การวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์


การกำหนดยุทธศาสตร์

                            การวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์

                       (Strategic  Planning and  Formulating) 

       การพัฒนาองค์การ (OD)  เป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงองค์การ  โดยใช้ความรู้ทางด้านพฤติกรรมศาสตร์  ในกาเพิ่มความสามารถในการเปลี่ยนแปลง  ปรับปรุงการทำงานและผลการปฏิบัติงานของระบบทรัพยากรบุคคล   

       คุณลักษณะที่สำคัญของการพัฒนาองค์การ  (OD)  มีดังนี้

       1.  การพัฒนาองค์การเพื่อการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change  Management)  จะครอบคลุมถึงการปรับยุทธศาสตร์  โครงสร้างองค์การ  และกระบวนการภายในทุกระบบตั้งแต่ระดับองค์การ  หน่วยงาน  กลุ่มงาน  และระดับตัวบุคคลให้ตอบสนองยุทธศาสตร์องค์การ

       2.  การพัฒนาองค์การมีฐานสำคัญมาจากศาสตร์ด้านพฤติกรรมศาสตร์  ซึ่งมี  2  ระดับ  คือ

            1)  ระดับบุคคล  คือ  เกี่ยวข้องกับเรื่องของภาวะผู้นำ  การปรับเปลี่ยนของกลุ่ม  และการออกแบบงาน

            2)  ระดับองค์การ  คือ  เรื่องเกี่ยวกับยุทธศาสตร์  การออกแบบองค์การ  สัมพันธภาพขององค์การกับภายนอก 

       3.  การพัฒนาองค์การเป็นการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่มีการวางแผน (Planned  Change)  ซึ่งแผนที่วางไว้นั้นยังมีความยืดหยุ่น  อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามข้อมูลที่ได้รับจากการวินิจฉัยองค์การและในกระบวนการแก้ปัญหาองค์การ

       4.  การพัฒนาองค์การเป็นแนวคิดที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์  และจะต้องมีการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ 

       5.  การพัฒนาองค์การเป็นการทำเพื่อมุ่งประสิทธิผลขององค์การ  โดยอยู่ภายในกรอบของ

            1)  การแก้ปัญหาองค์การภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิม  โดยผู้รับผิดชอบในการพัฒนาองค์การต้องให้ความรู้  และพัฒนาทักษะบุคลากรภายในเพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงขององค์การ

            2)  ประสิทธิผลขององค์การจำเป็นต้องได้ทั้งสองส่วน  คือ  ผลการปฏิบัติงานขององค์การดีขึ้น  (ด้านการเงิน  คุณภาพการศึกษา  และการให้บริการทางการศึกษา  มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง)  และต้องได้คุณภาพชีวิตของบุคลากรภายใน  และภายนอกองค์การคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์การ

        ในหน่วยงานภาครัฐจะพัฒนาองค์การ เกี่ยวกับการบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance  Management  System)  โดยอาศัยแนวคิด  Balanced  Scorecard  ซึ่งมีเครื่องมือในการบริหารหลักๆ  ภายใต้แนวคิดนี้อยู่  2  เครื่องมือ  คือ 

            1)  แผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy   Map)

            2)  ตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน  (KPIs:  Key  Performance  Indicators)

         การบริหารเชิงยุทธศาสตร์และกระบวนการในการวางแผนยุทธศาสตร์

         ยุทธศาสตร์  คือ  สิ่งที่องค์การทำเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ   ส่วนสำหรับการบริหารยุทธศาสตร์ นั้น  เราสามารถทำความเข้าใจง่ายๆ  จากการตอบคำถาม  4  คำถาม  ดังนี้

            1)  ในอนาคต  เราต้องการไปสู่  จุดไหน   (Where  do  we  want  to  be?)

            2)  ปัจจุบัน  เราอยู่  ณ  จุดไหน  (Where  are we  now?)

            3)  เราจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร  (How  do  we  get  there?)

            4)  เราจะต้องทำหรือปรับเปลี่ยน  อะไรบ้าง  เพื่อไปถึงจุดนั้น  (What  do  we  have  to  do  or  change  in  order  to get  there?) 

         ทั้ง  4  คำถาม  สามารถเชื่อมโยงกับองค์ประกอบของการบริหารยุทธศาสตร์  คือ

            1)  เราต้องการไปสู่จุดไหน  เชื่อมโยงกับการกำหนดวิสัยทัศน์  และทิศทางขององค์การ

            2)  ปัจจุบันเราอยู่  ณ จุดไหน   เชื่อมโยงกับการวินิจฉัยองค์การ  เช่น  วิเคราะห์ SWOT

            3)  เราจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร  เชื่อมโยงกับ  การกำหนดยุทธศาสตร์  และการเขียนแผนที่ยุทธศาสตร์

            4)  เราจะต้องทำหรือปรับเปลี่ยน อะไรบ้าง  เพื่อไปถึงจุดนั้น เชื่อมโยงกับการแปลงยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ  เช่น  การกำหนดแผนงานโครงการ  และการติดตามประเมินผลระดับองค์การ

        องค์ประกอบของการบริหารยุทธศาสตร์    ประกอบไปด้วยกระบวนการที่สำคัญ  4  ขั้นตอน  ได้แก่

       1.  การวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์  (Strategic  Analysis) 

การวิเคราะห์ถึงปัจจุบันและสภาวะต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับองค์การ  ทั้งภายนอกและภายในองค์การด้วยเครื่องมือต่างๆ  ที่เหมาะสมเพื่อที่จะได้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ  รวมทั้งสถานะของตัวองค์การได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น  การวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์จะบอกให้ทราบว่าปัจจัยหรือสภาวะแวดล้อมภายนอกมีลักษณะอย่างไร  มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะใด  และก่อให้เกิดโอกาสและข้อจำกัดต่อองค์การได้อย่างไรบ้าง  นอกจากนี้การวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์จะช่วยให้องค์การทราบถึงทรัพยากร(Resources)  และความสามารถ (Capabilities)  ต่างๆ  ที่มีอยู่ภายในองค์การว่าเป็นจุดแข็ง  หรือจุดอ่อนอย่างไร  ซึ่งการวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์  เปรียบเสมือนการตอบคำถามที่สำคัญคือปัจจุบันองค์การของเราอยู่  ณ  จุดไหน (Where  are  we  now?)

      2.  การกำหนดทิศทางขององค์การ ( Strategic  Direction  Setting) 

       เป็นการกำหนดทิศทางที่องค์การต้องการมุ่งไปสู่  เปรียบเสมือนเป็นผลลัพธ์ระดับสูงที่องค์การต้องการที่จะบรรลุได้แก่  การกำหนดทิศทาง  วิสัยทัศน์  ค่านิยม  เป้าประสงค์ระยะสั้นและระยะยาวขององค์การ  การกำหนดทิศทางขององค์การจะเป็นการบ่งชี้ว่าองค์การจะมุ่งไปในทิศทางใด  ในการกำหนดทิศทางขององค์การนั้นเปรียบเสมือนการตอบคำถามที่สำคัญที่สุดและมักจะเป็นคำถามที่ถูกถามมากที่สุดก็คือ  องค์ของเราต้องการต้องการไปสู่จุดไหน (Where  do  we  want  go?)  ซึ่งการตอบคำถามนี้จะช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงสามารถพิจารณาได้ว่าทิศทางหรือสิ่งที่องค์การจะเป็นในอนาคตข้างหน้าคืออะไร   การกำหนดทิศทางขององค์การที่ดีและชัดเจนย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์การต่อไป

      3.  การกำหนดยุทธศาสตร์ (Strategic  Formulation) 

       เป็นการนำข้อมูลและความรู้ต่างๆ  ที่ได้รับจากการกำหนดทิศทางขององค์การและการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและภายในองค์การมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ในระดับและรูปแบบต่างๆ  รวมทั้งการประเมินและคัดเลือกว่ายุทธศาสตร์ใดที่มีความเหมาะสมกับองค์การมากที่สุด  ซึ่งการจัดทำยุทธศาสตร์เปรียบเสมือนการตอบคำถามว่าเราจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร  หรือเราจะไปสู่การบรรลุทิศทางขององค์การได้อย่างไร  (How   do  we  get  there?)  ซึ่งในการจัดทำยุทธศาสตร์นั้นพึงระลึกเสมอว่าการจัดทำยุทธศาสตร์นั้นเป็นการกำหนดแนวทาง  วิธีการ  และกิจกรรมต่างๆ  ขององค์การเพื่อช่วยให้องค์การสามารถบรรลุถึงวิสัยทัศน์  และพันธกิจที่ได้กำหนดไว้  โดยนำเอาปัจจัยทั้งภายนอกและภายในองค์การมาพิจารณาประกอบ

       4.  การนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ  (Strategic  Implementation)

       เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่มีความสำคัญมากในการบริหารยุทธศาสตร์  เมื่อองค์การได้กำหนดทิศทางขององค์การ  วิเคราะห์ปัจจัยด้านต่างๆ  และจำทำยุทธศาสตร์แล้ว  จะต้องนำยุทธศาสตร์ที่ได้วางแผน  จัดทำและคัดเลือกไว้มาดำเนินการประยุกต์ปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้  ซึ่งการนำยุทธศาสคร์  ไปสู่การปฏิบัติเปรียบเสมือนการตอบคำถามว่าเราจะต้องทำหรือเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง  เพื่อนำยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ไปสู่การปฏิบัติ  ( What  do  we  have  to  do  or  change?)

        การจัดทำยุทธสาสตร์ตามแนวทางการบริหารผลการปฏิบัติงาน

       แนวทางการกำหนดแผนยุทธศาสตร์  มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ  การพิจารณาถึงทิศทางของหน่วยงาน  ได้แก่  วิสัยทัศน์ที่องค์การต้องการบรรลุ  ประเด็นยุทธศาสตร์  และเป้าประสงค์ภายใต้แต่ละประเด็นยุทธศาสตร์

       ในการจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์  จะมีความเกี่ยวเนื่องกับการจัดทำวิสัยทัศน์  ประเด็นยุทธศาสตร์  และเป้าประสงค์  เนื่องจากแผนที่ยุทธศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับบุคลากรในองค์การ  เพื่อให้เกิดความเข้าใจในทิศทาง  ความเชื่อมโยงและเป็นเหตุเป็นผลของยุทธศาสตร์ที่จะใช้ในการดำเนินงานขององค์การ    ดังนั้นการจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์  จะมีความเชื่อมโยงกับ  การจัดทำ  วิสัยทัศน์  ประเด็นยุทธศาสตร์  และเป้าประสงค์ของหน่วยงาน

        1.  การยืนยันวิสัยทัศน์

        การยืนยันวิสัยทัศน์  (Vision)  เป็นการยืนยันทิศทางการพัฒนาที่หน่วยงานต้องการจะเป็นในอนาคตภายในห้วงระยะเวลาที่กำหนด  โดยระบุเป็นข้อความที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นเกี่ยวกับทิศทางและจุดยืนที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น  เป็นจุดหมายปลายทางร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายในหน่วยงาน

        2.  การกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์

       การกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน  จะต้องอาศัยเทคนิคการวิเคราะห์จากวิสัยทัศน์  โดยทำการวิเคราะห์วิสัยทัศน์ของหน่วยงานออกเป็นประเด็นต่างๆ  ที่หน่วยงานต้องการบรรลุในแต่ละประเด็น  ซึ่งบางประเด็นอาจมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลกัน  การกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ไม่ควรมีจำนวนมากเกินไป 

        3.  การกำหนดเป้าประสงค์ที่ต้องการบรรลุภายใต้แต่ละประเด็นยุทธศาสตร์

        ในการกำหนดเป้าประสงค์  ควรเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามในแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์  ซึ่งคำถามในแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์  ตามมิติทั้ง  4   ด้านของกรอบการประเมินผลการพัฒนาการปฏิบัติราชการ  ภายหลังจากการตอบคำถามองค์การจะสามารถนำคำตอบที่ได้มากำหนดเป็นเป้าประสงค์ในแต่ละมิติในที่สุด

        4. การกำหนดตัวชี้วัดระดับองค์การในแต่ละเป้าประสงค์

        ตัวชี้วัด  (Key  Performance  Indicators : KPIs)  หมายถึง  เครื่องมือหรือดัชนีที่ใช้ในการวัดความก้าวหน้าของการบรรลุแต่ละเป้าประสงค์  และทุกเป้าประสงค์จะต้องมีตัวชี้วัดเพื่อให้เห็นถึงความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

       ในขั้นตอนการวัดผลการปฏิบัติงาน (Performance  Measurement)  เป็นการวัดผลงานตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้  ส่วนการประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance  Evaluation)  เป็นการประเมินผลงานที่องค์การได้   โดยเทียบเคียงกับเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานด้วยตนเอง (Self-Audit)   ปัจจุบันภาครัฐมีการกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ  มีการทำการประเมินผลงานภายใน (SAR  - Self-Assessment  Report)  โดยการประเมินผลองค์การควรใช้ข้อมูลเพื่อการอ้างอิงประกอบการประเมิน 

       หลังจากการวัดและการประเมินผลการปฏิบัติงาน  คือ  ขั้นตอนของการป้อนข้อมูลย้อนกลับ (Feedback)  ไปยังขั้นตอนการวางแผนและการปรับปรุงการปฏิบัติงานเพื่อการวางแผนในปีต่อไป  ผู้บริหารสามารถกำหนดยุทธศาสตร์และตัวชี้วัดทีดีกว่าเดิม  หรือสามารถตอบสนองเป้าหมายที่ต้องการได้มากยิ่งขึ้น 

                                ....................................

                                          อ้างอิง

 คณะครุศาสตร์   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สพฐ.,  กพร. .  2543. การวางแผนและ

         การกำหนดยุทธศาสตร์. จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย.

 

 

หมายเลขบันทึก: 419940เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2011 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท