คลังจ่อหั่นรายจ่ายค่ายา 2 หมื่นล. ระบุ 8 กลุ่มยาที่จ่ายแพงเกินจำเป็น สามารถใช้ยาสมุนไพรและยาที่ผลิตในประเทศทดแทนได้


คลังตั้งเป้าตัดรายจ่ายค่ายารักษาโรค 2 หมื่นล้านบาท หลังพบแพทย์สั่งจ่ายยาแพงเกินความจำเป็น โดยจัด 8 กลุ่มยานอกที่สามารถใช้ยาสมุนไพรและผลิตในประเทศทดแทนได้ และให้มีการรายงานการสั่งจ่ายยาของแพทย์ทุกรายการ "สุภา" ระบุ เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่งบประมาณสมดุล และหลีกเลี่ยงการนำระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลเข้าสู่ระบบประกัน

นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเร่งตัดรายจ่ายส่วนเกิน เพื่อให้งบประมาณสมดุลเป็นไปตามเป้าหมาย โดยรายจ่ายส่วนเกินในด้านค่ารักษาพยาบาลนั้น เป็นรายจ่ายส่วนเกินเป้าหมายที่จะเข้าไปบริหารจัดการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หลังจากที่ระดับค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีอัตราขยายตัวต่อเนื่องราว 20-25% ต่อปี โดยค่าใช้จ่ายในส่วนยารักษาโรคมีอัตราการขยายตัวคิดเป็นเงินราว 2 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2554 ได้ตั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา มีการเบิกจ่ายเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลไปแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท โดยคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ที่มีตนเป็นประธาน ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดรายจ่ายส่วนนี้ลงให้ได้จำนวน 2 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายเดิม 4 พันล้านบาท

       รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้เจาะจงเข้าไปบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสำหรับค่ายาเป็นพิเศษ และพบว่ามีการสั่งจ่ายยาที่เกินความจำเป็นในการรักษาโรคหลายรายการ ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่มีราคาแพง และเป็นยาจากต่างประเทศ ซึ่งหลายรายการพบว่ามีการจูงใจให้เกิดการสั่งจ่ายยาของแพทย์โดยบริษัทยา ขณะที่มียารักษาโรคที่ผลิตในไทยมีฤทธิ์ในการรักษาที่ไม่แตกต่างกัน

       เธอกล่าวต่อว่า ดังนั้น คณะกรรมการจึงได้พิจารณาจัดแบ่งกลุ่มยาที่มีการสั่งจ่ายเกินความจำเป็น 8 กลุ่ม เพื่อเตรียมควบคุมการเบิกจ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  ขณะเดียวกัน ยังเตรียมให้มีการรายงานตรงมายังกรมบัญชีกลางสำหรับการเบิกจ่ายยาของแพทย์ทั้งหมด และจะกำหนดให้ผู้มีสิทธิในการเบิกจ่ายใช้ระบบเบิกจ่ายตรงทั้งหมด โดยห้ามนำใบเสร็จมาเบิกจ่ายกับต้นสังกัด ซึ่งถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของเงิน ทั้งนี้ 8 กลุ่มยา ประกอบด้วย 1. กลุ่มยาลดไขมันในเส้นเลือด  2. กลุ่มยาโรคกระดูกพรุน  3. กลุ่มยาลดการเป็นแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหาร 4. กลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์  5. กลุ่มยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง  6.กลุ่มยาลดความดันโลหิต 7. กลุ่มยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และ 8. กลุ่มยารักษามะเร็ง

       "ในคณะกรรมการชุดนี้ จะมีแพทย์เป็นกรรมการร่วมด้วย ซึ่งก็ได้รับรายงานว่า มีตัวยาที่เป็นยาแผนไทย และผลิตในไทย ที่มีคุณสมบัติรักษาโรคได้ไม่แตกต่างจากยาที่ผลิตจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงกว่ามาก เราจึงเห็นว่าควรจะเข้าไปดูแลให้การเบิกจ่ายยามีความเหมาะสม โดยใช้ยาในประเทศเป็นการทดแทน" นางสาวสุภากล่าว 

       ทั้งนี้ การส่งเสริมให้ใช้ยาที่ผลิตในประเทศ นอกจากจะช่วยลดรายจ่ายดังกล่าวและรักษาโรคได้เหมือนกันแล้ว
ยังจะเป็นช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศด้วย

       เธอยังเชื่อว่า จะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ และจะทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการประกันที่ขณะนี้กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการศึกษา เพราะคณะกรรมการชุดนี้เชื่อว่า ระบบการประกัน ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด โดยระบบประกันที่มีระบุวงเงินการประกัน จะทำให้ผู้มีสิทธิถูกจำกัดในเรื่องของสิทธิ ถ้าไม่จำกัดสิทธิก็จะมีการเรียกเบี้ยประกันเพิ่ม "สมมติว่า เราจ่ายเงินประกันปีนี้ 6 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อมีผู้ใช้สิทธิมาก ทางบริษัทก็จะเคลมรายจ่ายกับเราในปีต่อไปเพิ่มขึ้น ถ้าเราไม่เพิ่ม เราก็จะถูกจำกัดสิทธิ ก็ไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด" รองปลัดกล่าว

กรุงเทพธุรกิจ  บ้านเมือง  ไทยรัฐ

17 มกราคา 2554

หมายเลขบันทึก: 420850เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2011 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท