ไหมป่าอีรี่


ไหมป่าอีรี่

             ไหม  เป็นเส้นใยธรรมชาติ ผลิตจากรังที่ห่อหุ้มตัวดักแด้ของหนอนไหม เส้นใยไหมมีความมันแวววาวโดดเด่นเป็นแอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่น ชาวจีนรู้จักเลี้ยงไหมเพื่อเอาเส้นใยมาทำเครื่องนุ่งห่มมานานกว่า 4000 ปีแล้ว และถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าของแผ่นดิน สำหรับประเทศไทยมีการเลี้ยงไหมและทอผ้าใช้กันเองในครอบครัวมานานหลายร้อยปีแล้ว แต่การพัฒนาในระดับอุตสาหกรรมเริ่มเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 นอกจากประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเซียแล้ว ชาวยุโรปก็รู้จักเลี้ยงไหมมานานแล้วเช่นกัน ในเวลานั้นไหมถือเป็นผ้าพิเศษที่ทอขึ้นใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินีและขุนนางชั้นสูงเท่านั้น ผ้าไหมเป็นสิ่งที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ท่าสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษถึงลูกหลานที่แต่ละชาติมีความภาคภูมิใจ ผ้าไหมไทย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศทางยุโรป จะมีความแตกต่างกันทั้งเนื้อผ้า ลวดลายปักบนผ้าและศิลปะการถักทอ ซึ่งทำให้ได้ผ้าที่มาคุณลักษณะต่าง ๆ กันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ผ้าไหมที่สวยงามและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นที่รู้จักกันดีนั้น ส่วนมากมาจากไหมหม่อน (mulberry silk, Bombyx mori) ซึ่งกินใบหม่อนเป็นอาหารและมีประวัติการเลี้ยงมายาวนานจนกลายเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างสมบูรณ์ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ

                               

                            รังไหมป่าอีรี่                                       หนอนไหม

 

           นอกจากไหมหม่อนแล้วยังมีไหมป่าที่ให้เส้นใยใช้ทำเครื่องนุ่งห่มได้อีกถึง 8 ชนิด ได้แก่ Antheraea pernyi, A. yamamai, A. proylei, A. assamensis, A.mylitta, A. paphia, Philosamia ricini และ P.cynthia แต่มีเพียง 3 ชนิดคือ ไหมทาซาร์ (tasar silk, Antheraea mylitta และ A. proylei) ไหมมูก้า (muga silk, Antheraea assama) และไหมอีรี่ (eri silk, Philosamia ricini)  ที่มีการเลี้ยงเป็นอาชีพในประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลี ไหมอีรี่แป็นไหมป่าเพียงชนิดเดียวที่มนุษย์สามารถนำมาเลี้ยงได้อย่างสมบูรณ์ครบวงจรชีวิต ส่วนไหมมูก้าและไหมทาซาร์นั้น ในช่วงผสมพันธุ์ต้องเอามาปล่อยไว้ในธรรมชาติบนต้นพืชอาหารมิฉะนั้นผีเสื้อจะไม่ยอมผสมพันธุ์ ประเทศอินเดียและจีนมีการเลี้ยงไหมอีรี่กันมาก เพื่อใช้ทอเป็นผืนผ้าใช้ในครอบครัว ในชุมชนหรือส่งเข้าอุตสาหกรรมไหมปั้นภายในประเทศ

         

          รูปร่างลักษณะและวงจรชีวิตของไหมอีรี่
                ไหมอีรี่ eri silk, Philosamia ricini เป็นผีเสื้อกลางคืนในอันดับ Lepidoptera วงศ์ Saturniidae มีวงจรชีวิตประมาณ 45-60 วัน ในระหว่างเจริญเติบโตจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็น 4 ระยะ คือระยะไข่ 8-10 วัน ระยะตัวหนอน 18-23 วัน ระยะดักแด้ 12-17 วัน และระยะผีเสื้อ 7-10 วัน แม่ผีเสื้อวางไข่สีขาวเป็นกลุ่ม ๆ และวางไข่อยู่ได้หลายวัน เปลือกไข่ค่อนข้างแข็ง เมื่อใกล้ฟักไข่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาและดำ สำหรับแม่ผีเสื้อที่แข็งแรงสมบูรณ์จะวางไข่อยู่ได้หลายวัน เปลือกไข่ค่อนข้างแข็ง เมื่อใกล้ฟักไข่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาและดำ สำหรับแม่ผีเสื้อที่แข็งแรงสมบูรณ์จะวางไข่ได้โดยเฉลี่ยประมาณ 300 ฟอง หลังจากฟักออกจากไข่ หนอนไหมอีรี่จะเริ่มกินพืชอาหารทันทีและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หนอนไหมแรกฟัก ตัวจะมีสีเหลืองน้ำตาล หัวมีสีน้ำตาลเข้มจนดำ ลำตัวแต่ละปล้องจะมีขนสีดำ เมื่อโตขึ้นส่วนหัวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง โดยมีบริเวณสีดำที่แก้มเมื่อถึงวัยสี่และห้า เมื่อขึ้นวัยตามลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล ขนสีดำบนลำตัวเปลี่ยนเป็นหนามสีขาวที่เป็นเพียงก้อนเนื้อที่ไม่แหลมคม หนอนไหมวัยห้าจะกินอาหารมากและตัวโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวหนอนที่โตเต็มที่จะมีขนาดยาว 6.5-7 เซนติเมตร ระยะตัวหนอนจะมีการลอกคราบ 4 ครั้งก่อนเข้าดักแด้ เมื่อไหมสุกพร้อมจะเข้าดักแด้ ลำตัวจะหดสั้นลงและมีสีเหลืองอ่อนใส

                  

                     ผีเสื้อไหมป่าอีรี่                                    ต้น,ใบมันสำปะหลัง

 

            ก่อนเข้าดักแด้หนอนไหมจะหยุดกินอาหาร และถ่ายของเสียออกมาจนหมดกระเพาะ แล้วตัวหนอนจะเริ่มเดินไปมา เพื่อหาที่เหมาะสมต่อการทำรังเข้าดักแด้ โดยปกติมักเป็นตามมุมที่หลบซ่อนได้ จากนั้นจะเริ่มทำรังหุ้มตัวเอง ด้วยการคายสารออกมาจากต่อม silk glands สารนี้เมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวเป็นเส้นใย หนอนไหมจะใช้เวลาทำรังเสร็จภายใน 3 วัน ตัวหนอนจะฟักอยู่ภายในรังและเริ่มเข้าดักแด้ ลำตัวดักแด้อ้วนตันมีสีน้ำตาล มีขนาดโดยเฉลี่ย 1.2x2.8 เซนติเมตร โดยเพศเมียจะมีขนาดใหญ่ เมื่อกางปีกเต็มที่จะยาวถึง 4-5 นิ้ว ปีกมีสีน้ำตาลดำปนเทาและมีเส้นขวางกลางปีกสีขาว ตรงกลางของแต่ละปีกจะมีรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวสีเหลืองขาวตัดขอบด้วยสีดำส่วนท้องของตัวผู้จะเล็กกว่าตัวเมีย ตัวผู้ที่ออกจากดักแด้ใหม่ ๆ จะเกาะนิ่งห้อยตัวลงมาปราณ 1-2 ชั่วโมงจนปีกแห้ง หลังจากนั้นจะกระพือปีกและเริ่มเข้าหาตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ ตัวเมียจะวางไข่ตอนกลางคืน และอาจวางไข่ได้ 2-3 คืน ผีเสื้อไม่บินและไม่กินอาหาร

 

           ไหมอีรี่สามารถเลี้ยงได้ตลอดปีประมาณ 4-5 รุ่นต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่สามารถเลี้ยงได้ทั้งในที่สูงและที่ราบ และที่อุณหภูมิช่วงตั้งแต่ 25 ถึง 45 C (Sarkar, 1988) ไหมอีรี่กินใบละหุ่งและใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร การทดลองเลี้ยงไหมอีรี่ด้วยพืชอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น ใบละหุ่ง มันสำปะหลัง มะละกอ อ้อยช้าง สบู่ดำ มะยมป่าและสันปลาช่อน พบว่าใบละหุ่งใช้เลี้ยงไหมอีรี่ได้ดี่สุด รองลงมาคือใบมันสำปะหลัง ส่วนพืชอื่น ๆ นั้นอาจใช้ทดแทนกันได้ระยะหนึ่งในช่วงที่พืชอาหารหลักขาดแคลน แต่ไม่สามารถใช้เลี้ยงจนครบวงจรชีวิตได้ (ทิพย์วดี และคณะ 2535 : Sengupta and Singh,1974) ในการเลี้ยงไหมอีรี่สามารถใช้ใบมันสำปะหลังและละหุ่งสลับกันได้ (Joshi and Misra, 1982) นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า ใบของต้นมันลาย มันต้น และใบลั่นทมสามารถใช้เลี้ยงไหมอีรี่ได้เช่นกัน (Sivilai et al. 2004)

 

          

     ลักษณะของรังและเส้นใยไหมอีรี่
                รังไหมอีรี่ที่สร้างขึ้นห่อหุ้มตัวเองตอนเข้าดักแด้ เป็นเส้นใยที่ประกอบด้วยสาร dibroin ล้อมรอบด้วยสาร sericin ซึ่งเป็นสารเหนียวเพื่อประสานเส้นใยให้เป็นรังหุ้มหนอนไหมไว้ รังไหมอีรี่ลักษณะยาวเรียวสีขาวค่อนข้างแบนขนาดเฉลี่ย 2.1x4.8 เซนติเมตร เส้นใยจะสานกันหลวมกว่ารังไหมหม่อน ปลายข้างหนึ่งค่อนข้างแหลม ปลายอีกข้างหนึ่งของรังจะเปิดเป็นช่องเล็ก ๆ เพื่อให้ผีเสื้อออกจากรังได้ ต่างจากรังไหมหม่อนซึ่งมีรังปิดหมดทุกด้าน เส้นใยไหมอีรี่จึงมิได้เป็นเส้นเดียวยาวตลอดเหมือนไหมหม่อน แต่จะเป็นเส้นสั้น ๆ วิธีดึงเส้นใยออกจากรังไหมอีรี่ที่ดีที่สุด คือใช้วิธีปั่น (spun) แบบเดียวกับการปั่นฝ้าย ไม่ใช้วิธีสาว (reel) แบบไหมหม่อน การปั่นเส้นใยออกจากรังไหมอีรี่จำเป็นต้องละลายสารเหนียวที่เคลือบเส้นไหมออกก่อนนำไปปั่น โดยอาจใช้สารละลายด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์ การละลายสารเหนียวออกก่อนทำให้ได้เส้นใยปริมาณมาก มีคุณภาพดี ปั่นออกง่าย และเส้นไม่เปื่อยยุ่ย (วราพิชญ์ 2539) เส้นไหมปั่นเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมด้ายปั่นมาก เพราะเส้นไหมมีความเหนียวและยาวกว่าเส้นใยฝ้าย มีความแวววาวสวยงามกว่าฝ้าย และราคาดีกว่าฝ้าย ในปัจจุบันอุตสาหกรรมไหมปั่นต้องอาศัยวัตถุดิบจากเศษไหมหม่อนหรือรังไหมหม่อนที่เสียและสาวไม่ได้ ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้มีไม่เพียงพอจะป้อนโรงงานไหมปั่น (สุธรรม 2534) อย่างไรก็ตามอาจดึงเส้นใยจากรังไหมอีรี่ด้วยวิธีการสาวได้เช่นกัน โดยใช้เครื่องสาวไหมพื้นบ้านที่เกษตรกรมีอยู่ หรือเครื่องสาวไหมแบบใหม่ที่มีการพัฒนาปรับปรุงขึ้นมาใช้ การดึงเส้นใยจากรังไหมอีรี่ไม่ต้องต้มรังโดยยังมีดักแด้อยู่ในรัง เพราะรังเป็นแบบรังเปิด สามารถตัดเปลือกรังหรือรอให้ผีเสื้อออกมาก่อนจึงนำรังไปต้ม ทำให้ไม่ขัดต่อความรู้สึกของผู้ใช้ที่ไม่ต้องการฆ่าตัวไหม เส้นไหมอีรี่ที่สาวได้จะมีลักษณะฟู เส้นเป็นปุ่มปมไม่เรียบ

 

    

                  เส้นไหมอีรี่ก่อนย้อมสี                           เส้นไหมอีรี่หลังย้อมสี 

                     

            เส้นไหมอีรี่ติดสีได้ดีไม่ว่าจะใช้สีสังเคราะห์หรือสีธรรมชาติ ปัจจุบันมีความสนใจผ้าพื้นเมืองที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติมาก เพราะสีธรรมชาติให้สีที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาด ดูสบายตาและไม่เบื่อง่าย ที่สำคัญคือสีธรรมชาติละลายน้ำได้และมีจุลินทรีย์ย่อยสลายได้ ทำให้ไม่ตกค้างก่อให้เกิดมลพิษ จึงปลอดภัยต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อม วัตถุดิบในท้องถิ่นหลายชนิดให้สีต่าง ๆ กันทำให้เกิดความหลากหลายของสีย้อมที่มีความสวยงามต่างกันไป ได้มีการย้อมเส้นใยไหมอีรี่ด้วยสีธรรมชาติหลายชนิด เช่น สีที่ได้จากใยมะพร้าว เปลือกประดู่ มะเกลือดิบ ใบขี้เหล็ก ขมิ้น ครั่ง ใบหูกวาง ใบสบู่เลือด เปลือกต้นมะม่วงหิมพานต์ เปลือกเมล็ดฝางแดง และมะเกลือ เป็นต้น พบว่าเส้นใยไหมอีรี่ติดสีได้ดีและสวยงามแปลกตามาก

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 426429เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2011 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท