๘๑. การเลี้ยงลูกด้วยวัฒนธรรมหนังสือและการอ่าน : มุมมองด้าน Civic Learning และ Alternative Education Studies


ประสบการณ์เครือข่ายประชาสังคมท้องถิ่นในการปฏิบัติการเชิงสังคม
เพื่อเคลื่อนไหวการจัดการวิถีชีวิตและสังคมเมือง

ผู้เขียนได้ร่วมเป็นทีมติดตามเรียนรู้โครงการ Chiang Mai-Iam : เชียงใหม่เอี่ยม ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส ซึ่งดำเนินการที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา เพื่อศึกษา วิเคราะห์และสังเคราะห์ประสบการณ์ นำเสนอบทเรียนและข้อชี้แนะเชิงวิชาการว่าการทำงานเคลื่อนไหวสังคมดังกล่าวของคนเชียงใหม่โดยการส่งเสริมและสนับสนุนของ สสส จะมีแง่มุมใดที่จะสามารถนำมาเป็นทุนประสบการณ์และเห็นบทเรียนที่ดีเพื่อทำงานเชิงเคลื่อนไหวสังคมในมิติใหม่ๆ ต่อไปในอนาคตได้บ้าง อย่างไร และทำไม

กิจกรรมและโครงการเชียงใหม่เอี่ยมเป็นแนวคิดเพื่อสื่อสารสร้างพลังการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคมให้มุ่งไปสู่โอกาสและทางเลือกเพื่อการพัฒนาในแนวทางใหม่ๆ เช่น สู่การผลิตและบริโภคอาหารจากการทำเกษตรอินทรีย์ การแก้ปัญหาขยะและการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย บูรณาการประเด็นความสนใจต่อการสร้างความเป็นส่วนรวมและมุ่งปฏิบัติเชิงสังคม เคลื่อนไหวพลังจัดการวิถีชีวิตในสังคมเมืองที่สร้างสรรค์โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในบริบทใหม่ๆของสังคมไทย ท้องถิ่น และสังคมโลก รวมทั้งก่อเกิดระบบและโครงสร้างการทำงานเชิงสังคมมิติใหม่ๆ ที่สะท้อนเครือข่ายประสานความร่วมมือกันของโครงสร้าง ๓ เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ภาครัฐ  องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคีทางวิชาการ กับบทบาทขององค์กรสนับสนุนดังเช่น สสส โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้และจัดวางตนเองขึ้นได้อย่างเหมาะสม

กลวิธีที่สำคัญก็คือการค้นหาตัวอย่างการปฏิบัติและมีความสำเร็จที่ดี มาขยายผลด้วยการสื่อสารเรียนรู้ในสังคม ซึ่งการค้นหาและเข้าถึงความริเริ่มใหม่ๆเพื่อทำการสื่อสารเชิงการตลาดเพื่อสังคมหรือ Social Marketting ให้สังคมได้เกิดการเรียนรู้ กลุ่มผู้คนที่มีความปราถนาดีต่อสังคมเกิดการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายและบูรณาการประเด็นการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างส่วนรวมให้มีความผสมผสานกันหลายมิติ ตื่นตัวต่อการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ความเปลี่ยนแปลง ซึ่งการสร้างความเคลื่อนไหวเพื่อมุ่งสู่วิถีทางใหม่ๆของสังคมในลักษณะดังกล่าวนี้นั่นเอง จึงทำให้โครงการนี้คิดชื่อขึ้นมาใช้ว่า โครงการเชียงใหม่เอี่ยม

ในทีมมีมือดีจากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิจัย-นักวิชาการอิสระที่มีประสบการณ์การทำงานแนวนี้อีกหลายคน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัลย์ พลายน้อย ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.สมศรี ศิริขวัญชัย นักวิจัยอิสระ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เพื่อนใจ รัตตากร  ภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อาจารย์ภาสกร อินทุมาร คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เขียนนั้นมีภารกิจในการไปดูกิจกรรมและพูดคุยกับคนเชียงใหม่ เพื่อนำมาสะท้อนบทเรียนและเขียนความรู้เชิงปฏิบัติการสังคมในอนาคตด้านการสื่อสารเพื่อเคลื่อนไหวสังคม

การเคลื่อนไหวทางสังคมของภาคประชาสังคม
ด้วยประเด็นบูรณาการที่ต้องอาศัยความรู้ การสื่อสาร และกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ

ขณะเดียวกัน ก็ได้ไปนั่งสนทนากับเครือข่ายผู้นำสาขาต่างๆของเชียงใหม่และภาคเหนือ โดยเฉพาะในภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน สำนักงานในภูมิภาคของสำนักงานคณะกรรมการวิจัย หรือ สกว ภาคเหนือ เครือข่ายการศึกษาทางเลือก รวมทั้งได้มีโอกาสไปร่วมเวทีขับเคลื่อนสังคมล้านนาเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์จังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งเป็นแนวคิดและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อการพัฒนาสังคมที่น่าสนใจมาก ทั้งสำหรับการพัฒนาประเทศสู่อนาคตและการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูประบบสังคมสู่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เห็นความเอาจริงเอาจังของเครือข่ายภาคประชาสังคมและผู้นำการเปลี่ยนแปลงในหลายสาขาที่ได้เชื่อมโยงกันและร่วมเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่บูรณาการและมีความเชื่อมโยงประเด็นต่างๆเข้าด้วยกันได้มากยิ่งๆขึ้น

ได้คุยกับคุณสวิง ตันอุด ผู้นำจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและอดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ประมวลภาพรวมให้เห็นสภาพการณ์และแนวโน้มที่แข็งขันของภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนเครือข่ายกลุ่มจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งในภาคเหนือนั้น ได้คืบหน้าถึงขั้นการจัดเวทียกร่างและนำเสนอร่าง พรบ. จังหวัดจัดการตนเอง พร้อมกับใช้เป็นประเด็นการจัดเวทีเคลื่อนไหวความคิดและพัฒนาเครือข่ายอย่างบูรณาการ อย่างต่อแเนื่อง ซึ่งก็เป็นที่สนใจและก่อให้เกิดความตื่นตัวที่ดีมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ

                         

นอกจากนี้ ก็ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ความเป็นจริงและเห็นความจำเป็นของสังคมในบริบทใหม่ๆของโลกไปในคราเดียวกันว่า การเคลื่อนตัวของสังคมและความกระตือรือร้นของผู้คนจำนวนหนึ่งในสังคม ต่อการปฏิรูปสังคมและนำไปสู่แนวทางการจัดการตนเองในกรอบใหม่ๆของท้องถิ่นดังที่เห็นจากกรณีคนเชียงใหม่นี้ เป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ของสังคมที่จะสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีแห่งปัญญาและมีพลังพอต่อการนำพาสังคมไปข้างหน้าที่ดี ซึ่งต้องใช้เวลาที่ต่อเนื่องยาวนานและต้องสามารถสร้างความตื่นตัวให้สังคมพลเมืองเกิดการเรียนรู้เพื่อมีส่วนร่วมกันอย่างกว้างขวาง หาไม่แล้วก็ยากที่จะก่อเกิดสิ่งใหม่ๆ

อีกทั้งกลุ่มที่ลุกขึ้นมาสร้างความเคลื่อนไหวและขับเคลื่อนสังคมให้มีกำลังเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆของตนเองให้สอดคล้องกับความจำเป็นทั้งของท้องถิ่นและของโลก ที่กว่าจะก่อเกิดขึ้นได้ก็สั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนานในอีกเงื่อนไขหนึ่งของสังคมไทยในอดีตและพอจะเริ่มเชื่อมโยงกันได้ของคนในรุ่นนี้ หากไม่มียุทธศาสตร์ด้านอื่นส่งเสริมและขาดการสร้างคนในรุ่นต่อๆไป ก็อาจจะหมดพลังจนถูกกลืนหายไปกับกระแสสังคมไปในที่สุด สังคมส่วนรวมก็จะขาดความเข้มแข็งและสูญเสียความริเริ่มในการจัดการตนเองได้อย่างทัดเทียมกับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาดังที่ต้องการได้

การพัฒนาการเรียนรู้ด้วยวัฒนธรรมปัญญา
และบทบาทการศึกษาเรียนรู้ที่บูรณาการกับวิถีชีวิตในสังคมเมือง

นอกจากได้มีโอกาสไปร่วมสังเกตการณ์เวทีเคลื่อนไหวสังคมเพื่อปฏิรูปสังคมและผลักดันเครือข่ายกลุ่มจังหวัดจัดการตนเองแล้ว ระหว่างการลงพื้นที่และอยู่ที่เชียงใหม่ ก็ได้ทราบจากภรรยาว่ามีโครงการกิจกรรม 'เลี้ยงลูกด้วยวัฒนธรรมหนังสือและการอ่าน ปีที่ ๒' ของมูลนิธิปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งจะจัดขึ้นในเย็นของวันศุกร์ที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๔ ที่ลานศิลปวัฒนธรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตรงข้ามกับกาดต้นพยอม

                          

กิจกรรมดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับโครงการเชียงใหม่เอี่ยมของ สสส และเวทีเครือข่ายประชาสังคมเพื่อเคลื่อนไหวกลุ่มจังหวัดจัดการตนเอง ทว่า ผมเห็นสิ่งที่ต่างก็เป็นกิจกรรมที่เป็นคนละงานกันนี้ แม้จะแยกส่วนและเป็นอิสระต่อกันทั้งตัวกิจกรรมและเครือข่ายหน่วยงานที่ดำเนินการ แต่ก็มีความเชื่อมโยงกันทั้งในเชิงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และสาระสำคัญของการมุ่งสร้างพลังการจัดการตนเองของสังคมเมืองด้วยความสร้างสรรค์ ต่างเป็นพลังเคลื่อนไหวสังคมด้วยวิถีทางใหม่ๆ ที่ส่งเสริมและเกื้อหนุนกันซึ่งจะทำให้เห็นในภาพรวมได้เป็นอย่างดีว่าสังคมท้องถิ่นของเชียงใหม่มีทุนทางสังคมและเครือข่ายพลเมืองเพื่อเป็นเคลื่อนไหวความเปลี่ยนแปลงของสังคมอยู่อย่างไร ดังนั้น ผู้เขียนและภรรยาจึงอยากเข้าไปสัมผัสกับกิจกรรมโครงการ เลี้ยงลูกด้วยวัฒนธรรมหนังสือและการอ่าน ด้วยตนเอง ซึ่งด้านหนึ่งก็จะเข้าไปอยู่ในบรรยากาศความสร้างสรรค์ซึ่งให้ความสุขและสร้างแรงบันดาลใจได้อยู่ในตัวเองของกิจกรรม

                         

ขณะเดียวกัน ก็อยากเข้าไปเห็นสภาพการณ์ในชีวิตสังคมเมืองจริงๆของคนเชียงใหม่ ในแง่ที่เป็นการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของพลเมือง เพื่อใช้ชีวิตสร้างสรรค์ความสงบสุขในสังคมเมือง ความเคลื่อนไหวที่สื่อสะท้อนการสร้างคนรุ่นอนาคตจากการเลี้ยงลูกหลานของเราซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของประชาสังคมศึกษาและการศึกษาทางเลือกศึกษา Alternative Education Studies เพื่อได้เห็นบทบาทและพัฒนาการของการศึกษาเรียนรู้ที่สามารถสนองตอบต่อแนวโน้มใหม่ๆในอนาคตของสังคมและสอดคล้องกลมกลืนกับวิถีชีวิตของสังคมเมือง ซึ่งเป็นแนวโน้มใหญ่และจะส่งผลยาวไกลในการเคลื่อนตัวของสังคมไทย

                         

การเคลื่อนไหวสังคมในโครงการเชียงใหม่เอี่ยมซึ่งเน้นกลยุทธการสื่อสารเชิงการตลาดเพื่อสังคม กับการเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาสังคมเพื่อปฏิรูปสังคมและผลักดันเครือข่ายจังหวัดจัดการตนเองนั้น เป็นสิ่งที่ดีและงดงาม อีกทั้งมีกลุ่มผู้นำหลายสาขาในสังคมจำนวนหนึ่งได้ร่วมแรงแข็งขันกันมากพอสมควร แต่กระนั้นก็ยังนับว่าเป็นกลุ่มคนเล็กน้อย และเมื่อเทียบกับสังคมอันซับซ้อนที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความจำเป็นใหม่ๆที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้เพื่อจัดการตนเองอย่างรอบด้านของสังคมไทยทั้งในระดับประเทศและในท้องถิ่นแล้ว ก็นับว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่เพียงพอ หากขาดการเคลื่อนไหวในเชิงยุทธศาสตร์ทางด้านอื่นของสังคมไปด้วย รวมทั้งขาดการสร้างคน ขาดการพัฒนาพลเมืองในคุณลักษณะใหม่ๆ และขาดวิธีสร้างกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนในวิถีทางใหม่ๆจากคนรุ่นอนาคตโดยเฉพาะเด็กๆแล้ว ก็ยากที่จะบรรลุจุดหมายดังที่พึงประสงค์ร่วมกันได้ การเห็นสภาพการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ของพลเมืองที่บูรณาการอยู่กับวิถีสังคมเมือง จึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่บ่งบอกสภาพการจัดการตนเองของสังคมได้เป็นอย่างดี

แง่มุมดังกล่าวนี้จึงเป็นส่วนที่ภาคีทางการศึกษา ตลอดจนกลไกพัฒนาการเรียนรู้ของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะสื่อต่างๆ จะนำมาเป็นประเด็นการพิจารณาเพื่อบูรณาการบทบาทต่างๆและเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน ก็จะทำให้สังคมมีพลังจัดการตนเองด้วยวิถีแห่งปัญญาดังที่มุ่งหวังได้มากยิ่งๆขึ้น

ดังนั้น การเลี้ยงลูกด้วยวัฒนธรรมหนังสือและการอ่าน แม้จะเป็นคนละงาน แต่ก็เป็นเรื่องเดียวกัน จึงน่าจะทำให้เห็นสัญญาณดีๆต่อการลงทุนทางปัญญาและการสร้างผู้นำในอนาคตด้วยวิถีวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์ทางปัญญา เป็นการทำเมืองให้เป็นพลังชีวิตเพื่อสร้างสรรค์พลเมืองเด็กและเตรียมสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

                                          

พ่อแม่พาลูกหลานและเด็กๆไปร่วมกิจกรรม การเลี้ยงลูกด้วยวัฒนธรรมหนังสือและการอ่าน ปีที่ ๒ กิจกรรมในเวทีและลานกิจกรรมกลางแจ้งมีความหลากหลาย มีหนังสือ นิทาน เวทีเล่านิทาน สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก มีมุมศิลปะ ดินน้ำมัน และของเล่นที่ส่งเสริมการพัฒนาเด็กในแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งเน้นการได้แสดงออกทางการปฏิบัติและการเกิดปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งได้พัฒนาการเรียนรู้เป็นสังคมชุมชน

                                          

เด็กๆได้อยู่ในบรรยากาศที่แวดล้อมด้วยหนังสือ การเล่านิทาน การทำกิจกรรมศิลปะ การปั้นดินน้ำมัน การนั่งเล่นและวิ่งเล่นท่ามกลางการเฝ้าดูแลของพ่อแม่และกลุ่มผู้ใหญ่

                         

กิจกรรมจัดขึ้นบนลานกลางแจ้งใต้ร่มจามจุรีของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การออกแบบกิจกรรมและดำเนินการ เป็นการรับดำเนินการโดยกลุ่ม Organizer ของเชียงใหม่ซึ่งผู้เขียนคุ้นชื่อและคุ้นเคยผลงานในเชิงสร้างสรรค์แนวนี้อยู่หลายคน

                          

การเล่านิทานโดยกลุ่มละครมะขามป้อม เด็กนั่งฟังหัวเราะและเป็นส่วนหนึ่งของนิทานอย่างกลมกลืน สนุกสนาน ดูแล้วก็พลอยมีความสุขและสนุกสนานไปกับวัยใสๆของเด็กๆไปด้วย

บทเรียนและการเรียนรู้บางประการ
ต่อการพัฒนาการศึกษาทางเลือกสำหรับอนาคต
ที่สอดคล้องกับพัฒนาการและความเคลื่อนไหวของสังคม

การได้มีโอกาสไปพบปะเสวนากับคนทำงานเชิงเคลื่อนไหวสังคม เครือข่ายประชาสังคม ในโครงการเชียงใหม่เอี่ยม รวมทั้งได้ไปร่วมสังเกตการณ์และเยี่ยมชมกิจกรรม เวทีเครือข่ายเคลื่อนไหวจังหวัดจัดการตนเอง และเวทีกิจกรรมนิทาน เลี้ยงลูกด้วยวัฒนธรรมหนังสือและการอ่านของมูลนิธิบริษัทปูนซีเมนต์ไทยในครั้งนี้ ผู้เขียนได้การเรียนรู้และเห็นข้อที่น่าสนใจที่อยากนำมาบันทึกหมายเหตุไว้หลายประการด้วยกัน โดยสรุปคือ

  • สังคมเริ่มมีบทเรียนจากประเด็นร่วมที่มีความบูรณาการชัดเจนมากกว่าในอดีต : ประเด็นอนาคตและวาระความจำเป็นของสังคม ที่ปรากฏเป็นประเด็นสาธารณะในแนวโน้มใหม่ๆของสังคมไทยและสังคมโลกในอนาคต มีความเป็นวาระเพื่อการปฏิรูปสังคมอยู่ในตนเอง ทั้งต่อกระบวนทรรศน์และเป้าหมายการพัฒนาตนเองของสังคมและต่อระบบการจัดการตนเองของสังคม รวมไปจนถึงแนวทางการทำการตลาดเชิงสังคมทั้งของภาคธุรกิจ ภาครัฐในท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ทำให้ความหลากหลายที่พบในพื้นที่มีความบูรณาการ ครอบคลุมปฏิบัติการเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์อยู่ตนเองหลายด้านในอันที่จะเชื่อมโยงกันเป็นประเด็นสุขภาวะเชิงพื้นที่ซึ่งพ้นกรอบความแยกส่วนเป็นประเด็นขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง เช่น การผลิตและการบริโภคเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นการนำเสนอเชิงการตลาดเพื่อขยายผลความริเริ่มใม่ๆ ขณะเดียวกันก็เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อขึ้นรูปการจัดการตนเองในแนวทางใหม่ๆไปด้วย นับแต่หน่วยปฏิบัติระดับปัจเจก ครอบครัว ชุมชน ภาคการตลาด สื่อ และโครงการ CSR จากภาคธุรกิจเอกชน 
  • ขีดจำกัดของการศึกษาแบบดั้งเดิมและวิธีบริหารจัดการเมือง การศึกษาและการจัดการระบบสังคมในรูปแบบเดิมไม่เพียงพอที่จะสนองตอบต่อความเป็นจริงใหม่ๆที่กำลังเกิดขึ้น
  • เป้าหมายการบูรณาการการศึกษาทางเลือกกับการปฏิรูปสังคม การศึกษาทางเลือกเป็นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อบรรลุจุดหมายการปฏิรูปสังคม สิ่งแวดล้อม อย่างบูรณาการ ในวิธีคิดที่ไปไกลมากกว่าในอดีต ซึ่งการศึกษาในระบบที่เป็นทางการและการศึกษาอย่างในอดีตนั้นจะมุ่งเน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาการมีงานทำและการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม รวมทั้งผลิตกำลังคนเพื่อเป็นข้าราชการ
  • ดำเนินการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือหลายภาคส่วน รูปแบบการจัดการศึกษาทางเลือกที่มีพลัง จะดำเนินการด้วยเครือข่ายความร่วมมือแบบพหุภาคี โดยเฉพาะองค์กรภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลต่อการพัฒนาหลายด้านของสังคม สามารถมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของสังคมในแนวคิดของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมด้วยกรลงทุนผ่านการพัฒนาเมือง การพัฒาสังคม และการสร้างทุนมนุษย์
  • ก่อตัวและพัฒนาระบบจัดการตนเองของระบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และองค์กรธุริจเพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมทางปัญญาที่เข้มแข็งและยั่งยืน ดำเนินการในระดับท้องถิ่นด้วยองค์กรจัดการเชิงธุรกิจที่ไม่หวังผลกำไร ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับ Organizer ที่รับจัดงานในครั้งนี้ให้กับมูลนิธิบริษัทปูนซีเมนต์ไทยด้วย ซึ่งได้เห็นประเด็นการขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงและการจัดการตนเองของสังคมในระดับจุลภาคของเครือข่ายผู้ปฏิบัติที่น่าสนใจหลายประการ กิจกรรมดังกล่าวมีงานเบื้องหลังเป็นจำนวนมาก หากคำนึงถึงการพัฒนาสังคมเมืองและสร้างความเป็นชีวิตของสังคมให้มีความสร้างสรรค์และอยู่ร่วมกันอย่างพอเพียงแล้ว ก็พบว่าสามารถสร้างงานที่ต่อเนื่องไปอีกหลายวงจร ดังนั้น จึงเป็นการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงด้วยการพัฒนการเรียนรู้ของพลเมือง ที่ทำให้เกิดระบบการจัดการสังคมและเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายเพียงพอต่อการอยู่ร่วมกันที่ดีได้มากยิ่งๆขึ้นไปด้วย
  • บทบาทของภาคีวิชาการและการสนับสนุนทรัพยากรสาธารณะ ผู้เขียนได้ไปเห็นแล้วก็ให้นึกถึงกิจกรรมที่คล้ายกันที่ได้รวมกลุ่มกับคนในพุทธมณฑลและในมหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นในแหล่งสาธารณะต่างๆ ทั้งในมหาวิทยาลัย สวนสาธารณะ พุทธมณฑล ทำให้เห็นความสอดคล้องไปด้วยกันอีกว่า การพัฒนาสังคมเมืองและการพัฒนาการเรียนรู้ของประชาชน เพื่อลงทุนสร้างคนรุ่นอนาคตในลักษณะนี้ จะมีบทบาทสำคัญต่อการเตรียมพลเมืองให้มีส่วนร่วมสิ่งที่พึงประสงค์ต่างๆของสังคม แต่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและใช้เวลา ต้องการการสนับสนุนสถานที่และทรัพยากรวิชาการในแนวทางใหม่ๆ เช่น การเปิดตนเองออกของมหาวิทยาลัย การจัดระบบบริการสาธารณะในแนวทางใหม่ๆของทรัพยากรในหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนการพัฒนาบทบาทการวิจัยและการบริการวิชาการในวิถีทางใหม่ๆ ดังที่พบได้จากกิจกรรมที่ริเริ่มได้จริงเหล่านี้ จะเป็นการเปลี่ยนอปลงตนเองผ่านการเรียนรู้เพื่อร่วมมือและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • พลังของหนังสือ นิทาน ศิลปะ และวัฒนธรรมทางปัญญา ต้องคิดและนำมาบริหารจัดการเสียใหม่ การเคลื่อนไหวสังคมเพื่อเคลื่อนตัวไปสู่ภาวะอันพึงประสงค์ที่ดี จำเป็นต้องระดมสรรพปัญญามาคิดและพัฒนาให้เป็นเครื่องมือปฏิบัติการเชิงสังคมในแนวทางใหม่ๆ ซึ่งหนังสือ ศิลปะ และกิจกรรมความสร้างสรรค์ต่างๆ แต่เดิมนั้น มักเป็นทรัพยากรทางสังคมที่เข้าถึงได้ผ่านมหาวิทยาลัยและระบบการศึกษาที่เป็นทางการ ซึ่งจากบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาและเห็นพลังของคนในสังคมเมืองที่มีความสร้างสรรค์มากมายจากกิจกรรมต่างๆดังที่หยิบมาศึกษานี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมหนังสือ กิจกรรมสร้างสรรค์ และวัฒนธรรมทางปัญญา จำเป็นต้องปฏิรูปตนเองและเดินออกไปจากกรอบปฏิบัติอย่างในอดีต ต้องค้นพบกลไกและวิธีการเชิงการตลาดในแนวคิดใหม่ๆและเดินเข้าหาสังคม ซึ่งก็จะกระตุ้นให้เกิดระบบการจัดการตนเอง ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นธรรมชาติไปด้วย

การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้สำหรับพัฒนาสังคมพลเมืองดังที่ดำเนินมาในอดีตนั้น ปัจจุบันนี้นอกจากมักจะไม่เพียงพอและเข้าถึงได้เพียงคนส่วนน้อยที่มีโอกาสดีอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่อีกด้วยแล้ว ก็มีข้อจำกัดมากขึ้นอยู่ในตนเอง ในหลายประเทศทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น ก็จะพบว่า การศึกษาในระบบที่เป็นทางการนั้นกำลังสลายตนเองไปด้วยหลายเหตุปัจจัย การศึกษาทางเลือกและการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับพลเมืองในวิธีคิดใหม่ๆ จึงเป็นนวัตกรรมการศึกษาอีกระบบหนึ่งที่นอกจากจะสนองตอบต่อการมุ่งสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และสังคมแห่งวิถีปัญญาแล้ว ก็นับว่าเป็นกลไกจัดการตนเองเพื่อเปลี่ยนผ่านทางสังคมในมิติต่างๆอย่างค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่ไปกับการได้สร้างคนในรุ่นอนาคต ซึ่งจะทำให้มีความสำเร็จที่ยั่งยืนและเข้มแข็งในระยะยาว

นอกจากนี้ ก็สามารถพัฒนาเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ที่ช่วยยกระดับวุฒิภาวะของการปฏิบัติการเชิงสังคมไปสู่ความเป็นส่วนรวมที่สำคัญและมีความบูรณาการครอบคลุมทั้งประเด็นของท้องถิ่น สังคมไทย และสังคมโลก สามารถสร้างสังคมพลเมืองด้วยจิตสำนึกใหม่ๆที่กว้างขวางมากยิ่งๆขึ้น และเชื่อว่าจะเป็นการลงทุนสร้างคนและพัฒนาวิถีชีวิตสังคมเมือง ที่มีนัยสำคัญต่อการก่อเกิดพลังสืบสานและส่งเสริมการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างบูรณาการดังเช่นเครือข่ายเคลื่อนไหวและผลักดันจังหวัดจัดการตนเอง ที่สามารถสร้างความเป็นจริงใหม่ๆให้เกิดขึ้นได้ในอนาคตดังที่พึงประสงค์.

หมายเลขบันทึก: 423739เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2011 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะที่ได้ทราบการเคลื่อนไหวการสร้างทางเลือกในการเรียนรู้ของเยาวชนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง..การจัดเวทีเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาวัฒนธรรมทางปัญญาอย่างยั่งยืนด้วยจิตสำนึกที่จะเห็นผลดีๆที่เกิดแก่เด็กๆของพวกเรานะคะ..ขอสนับสนุนค่ะ..

                        ..พี่ใหญ่มอบดอกไม้ให้ค่ะ..

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ

  • สวัสดีปีใหม่จีนครับผม
  • กิจกรรมพัฒนาวัฒนธรรมหนังสือใต้ร่มไม้ น่าม่วนใจมากเลยครับ
  • เป็นโครงการ CSR ของภาคธุรกิจเอกชนเพื่อเคลื่อนไหวสังคมเมืองและสร้างผู้นำรุ่นอนาคตที่น่าสนใจมากโครงการหนึ่งครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท