบบเพียงเป็นตัวอย่างและเป็นไอเดียเฉยๆนะครับ หากทำกรอบอย่างนี้ก็แทบจะเห็นลางๆเลยว่าควรจะมีเวทีอะไรและใครที่จะเป็น Contributor เข้ามาสู่เวทีกันบ้าง ฟังดูใหญ่นะครับ คิดใหญ่ๆให้ถ้วนทั่วและทำเล็กๆตามกำลังความพร้อมจะดีน่ะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท