ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

สังฆราชกัมพูชาชี้ ไทย-กัมพูชาพี่น้องกัน


     เมื่อวันที่ ๑๕-๑๖ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมานั้น  ได้มีการประชุมและสัมมนาโต๊ะกลมนานาชาติ เรื่อง “ความสมานฉันท์ และการสร้างสันติภาพ: บทบาทของพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมทางศาสนาอื่นๆ ต่อประเด็นความจริง ความยุติธรรม การเยียวยาหลังความขัดแย้งในสังคมเอเซีย” (The Role of Buddhism and Other Religious Traditions Truth, Justice, and Healing in Post-Conflict Asian Societies) ณ ประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งดำเนินการจัดโดยสมาคมศาสนาเพื่อสันติภาพ และสถาบันเพื่อสันติภาพสหรัฐอเมริกา (United States Institute of Peace: USIP)  

     ในประชุมและสัมมนาโต๊ะกลมครั้งนี้ ได้มีผู้นำศาสนาต่างๆ ในแถบประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างความสมานฉันท์และสันติภาพ จำนวนทั้งสิ้น ๗๕ รูป/คน  ซึ่งทุกท่านที่ได้รับเชิญเข้าร่วมล้วนมีประสบการณ์ในการเข้าไปเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งในมิติใดมิติหนึ่งมาแล้วในอดีต  และได้นำประสบการณ์เหล่านั้นมานำเสนอ  ซิสเตอร์ เทเรซ่า (Sister Theresa L.H. Seow) ในฐานะเลขานุการกิตติมศักดิ์ขององค์กรด้านศาสนาประเทศสิงค์โปร์ ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “เรื่องราว และบทเรียนจากคนอื่นๆ อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นๆ” (The story from others might be useful for others)

    สมเด็จเทพ วงค์ อัครมหาสังฆราชของประเทศกัมพูชา ในฐานะเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษได้นำเสนอประสบการณ์ที่น่าสนใจว่า “ในอดีตที่ผ่านมานั้น ประเทศกัมพูชาได้เกิดสงครามกลางเมือง และนำไปสู่กรณีทุ่งสังหาร ความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์ก่อให้เกิดความรุนแรง ผลที่ที่เกิดขึ้นประชาชนจำนวนมากได้ทำร้ายและฆ่ากันโดยมุ่งหวังอำนาจ และผลประโยชน์ทางการเมือง อย่างไรก็ดี การให้อภัยเป็นบทเรียนสำคัญที่เราต้องนำมาใช้พัฒนาตัวเอง และสังคม เพราะมนุษย์ทุกคนมิใช่คนที่สมบูรณ์แบบ และไม่เคยมีมนุษย์คนใดที่ไม่เคยทำสิ่งใดผิดพลาดบกพร่อง”

     “การจะให้อภัยกันนั้น เราไม่ควรนำอดีต หรือประวัติศาสตร์มาตอกย้ำหรือตำหนิเพื่อนมนุษย์เพื่อเปิดปากแผลของความไม่เข้าใจกันอันจะนำไปสู่การทำร้าย และทำลายซึ่งกันและกัน  จะเห็นได้จากกรณีประสาทเขาพระวิหาร  เรื่องที่เกิดขึ้นเป็น “เหตุการณ์บ้าๆ” (Abnormal Situation) ของคนบางกลุ่มที่พยายามจะนำการเมืองระหว่างประเทศไปสร้างความแตกแยกของคนทั้งสองประเทศ จะเห็นว่า พระสงฆ์ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกดังจะเห็นได้จากการที่ข้าพเจ้าได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่มหาจุฬาฯ ได้นิมนต์อยู่เสมอ  พระมหากษัตริย์ของทั้งสองประเทศก็มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และประชาชนที่อยู่ในแถบชายแดนก็อยู่ร่วมกัน ไปมาหาสู่กันประดุจญาติมิตร” สมเด็จเทพ วงค์ได้ยกกรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับประสาทเขาพระวิหารที่เกิดขึ้นเอาไว้อย่างน่าสนใจ

     พณฯ จอร์ช โย (H.E. George Yeo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ประเทศสิงค์โปร์ ได้ในประเด็น “การสร้างสังคมสันติสุข” กล่าวว่า “รัฐบาลประเทศสิงค์โปร์มีนโยบายที่จะทำให้กลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในสิงค์โปร์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขท่ามกลางพหุวัฒนธรรม และความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาต่างๆ ในสิงค์โปร์ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเชื่อมให้กลุ่มชนต่างๆ อยู่ร่วมกันถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน  ยกตัวอย่างเช่นการใช้เครื่องเสียงเพื่อสวดมนต์ วัด โบสถ์คริสต์ และมัสยิด จะต้องหันลำโพงเครื่องเสียงเข้าไปในสถานที่ของตัวเองเพื่อเป็นการไม่รบกวนเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลจะจัดช่องวิทยุให้หนึ่งช่องเพื่อให้กลุ่มคนที่นับถือศาสนาต่างๆ ได้เปิดฟังเป็นการส่วนตัว”

     “เราไม่แปลกใจว่า เพราะเหตุใด ประเทศต่างๆ จึงให้ความสนใจประเทศสิงค์โปร์ ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัทข้ามชาติ การจัดสัมมนาระดับนานาชาติ และกลุ่มคนต่างๆ มักจะเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาดูงานเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัฒนธรรม เชื้อชาติ และศาสนาอยู่เสมอ  และเรามุ่งหวังที่จะทำให้สิงค์โปร์เป็นประเทศแบบอย่างที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และประชาชนกลุ่มต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขท่ามกลางความกลางแตกต่าง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สิงค์โปร์กล่าวเพิ่มเติม

    พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้กล่าวถึงกระสบการณ์ในการทำงานด้านสันติภาพว่า “ความจริง (Truth) ความยุติธรรม (Justice) อภัยทาน (Forgiveness) และความปรองดอง (Reconciliation)  เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก  เมื่อใดก็ตามที่สังคม หรือชุมชนขัดแย้งจนนำไปสู่การแสดงออกซึ่งความรุนแรงต่อกันนั้น  ความจริงเป็นสิ่งสำคัญที่คนในสังคมจะต้องช่วยกันค้นหาโดยอาจจะใช้วิธีการสานเสวนา (Dialogue) หรือการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเสาะหา เพราะความจริง (Truth) จะนำไปสู่ความไว้วางใจ (Trust) ระหว่างคนที่อาศัยอยู่ด้วยกัน เมื่อได้กล่าวจริงอย่างรอบด้านแล้ว เราอาจจะนำหลักการทางกฎหมายเข้าไปดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับความเป็นไปของสถานการณ์  ในขณะเดียวกัน เมื่อความจริงปรากฎแล้ว มาตรการการเยียวยากลุ่มคนต่างๆ ที่ได้กระทบจำเป็นจะต้องดำเนินการ เพราะสิ่งเหล่านี้ จะนำไปสู่การให้อภัยซึ่งกันและกัน และจะทำให้กลุ่มคนต่างๆ อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขภายใต้ประโยชน์และความต้องการที่แตกต่างกัน”

     จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้แทนทางการเมือง และศาสนาต่างๆ ครั้งนี้   ได้ก่อให้เกิดผลในเชิงบวกต่อมุมมอง และท่าทีของกลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  เพราะการเรียนรู้พหุวัฒนธรรมจะก่อให้เกิด “ความเข้าใจ และยอมรับความที่เขาเป็นเขา โดยไม่พยายามที่นำเขามาเป็นเรา”  ดังจะเห็นได้จากมุมมองของผู้เข้าสัมมนาที่สอดคล้องกันว่า “เกื้อกูน แต่ไม่ก้าวก่าย เข้าใจแต่ไม่ปะปน”

 

บทความภาษาอังกฤษ
Buddhist Values towards Conflict and Peace: Truth, Justice, Forgiveness and Reconciliation

File Powerpoint
Truth, Justice, Forgiveness and Reconciliation in Buddhism

หมายเลขบันทึก: 431803เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2011 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นมัสการพระคุณเจ้า

มาติดตามอ่านเจ้าค่ะ

โยมพี่คิม

เจริญพรขอบใจมากที่ตามมาเยี่ยมและติดตามงาน  ขอโทษที่เมื่อเข้ามิได้แนบไฟล์บทความ และ PTT เพื่อให้รายละเอียดในการนำเสนองานที่ประเทศสิงค์โปร์ และหวังว่าทั้งสองไฟล์จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโอกาสต่อไป

ด้วยสาราณียธรรม

นมัสการพระคุณเจ้า พระมหาธรรมหรรษา

ด้วยความขอบพระคุณที่แนะนำอาหารสมอง ที่บริโภคแล้วเกิดปัญญา สานเสวนา (Dialogue)  ฟังอย่างตั้งใจ ..อ่านอย่างตั้งใจ ทุกศาสนาอยู่กันได้ด้วยสันติ

ล่าสุดกระผมได้ไปนอนกับพระ (เพื่อน) ที่ วัดศาลเจ้า จังหวัดราชบุรี นอนคุยกันตลอดคืน ด้วยความสุขที่ได้ ถกปัญหา  ถกวรรณกรรม (เรื่องเสือเพลินกรง) และถามตอบปัญหาของพี่น้องชายแดนใต้ด้วยความห่วงใย ในคนที่สร้างสถานะทางศาสนา

ท่านผู้เฒ่า

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมกัลยาณมิตร   ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาใดก็ตาม แต่เราก็คือ "เพื่อนมนุษย์" เกิด แก่ เจ็บ และตายเช่นกัน  การใส่ใจเพื่อนมนุษย์ คือการใ่ส่ใจตัวเราเอง

ด้วยสาราณียธรรม

นมัสการพระคุณเจ้า ธรรมหรรษา

เอาบันทึกนอนกับพระมฝากครับhttp://gotoknow.org/blog/bangheem/432121

นมัสการเจ้าค่ะ

มาอ่านแง่มุมดีๆของชีวิต

นมัสการลา

โยมณัฐรดา,

อนุโมทนาที่แวะมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ   ธรรมะรักษาโยมและครอบครัวให้มีความสุขตลอดปี ตลอดไป

ท่านดร.ขจิต

อนุโมทนาขอบคุณสำหรับดอกไม้ช่่องาม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท