DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

หัวใจช้ำของ‘สาดีนะห์ เจ๊ะลีแม’ มีแต่ให้ข้อมูลรัฐแต่ไม่ได้เงินเยียวยา


 

หัวใจช้ำของ‘สาดีนะห์ เจ๊ะลีแม’
มีแต่ให้ข้อมูลรัฐแต่ไม่ได้เงินเยียวยา

 

มูฮำหมัด ดือราแม

 


โต๊ะอิหม่าม คือผู้นำศาสนาอิสลาม ที่กลายเป็นเป้าหมายที่อ่อนไหวที่สุดในบรรดาเหยื่อของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะไม่มีเครื่องมือใดๆ ช่วยปกป้องตัวเองได้เลย

การจัดอยู่ในกลุ่มเป้าหมายอันบอบบางที่สุดนี้ เป็นไปตามการวิเคราะห์จากสถิติผู้ประสบเหตุไม่สงบในพื้นที่ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ Deep South Watch แต่กระบวนการช่วยเหลือเยียวผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก

อย่างเช่น กรณีการเสียชีวิตของนาย ‘มะสาลี เจ๊ะลีแม’ โต๊ะอิหม่ามแห่งบ้านตาเนาะปูเตะ หมู่ที่ 4 ตำบลตาเนาะปูเตะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 จากเหตุการณ์ลอบยิงที่หน้าบ้าน

แม้ว่า เหตุการณ์นี้จะผ่านมาแล้วเกือบ 3 ปี แต่ความทุกข์ใจที่ภรรยาและลูกๆต้องแบกรับมาตลอดในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านนั้น นับได้ว่าเป็นความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส เป็นมรสุมลูกใหญ่ที่โหมกระหน่ำชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดมา

‘นางสาตีนะห์ เจ๊ะลีแม’ ภรรยาของโต๊ะอิหม่าม ได้เปิดประตูเรือนไม้เก่าซอมซ่อเลขที่ 189 หมู่ 4 ตำบลตาเนาะปูเตะ ต้อนรับผู้มาเยือน ก่อนจะบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น

เธอเล่าว่า ช่วงเย็นก่อนเกิดเหตุ สามีไปละหมาดที่มัสยิด ขากลับตนได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์ของสามีมาถึงหน้าบ้าน จึงสั่งให้ลูกไปเปิดประตู เพราะเธอจะสอนลูกเสมอว่าก่อนที่พ่อจะเข้าบ้านต้องเปิดประตูต้อนรับ อย่าให้พ่อต้องเปิดเอง

แต่ทันทีทันใดเมื่อลูกเดินไปถึงประตู แต่ยังไม่ทันได้ผลักออกไปก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 3-4 นัด ก่อนที่กระสุนชุดใหญ่จะรัวตามมาอีกหลายนัด ลูกได้วิ่งกลับมาหาเธอด้วยความหวาดกลัวเสียงปืน

เธอเองไม่ได้เอะใจเลยว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับสามีตน จึงได้ออกไปเปิดประตูด้วยตนเอง พอเปิดประตูก็ต้องตกใจเพราะเห็นสามีล้มลงนอนจมกองเลือดอยู่หน้าบ้าน เธอได้เข้าไปอุ้มร่างที่ไร้ลมหายใจของสามีมานอนบนตักด้วยความโศกเศร้าเสียใจ

ลูกๆ ของเธอก็ไม่อาจได้เปิดประตูต้อนรับพ่อเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต

นายมะสาลี เจ๊ะลีแม มีอาชีพหลักคือทำส่วนยาง และเปิดร้านขายของชำที่บ้าน เป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวเสมอมา

นางสาดีนะห์ บอกว่า รายได้ของครอบครัวตอนที่นายมะสาลียังมีชีวิตอยู่ตกอยู่ประมาณ 500-600 บาทต่อวัน ซึ่งเพียงพอที่จะส่งลูกๆเรียนหนังสือได้

เธอกับนายมะสาลีมีลูกด้วยกันตอนนั้น 7 คน ที่สำคัญลูกคนสุดท้องเพิ่งมาคลอดออกมา ถัดจากวันที่สามีเสียชีวิตเพียง 1 วัน

หลังจากสูญเสียผู้เป็นสามีไปอย่างกะทันหัน เธอและลูกๆ ต้องประสบกับความยากลำบากมากขึ้น เพราะต้องส่งเสียลูกเรียนหนังสือถึง 6 คน

ในขณะเธอเองก็เพิ่งคลอดลูกคนเล็ก ทำให้ต้องหยุดทำงานชั่วคราว สวนยางที่สามีเคยไปกรีดเธอจะไปทำหน้าที่แทนสามีก็ไม่ไหว

ส่วนร้านขายของชำ หลังจากเกิดเหตุการณ์คนร้ายยิงสามีเสียชีวิตหน้าบ้านตัวเองแล้ว นับวันก็ยิ่งซบเซาลง เพราะไม่มีลูกค้ากล้าเข้าร้าน จึงจำใจต้องปิดร้าน และอยู่อาศัยเงียบๆ ในบ้านเลี้ยงลูกตามลำพัง

ปัจจุบันนางสาตีนะห์ หาเลี้ยงทั้ง 7 ชีวิตในครอบครัว รวมปากท้องตนเองด้วยการทำขนมวางขายตามร้านค้าในหมู่บ้าน มีรายได้ต่อวันประมาณ 70-100 บาท

ถามว่า รายได้เท่านี้เพียงพอหรือไม่กับการที่ต้องหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องทุกคนในบ้าน เธอบอกว่า ไม่พอแน่นอน เธอได้บอกลูกๆ ว่า ถ้าต้องการความรู้ก็ให้พยายามเรียนหนังสือต่อไป เงินที่แม่ให้นั้น ขอให้ใช้อย่างประหยัดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“บอกลูกว่า อย่าให้ถึงกับว่าต้องอด ถ้าขาดเหลืออะไรก็บอกได้จะได้ช่วยกันพยายามหามาให้ เพราะก๊ะ(แปลว่า พี่ หมายถึง คำเรียกแทนตัวเอง) เองก็ต้องการให้ลูกๆ มีการศึกษา มีความรู้ ถึงจะลำบากแค่ไหนแต่ก็ต้องพยายาม”แม่ผู้เลี้ยงลูกถึง 7 ชีวิตกล่าวด้วยน้ำเสียงสะอึกสะอื้น

เธอบอกว่า พยายามให้กำลังใจกับลูกๆ ไม่ให้ท้อแท้กับความสูญเสียและความยากลำบากที่ประสบกับครอบครัว เพราะเธอรู้ดีว่าการสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น มันหนักหนายิ่งนักกับหัวใจน้อยๆ ของเด็กๆ ที่ต้องรับ เธอจึงต้องใช้การปลอบใจและให้กำลังใจเยียวยาความรู้สึกทางจิตใจของลูกๆ ด้วยตนเองทุกวัน

สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ นับตั้งแต่สามีของเธอเสียชีวิต เธอไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานรัฐเลย มีแต่หน่วยงานที่เข้าเก็บข้อมูลไปเท่านั้น

หน่วยงานแรกที่เข้ามา คือเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เข้ามาหลังเกิดเหตุการณ์ มาเก็บข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบ หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือนเศษ เจ้าหน้าที่ชุดเดิมก็เข้ามาเก็บข้อมูลเป็นครั้งที่สอง

เธอเองก็หวังอยู่ว่าจะได้เงินค่าเยียวยาในส่วนนี้ เพื่อนำมาใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียนให้กับลูกๆ แต่หน่วยงานรัฐก็ไม่ได้นำเงินเข้ามามอบให้ แต่เธอก็คิดว่าพวกเขาอาจจะกำลังดำเนินการอยู่

“ผ่านไปอีก 3 เดือน เจ้าหน้าที่ชุดเดิมมาอีกครั้งเป็นครั้งที่สาม ก๊ะได้ถามว่า มาเก็บข้อมูลถึง 3 ครั้งแล้ว จะเอาข้อมูลไปทำอะไร ทำไมเรื่องการเยียวยาถึงช้า ก๊ะให้ข้อมูลไปจนไม่รู้ว่าจะให้ข้อมูลอะไรอีกแล้ว สิ่งที่ต้องการคือความช่วยเหลือด้านการเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูกๆ ก๊ะไม่ได้หวงข้อมูลหรอก แต่ไม่อยากให้ลูกๆ ต้องออกจากการเรียน อยากให้ลูกมีโอกาสเหมือนเด็กคนอื่นๆ” นางสาดีนะห์กล่าว

พูดไปอย่างนั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงควักเงินให้ 2,000 บาท ก่อนจะกลับไป ซึ่งเธอคิดว่าน่าจะเป็นเงินส่วนตัวของเจ้าหน้าที่มากกว่า ไม่ใช่เงินช่วยเหลือเยียวยาอะไร เขาให้เพราะสงสารก๊ะกับลูกๆ มากกว่า

นับได้ว่า เงิน 2,000 บาทนั้น เป็นเงินก้อนแรกที่เธอได้รับหลังจากเกิดเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นกับสามี และเธอสงสัยมากว่า ทำไมครอบครัวของเธอจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา

นางสาดีนะห์เล่าให้ฟังต่อว่า หลังจากนั้นก็มีคนของรัฐคนหนึ่งช่วยนำเรื่องของเธอไปขอเงินช่วยเหลือเยียวยาให้ แต่ก็ได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า หลักฐานของเธอไม่ครบ ขาดหลักฐานจากสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา ซึ่งเธอคิดว่าอาจจะเป็นใบแจ้งความ

แต่ด้วยความที่เธอเองมีภาระในการเลี้ยงดูลูกถึง 7 คน จึงไม่ได้เดินเรื่องต่อ อีกทั้งหลังเกิดเหตุการณ์ เธอต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อคลอดลูกคนเล็ก

ด้วยภารกิจที่รัดตัวจนถึงไม่อาจปลีกจากลูกๆ ได้ ปัจจุบันเธอจึงเริ่มถอดใจเรื่องเงินเยียวยาก้อนนั้นแล้ว เพราะเหตุการณ์ผ่านมา 3 ปีกว่า ครอบครัวของเธอก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอะไรเลย

ล่าสุดปลัดอำเภอบันนังสตาได้เข้ามาเยี่ยมครอบครัวเธอ และถามว่าเอาเงินจากไหนเป็นค่าเล่าเรียนลูก เธอตอบไปว่า บางครั้งก็ยืมชาวบ้าน ปลัดอำเภอยังถามอีกว่า มียอดหนี้เท่าไหร่แล้ว เธอตอบไปว่า สี่หมื่นกว่าบาทแล้ว

ปลัดอำเภอจึงได้ให้ความหวังกับเธอว่า จะพยายามหาทุนการศึกษาให้กับลูกๆของเธอ ซึ่งเธอเองก็ตั้งความหวังกับเรื่องนี้มาก เพราะเห็นความสำคัญของการศึกษาของลูกเหนือสิ่งอื่นใด

“สิ่งที่ก๊ะต้องการมากที่สุดในตอนนี้คือทุนการศึกษาให้กับลูกๆ เพราะลูกก๊ะ 6 คน เรียนอยู่ยะลา 4 คน เรียนปอเนาะ 1 คน และอีก 1 คน เรียนอยู่ที่โรงเรียนแถวบ้าน”

สำหรับลูกที่เรียนอยู่ในเมือง เธอได้แบ่งเงินให้ลูกคนละ 300 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งคิดแล้วเงินน้อยมากสำหรับค่าครองชีพในปัจจุบัน แต่ก็ต้องอดทน “ต้องอดทด ก๊ะบอกคำนี้กับลูกด้วยเสมอ”

นับเป็นผู้ได้รับผลกระทบอีกครอบครัวหนึ่งที่มีชะตากรรมอันน่าเศร้าสลด แม้ความหวังเรื่องเงินเยียวยาที่จะมาจุนเจือครอบครัวจะลางเลือน แต่วันนี้ สิ่งที่คนเป็นแม่อย่างเธอยังทำอยู่เสมอ คือการเยียวยาหัวจิตหัวใจของลูกๆ ทั้ง 7 ด้วยตัวเอง

ส่วนหัวใจของเธอเองนั้น เธอปฏิเสธที่จะพูดถึง ได้แต่แสดงออกถึงความรู้สึกข้างในด้วยหยาดน้ำตาที่ไหลซึมออกมาไม่ขาดสาย

ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน

 

การเข้าไม่ถึงกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาในกรณีนี้อาจมาจาก 2 สาเหตุ คือ ผู้ได้รับผลกระทบไม่ทราบหรือไม่เข้าใจในสิทธิในการได้รับการช่วยเหลือเยียวยาของตนเอง จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ มาตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์ทันที บวกกับสาเหตุที่สอง คือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรายนี้เอง โดยอาจจะรอให้มีการยื่นเรื่องมาก่อน เมื่อไม่มีการยื่นเรื่องเข้ามาจึงไม่ดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุ ก็ไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานไหนเข้ามาแจ้งสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบรายนี้ จึงยิ่งทำให้ผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งกำลังวุ่นอยู่กับการตายของสามีและความโศกเศร้าเสียใจที่มีอยู่ ไม่อาจนึกได้ว่าตนเองมีสิทธิในส่วนนี้อยู่ จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไป

สิ่งที่น่าเจ็บปวดใจ คือ การเข้ามาเก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ทราบอยู่ว่าผู้ได้รับผลกระทบรายนี้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ แต่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้มีการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่ จนให้ผู้ได้รับผลกระทบรู้สึกน้อยใจ  สะท้อนการทำงานแยกส่วนของหน่วยราชการที่ยากที่จะแก้ไข

ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องเร่งให้การช่วยเหลือและเร่งสำรวจว่ายังมีผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอีกหรือไม่ รวมทั้งต้องปรับปรุงกระบวนการทำงาน ให้ทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการแจ้งสิทธิให้กับผู้ได้รับผลกระทบหลังจากเกิดเหตุการณ์อย่างรวดเร็ว เพื่อให้นโยบายการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐ ได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ ในส่วนของผู้ได้รับกระทบเอง ก็ควรต้องทราบว่าตนเองมีสิทธิตรงนี้อยู่

สำหรับผู้ได้รับผลกระทบรายนี้ แม้จะไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา แต่ดูเหมือนมีความเข้มแข็งพอสมควร อาจเป็นเพราะระยะเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนานจะช่วยเยียวยาจิตใจได้ในระดับหนึ่งแล้วก็เป็นได้ แต่ภาระและความลำบากก็น่าจะยังอยู่เหมือนเดิม จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วนด้วย

 

********************

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 431018เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2011 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท