โรงพยาบาลลรวมมิตร ตอนที่ 2


 

มหัศจรรย์ห้องคลอด ห้องดนตรี และเปิงมางคอก

       ความรวมมิตรของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่น่าทึ่งอีกเรื่องหนึ่งก็คือ “เปิงมางห้องคลอด” ต้นกำเนิดด้านดนตรีบำบัดเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของคนใกล้คลอด มันเป็นอย่างไรน่ะเหรอครับ โปรดตามผมมาอีกครั้งเถิด

       เราทุกคนต่างก็ทราบกันดีว่า ดนตรีสามารถช่วยบำบัดได้หลายภาวะหรือหลายโรค และใช้ได้กับทั้งคน สัตว์หรือต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดอ่อนล้า หลายคนคงเคยเห็นผู้เลี้ยงไก่เปิดเพลงให้ไก่ฟัง เพื่อเพื่มผลผลิตไข่ไก่ หรือบางท่านอาจจะเปิดเพลงให้ต้นมะเขือเทศฟัง (กิริยาฟัง น่าจะใช้กับสิ่งมีชีวิตที่มีหูไม่ใช่หรือ) เพื่อเพิ่มผลผลิต (อันนี้ไปกันใหญ่แล้วนะครับ) ย้อนไปราวเมื่อ 10 กว่าปีก่อนหน้านี้ เราเองก็คลั่งไคล้กับงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปิดเพลงให้ทารกทั้งที่อยู่ในครรภ์และทารกเพิ่งเกิดฟัง ซึ่งสามารถกระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะเพลงของ Wolfgang Amadeus Mozart ซึ่งเขาว่ากันว่า จังหวะของการดำเนินเพลงนั้นเป็นจังหวะที่เท่าๆกับอัตราการเต้นของหัวใจทารก (อย่าเชื่อผมมากนักนะครับ) พ่อแม่มือใหม่ จึงแห่กันไปซื้อแผ่นเพลงของ Mozart กันอย่างมากมาย เพื่อกระตุ้นให้ลูกฟัง บ้างมีเงินหน่อยก็ไปซื้ออุปกรณ์แพงๆมาใช้ เพื่อส่งเพลงไปให้ลูกฟังผ่านหน้าท้องแม่ผ่านเข้าไปถึงในมดลูก แต่ก็แปลกครับ กับอีตอนตั้งท้องครั้งหลังๆ กลับไม่ค่อยมีใครสนใจเปิดเพลงให้ลูกในท้องฟังกันสักเท่าไหร่ (ฮา..)

       ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น เราก็มีงานวิจัยของอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ของสงขลานครินทร์ท่านหนึ่ง พบว่า ดนตรีสามารถบำบัดความเจ็บปวดจากการเจ็บครรภ์ได้ ทางห้องคลอดของเราจึงได้นำผลงานวิจัยมาใช้ในทันที ห้องคลอดของเราได้ใช้ดนตรีมาเปิดให้สตรีที่มานอนรอคลอดฟัง แต่กระนั้นก็มีเครื่องเล่นซีดีเพียงเครื่องเดียว ค่อยๆหมุนเวียนกันใช้ นัยว่าใครเจ็บมากกว่า ทุรนทุรายกว่าก็จะได้สิทธิ์นั้นไปก่อน เท่าที่ผมได้สังเกตุเห็นและฟังนั้น สาวๆห้องคลอดเธอเปิดเพลงบรรเลง ทำนองที่เป็นแบบ meditation ฟังแล้วได้อารมณ์ผ่อนคลายจริงๆครับ หมอที่เฝ้าคลอดก็พลอยได้รับอานิสงค์จากการฟังเพลงเหล่านั้นไปด้วยกัน เรียกว่า คนรอทำคลอดก็ผ่อนคลาย คนเจ็บท้องคลอดก็ผ่อนคลาย แม้ว่าร่างกายกำลังทุกข์ทรมานจากการบีบของมดลูกอยู่ก็ตาม

       อันที่จริงผมเองก็อยากจะรู้เหมือนกัน ว่าเพลงแต่ละเพลงที่แตกต่างกันนั้น จะส่งผลต่อคนไข้เหมือนหรือต่างกันไหม เช่น หากเป็นหญิงชาวอีสานมาคลอด แล้วเราบริการเธอด้วยเพลงบรรเลงสไตล์หมอลำ หรือหากเป็นชาวบ้านภาคใต้ของเราเองแท้ๆ แล้วเราบริการเธอด้วยเสียงเพลงสำเนียงมโนราหรือจังหวะตะลุง หรือกระทั่งหากเป็นสาวชาวเหนือ เราเปิดเพลงสำหรับการฟ้อนเล็บ คนไข้เราน่าจะมีตัวรับจังหวะเพลงที่แตกต่างกันใช่ไหมครับ อันนี้ผมขายไอเดียร์เฉยๆนะครับ ใครจะรับเอาไปทำวิจัยต่อไปก็ขอบพระคุณอย่างสูง

       การนำผลของงานวิจัยเรื่องดนตรีบำบัดมาใช้ในห้องคลอดยังไม่หมดเพียงเท่านี้ครับ เพราะทางห้องคลอดได้ต่อยอดงานวิจัยดังกล่าวไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว นั่นก็คือ การใช้ดนตรีมาช่วยบำบัดบุคลากรของห้องคลอดเองรวมไปถึงหมอผู้ทำคลอดด้วย นั่นแน่....เรามีดีจะเล่าให้ฟัง ณ บัดเดี๋ยวนี้

       เราเรียกผลงานชิ้นนี้ว่า “เปิงมางห้องคลอด”

       อุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นเครื่องมือบำบัดสมองครับ เขาเตรียมไว้ให้หมอและบุคลากรอื่นๆในห้องคลอดได้ฝึกอ่าน ฝึกคิด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เมื่อมีการใช้เครื่องมือใดๆก็ตามแต่ มันจะถูกดีไซน์ไว้แล้ว ว่าจะต้องถูกนำไปวางไว้ตรงไหนเมื่อใช้เสร็จ เมื่อหมอธนพันธ์เปิดใช้อุปกรณ์ช่วยตรวจภายใน และเมื่อเสร็จงานจะต้องทิ้งถุงมือยางในถังใบหนึ่ง ทิ้งกระปุกและคีมคีบสำลีไว้ในถังใบหนึ่ง ผ้าที่ห่ออุปกรณ์นั้น หากถูกเลือด ก็จะต้องไปใส่ไว้ในถังใบหนึ่ง แต่หากไม่เปื้อนเลยก็จะไปใส่ในถังอีกใบหนึ่ง ต่อไปคงต้องระบุกันว่าเปื้อนเลือดกี่เปอร์เซ็นต์ หากน้อยกว่า 10% ก็ใส่ถังหนึ่ง 11-25% ใส่อีกถังหนึ่ง 50% ใส่อีกถังหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อบริหารรอยหยักของสมองครับ และยังสามารถบริหารหัวแม่ตีนด้วย เพราะถังใส่เครื่องมือและผ้านั้น ต้องเหยียบให้ฝาเปิดก่อน เห็นไหมครับ แบบนี้ต้องยกนิ้วให้กับคนคิดระบบ

 

       ส่วนสาวๆพยาบาลก็ไม่ยอมน้อยหน้า เพราะเธอก็มีถังส่วนตัวแยกออกมาอีก เช่น ถังใส่ขวดน้ำเกลือ ถังใส่สายน้ำเกลือ ถังใส่ขยะใช้ใหม่ได้ คนไข้เองก็อย่าเพิ่งน้อยหน้า เพราะท่านก็ยังคงจำเป็นต้องคัดแยกผ้าให้เป็น ผ้าเปื้อนก็มีให้ท่านถังหนึ่ง ผ้าไม่เปื้อนก็อีกถังหนึ่ง ผ้ายางก็อีกถังหนึ่ง สนุกสนานและเท่าเทียมกันไปอีกแบบ ครั้นไอ้คนสันดานดิบอย่างผม เห็นแบบนี้ก็เลยคิดอยากจะลองของ เลยแอบใส่ผ้าผิดที่บ้าง ใส่อุปกรณ์ผิดทางบ้าง ก็ถูกดุ เพราะเป็นการละเมิดกฎเหล็กของห้องคลอด แต่บางครั้งก็ต้องยอม เพราะนานๆจะเข้าห้องคลอดกับเขาสักครั้ง เมื่อต้องเดินหาที่วางอุปกรณ์ต่างๆก็รู้สึกสับสน ตาลาย อยากอ๊วกเต็มทน

 

 

       ครั้นเมื่ออดรนทนไม่ไหว ก็เลยสืบถามความเป็นจริง ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในห้องคลอดล่ะเนี่ย ทำไมจึงมีเปิงมางคอกวางกันเป็นแถวแบบนี้ ทำไมไม่มีแค่ ถังผ้า ถังเครื่องมือ ถังขยะติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อ มันก็น่าจะเพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ คำตอบที่ได้รับ เขาก็รายงานมาว่า นี่เป็นนโยบายของการควบคุมการติดเชื้อและ LEAN ของห้องผ้าและหน่วยทำความสะอาดกลาง

       เรื่องมันมีอยู่ว่า เขาต้องการแยกทำความสะอาดผ้าแต่ละชนิด โดยแยกเป็นผ้าสะอาด ผ้าเปื้อนมาก ผ้าเปื้อนน้อย ถ้าหากเป็นผ้าเปื้อนมากหรือรอยเปื้อยมีกากมาก เช่น เปื้อนอ๊วก เปื้อนขี้ เขาก็จะทำการฉีดน้ำเพื่อชำระสิ่งปฏิกูลเหล่านั้นออกไปก่อนทำการส่งซัก ส่วนผ้าเปื้อนน้อยนั้น รวมถึงผ้าเปื้อนเลือด เพราะว่าไม่สามารถฉีดน้ำเพื่อลดความเปื้อนได้ จำต้องมีน้ำยาพิเศษเพื่อทำความสะอาด คำถามต่อมาก็คือ แล้วถ้าหากผ้าจากห้องคลอด เปื้อนเลือดที่แข็งเป็นก้อนเท่าหัวเข่าล่ะ จะจัดเป็นผ้าเปื้อนแบบไหน คำตอบก็คือ มันเป็นเลือด ดังนั้นให้เป็นผ้าเปื้อนน้อย (เอาเข้าไป นี่เรามีผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านศัพท์คุณภาพมากเลยนะครับ) แล้วหันมามองในบริบทของห้องคลอดกันบ้าง เรามีคนไข้มาคลอด เมื่อเขาปวดท้องก็มักจะมาพร้อมมูกเลือด หรือเลือดเป็นก้อนๆ น้ำคร่ำ ขี้ก็ออกได้มากมายเพราะแม่ๆทั้งหลายต้องเบ่งกันสุดชีวิต ฉี่ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่มักจะออกมาพร้อมๆกัน ดังนั้น ผมน่าจะฟันธงได้ไหม ว่าผ้าจากห้องคลอดสมควรเป็นผ้าที่สกปรกมาก

 

       ในอดีตนั้น เมื่อทำคลอดและดูแลคนไข้จนปลอดภัยแล้ว หมอก็จะหอบทั้งผ้าปูและผ้ายาง ใส่ลงถังเพียงถังเดียว แล้วรีบกลับออกมาดูคนไข้ต่ออีกระยะหนึ่ง แต่ ณ บัดเดี๋ยวนี้ ผมยังคงต้องหอบผ้ายางใส่ถังหนึ่ง หอบผ้าเปื้อนเลือดใส่ถังหนึ่ง ครั้นเมื่อออกมาล้างมือเตรียมกลับบ้าน ก็ต้องถอดกาวน์แยกออกใส่ถังหนึ่ง ผ้ายางติดตัวก็ใส่อีกถังหนึ่ง ไม่รู้ว่ามันสนุกหรือสะแด่วแห้วกันแน่ ยิ่งถ้าต้องเป็นการทำคลอดในช่วงเวลายามวิกาล ก็ลองเดาดูว่าผมจะรู้สึกอย่างไร

       ถ้าจะบอกว่าเป็นการป้องกันการติดเชื้อ ผมก็อยากรู้ว่า ผ้าเปื้อนเลือดและผ้าเปื้อนขี้ สกปรกต่างกันอย่างไร ผ้าเปื้อนเลือดและผ้ายางเปื้อนเลือดสกปรกต่างกันอย่างไร ผ้าเปื้อนเศษเลือดกับผ้าเปื้อนก้อนเลือดขนาดเท่าหัวเข่าสกปรกต่างกันไหม

       หากจะมีข้อโต้แย้งว่า นี่เป็นหนึ่งในกระบวนการ LEAN ผมก็อยากจะทราบว่า มัน LEAN ตรงไหน กิจกรรม LEAN ที่มุ่งเน้นคุณภาพบริการที่มีการบริหารความคุ้มค่า คุ้มทุน และประหยัดเวลานั้น มันเป็นอย่างว่าตอนไหน หรือว่า LEAN เป็นเพียงการประหยัดเวลาของเราแล้วโยนภาระอื่นๆให้เพื่อนรับไปทำแทน นี่คือ LEAN ใช่หรือไม่ หากหมอสะบัดผ้าทำคลอดที่เปื้อนก้อนเลือดออกก่อน ผ้าชิ้นนั้นจะเป็นผ้าเปื้อนน้อยไปในทันทีใช่หรือไม่ ถ้าตอบว่าใช่ ต่อไปผมจะออกนโยบายให้แพทย์ทุกคนสะบัดผ้าเอาก้อนเลือดออกก่อนเสมอ มิฉะนั้นจะไม่ให้ 2 ขั้น เราต้องร่วมมือกัน จะได้ LEAN กันให้สุดชีวิต        

       ผมมาดูคนไข้หนึ่งคน สมาธิต้องอยู่กับคนไข้หรือจะต้องเตรียมตัวเอาไว้ให้ดีๆ เพื่อที่จะได้ทิ้งอุปกรณ์ให้ถูกที่ถูกทางร่วมด้วย กระนั้น จึงจะเรียกได้ว่า ครบถ้วนกระบวนการคุณภาพระดับชาติ หน้าที่ของผมคือการแยกผ้าด้วยใช่หรือไม่ หากตอบว่าใช่ ต่อไปเราสามารถลดคนทำงานในห้องผ้าและหน่วยทำความสะอาดกลางลงได้ใช่ไหม  เพราะหมอธนพันธ์จะสะบัดขี้และก้อนเลือดออกจากผ้าให้ ฮา....

       ตายแล้ว ผมไปได้ไกลขนาดนี้เลยหรือเนี่ย จากดนตรีบำบัดไฉนกลายเป็น LEAN ไปได้เนี่ย แต่ก็นั่นแหละครับ ขัดตาขัดหูขัดใจ จะเก็บไว้เสียก็จะเกิดริดสีดวงทวารเสียเปล่าปลี้

       ความรวมมิตรของเรื่องนี้ก็ขอจบลงด้วยเรื่องของเครื่องดนตรีเพื่อบำบัดหมอและพยาบาล  “เปิงมางคอก” หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ “ฆ้องวงคุณนายหมู” (ปล. คุณนายหมูก็คือหัวหน้าพยาบาลห้องคลอดสุดที่รักของผมนั่นปะไรครับ)

 

หมายเลขบันทึก: 424168เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2011 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อ่านแล้วก็ได้คิดตามไปด้วย มีทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง ทำให้ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า มันนานาจิตตังจริงๆนะคะ แต่ที่แน่ๆคือ ใครทำถูกหมดนี่น่ามีรางวัลพิเศษให้นะคะนี่ เอาของสะอาดไปใส่ถังสกปรกนี่ยังไม่ลำบากเท่าเอาของสกปรกไปใส่ของสะอาดกว่านะคะ ได้สกปรกกันทั้งถังหรือเปล่า โอย...แค่คิดก็เหนื่อยแทนทั้งคนจัดและคนทิ้ง

พี่โอ๋ที่รัก

มันมีที่มาที่ไปครับ

เรื่องการคัดแยกนั้น เห้นด้วย แต่ไม่ใช่ยิบยับแบบนี้

คนเรามีหลายหน้าที่ แต่ละงานจะมี movement ที่แตกต่างกัน ผมก็กำลังหมายถึง LEAN เพราะมันต้งจัดการกับการ movement ที่คล่องตัว

อีกอย่างก็คือ ความยืดหยุ่น

นี่หากใส่ผิดที่ ก็จะถูกตำหนิออกอากาศ แบบยอมกันไม่ได้ คนในองค์กรก็จะเกิดความเครียด

โทษทีครับจัน

อะไรคือ color coding คร๊าบ

ได้ความรู้อีกมากเลยครับ

เหรอครับ เบดูอิน

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น เป็นเพราะผมไม่รู้จัก LEAN เลยครับ

ตอบโรงพยาบาลรวมมิตร ตอน 2

ได้อ่านคอลัมน์ โรงพยาบาลรวมมิตรตอน 2 ในข่าวคณะแพทย์ ประจำเดือนมีนาคม 2554 อ่านไปเรื่อย ๆ อาจารย์ต้องการสื่ออะไร แต่เห็นภาพถังหลายใบ ก็เริ่มรู้สึกไม่สบายใจ พออ่านต่อไปอีกแต่ละวรรคแต่ละตอนช่างเจ็บปวดในการตีความผ้าเปื้อนน้อย ผ้าเปื้อนมากของอาจารย์ และอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดและคิดว่าหน่วยจ่ายผ้ากลางทำงานสบาย

อยากจะเชิญอาจารย์มาดูการทำงานของหน่วยจ่ายผ้ากลาง การแยกผ้าเปื้อนไม่ได้เป็นโครงการ LEAN ของหน่วยจ่ายผ้ากลาง โครงการ LEANของหน่วยจ่ายผ้ากลางคือหอผู้ป่วยไม่ต้องไปส่งซักผ้าห่มที่ใช้แล้วและรับผ้าซักแล้วกลับ หน่วยจ่ายผ้ากลางบริการรับ – ส่งให้หอผู้ป่วย ลดภาระของหอผู้ป่วย 30-40 วอร์ด แต่เพิ่มภาระให้หน่วยจ่ายผ้ากลาง ไม่มีใครพูดถึง

การขอความร่วมมือให้หอผู้ป่วยแยกผ้าให้ชัดเจนจากต้นทาง สืบเนื่องจากคณะผู้เยี่ยมสำรวจจาก สรพ. มาพบเจ้าหน้าที่ขณะยืนแยกผ้าเปื้อนสารพัดเปื้อนทั้งโรงพยาบาลฯ ทั้งอึ ทั้งอ้วก ทั้งเลือด ทั้งเหม็นทั้งอากาศร้อน ส่งกลิ่นอบอวลไปทั้งหน่วยงาน และแบ่งปันกลิ่นเหม็น ออกไปสู่ภายนอกให้ผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรที่มารอลิฟต์

สรพ.ได้ให้ข้อเสนอแนะหน่วยจ่ายผ้ากลางไม่ควรมาแยกผ้าซ้ำ เป็นการแพร่กระจายของเชื้อโรค ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนออกมาภายนอก ควรแยกมาจากต้นทาง และเป็นการสอนให้ญาติผู้ป่วยได้เรียนรู้วิธีการแยกผ้าที่ถูกต้องสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งปัจจุบันหน่วยจ่ายผ้ากลางยกเลิกการแยกผ้าเปื้อน และฉีดล้างผ้าที่มีสิ่งปฏิกูลที่ต้องยืนเป็นเวลานานคนละ 3 – 4 ชั่วโมง/วัน ตั้งแต่ พ.ย.50 โดยนำเข้าเครื่องซักเลยให้เครื่องทำงานแทน คนมาแยกตอนเป็นผ้าสะอาดผ่านการซักอบแล้ว เป็นการพัฒนาด้านระบบควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ สิ่งแวดล้อมภายในหน่วยงานและรอบ ๆ ในเขตโรงพยาบาลฯ และสุขภาพบุคลากรอีกระดับหนึ่ง จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือหอผู้ป่วยผู้ใช้ผ้าแยกผ้าเปื้อนตามระดับความสกปรกของผ้าตามสีถุงผ้าเปื้อน (จากเดิมใส่รถเข็นโดยตรง) เพราะโปรแกรมเคมี/โปรแกรมการซักกำหนดตามระดับความสกปรกของผ้าต่างกัน ซึ่งผ้าไม่เปื้อนหรือเปื้อนน้อย และผ้าเปื้อนมากคนละโปรแกรม ถ้าซักรวมกันจะซักออกมาไม่สะอาดและมีกลิ่นเหม็น ต้องนำกลับไปซักซ้ำ สิ่งที่อาจารย์กล่าวถึงเป็นการเข้าใจผิดอาจสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจผิดตามไปด้วย เพราะตัวเองก็เป็นแฟนคอลัมน์อาจารย์คนหนึ่งและถูกพาดพิงจึงขออธิบายการแยกผ้าเปื้อนที่หอผู้ป่วย

ประเภทผ้าเปื้อนของห้องคลอด

1. ผ้าใช้แล้วไม่เปื้อน หรือเปื้อนน้อย

- ชุดผู้ป่วยทุกชนิด (เสื้อ กางเกง ผ้าถุง ผ้าขวาง ชุดเจ้าหน้าที่ เสื้อแพทย์ ฯลฯ) ใส่รวมกัน ในถุงสีน้ำตาล

- ผ้าปูที่นอนคนไข้นอนรอคลอด ใส่ถุงสีเทา (ถ้าซักรวมกับผ้าชนิดอื่น ผ้าจะพันกัน และดึงเข้าเครื่องอบยาก)

2. ผ้าเปื้อนมาก

- ผ้าเปื้อนเลือดเป็นลิ่ม, เป็นก้อน + รอยเปื้อนเลือด+อุจจาระ+ อาเจียน + ผ้าปูเตียงทำคลอด+ ผ้ายาง ไม่ต้องสะบัด ให้รวบใส่ถุงพลาสติกสีดำ ไม่ได้ให้แยกตามที่อาจารย์กล่าวถึง มันเกินไป (ไม่ทราบเลยว่าหมอที่เคารพต้องแยกผ้าเอง) ยกเว้นต้องขอความร่วมมือหอผู้ป่วยแยกระดับความสกปรกของผ้า แต่ยังพบใส่ผ้าเปื้อนมากปนมากับผ้าเปื้อนน้อยจำนวนมาก (ดังภาพแนบ) เมื่อประสานกับหอผู้ป่วยก็มักจะได้รับคำตอบว่า “ญาติเอาไปใส่” ก็พยายามเข้าใจ (บางหอผู้ป่วยเข้าใจการทำงานของหน่วยจ่ายผ้ากลาง ให้ความร่วมมือดีมาก แม้จะมีปนมาบ้าง ก็ต้องขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้)

จึงชี้แจงมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจโดยทั่วกัน

หน่วยจ่ายผ้ากลาง/ 1065

ตัวอย่าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท