คณิตศาสตร์การเงิน: เงินเฟ้อ=แรงโน้มถ่วงทางการเงิน


มวล ทำให้เกิดแรงโน้มถ่วง

เงิน ก็ทำให้เกิดแรงโน้มถ่วงที่เรียกว่า เงินเฟ้อ ได้เช่นกัน

เวลามีเงินใหม่ถูกสร้างขึ้นมากเกินกว่าผลิตภาพที่แท้จริง สิ่งที่เกิดขึ้น ก็เหมือนกับผลิตภาพนั้น แพงขึ้น และเงินถูกลง หรือเสื่อมค่าลง

ที่เหมือนแรงโน้มถ่วงนี้อีกอย่างคือ เราหนีมันไม่ได้ เงินอยู่ที่ไหน การเสื่อมค่าลงก็อยู่ที่นั่น

ผมประมาณว่า เงินเฟ้อในไทยประมาณปีละ 5-7 % อย่างไม่เป็นทางการ คำนวณจากราคาสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตหมวดอาหาร ย้อนไปถึงยุคสงครามโลก โดยถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วลองมาคำนวณตามสูตร % เงินเฟ้อ = 100 % คูณ (ln(ราคาวันนี้) - ln(ราคาเมื่อตอนโน้น)) หารจำนวนปีที่เว้นช่วงเวลา

แต่หากไปประเมินจากหมวดสิ่งทอ เราอาจบอกว่า ไม่ใช่ เฟ้อเป็น 0 % ต่างหาก เพราะเสื้อผ้าผู้ชายที่ผมใช้ยี่ห้อประจำ ราคาอยู่ที่เดิมตลอด 25 ปีได้

แต่ผมมองว่า อาหาร เจอบ่อยกว่า เวลาคิด ก็เอาอาหารเป็นตัวตั้ง

แรงโน้มถ่วงนี้ แรงขนาดไหน ลองมาสมมติกันดู

สมมติมนุษย์เงินเดือน มีรายได้ปีละแสน โดยรายได้ปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ แสดงว่า กำลังซื้อเทียบเท่าแสนบาทนี้ อยู่ตรงนั้นตลอด เพราะแม้ดูแล้วเหมือนได้เงินเพิ่มขึ้น แต่ซื้อของได้เท่าเดิมตลอด

คือผ่านไปนาน ๆ เหมือนกับมีเป็นล้าน หรือหลายล้าน แต่กำลังซื้อ อาจเทียบเท่าหลักแสนตอนนี้เท่านั้น

ไม่กี่วันก่อน ละครมนต์รักลูกทุ่ง มีเพลงเก่ามารีรัน ชื่อ สิบหมื่น คือสินสอดสิบหมื่นสมัยหนังนี้สร้างครั้งแรก เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน จริง ๆ แล้วเทียบเท่ากับสมัยนี้ล้านเศษ ๆ

อีกตัวอย่างคือ มีคนสูงอายุในเมืองมาเดินเล่นริมแฟลตตอนหัวรุ่ง คุยกันเสียงดัง คนหนึ่งบอกเพื่อนว่า ตอนเขาหนุ่ม ๆ เงินเดือนซื้อทองได้สองบาท แก่ตัวแล้ว ก็ยังซื้อทองได้สองบาท เหมือนเดิม คือแม้เงินเหมือนเพิ่มขึ้น แต่หน่วยกำลังซื้อ กลับไม่เปลี่ยนแปลง

(ไม่ได้แอบฟังนะครับ แต่คุยซะลั่นยังงั้น ไม่ตื่นมาด่าก็ดีแล้ว ^^!)

ดังนั้น เวลาผมพูดถึงยอดเงิน ผมจึงใช้วิธีคิดให้อิงกำลังซื้อ ณ เวลานี้เป็นหลัก

สมมติต่อว่า เก็บได้เพียง 20 % ของรายได้เสมอ (นิสัยคน ได้มากก็ใช้มาก ได้น้อยก็รู้เจียม) ก็คือ เก็บได้ปีละสองหมื่น

ดังนั้น เมื่อทำงานผ่านไป 40 ปี เราก็น่าจะมีกำลังซื้อเท่ากับเงินเก็บต่อปี คูณระยะเวลา คือ 40 ปี x 2 หมื่นต่อปี หรือ 8 แสนบาท ใช่ไหม ?

คำตอบคือ ไม่ใช่

เรื่องนี้ แล้วแต่คน

คนที่จัดการลงทุนให้เงินโตพอดีเงินเฟ้อ จะทำได้ตามนั้น

แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ลงทุนอะไร ไปฝากธนาคารกินดอกร้อยละ 1 % หรือฝังดิน กลุ่มนี้ ท้ายสุด กำลังซื้อจะลู่เข้าหาค่าคงที่เสมอ ไม่ว่าจะทำงานให้นานขึ้นแค่ไหนก็ตาม

ทำไมผมกล้าฟันธง

เพราะท้ายสุด แม้เงินเก็บใหม่เข้ามา แต่เงินออมเก่าที่พอกพูนขึ้นมาก ก็จะใหญ่พอที่เงินเฟ้อจะฉกไปทำลายโดยสะดวกขึ้นกว่าเดิม

สมมติมีเงินสะสม H ที่เราไม่รู้ว่าเป็นเท่าไหร่

แต่ละปี ส่วนนี้จะเสื่อมไป 0.05 H จากเงินเฟ้อ

แต่ละปี รับเพิ่มเข้ามา 0.2 เท่าของรายได้ต่อปี X

ในระยะยาว ส่วนที่เสื่อมไปเอง จะพอดีกันกับส่วนที่รับเข้ามา ทำให้ 0.05H = 0.2X

แก้สมการ ได้ H = 4X

กรณีนี้ รายได้ปีละแสน ท้ายสุดจะมีเงินเก็บที่มีกำลังซื้อเทียบเท่า 4 แสนเท่านั้นเอง ทั้งที่ดูจากเม็ดเงินแล้ว เหมือนเพิ่มขึ้น แต่หลอกตา เพราะกำลังซื้อจะลดลง ไม่ว่าจะทำงานไปนานเท่าใดก็ตาม ทั้งที่ตอนแรก ดูเหมือนว่า ทำงานนาน น่าจะเก็บได้มากกว่านั้น

ยกตัวอย่างคือ เงินเฟ้อประมาณนี้ ทุก 20 ปี เงินจำนวนเดิม จะมีกำลังซื้อลดลงแบบ หารสาม

ดังนั้น สมมติว่าใช้เงินนี้ไปลงทุน เงินจำนวนเดิมเห็นเหมือนเพิ่มขึ้นเท่าตัวในยี่สิบปี แต่ก็เท่ากับกำลังซื้อไม่เท่าเดิมอยู่ดี เพราะเห็นคูณสอง แต่ผลหารสาม เท่ากับเหลือเพียงสองในสาม

ถ้าเงินเฟ้อน่ากลัว งั้นหาเงินเพิ่มดีกว่าไหม เช่น รายได้เพิ่มสิบเท่า

แต่ต่อให้รายได้ปีละล้าน ท้ายสุดจะเจอกำแพงอันเป็นผลจากเงินเฟ้ออยู่ดี คือเพดานเงินเก็บที่มีกำลังซื้อเทียบเท่า 4 ล้านเท่านั้น ไม่ว่าจะทำงานไปนานเท่าใดก็ตาม

หรือต่อให้เพิ่มรายได้อีก เป็นรายได้ปีละสิบล้าน ท้ายสุดจะมีเงินเก็บที่มีกำลังซื้อเทียบเท่า 40 ล้าน ไม่ว่าจะทำงานไปนานเท่าใดก็ตาม

คำว่ากำแพงนี้ คนทั่วไปจะมองไม่เห็น เห็นแต่เงินที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่เห็นผลทำลายล้างของเงินเฟ้อที่ขึ้นไปเร็วกว่า

ฟังดูน่ากลัว เพราะหาเพิ่มยังไง ก็งั้น ๆ เกษียณแล้วใช้ครึ่งเดียวจากปรกติ ก็จะอยู่ได้ไม่เกินสิบปีเหมือนกันหมด

แต่หากสามารถลงทุนให้ลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อให้เหลือครึ่งเดียว เพดานดังกล่าวจะเขยิบขึ้นเป็นสองเท่าทันที

หรือหากแค่สามารถบริหารเงินให้โตเท่าเงินเฟ้อได้ ก็จะไม่เจอเพดานดังกล่าว

คนที่เขาลงทุนให้แซงเงินเฟ้อได้ จะไม่เจอเพดานที่ว่านี้เหมือนกัน แถมยังจะมีงอกเงยเกินมาด้วย

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 425700เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2011 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วยังเข้าใจไม่แตกฉานมากนัก แต่เข้าใจภาพรวมของเป้าหมายของบันทึกนี้ค่ะ อาจารย์ :)

ตามมาอ่าน ดีใจอาจารย์นกแกรกๆๆมา เย้ๆๆ สวัสดีปีใหม่ไทยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท