BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ชีวิตสมภาร ๒ : ภาษีสังคม


ชีวิตสมภาร ๒ . ภาษีสังคม

ภาษีสังคม ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่เข้าใจ เมื่อเติบโตขึ้นมาก็ค่อยๆ สำเนียกความหมายและความสำคัญของเรื่องนี้...

ตามความเห็นส่วนตัว ภาษีสังคม คือ สิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเงินซึ่งจะต้องจ่ายหรือควรจ่ายเพื่อสถานภาพทางสังคม สำหรับคนทั่วไปก็เช่น ช่วยงานศพงานบวชงานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานวันเด็กในซอย เป็นต้น... ซึ่งภาษีสังคมนี้ บางครั้งเราก็ยินดีจ่าย บางครั้งก็ไม่ค่อยยินดี หรือบางครั้งก็จำใจจ่าย...

สองปีก่อนเมื่อยังเป็นสมภารเถื่อน คือไม่มีตราตั้งอะไรรองรับ แต่ดูแลและรับผิดชอบทุกอย่างภายในวัด คราวใดที่มีฏีกาเข้ามา ผู้เขียนมักจะไม่จ่าย โดยอ้างว่ามิใช่เจ้าอาวาส... จะจ่ายบ้างก็เฉพาะเครือข่ายส่วนตัว ซึ่งจำเป็นหรือยินดีจ่าย แต่มิใช่จ่ายในฐานะเจ้าอาวาส...

เมื่อแรกเป็นเจ้าอาวาสนั้น ผู้เขียนก็คุยกับเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องที่เป็นเจ้าอาวาสว่า ใบฏีกาที่วัดต่างๆ ส่งมานั้น ผู้เขียนตั้งใจว่าจะไม่ไปเป็นปกติ และจะไม่ส่งใบฏีกาไปตามวัดต่างๆ แต่สภาพความเป็นจริงที่จะต้องไป ควรจะไป หรือจำใจไป ก็ค่อยๆ มากขึ้นๆ

ประการแรกก็คือในเขตอำเภอเมือง ตอนที่ผู้เขียนจัดงานศพอดีตเจ้าอาวาสนั้น ทุกวัดภายในเขตอำเภอเมืองจะมาร่วมเป็นเจ้าภาพทุกคืน โดยผลัดเปลี่ยนคืนละตำบล ซึ่งการที่คณะสงฆ์ช่วยในครั้งนั้นทำให้ผู้เขียนจัดงานศพไปได้โดยสะดวก ดังนั้น จึงตั้งใจว่า ในเขตอำเภอเมืองจะต้องไปเพื่อแสดงอุปการคุณตอบแทน...

ต่อมาก็คือวัดนอกเขตอำเภอเมือง ซึ่งผู้เขียนคุ้นเคยเป็นการส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือวัดแถวอำเภอสทิงพระบ้านเกิด หลายวัดผู้เขียนเคยอยู่เคยนอน เมื่อยังไม่เป็นสมภารนั้น ฏีกาจากวัดเหล่านี้จะไม่ส่งมา ส่วนตัวผู้เขียนเองถ้าทราบข่าวและโอกาสสะดวกก็มักจะไปร่วมช่วยงานตามกำลัง... แต่เมื่อเป็นสมภาร วัดเหล่านี้ก็เริ่มส่งฏีกามาให้ (........)

บางวัดมีสายใยกับวัดยางทองมานาน คล้ายๆ จะเป็นเครือญาติ เช่นอดีตเจ้าอาวาสวัดยางทองรูปหนึ่งเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ท่านเป็นชาวอำเภอเทพา ลูกหลานของท่านยังมาพักมาบวชแก้บ่นที่วัดยางทอง หากทางวัดยางทองบอกงานไปเค้าก็จะมา เมื่อเค้าบอกงานมา ในฐานะสมภารวัดยางทอง ผู้เขียนก็ควรจะไป เพื่อสานต่อสายใยอันยาวนานนี้ไว้...

ญาติโยมคนเก่าคนแก่ของวัดและคนใกล้วัดข้างวัด ใครถึงแก่กรรม ในฐานะเจ้าอาวาส ก็ต้องมีน้ำใจร่วมทำบุญบ้างตามสมควร... นอกจากนั้นก็ยังมีญาติสนิทมิตรสหายทั้งใกล้และไกล เมื่อมีโอกาสก็ควรจะไป...

นอกนั้นก็ยังมีงานของคณะสงฆ์ เช่น ประชุมพระนวกะประจำปีซึ่งเดียวนี้บังคับวัดละสองพัน หรือตอนนี้ทางคณะสงฆ์จังหวัดสงขลากำลังจัดสร้างพุทธมณฑลประจำจังหวัด ส่วนหนึ่งที่เรี่ยไรก็คือวัดต่างๆ ก็ต้องจ่ายทุกครั้งที่บอกมา... ยังมีหน่วยงานราชการบางหน่วยที่เรี่ยไรจากวัด เช่น โรงพยาบาลต่างๆ ภายในจังหวัดจะมีการทอดผ้าป่าประจำปี ก็บอกบุญมายังวัดต่างๆ เป็นต้น

....ฯลฯ....

จะเห็นได้ว่าภาษีสังคมของวัดซึ่งสมภารมีหน้าที่จะต้องดำเนินการนั้นมีมากมาย แต่สภาพความเป็นจริงของแต่ละวัดนั้นแตกต่างกัน เช่น บางวัดมีรายได้สูง มีเงินเหลือมหาศาล สมภารจึงไม่เดือดร้อน... บางวัดแม้ไม่มีรายได้ แต่สมภารมีความสามารถสูงหาเงินได้เยอะก็อาจไม่เดือดร้อน... ส่วนบางวัดนั้นไม่มีรายได้ สมภารก็มีความสามารถธรรมดาๆ ก็อาจยุ่งยากในการจัดการภาษีสังคมเหล่านี้ให้เกิดความเหมาะสมได้ ซึ่งผู้เขียนก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มนี้

ในฐานะสมภารใหม่ ผู้เขียนวิเคราะห์เรื่องนี้มาหลายเดือนแล้ว สภาพความเป็นจริงของวัดยางทอง แม้จะอยู่ในย่านคนค่อนข้างมีฐานะ แต่วัดนั้นไม่มีรายได้เฉพาะเลย สภาพเดิมของวัดก็มีปัญหาสั่งสมมานานจนคนไม่ค่อยจะเข้าวัด ส่วนฐานมวลชนของผู้เขียนในฐานะสมภารใหม่ก็อ่อนแอ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหา...

ดังที่เคยปรารภหลายครั้งว่า วัด แม้จะเหมือนกันแต่ก็แตกต่างกัน เช่น บางวัดนั้น แม้จะไม่ได้อยู่ท่ามกลางคนมีอันจะกินและไม่มีรายได้เฉพาะ แต่ฐานมวลชนเข้มแข็ง พอมีฏีกาผ้าป่าจากวัดอื่น ก็ชวนกันไปร่วมบุญ โดยการเหมารถคันหนึ่ง แล้วก็ลงขันเก็บคนละร้อยสองร้อย หักค่ารถแล้วก็ทำบุญ ทางวัดไม่เดือดร้อน... หรือบางวัด ญาติโยมประจำวันพระมีเกือบร้อยคน พอท่านสมภารบอกบุญวันพระว่ามีผ้าป่า ก็ร่วมลงขันให้ท่านสมภารไปทำบุญ สมภารก็ไม่เดือดร้อน...

แต่บางวัด เช่นวัดยางทองปัจจุบัน ถ้าสมภารจะไปผ้าป่าหรืองานอะไรก็ตาม ต้องควักย่ามเอง ซึ่งปัจจุบันทำบุญในฐานะวัดราคาขั้นต่ำก็หนึ่งพันบาท หรือตัวอย่างก็ทอดกฐินปีที่ผ่านมา สมภารรุ่นน้องระดับลูกศิษย์พาญาติโยมมาร่วมทำบุญที่วัดพันสามร้อย ผู้เขียนก็ต้องกลับไปช่วยพันห้าร้อย นอกจากนี้ยังมีค่าน้ำมันและค่าคนขับรถอีก...

ประเด็นภาษีสังคมของวัด เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนในฐานะสมภารต้องดำเนินการตามความเหมาะสม ไม่ทำก็ไม่ได้เพราะเราอยู่กับสังคม ทำมากก็ไม่ได้เพราะทุนน้อย ทำน้อยเกินไปก็ไม่ได้เพราะ... ปลื้มใจอยู่อย่างเดียว พวกบอกว่าการเป็นสมภารวัดที่มีสภาพตกต่ำ อย่างเช่นวัดยางทอง ถ้าไปได้ดีขึ้น บ่งชี้ถึงความสามารถของสมภารคนใหม่...

สรุปว่า ภาษีสังคม เป็นประเด็นสำคัญที่พิสูจน์สมภารใหม่ ไม่ว่าสภาพความเป็นจริงของแต่ละวัดจะเป็นอย่างไรก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 428795เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2011 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • นมัสการท่าน
  • เป็นงานใหญ่เลยนะครับ
  • ภาษีสังคม
  • ถ้าเราไม่มี ไม่ทำไม่ได้หรือครับ
  • ก็ไม่มีจะไปเอาเงินที่ไหนมา
  • ก็พระพุทธองค์ยังสอนว่าอย่าสะสม 555
  • เป็นปัญหาที่หนักจริงๆด้วยครับ

Ico48 ขจิต ฝอยทอง

  • ไม่มีนะ ไม่ทำอยู่แล้ว (........)
  • เงินนะมี เช่นเงินบูชาธรรมวันพระ ที่วัดก็ประมาณ 500-800 ในแต่ละวันพระ
  • อย่าอ้างพระพุทธองค์ลอยๆ และง่ายๆ บาปนะอาจารย์ (.....)

โลกแห่งชีวิตจริง และโลกแห่งอุดมคติ...

ส่วนตัว ส่วนวัด และส่วนรวม...

อีกอย่างหนึ่ง หน้าที่ ความรับผิดชอบ และความพอใจส่วนตัว...

การแยกแยะและดำเนินการเรื่องเหล่านี้ จัดว่าเป็นปัญหาของคน

เจริญพร

...ภาษีสังคม...เป็น คลื่นลม..ทะเลเงิน..ที่พัดผ่านวัด..ได้เหมือนกันนะ..เจ้าคะนึกว่าจะเจอแต่ฆราวาส..อ้ะ...นมัสการเจ้าค่ะ..ยายธี

สวัสดีนะครับ   เห็นด้วยกับท่านอาจารย์มหา

    เพราะผมก็ประสบปัญหาอันนี้เหมือนกัน  และยิ่งนานไป จะเป็นเหมือนคำทำนาย คือ พระสงฆ์ก็จะเหลือแต่พระที่เอาผ้าเหลืองห้อยหู(ความหมายโดยนัยว่า-พระสงฆ์จะเหลือแต่ตำนานว่า สมัยโบราณมีพระสงฆ์นะ ได้ยินมาอย่างนี้/ผ้าเหลืองห้อยหู ก็คือได้ยินมาอย่างนี้)

    พุทธศาสนิกชน ถ้าท่านใดไม่เคย บวชแล้วอยู่ในฐานะสภาพนี้แล้วย่อมไม่รู้แน่

พระอาจารย์ครับ

พระ กับ ฆราวาส เจอปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็น ผู้บริหาร

แต่พระอาจารย์ก็ยังดีที่เสียแต่ภาษีสังคม ไม่ต้องเสีย ภาษีเงินได้ (อย่าให้สรรพากรนึกออกเชียวนะขอรับ)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท