หน้าที่ของครูในฐานะผู้รับมรดก


วันก่อนได้พูดคุยกับเพื่อนอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย ในวงสนทนานั้นได้ยกอายะฮฺอัลกุรอานอายะฮฺหนึ่ง ในซูเราะฮฺอัลญุมอะฮฺที่ว่า

(2) พระองค์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งเราะซูล(ศาสนฑูต)ขึ้นคนหนึ่งในหมู่ผู้ไม่รู้จักหนังสือจากพวกเขาเอง เพื่อสาธยายอายาต(สัญญาณ)ต่าง ๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และทรงขัดเกลาพวกเขา และทรงสอนคัมภีร์และหิกมะฮฺ(วิทยปัญญา)แก่พวกเขา และแม้ว่าแต่ก่อนนี้พวกเขาอยู่ในการหลงผิดอย่างชัดแจ้งก็ตาม (อัลกุรอาน 66:2)

ก่อนที่เราจะมาดูความหมายโดยภาพรวมของอายะฮฺนี้แล้ว เรามาศึกษาในแต่ละคำที่อัลลอฮฺทรงใช้ในอายะฮฺนี้

  • เราะซูล (رَسول) คือ ฑูตของพระองค์ ผมใช้ในที่นี้ว่า ศาสนฑูต ณ ที่นี้หมายถึงมนุษย์คนหนึ่งที่อัลลอฮฺได้แต่งตั้งเขา มาสั่งสอนมวลมนุษย์ศาสนาของพระองค์ (บางครั้งคำว่า เราะซูล นี้พระองค์ใช้แทนมะลาอิกะฮฺ สิ่งพระองค์ทรงสร้างอีกชนิดหนึ่งที่มารับใช้พระองค์)
  • เราะซูล นี้ บ้านเราจะติดปากเรียกว่า นบี และนบีของอัลลอฮฺนั้นมีมาก ภาระงานของนบีกับเราะซูลไม่เหมือนกัน บางครั้งหรือนบีบางท่านถูกสั่งในปรับแต่งตัวเขาให้เข้ากับสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการ แต่เราะซูลนี้นอกจากต้องปรับแต่ตนเองแล้วตั้งสั่งสอนคนอื่นด้วย
  • อัลได้แต่งตั้งเราะซูลขึ้นคนหนึ่งในระหว่าง อัลอุมมี(الْأُمِّيِّينَ)หรือผู้ไม่รู้หนังสือ อิบนุกะษีรฺบอกว่าคือคนอาหรับ คือคนอาหรับก่อนหน้านี้ไม่มีคัมภีร์สำหรับเขา ไม่เหมือนพวกนาศอรอ(คริสต์)หรือยิว ญะลาลีนบอกว่า คือ คนอาหรับและคนไม่รู้หนังสือ เขียนไม่ได้อ่านไม่ออก และในที่นี้หมายถึงคนอาหรับและคนไม่รู้หนังสืออื่นๆ
  • แน่นอนคนที่ไม่รู้หนังสือคือคนที่ไม่ได้อ่านหนังสือ หนังสือที่ถูกต้องเที่ยงตรง ฃและมีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตให้มีความสุขคือศาสนาอิสลาม ดังนั้นคนที่ไม่รู้ศานาหรือความจริงทั้งหมดก็ร่วมอยู่ในผู้ไม่รู้หนังสือนี้ด้วย
  • หน้าที่ของเราะซูล คือ (يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِهِ) สาธยายอายาตปรากฎการณ์ต่างๆรอบๆตัว หรืออ่านคัมภีร์ของพระองค์และในสมัยเราก็คืออ่านอัลกุรอานให้มนุษย์(ผู้ไม่รู้)ฟังเข้าใจ เชื่อและตระหนัก
  • และขัดเกลาพวกเขาให้บริสุทธิ์(وَيُزَكِّيهِمْ) บริสุทธิจากความเชื่อที่ผิด ความเชื่องมงาย บริสุทธิจากพฤติกรรมที่พระองค์ไม่พึงประสงค์ เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วพฤติกรรมที่เกิดขึ้นย่อมเป็นไปตามจิต
  • สอนคัมภีร์ (وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ) คือ อัลกุรอาน เพื่อให้ยึดหลักอย่างมั่นคงกับอัลกุรอาน ถือปฎิตามคำสั่งในอัลกุรอานอย่างเคร่งครัด เป้าหมายคือ ความสุขทั้งบนโลกนี้และโลกอะเครัต ไม่เฉพาะสร้างสุขแก่ตัวเอง ยังสร้างสุขแก่คนรอบข้างและทุกคนในโลกด้วย
  • และสอนหิกมะฮฺ (وَالْحِكْمَةَ) ในที่นี้ผมได้แปลตามที่บางคนเขาแปลว่า วิทยปัญญา อัลหะซันกล่าวว่าหมายถึงซุนนะฮฺ อิบนุอับบาซบอกว่าคือหนังสือที่ขีดเขียน ในสมัยก่อนถ้ามีขีดเขียนนั้นหมายถึงสิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เช่น กฎระเบียบต่างๆ มาลิก อิบนุอะนัซ กล่าวว่า การเข้าใจในเรื่องศาสนา (อัลกุรฏุบีย์) อัฏเฎาะบะรีย์บอกว่า คำว่า หิกมะฮฺในที่นี้หมายถึงด้วยหิกมะฮฺ คือ ด้วยแนวทางที่ท่านเราะซูลได้วางไว้ หรือวิธีการที่ชาญฉลาด อ่อนโยน ยืดหยุ่น หรือที่เราเรียกว่าด้วยวิธีการทางจิตวิทยา

อายะฮฺนี้เกี่ยวข้องกับเราตรงไหน... รายงานจาก อะบูดารฺดาอฺว่า ท่านนบี-ศ็อลลอลลอฮฺุอะลัยฮิวะซัลลัม- กล่าวว่า

وإنَّ العلماء ورثةُ الأنبياء

(แท้จริงบรรดาผู้รู้เป็นผู้สืบทอดมรดกจากบรรดานบี) บันทึกโดย อะบูดาวูด

ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นครู-อาจารย์ เราก็คือผู้รู้ และหน้าที่เราก็เป็นหน้าที่เดียวกับท่านนบี คือ

  • สอนคนไม่รู้หนังสือ คือ คนไม่มีความรู้ โดยเฉพาะในเรื่องศาสนา หรือรู้แบบผิดๆ
  • พูด กล่าว กระตุ้น ให้เขาตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของสิ่งที่อัลลอฮฺสร้างมาและผู้ทรงสร้าง
  • อ่านอัลกุรอาน ให้เขาฟัง บรรยายให้เขาเข้าใจ โน้มเน้าให้เขาปฎิบัติตาม
  • ขัดเกลา หรือ อบรมสังสอนพวกเขาให้เป็นคนที่ห่างไกลจากการประพฤติในสิ่งที่อิสลามไม่ต้องการ
  • ในการสอนนั้นต้องเป็นไปอย่างนุ่มนวล อ่อนโยน ยืดหยุ่น ใช้หลักการทางจิตวิทยาช่วยในการสอนเขา
  • แม้ว่าก่อนหน้านี้เขารู้มาแล้ว แต่ถ้ารู้อย่างผิดๆ เราก็ต้องแก้ไข
หมายเลขบันทึก: 429529เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท