สุภาษิต


คำว่า "สุภาษิต" เป็นคำสันสกฤตที่ใช้โดยทั่วไปในภาษาไทย ไม่ทราบว่าใช้กันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่คงจะนานพอสมควร

 

ในปทานุกรม ฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2470 ให้ความหมายว่า "น. คำที่กล่าวดี, คำสอน, คำกล่าวอันเคยชิน"

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า "น. ถ้อยคําหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายเป็นคติสอนใจ เช่น รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ นํ้าเชี่ยวอย่าขวางเรือ. (ส.; ป. สุภาสิต ว่า ถ้อยคําที่กล่าวดีแล้ว)"

 

ความหมายของคำว่า สุภาษิต นั้น คงเข้าใจกันดี เพราะในหนังสือ แบบเรียน มักจะยกสุภาษิตมาสอนอยู่เสมอๆ ในที่นี้จึงขอเล่าถึงคำศัพท์ที่ว่า "สุภาษิต"

 

คำนี้เป็นคำสันสกฤต สังเกตง่ายๆ เพราะสันสกฤตใช้ตัว "ษ" (ภาษาบาลีไม่มี) แยกออกง่ายๆ จาก สุ และ ภาษิต

 

สุ เป็นคำเติมหน้า หมายถึง ดี เยี่ยม สวยงาม ง่าย รวดเร็ว ถูกต้อง เหมาะสม มาก ฯลฯ เรามักจะพบคำบาลีสันสกฤตหลายคำที่มี สุ นำหน้า เช่น สุกร สุนัข สุบรรณ สุคนธ์ สุภาพ สุวรรณ สุเมรุ ฯลฯ

 

อีกคำ คือ ภาษิต (สันสกฤต อ่านว่า ภา-ษิ-ตะ) มาจากรากศัพท์กริยา (ศัพท์ทางไวยากรณ์เรียกว่า ธาตุ) ภาสฺ แปลว่า พูด เติม ต เพื่อทำให้เป็นอดีต หรือ กรรมวาจก (passive voice)  แล้วแทรกเสียง อิ ก่อนหน้า ต (ขออธิบายอย่างง่ายๆ แบบนี้ก็แล้วกัน)

 

อย่างนี้ ภาสฺ +อิ+ต  จึงแปลว่า พูดแล้ว, หรือ ถูกพูด  ก็ได้  และศัพท์ที่ได้นี้ (เป็นคำวิเศษณ์ หรือ คำใช้ขยายคำนาม) นำไปใช้เป็นคำนาม หมายถึง คำพูด ก็ได้

 

อธิบายว่า ภาสฺ + อิ + ต ทำไมจึงไม่เป็น ภาสิต ก็เพราะตามหลักสนธิ เมื่อ เสียง ส อยู่หน้า สระ อิ (และสระอื่นบางตัว) ส นั้นจะเปลี่ยนเป็น ษ  ภาส จึง กลายเป็น ภาษิต ด้วยประการฉะนี้

สุ + ภาษิต จึงเป็น สุภาษิต

 

คำว่า สุภาษิต นี้เป็นคำที่สร้างขึ้นแล้วในอินเดีย ในภาษาสันสกฤต (ไม่เหมือนกับอีกหลายคำในภาษาไทย ที่เรานำคำสันสกฤตมาประกอบขึ้นเป็นคำใหม่ ซึ่งแม้จะเป็นคำสันสกฤต แต่ผู้ที่รู้สันสกฤตในอินเดียอาจไม่เข้าใจ) เป็นคำนาม หมายถึง คำพูดที่ดี ให้แง่คิด, การพูดที่ดี ให้แง่คิด หรือ เป็นคำวิเศษณ์ ใช้ขยายคำอื่น ก็ได้เหมือนกัน สรุปว่า น่าจะเป็นความหมายเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยนี้เอง

http://www.ms.uky.edu/~sohum/sanskrit/yogavasishtha/backup/atul/sangraha/subhsangraha.gif

มีวรรณกรรมประเภทสุภาษิต เป็นร้อยกรองสั้นๆ หรือ ประโยคสั้นๆ ที่ให้ข้อคิดดีๆ หลายชิ้น เช่น นีติสาระ, สุภาษิตรัตนโกศ, สุภาษิตรัตนนิธิ, มหาสุภาษิตสังคระห์ (สังเคราะห์) เป็นต้น

cover subhashita ratna bhandagara

หมายเลขบันทึก: 424616เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2011 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณครุบสำหรับข้อมูลดี ๆ เพราะกำลังเขียนงานนี้พอดีขอเอาไปสังเคราะห์เป็นแนวอธิบายนะครับ

สวัสดีครับ Ico48 คุณพิมล มองจันทร์

ยินดีครับ ขอบคุณมากครับที่แวะมา ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท