เรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตและการทำงานในองค์กรอย่างสมดุลจากหนังเรื่อง “Due Date”


ความชั่ว ความดี ก็อัปปรีย์พอกัน

 

การดำเนินเรื่องเนื้อหาของหนังเรื่องนี้ เป็นไปตามสูตรการเขียนบทของการทำหนังทั่วๆ ไป ที่ตัวเอกของเรื่องทั้งสองคนมีบุคลิกลักษณะขัดแย้งกัน และมีสถานการณ์ที่บีบคั้นตลอดเวลา คนหนึ่งดูเหมือนว่าจะใช้ชีวิตอย่างมีระบบ ระบบระเบียบ เป็นขั้นตอน ดูเนี๊ยบ บริโภคนิยมตามกระแสของสังคมคนเมือง อีกคนดูเหมือนใช้ชีวิตอย่างอิสระ ศิลปิน ไม่ค่อยมีระเบียบวินัย ดูสกปรกซกมก เหตุการณ์ของเรื่องทำให้ทั้งสองคนตั้งร่วมกันผจญกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และไม่อยากจะคิด ซึ่งทำให้แต่ละคนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันจนเข้าใจกันและจบลงด้วยดี  (ดูรายละเอียดเนื้อหาและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nangdee.com/title/html/m2332.html)

 

ภาพจาก http://www.nangdee.com/title/mt_poster.php?movie_id=2332

 

สิ่งที่ผมคิดว่าได้เรียนรู้จากหนังเรื่องนี้คือ ความสมดุลของการใช้ชีวิต ที่ไม่สุดโต่งเกินไป หนังสื่อให้เห็นถึงสไตล์การใช้ชีวิตต่างขั้วของแต่ละคน ที่มีทั้งเหมาะและไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ละคนเป็นตัวแทนความเป็นหยิน (อ่อน) และหยาง (แข็ง) ตามแนวคิดเต๋า ดังนั้นเราควรจะเลือกใช้แนวทางที่เหมาะกับเหตุการณ์ชีวิตในแต่ละบริบทที่เกิดขึ้นให้เหมาะสม ในดีมีเลว ในเลวมีดี ถ้าไม่มีความเลว ความดีก็เกิดขึ้นไม่ได้ พระท่านจึงสอนว่าอย่ายึดติดทั้งความดีความเลว ดังที่ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า “ความชั่ว ความดี ก็อัปปรีย์พอกัน” ผมยอมรับว่าระหว่างที่ดูหนังผมก็เอาใจช่วยและมีอารมณ์ร่วมไปกับหนัง เพราะหนังโน้มน้าวให้เราเชื่อและสนับสนุนกรอบความคิดที่แต่ละคนมีอยู่ คือ คนที่มีลักษณะที่เคยชินกับความค่อนข้างมีระเบียบ (หยาง) ก็จะเชียร์ตัวละครจากสังคมเมือง คนที่มีลักษณะที่เคยชินกับความสบายๆ ง่ายๆ ก็จะชียร์ตัวละครจากสังคมบ้านนอก แต่สุดท้ายหนังก็คลี่คลายและสื่อให้เห็นถึงความที่ไม่เหมาะของการสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ทำให้ผมนึกถึงการใช้แนวคิด “แขวนคำพิพากษา” ที่ ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ ได้แนะนำไว้ นำมาใช้กับเรื่องเหล่านี้ได้ดีมากเลยทีเดียว

 

นอกจากการใช้ชีวิตทั่วไปแล้วผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ น่าจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการบริหารจัดการในองค์กรได้ดีทีเดียว โดยเราควรจะสมดุลเรื่องการบริหารทั้งด้าน Hard Side และSoft Side ให้เหมาะสม  องค์ที่บริหารแบบ Hard Side มากเกินไป พนักงานก็จะทำงานด้วยความกดดัน ไม่มีความสุข ไม่มีความจริงใจในการทำงานหลอก audit โกหก  Make KPI เพื่อเอาตัวรอด หน้าฉาก KPI ทำได้อย่าง Achieve ตลอดแต่ความจริงผลงานไม่เป็นไปตามนั้น  องค์กรที่บริหารแบบSoft Side มากเกินไปก็จะทำให้พนักงานไม่ค่อยมีระเบียบวินัย เป้าหมายการทำงานไม่ชัดเจน ประเมินผลติดตามผลการทำงานได้ลำบาก ถ้าเปรีบบเทียบการบริหารแบบ Hard Side และSoft Sideกับการเล่นเกมปิดตาตีหม้อ การบริหารแบบ Hard Side ก็คือมีไม้ในมือ (Tool : ISO/TQM/6Sixma) แต่มองไม่เห็น ทำให้ตีผิดบ้างถูกบ้าง การทำงานก็ไม่มีประสิทธิผล เพราะมีเครื่องมือแต่ใช้ไม่เหมาะสม ใช้ไม่ถูกกับปัญหา ถ้าแก้ผ้าที่ปิดตาออกแต่ไม่มีไม้ที่จะตีหม้อก็เปรียบเสมือนการบริหารแบบSoft Side ที่รู้ปัญหาแต่ไม่มีเครื่องมือที่จะมาแก้ปัญหานั้นๆ ดังนั้นการบริหารทั้งด้าน Hard Side และSoft Side ต้องใช้ให้เหมาะสมและสมดุล

 

 

การขับเคลื่อนองค์กรด้วยHard Side และSoft Side นี้ ผมคิดว่าคนในองค์กรน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิผล ดังนั้นต้องสร้างให้คนในองค์กรเกิดทัศนคติที่ดีทั้งด้านHard Side และSoft Side ส่งเสิรมให้เกิดการเรียนรู้ให้รอบด้าน แต่การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นการฝึกอบรมเท่านั้น เพราะตามทฤษฎีการเรียนรู้ท่านผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า การเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากการสอนแต่เกิดจากการที่ผู้เรียนสร้างความรู้ขึ้นมาเองตามสไตล์และจริตของแต่ละคน แต่ทั้งนี้จะต้องมีคนที่คอยสร้างและบอกแนวทางให้กับผู้เรียนว่าตรงไหนเป็นความรู้ ตรงไหนมีความรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้เดินทางไปสู่ความรู้นั้นด้วยตัวเอง ตามจริตความชอบของตัวเอง ไม่ใช่ไปบังคับว่าความรู้ตัวนี้ต้องเดินเส้นนี้เท่านั้น ผมคิดว่าการเรียนรู้แบบนี้น่าจะมีความยั่งยืนและติดตัวไปกับผู้เรียนได้ดีกว่า

 

หมายเลขบันทึก: 433419เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2011 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท