รู้สึกถึงคนเป็นครู


“เราเป็นครู... มีหน้าที่สั่งสอนเขา เราจะเบื่อการสอนหรือให้คำแนะนำเขาได้ยังไงกัน ยังไงเสีย เด็กๆพวกนั้นเขาก็เป็นลูกศิษย์”

ถึงแม้ผู้เขียนจะมิใช่ “ครู” แต่ด้วยชีวิตที่คลุกคลีกับผู้มีอาชีพ “ครู”อย่างใกล้ชิดทั้งที่บ้านและที่ทำงานทำให้สัมผัสได้ว่า... ผู้ที่เป็น “ครู” ต้องเป็นผู้ที่เป็น “ครูด้วยจิตวิญญาณ”จริงๆ จึงสามารถสร้างศิษย์ให้เป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคมได้

ผู้เขียนหมายความถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไวเหมือนติดจรวด ทำให้เด็กๆในช่วงที่ยุคสมัยไม่ต่างกันมากกลับมีพฤติกรรมที่ต่างกันมาก

ผู้เขียนมักนั่งทำงานเย็นๆในห้องอาหารที่ๆทำงานซึ่งถือเป็นรางวัลสำหรับตนเองที่ได้พักผ่อนภายหลังจากเสร็จภารกิจของงานหลัก สู่โลกแห่งความคิดและจินตนาการของตนเอง...เงียบๆ...

เคยได้ยินอาจารย์ท่านปรารภกันผ่านหู ทีเล่นทีจริงถึงความรู้สึกเบื่อหน่ายกับการทำงานของลูกศิษย์ที่อาจารย์มองว่า... ไม่ค่อยขยัน ไม่ค่อยใส่ใจ ไม่รอบคอบ ทำไมแค่นี้ก็ทำไม่ได้... สอนไม่จำ

ผู้เขียนเองซึ่งไม่ใช่ครูแต่ต้องคอยกำกับดูแลน้องๆคล้ายๆครูก็เคยรู้สึกเช่นนี้ จึงเข้าใจอาจารย์ท่านนั้นดีเมื่อเวลาเจอน้องที่มีพฤติกรรมการทำงานแบบ “...ไม่ได้ดั่งใจเล้ย...” เคยถอนหายใจ แล้วบอกตนเอง(ในใจ)ว่า “เหนื่อยที่ต้องพูดเรื่องเดิมๆ...ซ้ำๆ”..

ในขณะเดียวกับที่อาจารย์ผู้ใหญ่อาวุโสมากท่านหนึ่งกล่าวกระตุกหัวใจว่า

“เราเป็นครู... มีหน้าที่สั่งสอนเขา เราจะเบื่อการสอนหรือให้คำแนะนำเขาได้ยังไงกัน ยังไงเสีย เด็กๆพวกนั้นเขาก็เป็นลูกศิษย์”

ภายหลังจากผู้เขียนได้ยินแม้ผูเขียนมิใช่ครูแต่ก็รู้สึกได้... ถึง...แสงสว่างทางความคิด...

ผลลัพธ์ของการขาดการจ้ำจี้จ้ำไชเด็กๆในอดีตของหลายๆคน อาจด้วยเพราะพื้นฐานเป็นคนใจดี เกรงใจเด็ก กลัวเด็กโกรธ กลัวเด็กไม่รัก กลัวโดนประเมินไม่ดี  กลายเป็นการทำร้ายเด็กๆทางอ้อมอย่างไม่ตั้งใจ เพราะเด็กๆบางคนขาดการเติมเต็มในสิ่งที่ควรได้

ดังนั้น...ชีวิตครู จึงต้อง “พูดมาก...ปากเปียกปากแฉะ...” เป็นธรรมดา

นี่ขนาดผู้เขียนเป็นแค่พี่เลี้ยงน้องๆที่คอยช่วยพยาบาลผู้เข้าฝึกอบรมวิสัญญีพยาบาลยังขนาดนี้...จึงไม่น่าสงสัยกับภารกิจการเรียนการสอนของผู้มีความรับผิดชอบโดยตรง โดยเฉพาะ...ทีมอาจารย์แพทย์

ปีนี้ผู้เขียนเริ่มจากการปรับปรุงตนเองด้วยการ บ่นในใจให้น้อยลง...กลับอ้าปากบ่นให้คำแนะนำน้องๆเป็นยายแก่ขี้บ่นมากขึ้น เพราะเข้าใจแล้วว่า “นี่คือบทบาทของผู้สอนโดยตรง... บทของผู้อยากให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดี ถูกต้องและเหมาะสม” จริงๆ

และผู้เขียนก็อดทนในการสอนเรื่องซ้ำๆมากขึ้น เพราะบอกกับตนเองว่า “สิ่งที่เราเบื่อ อาจเป็นครั้งที่ร้อยหรือครั้งที่หลายร้อยแล้วสำหรับเรา...แต่มันอาจเป็นครั้งแรกที่มีคุณค่าต่อชีวิตการทำงานของเขา...”

เพื่อความปลอดภัยในการประกอบวิชาชีพของเขาในอนาคตนั่นแหละ

คำสำคัญ (Tags): #km md kku#บทบาทของครู
หมายเลขบันทึก: 426669เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2011 01:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท