DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

‘เตะหาวอ สาและ’ ประชาสังคมต้องตรวจสอบงบเยียวยา


  

‘เตะหาวอ สาและ’

ประชาสังคมต้องตรวจสอบงบเยียวยา 

 

ตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้ใช้งบประมาณในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 2,225,318,527 บาท

แต่ละปีรัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ยกเว้นในปี 2552 ที่ลดลง ซึ่งอาจเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบที่มีจำนวนลดลง แต่ก็เชื่อว่าในปี 2553 นี้ มีแนวโน้มว่าอาจต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องสถานการณ์ความไม่สงบมีความรุนแรงมากขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี

แม้งบประมาณในการเยียวยาตลอดช่วงที่ผ่านมามีจำนวนสูงถึง 2,225 ล้านบาท แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับงบประมาณในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดช่วง 5 ปีงบประมาณที่ผ่านมาที่สูงถึง 109,396 ล้านบาท

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 ที่ผ่านการพิจารณาวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 - 27 พฤษภาคม 2553 ที่กำหนดวงเงินไว้ที่ 2.07 ล้านล้านบาท ได้จัดสรรมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้วงเงินงบประมาณเอาไว้ 19,102 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านการพิจารณา ก็จะทำให้มีการใช้งบประมาณดับไฟได้พุ่งไปถึง 1.25 แสนล้าน

จากข้อมูลจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจกแจงงบประมาณในการเยียวยาแยกเป็นรายปีตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2547 จนถึงสิ้นเดือน กันยายน 2552 ได้ดังนี้

ปี 2547 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 25,027,500 บาท

ปี 2548 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 93,673,334 บาท นอกจากนี้ยังมีเงินเยียวยาตามแผนงานภายใต้คณะอนุกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความ ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 297,002,975 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 390,676,309 บาท

ปี 2549 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 192,836,890 บาท แผนงานภายใต้คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ 277,272,124 บาท รวมเป็น 470,109,014 บาท

ปี 2550 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 298,858,998 บาท แผนงานภายใต้คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ 189,486,340 บาท รวมเป็น 488,345,338 บาท

ปี 2551 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 360,277,297 บาท แผนงานภายใต้คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ 217,726,890 บาท รวมเป็น 578,004,187 บาท

ปี 2552 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 253,305,079 บาท แผนงานภายใต้คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ 44,878,600 บาท รวมเป็น 289,189,679 บาท

รวม 6 ปีงบประมาณใช้เงินไปทั้งสิ้น 2,225,318,527 บาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีบทบาทในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ อย่างนางเตะหาวอ สาและ จากศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือเด็กกำพร้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มองว่า แม้งบประมาณในการเยียวยาเป็นเงินเพียงส่วนหนึ่ง ภาคประชาสังคมในพื้นที่ก็ต้องเข้าร่วมตรวจสอบด้วย เพื่อให้งบประมาณดังกล่าวตกไปถึงมือผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ

นางเตะหาวอ สาและ กล่าวในเชิงการให้มุมมองต่ออนาคตการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบว่า ปัจจุบันองค์กรภาคประชาสังคมไม่จำเป็นต้องไปทำงานเรื่องเยียวยาแล้ว เพราะระบบการเยียวยาของภาคเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้นแล้ว แต่น่าจะเข้ามาตรวจสอบการใช้เงินเยียวยามากกกว่า ซึ่งตอนนี้ยังไม่ใครทำ

“การทำงานเรื่องเยียวยาขององค์กรภาคประชาสังคมตอนนี้ มันซ้ำซ้อนกับของรัฐ แต่อาจมีผู้ได้รับผลกระทบบางรายที่ชาวบ้านยังไม่เชื่อมั่นรัฐ แล้วมาหาเราก็ประสานต่อไปให้รัฐอยู่ดี”

 

อนาคตบทบาทของภาคประชาสังคมในเรื่องเยียวยา

ต้องถามก่อนว่าภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมต้องทำงานเรื่องการเยียวยาอีกหรือไม่ เพราะการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้เข้าสู่ระบบของทางราชการหมดแล้ว

ดังนั้นบทบาทที่ดีที่สุดของภาคประชาสังคม คือเป็นชุมทางให้ใครก็ตามที่ต้องการเข้าสู่ระบบการเยียวยาของรัฐ ก็ให้เราพาเข้าไปได้ เราเป็นเพียงผู้ประสานงาน ไม่ใช่ตัวตั้งตัวตีในการทำงานเยียวยา

ภาคประชาสังคมควรมีบทบาทในการตรวจสอบว่า ผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐแล้วหรือไม่ เข้าไปแล้วถูกตัดตอนหรือไม่ มีการใช้งบประมาณอย่างไร ภาคประชาสังคมก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ เพราะเป็นงบประมาณจำนวนมหาศาล

ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องยอมให้มีการตรวจสอบด้วย และต้องยอมรับหากมีการวิพากษ์วิจารณ์

ที่ต้องยอมก็เพราะที่ผ่านมาภาคประชาสังคมเองก็เป็นตัวจุดประกายในหลายเรื่องในเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

“บางเรื่องกว่าจะขยับได้ ภาครัฐก็ได้เชิญพวกเราไปร่วมเป็นระยะๆ เช่น การให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง หรือมีกรณีต่อเนื่องตามมาจากการสูญเสีย เราก็ควรอาศัยความเป็นภาคประชาสังคมที่เป็นกลางเข้าไปช่วย เช่น เรื่องการให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย แต่ไม่ได้ทำเพื่อต้องการเอาผิดราชการ แต่ต้องการให้เกิดความโปร่งใสจากทุกฝ่าย”

ในการที่จะให้ภาคประชาสังคมดำเนินการเช่นนั้นได้ ก็อาจต้องให้รัฐจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งมาเป็นงบประมาณสาธารณะ แล้วก็มาพิจารณาดูว่าจะเอาความชอบธรรมตรงนี้มาใช้งบประมาณนี้อย่างไร

องค์กรที่สามารถมีบทบาทในเรื่องการตรวจสอบได้มากที่สุดตอนนี้ คือ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ หรือ มยส. เพราะเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องการเยียวยาโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมา มยส.เคยเปิดเวทีแล้วถึง 2 ครั้ง แต่เป็นเพียงเวทีการบอกเล่าสถานการณ์

“คิดว่าบทบาทในตอนนี้ น่าจะไปถึงขั้นที่ว่า จะรู้ได้อย่างไรว่า พี่น้องของเราได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงหรือไม่ ดูแลอย่างไรให้เขาแข็งแรง ไม่ใช่ดูแลให้จนเคยตัวหรือขี้เกียจ”

ดังนั้น เมื่อบทบาทควรมาถึงขั้นนี้แล้ว ทุกองค์กรก็ควรต้องมาถอดบทเรียนร่วมกัน เพื่อมาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และสามารถบอกกล่าวต่อสาธารณะได้

 

วิจารณ์นโยบายเยียวยาของภาครัฐ

ในส่วนการเยียวยาภาครัฐ ซึ่งเป็นระบบมากขึ้นหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายและกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบขึ้นมา

สภาพการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ก่อนที่รัฐจะมีนโยบายการเยียวยาอย่างเห็นรูปธรรมขึ้นมานั้น ชาวบ้านหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเข้าหาองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ก่อน โดยเฉพาะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างที่พวกเราทำงานอยู่

“ก็เพราะตอนนั้นรัฐยังไม่เปิดช่องทางไว้สำหรับการช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน ยังไม่มีระบบการเยียวยา ถึงมีเจ้าหน้าที่อยู่บ้างแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าลงพื้นที่เข้าไปหาผู้ที่ได้รับกระทบ พวกเราก็เลยต้องทำ”

เมื่อรัฐจะมีระบบการเยียวยาขึ้นมา เราจึงมีโอกาสไปช่วยถอดบทเรียนให้กลไกลของรัฐได้ฟังเป็นระยะๆ ถึงกระบวนการเยียวยาที่เราทำ ว่าเป็นอย่างไร ช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วกี่กรณี และเหตุใดจึงมีผลทำให้ชาวบ้านสามารถลุกขึ้นมามีบทบาทช่วยเหลือ หรือ ประสานงาน หรือเป็นแกนนำในการช่วยเหลือคนอื่นได้อีกด้วย

ขณะที่บางคนที่มาช่วยกันถอดบทเรียนก็เป็นคนของกลไกของรัฐอยู่แล้ว จึงทำให้เขารู้ว่า เราไม่ได้รับผลประโยชน์อะไร จึงยอมรับว่าเรามาช่วยชาวบ้านจริงๆ

เมื่อช่วยกันถอดบทเรียนได้ระดับหนึ่งแล้ว ประกอบกับมีนโยบายด้านการช่วยเหลือเยียวยา ทำให้การเยียวยาของภาครัฐ จึงเข้ารูปเข้ารอยและเป็นระบบมากขึ้น แต่ก็ต้องอาศัยภาคประชาสังคมเข้าไปช่วยให้กลไกของรัฐทำงานเป็นระบบมากขึ้น

ปัจจุบัน คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต.มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะ เพื่อดำเนินการต่างๆ และจัดทำแผนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งบางคณะก็มีตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ด้วย

 

ประสบการณ์ภาคประชาชนด้านการเยียวยา

เริ่มจากการตั้งศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือเด็กกำพร้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน เมื่อปี 2548 มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เทศบาลตำบลปาลัส อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี

โดยก่อนตั้งศูนย์ฯ ในช่วงปี 2547 นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบเมื่อต้นปี 2547 ที่ผ่านมา ได้มีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือพ่อแม่ของเด็กก่อน ทั้งที่เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บหรือถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว เมื่อได้ช่วยเหลือพ่อแม่แล้ว ก็มาคิดถึงเด็กๆ ว่าจะช่วยอย่างไรต่อไป เช่น ในเรื่องการศึกษา

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ เช่น บางครอบครัว เมื่อพ่อเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบ คนที่เหลือก็ต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ลูกก็ต้องย้ายตามแม่ไป หรือตามญาติคนอื่นๆ ไป

ที่ผ่านมาเราพยายามประสานองค์กรต่างๆ จากภายนอกพื้นที่ เช่น ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครบ้าง ต่างประเทศบ้าง ที่มีความสามารถช่วยเด็กกำพร้าเหล่านี้ได้

ที่ผ่านมามีเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือรวมแล้วประมาณ 1,000 กว่าคน ซึ่งการช่วยเหลือเด็กๆ ที่ผ่านมา เป็นเรื่องการสนับสนุนการศึกษาเป็นหลัก ไม่เน้นเรื่องการส่งเสริมอาชีพ

เด็กที่ได้รับการช่วยเหลือจากเรา จะมีการจัดกิจกรรมพบปะกันปีละครั้งในช่วงปิดเทอม มีการให้ทุนการศึกษาเป็นระยะๆ จนถึงปัจจุบัน แต่จำนวนทุนไม่มาก

เด็กที่มาสมัครขอรับการช่วยเหลือ จะมีคณะกรรมการพิจารณาว่า ใครบ้างที่สมควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน มีการจัดลำดับความเร่งด่วนหรือระดับความเดือนร้อน เช่น จะเปิดเทอมแล้วแต่ยังไม่มีเงินซื้อหนังสือ เป็นต้น

หรือหลังจากเปิดเทอมไปแล้ว เกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ก็ต้องใช้เงิน หรือต้องการเงินมาทำกิจกรรม เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ขอรับการสนับสนุนลักษณะนี้ จะมาสมัครขอรับการสนับสนุนจากเราเป็นครั้งคราวไป

สำหรับเงินทุนที่ช่วยเหลือ มาจากหน่วยงานต่างๆ ที่บริจาคมาให้ โดยเงินนี้ไม่ผ่านศูนย์ฯ โดยทางศูนย์ฯเพียงแต่ช่วยประสานงานให้เท่านั้น โดยให้เด็กไปเปิดบัญชีธนาคารเอง เพื่อรับเงินช่วยเหลือที่ถูกโอนเข้าไป โดยเราเอาหมายเลขบัญชีธนาคารนี้ไปให้คนที่รับเป็นพ่อแม่บุญธรรม จากนั้นก็ให้เด็กประสานกันเองก็มี

นอกจากให้เงินแล้ว บางคนอาจช่วยเด็กในทางอื่น เช่น พาเลี้ยงข้าว หรือพาไปเที่ยวพักแรมกันก็มี แล้วแต่ว่าครอบครัวที่รับเป็นพ่อแม่บุญธรรมต้องการ 

กรณีผู้ที่รับเป็นพ่อแม่บุญธรรมมี ประมาณ 10 ราย บางกรณีผู้มีจิตศรัทธาให้เงินมาช่วย โดยไม่ต้องการออกนามก็มี ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร

เด็กที่ขอรับการช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นเด็กที่นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนเด็กที่นับถือศาสนาพุทธก็มีบ้าง แต่มีไม่กี่คน เช่น เด็กไทยพุทธจากอำเภอหนองจิก จากตำบลตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เป็นต้น

 

ปัญหาและอุปสรรคการเข้าถึงระบบเยียวยา

เราทำงานตอนแรกๆ ก็ไม่เชิงว่าจะอาสามาเข้ามาตรงนี้ เพราะเราตัวเล็กมาก สำหรับการทำงานเรื่องการเยียวยา ขณะเดียวกันคณะกรรมการของศูนย์ ก็มองว่าเราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุเราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของมนุษยธรรมแล้ว เราก็ต้องช่วยเหลือ ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ด้วยกัน แม้จะเป็นปลายเหตุก็ตาม

สิ่งที่เราเห็น เราไม่ได้บอกว่ารัฐมีจุดอ่อนมาก แต่มองว่า รัฐมีงานที่อยู่หน้ากระดานเยอะ บวกกับภาวะที่คนของรัฐไม่กล้าเสี่ยงมากนักในช่วงแรก และไม่ได้ประชาสัมพันธ์ตัวเองว่า อยู่ที่ไหน ชาวบ้านจะเข้ารับการช่วยเหลือได้อย่างไร

เมื่อเกิดการสูญเสียขึ้นมาแล้ว ชาวบ้านจึงไม่รู้เลยว่า มีเงินช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ สำหรับบางคน แม้เหตุการณ์นั้นจะผ่านมาแล้ว 3 ปี เขาก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ยกเว้นคนที่รู้ช่องทางในการเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยา

ผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนได้ประสานงานมาทางเราบ้าง ถามว่า มีการช่วยเหลืออยู่ตรงไหนบ้าง เราก็พาเขาไป

เมื่อเราได้ตั้งศูนย์ฯ ขึ้นมาได้ระยะหนึ่ง เราก็ได้มีบทบาทเป็นผู้อบรมคนทำงานเยียวยาทั้งหมด ซึ่งสังกัดส่วนงานเยียวยาของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.) ทั้ง 4 จังหวัด คือสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อำเภอละ 3 คน

โครงการอบรมนี้นายอำพล ยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12 หรือ สสว.12 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นคนดำริขึ้นมา เมื่อปี 2548 โดยมอบหมายในดิฉันกับอาจารย์บงกช ณ สงขลา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้ออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรม

ในช่วงแรกรับสมัครผู้เข้ารับการอบรมเพียงไม่กี่อำเภอ ส่วนเป็นอำเภอที่มีเหตุการณ์ไม่สงบอย่างรุนแรง หรือที่สีแดงๆ จนเมื่อปี 2550 จึงสามารถรับอาสาสมัครได้เต็มพื้นที่ทั้ง 37 อำเภอ

ทั้ง 3 คนดังกล่าวที่ต้องทำงานเยียวยาเป็นทีมประจำอำเภอนั้น ประกอบด้วย นักเยียวยา คนขับรถ เนื่องจากมีรถยนต์ให้ใช้งานด้วยหนึ่งคัน และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) อีกหนึ่งคน

สำหรับหลักสูตร ประกอบด้วย เรื่องการเยียวยาอย่างไรในเบื้องต้น การพูดคุยกับชาวบ้าน การใช้ภาษา เป็นต้น โดยทางศูนย์ศึกษาธรรมาธิปไตยของอาจารย์บงกช ณ สงขลา ซึ่งได้ศึกษาเรื่องคุณธรรมจริยธรรมอยู่ด้วย ก็ได้ทำวิจัยและเผยแพร่กิจกรรมนี้ด้วย ซึ่งหัวใจของหลักสูตร คือการบูรณาการการพัฒนาจิตใจ โดยมุ่งเน้นให้ทีมงานจัดกระบวนการในเรื่องการพัฒนาจิตใจ

 

บทเรียนจากทีมงานเยียวยายุคแรกเริ่ม

หลังจากให้ผู้ที่ผ่านการอบรมได้ลงไปทำงานแล้ว พบว่า พวกเขาทำงานไม่ได้ในช่วงปีแรก เนื่องจากทำงานแบบเช้าชามเย็นชามเหมือนข้าราชการทั่วไป ถ้าเป็นอย่างนั้นจะฝึกให้เป็นนักพัฒนาไม่ได้

ขณะเดียวกันวิกฤติสถานการณ์ในช่วงนั้นมีความรุนแรงมาก ทำให้เขาไม่กล้าเปิดตัวเองว่าเป็นนักเยียวยา เพราะในพื้นที่มีคนบอกว่า ใครทำงานให้กับรัฐจะไม่ปลอดภัย แม้ว่าเจ้าหน้าที่บางคนเป็นลูกหลานของคนในพื้นที่ก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนั้น เราเองซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคม เห็นว่าเราควรจะต้องทำงานเองไปก่อน

จนเมื่อถึงปี 2552 แม้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง แต่ก็มีคนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์และได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ ที่สามารถเอาผิดกับชาวบ้านได้ ทั้งที่เขาไม่ผิด

ชาวบ้านที่มาหาเรา ส่วนใหญ่เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษ หรือหารือเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่างๆ ในคดีความมั่นคง

ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายดังกล่าว มักเป็นครูสอนศาสนา โต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน ครูสอนตาดีกา เราจึงเสนอกับแม่ทัพภาคที่ 4 ว่า จะทำงานอะไรก็แล้วแต่ ต้องไว้วางใจกัน ถ้าจับยกเข่งกันอย่างนี้ ก็พอได้เยียวยา เพราะจะมีคนได้รับผลกระทบจำนวนมาก

ทาง พล.ท.พิเชษฐ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นนักพัฒนาด้วย อยากจะทำงานมวลชนให้สำเร็จ จึงไม่เน้นการปราบปราม แต่เน้นเรื่องการพัฒนา แต่เครื่องมือที่ใช้ก็ยังเป็นทหารอยู่ดี ซึ่งก็ไม่สำเร็จ เพราะชาวบ้านจะปิดประตูตายไม่ยอมรับทหาร

ประกอบกับชาวบ้านเห็นว่า ทหารจะมีอคติทั้งกับคนทำงานของรัฐเอง กับผู้ใหญ่บ้านด้วย รวมทั้งชาวบ้านทั่วไป ประชาชนจึงตีกรอบตัวเอง ว่าฉันโดนรัฐรังแก

เมื่อเห็นว่าตัวเองถูกคนของรัฐรังแก ก็ไม่อยากดิ้นรนให้คนช่วย จึงเป็นที่มาของคำว่า ไม่เยียวยาก็ไม่เป็นไร แต่บางคนก็ดิ้นรนเพื่อประกาศว่าตัวเองว่า เป็นผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ที่ถูกกระทำ จึงต้องการให้คนช่วย ซึ่งก็มีหลายระดับตามที่เราพบเห็นมา

ยกตัวอย่างกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากการสถานการณ์ความไม่สงบ เช่น สามีเสียชีวิตหรือถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป พวกเขาก็ตั้งกลุ่มช่วยเหลือกันเองและก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย เพราะเขามองว่า เขาอยู่อีกฝ่ายหนึ่งของรัฐด้วย แต่รัฐไม่อยากช่วยเหลือ เขาจึงต้องต่อสู้เองเพื่อจะให้ได้รับความเป็นธรรม

 

แนวทางลดนิสัยเสียแบมือรับอย่างเดียว

นอกจากนี้ เรายังเป็นฝ่ายประเมินผลและติดตามงานเยียวยาให้กับฝ่ายกิจการพลเรือน ของกองอำนวยการรักษาความสงบภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้าด้วย โดยเฉพาะการติดตามประเมินผลในพื้นที่ทุรกันดาร

ที่ผ่านมาได้ทำแบบสอบถามผู้ได้รับผลกระทบว่า ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจริงหรือไม่ และเป็นอย่างไร ซึ่งพบว่า ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือโดยเข้าโครงการจ้างงานเร่งด่วน เงินเดือน 4,500 บาทหลายราย มีความรู้สึกเคยชินกับการได้รับการช่วยเหลือ จึงไม่อยากช่วยเหลือตัวเองหรือไม่อยากดิ้นรนมากนัก เพราะถึงอย่างไรก็ได้เงินเดือนอยู่แล้ว ทำให้เขานิสัยเสีย ไม่อยากทำงาน

บางครั้งในการประชุมผู้ได้รับการช่วยเหลือในโครงการนี้ แต่ละคนแต่งตัวสวยงาม ซึ่งดูแล้วไม่ใช่คนทำงานเกษตรแน่นอน ทั้งที่นโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 ในโครงการนี้คือ ต้องการให้ทำเกษตร แต่นั่นเป็นอาชีพที่เหนื่อย พวกเขาไม่อยากไปทำ

เราจึงมีข้อเสนอต่อ กอ.รมน.ว่า ไม่ควรเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามโครงการนี้ เกิน 8 ปี เพราะระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามโครงการนี้มา 7 ปี พบว่า พวกเขามีความเข้มแข็งแล้ว สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว

ขณะนี้ทางกอ.รมน.ก็ได้ตอบรับข้อเสนอนี้แล้ว จึงมีการออกนโยบายที่จะไม่ให้เงินเดือน 4,500 บาท สำหรับคนทีได้รับการช่วยเหลือมาแล้ว 7 ปี โดยจะนำเงินไปช่วยเหลือคนอื่นต่อ

ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาคประชาสังคมเองก็ได้พยายามอธิบายกับผู้ได้รับการช่วยเหลือกลุ่มนี้ด้วยว่า ปีหน้ารัฐจะไม่ช่วยเหลือในรูปของเงินเดือน 4,500 บาทอีกแล้ว เพราะรัฐบาลเอาเงินไปใช้ในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองในกรุงเทพมหานครในช่วงที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพเพื่อช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็จะรณรงค์ให้เรื่องการประกอบอาชีพมากขึ้น โดยให้ใช้ประโยชน์จากเงินที่ได้จากโครงการนี้ให้มากที่สุด เช่น ใช้ในการสมัครเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพ อาจจะจัดตั้งเป็นกองทุนพัฒนาอาชีพ เป็นต้น

พร้อมกันนั้นภาคประชาสังคมยังขอจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งมาใช้ในการฝึกอบรมอาชีพผู้ได้รับผลกระทบด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะได้รับการจัดสรรงบส่วนนี้มาหรือไม่

เมื่อผู้ที่เคยได้รับการช่วยเหลือ สามารถประกอบอาชีพได้ มีความแข็งแรงขึ้นมาแล้ว เมื่อถึงเวลาเลิกจ้างจริงๆ เราก็จะได้ไม่รู้สึกว่า ตัวเองได้รับผลกระทบซ้ำเติมอีกครั้ง

ตอนนี้เราได้จัดฝึกอบรมทุกสาขาอาชีพ แล้วแต่ผู้ได้รับผลกระทบต้องการ โดยเราสนับสนุนงบประมาณวิทยากรฝึกอบรมอาชีพ คนที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพไปแล้ว ก็กลับไปทำงานได้แล้ว เช่น มีการเปิดร้านน้ำชาบ้าง ทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้าง

การฝึกอบรมจะมีขึ้นเป็นรุ่น เวียนกันไปตามอำเภอต่างๆ อำเภอละ 2 จุด เช่น ในวันที่ 21 -25 กรกฎาคม 2553 นี้ จะมีการฝึกอบรมการนวดแผนโบราณที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี จะมีผู้เข้ารับการอบรม 11 คน

ถ้าผ่านการอบรมไปแล้ว พวกเขาก็สามารถเปิดร้านนวดแผนโบราณที่โรงพยาบาลนั่นเลย คาดว่าจะมีรายได้วันละ 400 – 500 บาทต่อคน ซึ่งดีกว่ารอเงินเดือน 4,500 บาทเสียอีก

 

กับฝ่ายที่รัฐไม่อยากเยียวยา

ถ้าเราเป็นผู้กระทำความผิดเอง เราก็ไม่ควรได้รับการดูแลหรือได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ ไม่อย่างนั้นกฎหมายบ้านเราก็ไม่ขลัง

แต่ถ้าชัดเจนว่า ผู้ได้รับผลกระทบไม่ใช้ผู้ก่อการร้าย แต่เป็นผู้ถูกกระทำจากฝ่ายไหนก็แล้วแต่ ก็ต้องช่วย แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นผู้กระทำผิดจริงหรือไม่ ต้องรอการตัดสินของศาลก่อน ระหว่างทางที่เขายังไม่ได้รับการพิสูจน์ตัวเองนั้น เราก็ต้องช่วยเหลือเขาไปก่อน

 

บทสรุปการเยียวยา มุมมองของภาคประชาสังคม

แต่เดิมเมื่อเกิดความไม่สงบใหม่ๆ  การเยียวยาโดยภาครัฐยังมีปัญหาเข้าไม่ถึงผู้ประสบเหตุ แต่ปัจจุบันความครอบคลุมในการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐนั้นครอบคลุมขึ้นมาก  และใช้งบประมาณจำนวนมากด้วย  เพียงแต่ยังจำกัดในรูปแบบการช่วยเหลือด้วยตัวเงินเป็นสำคัญ  ซึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ในการเยียวยาอาจเพียงครึ่งเดียว

ในปัจจุบันภาคประชาสังคมน่าจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ไปเยียวยาเอง  มาเป็นผู้เชื่อมประสานในการเยียวยา เป็นคนกลางที่คอยเชื่อมต่อบอกกล่าวความต้องการและทวงถามสิทธิประโยชน์ตามกติกาที่ยังไม่ได้รับจากภาครัฐ  รวมทั้งประสานขอความช่วยเหลืออื่นๆจากภาคเอกชนมาสมทบเพิ่มเติม  ซึ่งบทบาทดังกล่าวเป็นบทบาทที่สำคัญ  แต่ยังไม่มีใครทำหน้าที่นี้อย่างจริงจัง

นอกจากนี้ภาคประชาสังคมคงต้องทำหน้าที่ในการนำเสนอรูปแบบการเยียวยาที่เหมาะสม  เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณในการเยียวยาที่คุ้มค่ามีประสิทธิภาพ  อุดช่องว่างความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม  ช่วยสร้างความสมานฉันท์ระหว่างพี่น้องในพื้นที่ด้วย  หากข้อเสนอเหล่านี้ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังเป็นระบบ จนทำให้ภาครัฐยอมรับและเปลี่ยนทิศทางมาสนับสนุนกระบวนเยียวยาที่มากกว่าการให้เงินแล้ว  ก็น่าจะช่วยให้เกิดการเยียวยาที่ลงลึกถึงคุณภาพเป็นรายบุคคลรายชุมชนตามสภาปัญหาที่แท้จริงได้  เช่น การสร้างอาชีพที่อบรมไปแล้ว เขาได้กลับไปทำจริง มีลู่ทางการตลาดที่ดีจริง หรือ การจัดกิจกรรมเยียวยาในกลุ่มเด็กที่สูญเสียพ่อแม่ไป เพื่อให้มีจินตนาการของการเห็นอนาคตที่ต้องเดินไปข้างหน้า เป็นต้น

 

********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 431078เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท