วิจัยในชั้นเรียน


 

  

  

  

 

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บเพจนางณัฐฐิญา  แนวจำปา

นักศึกษาดุษฎีบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี

 

 

นางณัฐฐิญา  แนวจำปา

ครูวิทยฐานะชำนาญการ โรงเรียนวารินชำราบ

e-mail : [email protected]

website : http://gotoknow.org/blog/nuttiya

mobile : 08-6247-8445

 
 
 
 
 
การวิจัยในชั้นเรียน
 
               พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2545 หมวดที่ 4 ว่าด้วยแนวการจัดการศึกษา มาตรา 24 (5) มีใจความสำคัญดังนี้ “ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกัน จากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ”และมาตรา 30 กล่าวว่า “ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถใช้กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา”แนวคิดเรื่องการปฏิรูปการทำงานของครู  ครูต้องทำวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน
ความหมายของการวิจัยในชั้นเรียน
การวิจัยในชั้นเรียนเป็นกระบวนการในการแก้ปัญหาหรือพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนที่        ครูรับผิดชอบอย่างเป็นระบบ  เพื่อสืบค้นให้ได้สาเหตุของปัญหา  แล้วหาวิธีแก้ไขหรือพัฒนาที่เชื่อถือได้ เช่น        การสังเกต จดบันทึก และวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนของครู และพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีคุณภาพตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อส่งเสริมผู้เรียนให้ได้รับการพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
ความสำคัญของการวิจัยในชั้นเรียน
การแก้ปัญหาหรือการพัฒนาผู้เรียนในชั้นเรียนด้วยกระบวนการวิจัยที่ครูผู้สอนเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นสิ่งที่จะให้ผลดีแก่ผู้เรียนมากกว่าการที่ครูแก้ปัญหาในชั้นเรียนของตนตามผลการวิจัยของผู้อื่น เนื่องจากครูผู้สอนเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้เรียนมากที่สุด ครูจึงย่อมรู้ธรรมชาติ  ภูมิหลังและสภาพแวดล้อมของผู้เรียนของตนดีกว่าผู้อื่น  แต่ครู ก็ต้องพยายามศึกษา  ค้นคว้าหาแนวทางการแก้ปัญหาการเรียนการสอนที่ผู้อื่นทำวิจัยไว้  เพื่อนำมาเป็นฐานความคิดในการปรับนำไปใช้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนของตน และจะได้รู้ถึงข้อควรระวังที่ผู้วิจัยคนก่อนได้นำเสนอไว้ เพื่อป้องกันความผิดพลาดซ้ำรอยเดิม   รวมทั้งควรปรึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ภายในโรงเรียน หรือบุคคลภายนอกเพื่อปรับแนวคิดและประสบการณ์เหล่านั้น มาใช้เป็นแนวทางที่นำมาใช้แก้ปัญหา ในชั้นเรียนของตนได้อย่างมั่นใจต่อไป
การวิจัยในชั้นเรียนจึงไม่ใช่สิ่งใหม่ที่แปลกแยกไปจากการพัฒนาการเรียนการสอนซึ่งเป็นงานในหน้าที่ของครูโดยทั่วไป และไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากเกินความสามารถของครู แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาการเรียนการสอนเป็นงานที่ต้องใช้เวลา  และต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง  การวิจัยในชั้นเรียนจึงไม่ใช่การวิจัยที่ทำเพียงครั้งเดียวแต่ควรทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นปกติของงานในหน้าที่ในการแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนของครู
ระโยชน์ของการวิจัยในชั้นเรียน
การวิจัยในชั้นเรียนมีประโยชน์ต่อผู้เรียน  ครู  โรงเรียน  และวงการการศึกษา  ดังนี้
                   1. ประโยชน์ต่อผู้เรียน เนื่องจากผู้เรียนในชั้นเรียนมีความรู้ความสามารถพื้นฐานแตกต่างกัน ถ้าครูใช้รูปแบบการสอนเพียงแบบเดียวกับผู้เรียนทุกคน อาจทำให้ผู้เรียนบางคนไม่ได้รับการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา   ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึงปัญหาอื่น  เช่น  จากปัญหาพฤติกรรมการเรียนส่งผลกระทบไปถึงปัญหาความประพฤติ  ส่งผลกระทบไปถึงครูวิชาอื่น  ครูที่รับช่วงในชั้นต่อไป  โรงเรียน  และสังคมโดยส่วนรวม    จึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องพยายามวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา  แล้วคิดหาทางแก้ปัญหาจนสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนให้ดีขึ้น  พัฒนาผู้เรียนให้เกิดการใฝ่รู้  ใฝ่เรียน  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และไม่มีปัญหาการเรียนอีกต่อไป ซึ่งส่งผลไปถึงการขจัดปัญหาและผลกระทบอื่นๆ ด้วย
                     2.  ประโยชน์ต่อครู ครูมีการวางแผนการทำงานในหน้าที่ของตนอย่างเป็นระบบ ได้แก่  วางแผน       การเรียนการสอน  ออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน  ประเมินผลการทำงานเป็นระยะ  โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำอะไร  กับใคร  เมื่อไร  เพราะอะไร  และทำให้ทราบผลการกระทำว่า  บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร  เพียงใด    ช่วยให้ครูเกิดความคิดริเริ่ม  สร้างสรรค์  ในการหาทางแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม                              ได้นวัตกรรมที่ผ่านการปรับปรุงจนเป็นที่ยอมรับได้  และเกิดความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น สามารถอธิบายได้ว่าตนเองสามารถจัดการเรียนรู้ให้เกิดผลแก่ผู้เรียนเป็นรายคนและแต่ละคนอย่างไรบ้าง
                         3. ประโยชน์ต่อโรงเรียน ครูในโรงเรียนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นทั้งภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้  และระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้  มีการร่วมกันคิดแก้ปัญหา  ตั้งแต่การวิเคราะห์หาสาเหตุจนถึงการเขียนรายงาน การได้ระดมสรรพกำลังจากความถนัดของแต่ละคนจะทำให้งานวิจัยมีคุณภาพยิ่งขึ้น เช่น ครูคณิตศาสตร์ช่วยในเรื่องการคำนวณ  การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล  ครูบรรณารักษ์ช่วยดูแลการเขียนบรรณานุกรม  ครูภาษาไทยช่วยตรวจสอบการสะกด เป็นต้น การศึกษาค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ที่ครูรับผิดชอบอยู่ จะช่วยให้การบริหารงานวิชาการในโรงเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
                       4. ประโยชน์ต่อวงการการศึกษา  ผลงานการวิจัยในชั้นเรียน สามารถนำมาเป็นข้อมูลในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนที่ครูแต่ละคนดำเนินการว่ามีความเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร  ครูผู้สอนแต่ละคนจะประยุกต์นำไปใช้เพื่อพัฒนาผู้เรียนของตนได้อย่างไร เป็นการสร้างสังคมทางการศึกษา และกระตุ้นให้มีการพัฒนาผลงานทางวิชาการที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์อันมีคุณค่าของครูอย่างไม่หยุดยั้ง  ทำให้วิชาชีพครูมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น
 การวิจัยในชั้นเรียนกับการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้
เนื่องจากการวิจัยในชั้นเรียนเป็นส่วนหนึ่งของการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาในส่วนของ            การพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ ดังนั้นการวิจัยในชั้นเรียนจึงควรดำเนินการให้สอดคล้องกับขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบที่โรงเรียนทั่วไปใช้กันอยู่ คือ   ขั้นตอนการพัฒนาตามวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (P-D-C-A)  ซึ่งประกอบด้วย การวางแผน (Plan)  การปฏิบัติการ (Do)  การตรวจสอบ (Check)  และการแก้ไขปรับปรุง (Action)  ส่วนการวิจัยในชั้นเรียน ประกอบด้วยขั้นตอนการทำงานที่สำคัญ คือ  ศึกษาปัญหาในชั้นเรียน  จากนั้นเลือกปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนซึ่งมีความสำคัญในลำดับต้น ๆ มาแก้ปัญหา  ขั้นตอนของการแก้ปัญหาคือหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา     แล้วศึกษาหาวิธีการแก้ปัญหาที่คาดว่าสามารถนำมาใช้ได้ผล  ซึ่งอาจเป็นสื่อ เทคนิค วิธีการจัดกิจกรรม ฯลฯ  แล้วเลือกพัฒนานวัตกรรมหรือวิธีการที่เหมาะสม ตรวจสอบและปรับปรุง แล้วนำมาทดลองใช้   รวบรวมข้อมูลจากการทดลอง  ตรวจสอบ  วิเคราะห์  อภิปราย  และสรุปผลการทดลองให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม  ในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างรีบด่วน  จะแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการวิจัยก็ไม่ทันการณ์  ครูก็สามารถศึกษาและนำผลงานวิจัยของครูคนอื่นที่ใช้แก้ปัญหาเดียวกันมาใช้แก้ปัญหาในชั้นเรียนของตนได้  ถือเป็นการบริโภคงานวิจัยอย่างคุ้มค่าวิธีหนึ่ง
 
หมายเลขบันทึก: 430526เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2011 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท