ดีใจที่ได้มา...เยี่ยม ตอนที่ 2


ความดีงามและมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างหมอกับคนไข้ รวมทั้งสายสัมพันธ์ที่เริ่มก่อตัวระหว่างทีมสุขภาพตติยภูมิกับทีมสุขภาพปฐมภูมิที่เราได้เห็นในวันนี้ได้สร้างความหวังและความสุขในใจเรา

รถโรงพยาบาลวิ่งลัดเลาะ ไปตามถนนเลียบริมคลองชลประทาน สองข้างทางเป็นทุ่งนาเขียวขจี มีบ้านปลูกอยู่ห่างๆ กัน  ประมาณ 20 นาที เราก็มาถึงปากทางเข้าหมู่บ้าน บ้านคนเริ่มถี่ขึ้น แล้วรถก็พาเรามาถึงบ้านหลังหนึ่งเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงหลังใหญ่ปลูกอยู่กลางสวน บรรยากาศร่มรื่น ดูน่าอยู่มาก

เมื่อรถแล่นเข้ามาถึงลานกว้างหน้าบ้าน มองเห็นรถเก่งคันหนึ่งจอดอยู่ มีเจ้าของบ้าน 3 คน และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สุขภาพชุมชนวังหว้า     ก็พากันออกมายืนยิ้มต้อนรับคณะของเรา ที่หน้าบ้าน มองเลยเข้าไปใต้ชายคาบ้าน มีการจัดเตรียมเก้าอี้และเครื่องดื่ม ไว้สำหรับต้อนรับเป็นอย่างดี จนหมอจ๋าออกปากชม

คณะของเราลงจากรถก็เข้าไปทักทายกัน บ้านนี้เป็นบ้านป้าประทีป ซึ่งเริ่มล้างไตทางช่องท้องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 โดยลูกทำให้ นอกจากไตวายป้าประทีปยังเป็นโรคเกาท์และโรคหัวใจด้วย หลังล้างไตสุขภาพแข็งแรงขึ้นมาก เดินเหิน ช่วยเหลือตัวเองได้เป็นอย่างดี

เมื่อทักทายกันเสร็จทุกคนก็แยกย้ายกันทำหน้าที่ ทีมอาสาสมัครเพื่อนโรคไต (น้าหมู พี่จิ๋มและป้าแล่ม)  บ้างก็พากันเข้าครัว ซึ่งอยู่ติดกับบริเวณที่นั่งคุยกัน สำรวจสำรับกับข้าว มีน้ำปลาไหม เค็มไปไหม มีผงชูรสไหม เหล่าบรรดาตาสัปรดก็มองไปเห็นลังน้ำปลา แอบซ่อนอยู่ใต้เตียงไม่ที่วางสำรับกับข้าว ก็มาแอบกระซิบให้หมอไปดู  แต่ดูแล้วผู้ป่วยไม่บวม ก็ได้แนะนำให้พยายามควบคุมความเค็มให้ดีดี

พี่สมศักดิ์ ก็ออกตรวจดูสิ่งแวดล้อมรอบๆ บ้าน ดูความสะอาดโดยทั่วไป การทิ้งและกำจัดขยะ เรามองไปก็เห็นถุงขยะสีแดงผูกเชือกปิดปากถุงไว้อย่างมิดชิด วางอยู่บนแค่ใต้ถุนบ้าน สอบถามได้ความว่าเป็นถุงสำหรับใส่ถุงใส่น้ำยาล้างไตที่ใช้แล้วและขยะติดเชื้ออื่นๆ เมื่อใส้จนเต็มถุงแล้วก็จะนำไปทิ้งที่โรงพยาบาลศรีประจันต์

ส่วนน้องหนิง เภสัชกรกับน้องโอ๋ พยาบาลคนสวยก็ช่วยกันดูการเก็บและการใช้ยาของผู้ป่วย  ช่วยตรวจสอบยาและสอบถามการรับประทานนยา การฉีดยาเพิ่มเลือด ซึ่งต้องไปฉีดที่ ศูนย์สุขภาพชุมชนที่อยู่ห่างจากบ้านไปประมาณ 8 กิโลเมตร รถเก่งที่จอดอยู่หน้าบ้านเป็นพาหนะที่พาเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 คนมาที่นี่

คุณอั๋น (ดวงสมร บุรงค์) เป็นพยาบาลประจำศูนย์สุขภาพชุมชนวังหว้า    วันนี้เธอมาร่วมเป็นทีมเยี่ยมบ้านกับเราพร้อมกับคุณตุ๊กตา (พัชรมน)  สอบถามได้ความว่าได้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการล้างไตทางช่องท้อง ที่ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ร่วมกับ สสจ.สุพรรณบุรีจัดขึ้นเพื่อพัฒนาสักยภาพเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องด้วย จึงพอมีความเข้าใจว่าจะต้องมาดูแลผู้ป่วยที่บ้านอย่างไรบ้าง แต่อโนชาและหมอจ๋าก็ได้พูดคุยถึงปัญหาที่พบ และฝากให้ช่วยดูแลในเรื่องความสะอาด อาหาร การวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนักและการฉีดยาเพิ่มเลือด

เราตามหมอจ๋าเข้าไปสำรวจดูห้องล้างไต ซึ่งสร้างไว้ที่บริเวณใต้ถุนบ้าน กั้นเป็นห้องไว้อย่างมิดชิด กว้างประมาณ 3 X 3 เมตร มีหน้าต่างกระจกบานเลื่อนสามารถเปิดให้อากาศถ่ายเทได้ มองเข้าไปเห็นเตียงไม้ขนาดเล็ก มีฟูกคลุมด้วยผ้าสีชมพู มี Mask วางไว้ 2 อัน ตรงมุมห้องด้านขวาเป็นอ่างล้างมืออลูมิเนียม พร้อมก๊อกน้ำแบบคันโยก และน้ำยาล้างมือ ที่ผนังมีรูปภาพขั้นตอนการล้างมือติดอยู่

ตรงมุมห้องอีกด้านมีกล่องลิ้นชักพลาสติกสำหรับเก็บของวางอยู่ หมอจ๋าเดินไปสำรวจและเปิดลิ้นชักดูของที่เก็บอยู่ภายในเมื่อเห็นว่าเป็นกล่องสำหรับเก็บอุปกรณ์ล้างไต ก็พูดเปรยๆ ขึ้นมาว่า “อย่างนี้ถูกต้องแล้ว บ้านเมื่อกี้เปิดดูนึกว่าจะเจออุปกรณ์ล้างไต กลับเจอกับข้าวแทน” ในใจหมอยังหวลกลับไปนึกถึงบ้านป้าปรานอม คงจะกังวลใจอยู่ไม่หาย

ทุกอย่างดูดี มีสิ่งที่น่าปรับปรุง เพียงอย่างเดียว คือ โต๊ะสำหรับวางแท่นข้อต่อล้างไต ที่เป็นโต๊ะไม้อัด ไม่มีกระจกรอง ซึ่งเวลา Paint alcohol เพื่อฆ่าเชื้อโรค อาจจะไม่สะอาดพอเนื่องจากเนื่อไม้อาจเปื่อยยุ่ยออกมาได้ ซึ่งหมอได้แนะนำให้หากระจกใสๆ มาวางรองอีกทีเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด

ที่บ้านนี้เราพบนวตกรรมที่ผู้ป่วยปรับใช้ คือ การนำราวขอเกี่ยวสำหรับแขวนผ้ามาติดไว้ตรงเพดาน ใช้แทนเสาแขวนน้ำเกลือ ราคไม่แพง ใช้การได้ดี สามารถแขวนได้ทั้งน้ำยาล้างไต กิโลชั่งน้ำหนัก และยังใช้แขวนเก็บ Mask ได้ด้วย นับว่าสารพัดประโยชน์ทีเดียว

ออกจากห้องล้างไตมาผู้ป่วยชวนพวกเราขึ้นไปดูบนเรือน ซึ่งเป็นเรือนไม้สองหลังปลูกติดกัน จึงดูกว้างขวางมาก บนเรือนมีห้องพระ ที่ทีพระพุทธรูปจำนวนมากประดิษฐานอยู่ คนบ้านนี้คงธรรมะธรรมโมน่าดู  สังเกตได้จากการให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น เป็นกันเอง ที่ทุกคนในบ้านแสดงออกต่อแขกผู้มาเยือนอย่างพวกเรา แสดงให้เห็นถึงความเป็นกัลยณมิตรในจิตใจของเจ้าบ้านได้ดี

ขณะที่พวกเราขึ้นเรือน ซึ่งบันไดกว้างมาก มองลอดช่องหน้าต่างไปมองเห็นหมอจ๋ากำลังเดินเข้าไปในสวนคนเดียว พี่จิ๋มและน้าหมูหันไปเห็นเข้าก็รีบเดินตามไปทันที  เรานึกในใจว่าสงสัยหมดภารกิจแล้วเลยพากันเดินชมสวน หน้าหนาวแบบนี้อากาศกำลังเย็นสบาย สวนบ้านนี้ก็ดูร่มรื่นน่าเดินเล่นจริงๆ แต่พอหมอกลับมาเราถาม หมอกลับบอกว่าหมอเดินไปดูการทิ้งขยะ...อีกเรื่องหนึ่งที่น่ากังวลสำหรับการล้างไตทางช่องท้องก็คือการกำจัดขยะติดเชื้อ เพราะหากกำจัดไม่ถูกวิธี ก็จะทำให้เกิดมลภาวะแก่สภาพแวดล้อมได้ ทั้งการแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน หากนำถุงน้ำยาไปเผาก็จะเกิดมลพิษทางอากาศได้

หมอได้ สรุปผลการเยี่ยมบ้านให้ผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากศูนย์สุขภาพชุมชนฟัง และฝากให้เจ้าหน้าที่ ช่วยดูแลต่อเนื่องให้ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ท่านก็รับปากและได้ให้เบอร์โทรศัพท์และ Email address เพื่อติดต่อกัน เราได้ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก ก่อนลากลับพวกเราพากันให้กำลังใจให้ผู้ป่วยและครอบครัวอีกครั้ง ทุกคนออกมาส่งเราขึ้นรถด้วยความอบอุ่นเช่นเคย

หมอจ๋าบอกว่าผู้ป่วยรายนี้ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร ส่วนใหญ่ทำได้ตามคำแนะนำ และดูว่ามีความสนใจในการดูแลตัวเองได้ดี แต่อย่างไรก็ตามเรื่องแบบนี้ประมาทไม่ได้ ทีมเราและทีมสุขภาพชุมชนยังต้องร่วมกันติดตามดูแลผู้ป่วยรายนี้อย่างใกล้ชิดกันต่อไป

ความดีงามและมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างหมอกับคนไข้ รวมทั้งสายสัมพันธ์ที่เริ่มก่อตัวระหว่างทีมสุขภาพตติยภูมิกับทีมสุขภาพปฐมภูมิที่เราได้เห็นในวันนี้ได้สร้างความหวังและความสุขในใจเรา  เราเดินทางออกจากบ้านป้าประทีปด้วยความโล่งใจ รถโรงพยาบาลขับผ่านบรรยากาศท้องทุ่งที่มีต้นไม้เขียวขจีอีกครั้ง ดูสดชื่น สวยงามจนเราอดที่จะยกกล้องขึ้นมาบันทึกภาพเก็บไว้ในความทรงจำไม่ได้ ช่างเป็นภาพที่สวยงามเสียจริง...

คำสำคัญ (Tags): #capd#humanized health care
หมายเลขบันทึก: 419473เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2011 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จะรบกวนขอภาพและข้อมูลของคนไข้ ไปเป็นตัวอย่างในการสัมมนาได้มั้ยค่ะ พอดีกำลังเรียนเฉพาะทางบำบัดทดแทนไตของ

มูลนิธิดรคไตอยู่ค่ะ จะทำสัมมนาเรื่อง self management / care giver ในผู้ป่วย CAPD จะเสนอในเรื่องของบทบาทของพยาบาลในรเป็น Educator ค่ะ อยากทราบว่าผู้ป่วยรายนี้ทำมากี่ปีค่ะ และอยู่ที่จ.อะไร ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท