dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

เยี่ยมห้องเรียนแนวมอนเตสซอรี่


การเรียนการสอนแนวมอนเตสซอรี่

เยี่ยมห้องเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่

 

         เมื่อได้ไปเยี่ยมห้องเรียนของอาจารย์กรรณิกา  กระกรกุล ซึ่งสอนในระดับปฐมวัยของโรงเรียนอนุบาลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี อาจารย์กรรณิกาได้ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงการศึกษาระดับประปฐมวัยของมอนเตสซอรี่สากล ตามโครงการพัฒนาการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ 2552-2553 หลักสูตร AMI ได้พบกับการนำแนวความคิดการสอนแบบมอนเตสซอรี่มาใช้ สิ่งที่เห็นได้เด่นชัดจากการสังเกตในวันนั้นคือ   เด็กๆในห้องเรียนมีพฤติกรรมที่แสดงออกให้เห็น คือ ความเป็นระบบระเบียบ เด็กได้แสดงออกในการเดิน  การนั่งการหยิบจับสิ่งของ  การเก็บอุปกรณ์และการมีสมาธิในการปฏิบัติกิจกรรม มอนเตสซอรี่ถือว่า ระบบระเบียบเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การอยู่รวมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปลอดภัย

         นอกจากนั้นสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน มีอุปกรณ์และวัสดุตามแนวการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ที่จัดไว้อย่างเป็นหมวดหมู่ ถึงแม้จะไม่มากแต่ก็เพียงพอที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้สัมผัส หยิบจับ อุปกรณ์และสื่อ ซึ่งอาจารย์กรรณิกาได้จัดสื่อภายในห้องเรียนตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ไว้ 4 หมวด คือ

            หมวดชีวิตประจำวัน  จัดเพื่อให้เด็กได้รู้จักดูแลตนเองด้วยการทำงานกับชุดเครื่องแต่งกาย เช่น ติดกระดุม รูดซิป ผูกเชือกรองเท้า ฯลฯ การดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการรู้จักทำความสะอาด ทำสวน รีดผ้า เป็นต้น

          หมวดประสาทรับรู้  ให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสเพื่อช่วยให้พัฒนาประสาทสัมผัส มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เด็กสามารถใช้ประสาทรับรู้ในการสัมผัส การดมกลิ่น การลิ้มรส การฟัง และการมองเห็น การเรียนรู้ผ่านประสาทรับรู้ ช่วยให้เด็กได้สามารถที่จะจัดระบบแยกแยะทุกคุณลักษณะที่มีอยู่ในโลก ทำให้เกิดความประณีต ความละเอียดอ่อนในการรับรู้ ซึ่งถือว่าเป็นการวางรากฐานสำหรับการศึกษาต่อไปของเด็กในด้านวิชาการต่าง ๆ ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาดนตรี เป็นต้น

          หมวดภาษา ให้เด็กได้สัมผัสกับอุปกรณ์ที่เป็นสื่อให้ได้เรียนรู้ภาษา อุปกรณ์ที่จัด

เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กสื่อสารกันได้ ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในสังคม หมวดภาษานี้เป็นฐานสำคัญที่นำไปสู่การอ่านการเขียนในอนาคต  ซึ่งสื่อที่จัดไว้แสดงให้เห็นถึงการคำนึงถึงสัมฤทธิ์ผลที่ต้องการให้เกิดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

          หมวดคณิตศาสตร์  จัดเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ที่เป็นรากฐานในลักษณะที่เป็นรูปธรรม มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งการฟัง การรู้ค่าจำนวน การบวก เป็นต้น สื่อและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จัดไว้เพื่อทำให้เด็กได้เข้าใจคณิตศาสตร์ที่นำไปสู่แนวคิดนามธรรมในที่สุด

          เราจะพบว่าเด็ก ๆ จะหยิบจับอุปกรณ์อย่างเป็นระบบคือ เห็นได้จากพฤติกรรมที่ปรากฏนั้นได้ ผ่านการสาธิตการใช้อุปกรณ์แต่ละชิ้นอย่างมีระบบมีขั้นตอนจากครูมาแล้ว เพราะการเรียนรู้ของเด็กเกิดจากการเลียนแบบและเด็กมีจิตที่ซึมซับ เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง และเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่พบเห็น ก่อนที่เด็กจะใช้สื่ออุปกรณ์ของมอนเตสซอรี่ได้ เด็ก ๆ จะต้องผ่านการสาธิตการใช้อุปกรณ์ซึ่งอาจารย์กรรณนิกาได้ดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอน คือเริ่มตั้งแต่

 

         ลำดับที่ 1  การชักจูงให้เด็กปฏิบัติกิจกรรม

         ลำดับที่ 2  การพาเด็กไปที่ชั้นเก็บอุปกรณ์แล้วแนะนำชื่ออุปกรณ์หรือกิจกรรมที่จะสาธิตให้เด็กได้รู้จัก เช่น “นี่คือกรอบไม้ เครื่องแต่งกายชุดติดกระดุม “หรือ“คูครูจะสาธิตการติดกระดุมให้หนูดู”

         ลำดับที่ 3 การแนะนำวิธีการถืออุปกรณ์ที่ถูกต้องให้กับเด็กแล้วพาเด็กไปยังที่จะสาธิต อาจเป็นโต๊ะ หรือ เสื่อ (กรณี เป็นเสื่อต้องเสื่อปูไว้ก่อน)

         ลำดับที่ 4  การวางอุปกรณ์ไว้ด้านหน้าแล้วนั่งลงข้าง ๆ เด็ก

         ลำดับที่ 5 การสาธิตการใช้อุปกรณ์อย่างช้า ๆ และชัดเจน โดยให้การเคลื่อนไหวของมือมีความนุ่มนวลในการหยิบจับอุปกรณ์ หลีกเหลี่ยงการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็นและใช้คำพูดให้น้อยที่สุด

         ลำดับที่ 6  การให้เด็กลองปฏิบัติดูบ้าง

         ลำดับที่ 7  เมื่อเด็กปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว เด็กได้ผ่านกระบวนการที่ครูถามเด็กว่าอยากจะปฏิบัติซ้ำหรือไม่ ถ้าไม่ ให้พาเด็กนำอุปกรณ์ไปเก็บไว้ที่ชั้นตามเดิมพร้อมบอกเด็กว่า หากเด็กต้องการจะปฏิบัติอุปกรณ์ชิ้นนั้นอีก ก็ให้นำออกไปปฏิบัติได้เอง โดยอธิบายให้เด็กรู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะเก็บไว้ที่เดิมเสมอ และทุกครั้งเมื่อปฏิบัติเสร็จให้นำมาเก็บไว้ที่เดิม เพื่อเพื่อนคนอื่น ๆ สามารถนำไปปฏิบัติได้ และเพื่อเด็กจะทราบด้วยว่าอุปกรณ์อยู่ที่ใดเมื่อต้องการนำออกมาปฏิบัติอีก

         จากการสังเกตตัวเด็กและบรรยากาศภายในห้องเรียน เด็กๆได้ผ่านกระบวนการที่กล่าวแล้ว สิ่งที่ไม่ลืมและประทับใจในการเยี่ยมห้องเรียนครั้งนี้คือ เด็กปฐมวัยรู้จักเคารพกฎ ระเบียบ ข้อตกลง การมีวินัยในตนเองมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติกิจกรรม การมีสมาธิ การมีจิตใจจดจ่อต่องานที่ทำ และความรับผิดชอบในการทำงาน ซึ่งที่กล่าวทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้องการวางรากฐานให้กับเด็กปฐมวัยไทยของเรา

 

หมายเลขบันทึก: 432388เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2011 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • แนวคิดมอนเตสซอรี่  เอามาใช้กับเด็กโตได้ไหมคะ  (ประถม, มัธยม,...)  ดูเป็นแนวคิดที่ดีค่ะ
  • อ้อ กำลังเริ่มทำโครงการครูเพื่อศิษย์ เพื่อให้เด็กไทยมีทักษะในอนาคต 21st Century Skills  มากกว่า ได้รับองค์ความรู้ที่ตายตัวค่ะ
  • ขอมาเรียนรู้ด้วยคนนะคะ

                  การเรียนการสอนแนวมอนเตสซอรี่ในต่างประเทศใช้ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมัธยม  สำหรับในเมืองไทยส่วนใหญ่ที่นำมาใช้คือในระดับปฐมวัย สำหรับอ.กรรณิกา ได้ผ่านการอบรมจาก AMI  และได้นำแนวการเรียนการสอนดังกล่าวมาใช้จนเกิดผลกับเด็กปฐมวัยของเรา  ถ้าสนใจไปศึกษาดูงานได้ที่โรงเรียน  หรืออาจศึกษาจากเอกสารต่างๆซึ่งมีอยู่หลายเล่มค่ะ               

อยากชวนครู และโรงเรียนที่สนใจอยากพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนตัวเอง มาร่วมโครงการสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ จังค่ะ(ตามแนวคิดของ อ.หมอวิจารณ์ พานิช http://thaikm.gotoknow.org) อ.ดารารัตน์ พอจะแนะนำ ผอ. หรือโรงเรียนไหนใน สพท.รบ. 1 ไหมคะ

ยินดีที่อาจารย์อ้อสนใจในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอน สำหรับที่ราชบุรีมีครูผู้สอนที่สนใจในการพัฒนาหลายโรงเรียน เช่น ร.ร.อนุบาลวัดเพลง อ.วัดเพลง ร.ร.บ้านหนองขาม อ.สวนผึ้ง เป็นต้น ค่ะ

กำลังศึกษาแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการสอนในระดับปฐมวัย เพราะเพิ่งมารับผิดชอบการสอนอนุบาลใหม่ ประสบการณ์เดิมสอนระดับประถมมาตลอด ปีการศึกษา 2555นี้ต้องการศึกษาดูงานโรงเรียนที่ จัดการศึกษาตามแนวคิดมอนเทสเชอรี่ ขอความอนุเคราะห์แนะนำด้วยคะ ขอบคุณล่วงหน้านะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท