DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

การตายของนิเลาะ บาเห๊ะ “กับความเสียใจจนหมดเรี่ยวแรง”


 

การตายของนิเลาะ บาเห๊ะ

“กับความเสียใจจนหมดเรี่ยวแรง” 

มูฮำหมัด ดือราแม

 

ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลากหลาย ทั้งที่เกิดจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบ การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมไม่ทราบฝ่ายผู้ก่อเหตุ

กรณีของนายนิเลาะ บาเห๊ะ อายุ 16 ปี อยู่บ้านเลขที่ 227 บ้านตันหยงนากอ หมู่ที่ 3 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งถูกอาสาสมัครทหารพรานยิงเสียชีวิต คือตัวอย่างหนึ่งของผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า การเสียชีวิตของนายนิเลาะ เกิดขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทหารพรานได้เรียกตรวจแล้ว แต่นายนิเลาะขับรถจักรยานยนต์หนี จึงถูกอาสาสมัครทหารพรานยิงเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2551

กรณีนี้ฝ่ายทหารพรานยอมชดใช้เงิน 290,000 บาท

คดีที่สูญเปล่า

ในส่วนของคดี ทางพนักงานอัยการจังหวัดยะลา เป็นโจทย์ยื่นฟ้องอาสาสมัครทหารพรานนิรันดร์ หนูเชื้อ เป็นจำเลยในข้อหาทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย อัตราโทษจำคุก 3 – 15 ปี แต่นายนิแม พ่อของนายนิเลาะ ได้โต้แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ โดยอ้างว่า ก่อนหน้านั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่า

นายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ หัวหน้าศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดยะลา ในฐานะทนายความคดีนี้ กล่าวว่า พ่อของนายนิเลาะต้องการให้ตั้งข้อหาพยายามฆ่า ซึ่งเป็นการตั้งข้อหาเช่นเดียวกับคดีความมั่นคงอื่นๆในพื้นที่ ไม่ใช่คดีทะเลาะกัน แล้วมีการทำร้ายร่างกาย

ต่อมาศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยสารภาพ จึงลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยช่วยเหลือราชการ และได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ญาติผู้ตายไปแล้ว รวมทั้งไม่เคยติดคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอไว้ก่อน 1 ปี ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์

ขณะเดียวกันนายนิแม พ่อของนายนิเลาะ ได้ยื่นคำร้องต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้มีการชดเชยตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา  พ.ศ.2544

แต่ก็ได้รับคำตอบจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมาว่า ไม่อาจจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวได้ โดยอ้างว่านายนิเลาะมีพฤติกรรมเป็นแนวร่วมในการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้นายนิแม หมดสิทธิที่จะได้รับเงินอีกเกือบ 100,000 บาท เพราะการตายของลูกชายผิดเงื่อนไขการจ่ายเงินตอบแทน คือ ต้องไม่ใช่ผู้ที่ก่อให้เกิดการกระทำความผิดนั้น หรือไม่ได้เป็นผู้สมัครใจเข้าร่วมในการกระทำความผิดนั้น

นายนิแม กล่าวว่า “เราอยากได้สินน้ำใจบ้าง เพราะครอบครัวเราลำบาก ซึ่งการที่คนยิงลูกเรายอมรับผิดต่อหน้าเราแล้ว ก็พอทำให้สบายใจได้บ้างแล้ว แต่ขอน้ำใจช่วยเหลือบ้างเท่านั้น”

เท้าความการสูญเสีย

นายนิแม เล่าถึงวันเกิดเหตุว่า นิเลาะออกจากบ้านตั้งแต่เช้าไปที่ตลาดบันนังสตา เพื่อไปซ่อมรถมอเตอร์ไซค์เก่าที่เพิ่งซื้อมาเองจากชาวบ้าน ราคา 2,500 บาท แต่เวลาประมาณ 10 โมงเช้า นิเลาะกลับมาขอเงิน 200 บาท บอกว่า ค่าซ่อม 600 บาท แต่มีเงินแค่ 400 บาท พอตนให้เงินแล้ว นิเลาะก็ออกไปที่ตลาดบันนังสตาอีกครั้ง จนกระทั่งเวลาประมาณ 4 โมงเย็น มีชาวบ้านมาบอกว่า นิเลาะถูกยิงเสียชีวิต

โดยจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 5 กิโลเมตร โดยจุดที่นิเลาะถูกยิงเสียชีวิตอยู่ห่างจากด่านตรวจมาแล้วประมาณ 1 กิโลเมตร ตอนนี้ตนไปถึงนั้น นิเลาะถูกทหารพรานนำตัวไปโรงพยาบาลบันนังสตาแล้ว เนื่องจากถูกยิงที่โคนขา ได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยจุดที่นิเลาะถูกยิงนั้นอยู่ในคูน้ำข้างถนน

ส่วนรถจักรยานยนต์ยังจอดอยู่เรียบร้อยโดยไม่มีรอยบุบหรือรอยขูดขีดใดๆ จึงคิดว่านิเลาะคงจะหยุดรถแล้วถูกยิง โดยทางทหารพรานบอกว่าได้ยิงปืนขึ้นฟ้าแล้ว 2 นัด แต่นิเลาะไม่ยอมหยุดจึงต้องยิง

“เจ้าหน้าที่ไม่น่าจะยิงเขาทันที น่าจะจับตัวมาก่อนแล้วมาถามผู้ใหญ่บ้านหรือพามาที่บ้านก่อนก็ได้” นายนิแม กล่าว

ส่วนแม่ของนิเลาะ บอกว่า นิเลาะเป็นคนหูไม่ดี ฟังไม่อะไรไม่ชัด สังเกตได้จากถ้าหันหลังให้แล้วจะเรียกไม่ได้ยิน ต้องไปเรียกข้างหน้าจึงจะได้ยิน เนื่องจากตอนอายุ 5 – 7 ปี เคยมีน้ำออกจากหู แต่ก็ไม่เคยพาไปหาหมอที่โรงพยาบาล

แม่เล่าว่า นั่นจึงน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำไห้นิเลาะถูกยิง เพราะไม่ได้ยินทหารพรานเรียกให้หยุด ทำให้ทหารพรานต้องขับรถไล่ตามแล้วยิงปืนขึ้นฟ้า 2 นัด เขาจึงต้องหยุดรถ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่นำมาสู่ความตาย แต่วันนี้เท่าที่ถามพวกแม่ค้าที่ออกไปตลาดบันนังสตา ก็ไม่มีใครบอกว่า ทหารเรียกตรวจ แต่ไม่รู้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร

นายนิแม เล่าต่อว่า วันเกิดเหตุทหารพรานพานิเลาะไปที่โรงพยาบาลบันนังสตา แต่อาการหนักมากจึงถูกส่งต่อไปที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา แต่ก็เสียตอนเช้ามืดอีกวัน

 “ที่โรงพยาบาลบันนังสตา ผมได้เจอกับอาสาสมัครพรานนิรันดร์ หนูเชื้อ เขาบอกกับผมว่า เขาเป็นคนยิงลูกผมเอง จากนั้นก็ได้เจอกับเขาอีก 2 ครั้งที่บันนังสตา ตอนเจอเขา ผมก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก แต่รู้สึกเสียใจที่ทหารเป็นคนยิงลูกผม”

เมื่อรับศพกลับมาบ้านแล้ว ทหารพรานก็ตามมาที่บ้านแล้วก็ตามไปดู แม้กระทั่งตอนอาบน้ำศพไปจนถึงการทำพิธีละหมาดศพแล้วนำไปฝังที่กูโบร์(สุสานมุสลิม)

“แล้วก็มีทหารอีกชุดมาที่บ้าน ถามผมว่า ลูกไปที่ตลาดทำไม ผมบอกว่าไปซ่อมรถจักรยานยนต์ ผมถามต่อว่าทำไมถึงยิงลูกผม เขาตอบว่า ไม่ได้ยิง ผมก็ถามต่อว่า แล้วรู้จักคนยิงลูกผมไหม เขาตอบว่ารู้จัก ผมบอกว่า แล้วไม่ใช่หน่วยเดียวกันหรอกหรือ”

หลังจากนั้นทหารพรานมาที่บ้านเกือบทุกวันตลอด 7 วัน หลังจากนั้นก็มานานครั้ง

“บางครั้งทหารชุดนี้พูดจาเสียงดัง เหมือนกับต้องการขู่ ก็เลยยิ่งทำให้รู้สึกเครียด” นายนิแมกล่าว

หลังจากลูกตายเกือบครบ 100 วัน ทหารพรานก็มาถามว่าจะทำบุญ 100 วันหรือไม่ จะให้เงินช่วยทำบุญ แต่นิแมปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ

ส่วนแม่ของนิเลาะ บอกว่า ที่ผ่านมามีทหารมาที่บ้านหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นทหารที่ตั้งฐานอยู่ที่โรงเรียนบ้านบางลาง มาให้ของ เช่น ปลากระป๋อง แต่รับด้วยของความไม่สบายใจ เพราะยังเสียใจกับการตายของลูกและทำให้นึกว่าทหารพรานเป็นคนยิงลูกตาย

แม่เล่าต่อว่า ปกตินิเลาะเป็นคนง่าย ใครชวนไปไหนก็ไป เช่น คนชวนไปรับจ้างเก็บผลทุเรียน หรือรับจ้างเก็บขี้ยางพารา เขาก็ไป แม้อายุ 16 ปีแล้ว แต่นิเลาะก็ยังเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านบางลางไม่จบ เพราะไปบ้างไม่ไปบ้าง

แม่เล่าว่า นิเลาะมีความรู้สึกหนึ่งคือ กลัวทหาร เพราะก่อนหน้านั้น 2 ปี อาของเขาเคยถูกทหารนำตัวไป แล้วหายตัวไปจนกระทั่งวันนี้ก็ยังไม่รู้อยู่ที่ไหน

“อาของนิเลาะที่หายตัวไป ก็คือ นายมะยาเต็ง มะรานอ นักการภารโรงโรงเรียนบ้านบางลางนั่นเอง” โดยที่บ้านนายมะยาเต็ง ซึ่งเป็นจุดที่ทหารควบคุมตัวไปก่อนหายตัวนั้น อยู่ห่างจากบ้านของตนไปประมาณ 1 กิโลเมตร

นายนิแม บาเห๊ะ แสดงบัตรประจำตัวประชาชนของนายนิเลาะ ลูกชายที่เสียชีวิต      โดยมีภรรยานั่งอยู่ข้างๆ

ผลกระทบที่ยังไม่จางหาย

แม้นิเลาะตายไปแล้วถึง 2 ปีกว่า แต่ผลกระทบที่มีต่อครอบครัวนี้ยังไม่หมดไป เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตายของนิเลาะที่หนักหนาที่สุด ก็คือนายนิแมนั่นเอง เพราะถึงขนาดกลายเป็นคนเซื่องซึม หมดเรี่ยวแรงไปเฉย ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงครอบครัวได้

“รู้กังวล เครียด เซื่องซึม คิดอะไรไม่ออก มึน ไม่มีแรง คิดถึงเขาตลอด เพราะเป็นลูกที่เลี้ยงมาตั้งแต่ยังเล็ก จนวันนี้พอเห็นทหาร ก็ยิ่งรู้สึกหดหู่ ยิ่งเสียใจ จนร้องไห้ เพราะจะนึกขึ้นมาทันทีว่า พวกนี้คือพวกที่ยิงลูกเรา ไม่ได้โกรธทหารนะ เพราะเขารับสารภาพต่อหน้าเราแล้ว แต่รู้สึกไม่ดี” นายนิเลาะกล่าว

นายนิแม บาเห๊ะ มีอาการเซื่องซึมหลังจากสูญเสียลูกชายคนสุดท้อง

“ที่ผ่านมาไม่มีคนมาพูดอะไรให้สบายใจขึ้นบ้างเลย มีแต่มาพูดคุยแล้วยิ่งทำให้เราไม่สบายใจมากกว่า มาตอนหลังๆ ชาวบ้านก็ไม่มาคุยกับเราแล้ว คงคิดว่าเราเป็นอะไรไปแล้วก็ได้ ตอนนี้รู้สึกเหงามาก”

เมื่อหัวหน้าครอบครัวไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงครอบครัวได้ ภาระหนักก็ตกไปที่ภรรยา กับลูกชายและลูกสาวอีก 2 คน ส่วนนิเลาะเป็นคนสุดท้อง

แม้ลูกสาวจะมีครอบครัวแล้วก็ตาม เธอก็ยังต้องทำงานกรีดยางพารากับแม่ แล้วนำรายได้มาแบ่งกัน ได้คนละไม่เกิน 200 บาทต่อวัน เนื่องจากได้ขี้ยางพาราวันละประมาณ 10 กิโลกรัมเท่านั้น

ส่วนลูกชายอีกคนทำงานรับจ้างทั่วไปแล้วแต่ใครจะชวน เช่น ช่วงผลไม้ก็รับจ้างเก็บทุเรียนบ้าง ลองกองบ้าง  

แม่เล่าว่า “เคยมีชาวบ้านมาพูดถึงเรื่องการต่อสู้คดีว่า อย่าสู้ไปเลยกับรัฐ มันน่ากลัว เราก็บอกว่า กลัวแล้วไม่ตายหรือ”

“เราไม่ต้องการสู้กับรัฐ แต่อยากรู้กฎหมายว่า ถ้ารัฐทำกับประชาชนอย่างนี้ผิดไหม ตำรวจบอกว่าผิด ตอนนี้ก็รู้แล้วว่าผิด แต่ก็ยังไม่รู้ว่า เขาจะลงโทษคนผิดอย่างไร เรายังไม่เห็นเขาเข้าคุกหรือรับโทษอะไรเลย”

“แต่พอเราสู้จนกระทั่งได้เงินชดเชยมา 290,000 บาท ชาวบ้านก็มาพูดอีกว่า สู้จนได้นะ ไม่กลัวบ้างหรือ เราบอกว่า กลัวอะไรกับมนุษย์ เรากลัวอัลลอฮ(พระเจ้าของอิสลาม)มากกว่า นั่นคือสื่งที่เรายึดถือ”

ความเห็นและข้อเสนอของผู้เขียน

ความโศกเศร้าเสียใจของนายนิแม ที่ยังมีอยู่ น่าจะยังอยู่ในระดับเดียวกับช่วงหลังจากสูญเสียลูกชายไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วไม่นาน เวลาไม่อาจเยียวยาผลกระทบทางด้านจิตใจได้มากนัก อาจเป็นเพราะว่า นายนิแมมีเวลาว่างมากพอที่จะทำให้ครุ่นคิดแต่เรื่องการจากไปของลูกชาย

ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยมากระตุ้นให้ต้องระลึกนึกถึงลูกชายอยู่ตลอด ซึ่งก็คือทหารที่เข้ามาตั้งฐานอยู่ในหมู่บ้าน แล้วก็พวกที่เดินลาดตระเวนไปมาหน้าบ้านนั่นเอง ซึ่งทั้งสองปัจจัยคือ เวลาว่าง กับทหารหน้าบ้าน ไม่เป็นผลดีต่อการเยียวยาจิตใจนายนิแมเลย

ครั้นจะให้นายนิแมทำงานที่ต้องใช้แรงงานตามที่ชาวบ้านทั่วไปถนัด เพื่อไม่ให้มีเวลาว่างมาก ก็ไม่อาจทำได้ เพราะปัจจัยทางด้านสุขภาพ จึงน่าจะต้องส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องอาชีพเสริมที่ไม่ต้องใช้แรงมาก แต่อาจต้องใช้ฝีมือแต่ไม่ต้องใช้แรงมากหรือเป็นงานที่สามารถฝึกสมาธิได้ ขณะเดียวกันก็สร้างรายได้ด้วย น่าจะดีต่อการเยียวยาจิตใจ

ขณะเดียวกัน อาจต้องสร้างกิจกรรมที่ให้เพื่อนบ้านได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาด้วย เพราะถ้าทำได้เพื่อนบ้านจะมีส่วนช่วยได้มาก เนื่องจากต้องอยู่อาศัยด้วยกันในหมู่บ้านตลอด หรือไม่ก็นำไปเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ ที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นายนิแมเอง เพื่อไม่ให้ต้องรู้สึกเดียวดายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

นอกจากการเยียวยาด้วยกลไกทางสังคมและการอาชีพแล้ว  การเยียวยาด้วยกระบวนการยุติธรรมที่สะท้อนความเป็นธรรมอย่างแท้จริง  และความเป็นธรรมต่อกฏเกณฑ์กติกาของภาครัฐเช่น หลักเกณฑ์การเยียวยาผู้สูญเสียที่ดูจะไม่เป็นธรรมกับครอบครัวผู้สูญเสีย   เพราะตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยไม่ใช่การปะทะ แม้จะถูกกล่าวหาว่าอยู่ในฝ่ายตรงข้าม  ก็ควรได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างเป็ระบบบ้าง  ไม่เฉพาะเรื่องเงินช่วยเหลือเยียวยา  แต่อย่างน้อยเรื่องทุนการศึกษาหรือเงินช่วยเหลือในการประกอบอาชีพก็ยังดี 

การเยียวยานอกการบรรเทาความทุกข์ยากแล้ว  การสร้างรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมแม้เพียงระดับหนึ่ง  ก็ถือว่าเป็นการเยียวยาที่สำคัญยิ่ง

********************

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 423740เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2011 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท