ลูกหลานไทย(แท้ส่วนใหญ่)หมดทางสู้ เพราะความรู้(ในตำราและห้องเรียน)ราคาแพง (เกินจำเป็น)


เด็กทุกวันนี้จึง "ทำการบ้านจริงๆ" เช่น ล้างจาน กวาดเช็ดถูบ้าน ซักผ้า รีดผ้า ฯลฯ ไม่เป็น เป็นแต่ "การบ้าน" ที่แปลได้ว่า "งานส่งครูที่ต้องเอามาทำที่บ้าน"

โดยความเป็นคนบ้านนอก และเป็นครูบ้านนอก

ครูวุฒิจึงได้พบเห็น และได้ยินได้ฟังเสียงบ่นเสียงโอดครวญ

ของผู้ปกครองนักเรียนทั้งคนใกล้และไกลตัว

เกี่ยวกับเรื่อง "ค่าใช้จ่าย"ในการให้การศึกษาของบุตรหลาน

ซ้ำยังต้องลงแรงช่วยลูกหลานเรียน ๆ ๆ ๆ และเรียนอีกด้วย

เพราะบ่อยครั้งที่ต้องพาบุตรหลานเข้าเมือง เข้าอำเภอ

(ซึ่งบางทีก็ไกลซะแสนไกล)

เพื่อเข้าใช้บริการร้านอินเตอร์เน็ต ร้านถ่ายเอกสาร-ปรินต์งาน-ปรินต์รูป-เขียนซีดี

หรือแม้แต่ร้านขายวัสดุอื่นๆ ทั้งแบบซอร์ฟแวร์และฮาร์ดแวร์

ที่โดยปกติแล้วไม่ใคร่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเรียนการสอนในสถานศึกษามากนัก

และบ่อยครั้งที่บุตรหลานที่ต้องไปทำงานแบบกลุ่มที่บ้านเพื่อนที่ต่างหมู่บ้านจนมืดค่ำ

ซึ่งผู้ปกครองต้องเสี่ยงภัยขับมอเตอร์ไซค์ทั้งตอนไปส่งในภาคเช้า

และเสี่ยงภัยยิ่งขึ้นเมื่อตอนไปคอยรับกลับ

และก็ไม่เว้นแม้แต่เสาร์-อาทิตย์อีกด้วย

ทั้งนี้ เพราะมี "การบ้าน" จาก "ครู" และ "การศึกษาแบบใหม่" มากมายให้ทำ ให้ค้น ให้หา ให้เรียบเรียง ให้ ๆ ๆ ๆ ๆ ............... (โห้ จิปาถะ)

ทั้งในแบบ "รายงาน" "โครงงาน" "ชิ้นงาน" และ ................ฯลฯ............

ซึ่งทั้งหลายทั้งหมด

ได้ดึงเอาเวลาที่ควรเป็นเวลาของการ "ทำการบ้านแท้" ช่วยพ่อแม่ช่วยผู้ปกครองไปหมด

เด็กๆในชนบทส่วนใหญ่ในทุกวันนี้จึง "ทำการบ้านจริงๆ" เช่น ล้างจาน กวาดเช็ดถูบ้าน ซักผ้า รีดผ้า ฯลฯ ไม่เป็น

เป็นแต่ "การบ้าน" ที่แปลได้ว่า "งานส่งครูที่ต้องเอามาทำที่บ้าน"เท่านั้น

ซึ่งยิ่งทำก็ยิ่งน่าเบื่อ เพราะที่โรงเรียนครูก็สั่งๆๆๆๆๆ ให้ก็ทำจนแทบจะกระอักอยู่แล้ว

เด็กส่วนหนึ่งจึง"จำต้อง"หันหลังให้กับการศึกษาในระบบ

ออกใช้ "เสรีภาพ" จนสำลักออกมาในรูปของ

"เด็กติดยา" "คุณแม่วัยรุ่น" "เด็กแว้น" "สก๊อยเกริ์ล" อย่างที่เห็นและเป็นอยู่เกลื่อนเมือง

เพราะพ่อแม่ปู่ย่าตายายก็ไม่ใคร่จะมีเวลาดูแล

และที่เจ็บปวดเป็นที่สุดสำหรับครูวุฒิก็คือ

เด็กที่อยากเรียน แต่เรียนไปไม่ไหว

เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนรายวันมันแพงแสนแพง (โดยไม่จำเป็น) นี่แหละ

บางที "องค์ความรู้ที่ได้นั้นนิดเดียว" และเผลอๆก็เป็น "เรื่องที่เด็กๆก็รู้และเข้าใจดีอยู่แล้ว"

แต่คุณครูเรา (โดยกำกับของนักการศึกษาจากหน่วยเหนือ) ก็ "อุตริ" สั่งให้เด็กทำมาส่งในรูปแบบของ

"รายงาน" , "โครงงาน" และ "ชิ้นงาน"

โดยผ่านกระบวนการต่างๆมากมายหลายขั้นหลายตอน

จนกลายเป็นภาระอันหนักหน่วงของพ่อแม่ผู้ปกครอง

ทั้งในรูปของ "เวลา" "ค่าใช้จ่าย" และ "ความเสี่ยงภัย" ไปด้วย

และหากมองไปที่เด็กๆในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ หรือมีรายได้น้อยอยู่แล้ว

จะหนักหนาสาหัสสากรรจ์เพียงใด

นี่แหละครับมูลเหตุสำคัญ

ที่ทำให้เด็กๆส่วนหนึ่งต้องกลายเป็น "เด็กนอกระบบ" ในวันนี้

และกลายเป็น "ผู้ใหญ่ไร้คุณภาพ" และ "เป็นภัยต่อสังคม" ในจังหวะต่อไป

..........??????????????????.............

อนิจจา........... "การศึกษาไทย"

มีไว้เพื่อ "พัฒนา" หรือเพื่อ "ฆ่า" เด็ก กันแน่ !

.......................

หมายเลขบันทึก: 435631เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2011 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

 เป็นอีกมุมมองที่มองเห็นได้ยาก ยกเว้นคนใน

 พออ่านตามเนื้อหาแล้ว เห็นภาระหนักอึ้งทั้งผู้ปกครองและทั้งเด็กนักเรียน

 ผู้ปกครองจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมาก สำหรับ การบ้านในยุคดิจิตอล และยังขาดแรงงานในบ้าน

 เด็กนักเรียน หมดเวลาไปกับการบ้านที่ไม่ใช่งานบ้าน

ขอบพระคุณที่ให้มุมมองนี้ครับ

  • หมอสุข

สภาพเช่นนี้เป็นเรื่องปกติของประเทศยากจน ที่มีชนชั้นปกครองเป็นกลุ่มคนเห็นแก่ตัว

ทางแก้ปัญหาในเบื้องต้นที่เป็นไปได้มากที่สุด ก็คือชุมชนต้องพึ่งพาตนเองให้มากเข้าไว้

อย่ามัวอ้าปากรอรัฐบาลหรือข้าราชการให้มาช่วย หรือหวังลมๆแล้งๆกับการปฏิรูปการศึกษา

ซึ่งไม่เห็นว่าจะมีอะไรดีขึ้นเลย นอกจากการตีปีบและลมปากที่เฝ้าโฆษณาชวนเชื่อทุกวัน

ชุมชนต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อช่วยพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่นเท่าที่ทำได้ เข้ามามีส่วนร่วม

ในการพัฒนาโรงเรียน เข้ามาให้ความเห็นและกระตุ้นให้โรงเรียนตระหนักว่า โรงเรียนนี้

เป็นของชุมชน ไม่ใช่ของกระทรวงศึกษาฯ ช่วยกันสะท้อนปัญหาของชุมชนให้โรงเรียนรับทราบ

ขณะเดียวกันก็ช่วยหาทางออกในการพัฒนาโรงเรียนพร้อมกันด้วย

การพึ่งพาตนเองเท่านั้น จึงจะแก้ปัญหาการศึกษาได้ อย่ารอรัฐ อย่ารองบประมาณ แต่ให้คิดเอง

ทำเอง แก้ปัญหาเอง อย่างร่วมมือไม่เห็นแก่ตัว ปัญหาทุกอย่างก็จะบันเทาลงได้...

Ico48

สวัสดีครับคุณหมอ

  • ขอบพระคุณสำหรับการให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมและกรุณาให้ความคิดเห็น
  • ขออนุญาตทำความรู้จักนะครับ
  • ครับ....นี่คือชะตากรรมของคนบ้านนอก(ห่างไกล)ที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ใคร่ทราบ
  • กระผมเห็นจนชินตา ที่ผู้ปกครอง(ส่วนใหญ่ก็เป็นปู่ย่าตายาย) ที่ต้องคอยรับคอยส่งเด็กที่บ่อยครั้งต้องไปทำงานกลุ่มเพื่อจะส่งครูที่บ้านเพื่อนต่างหมู่บ้านจนมืดค่ำ เสียทั้งเวลาทำมาหากิน เสี่ยงทั้งภัยอันตรายรอบด้าน
  • กระผมเห็นว่าท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงฯควรต้องรับทราบ พินิจพิเคราะห์ให้ถ้วนถี่ แล้วทำความเข้าใจกับคุณครูที่ถนัดสอนในแบบ"หากินกับชิ้นงานของเด็กๆ"บ้าง
  • และต้นเหตุของเรื่องนี้จริงๆก็มาจากท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงนั่นแหละ ที่สร้างกฎเกณฑ์เรื่องค่าวิทยฐานะ และเร่งรัดการเรียนการสอน(ปฏิรูปการศึกษา)ตามก้นฝาหรั่ง
  • ครูก็แข่งขัน เด็กก็แข่งขัน ความเอื้ออาทรต่อกันและกันเลยไม่เกิด แทบทุกคนทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น
  • แล้วโลกเราจะเดินไปสู่ความสงบร่มเย็นและมีศานติตามเจตนาได้อย่างไรล่ะครับ
  • หวังว่าจะได้รับเกียรติจากคุณหมออีกในโอกาสต่อๆไปนะครับ
  • ขอบพระคุณครับ
Ico48

สวัสดีครับท่าน ดร.

  • กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับสำหรับการได้รับเกียรติจากท่านเป็นอย่างสูงในการเข้าเยี่ยมชมเป็นครั้งแรก และกรุณาให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ยิ่ง
  • ขออนุญาตทำความรู้จักนะครับ
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำแนะนำของท่าน
  • โดยเฉพาะใน "ประเทศที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้ง ดิน น้ำ แสงแดด และความปลอดภัย" เช่นประเทศไทย
  • ซึ่งชุมชนน่าจะเข้มแข็งเป็นแบบอย่างของการพึ่งตนเองและเอื้ออาทรสังคมได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ
  • แต่....... เสียดาย.... ที่การณ์กลับตรงข้าม
  • เพียงเพราะ "การศึกษา" , "ศาสนา" และ "การเมือง" หลงทาง ชนิด "มืดบอดแบบสนิท"
  • ผู้คนชั้นกลางและชั้นมีอันจะกิน ก็เลยหลงเพลินอยู่กับ "สมบัติบ้า" และ "หิวกระหายตลอดเวลา" คอยแต่แสวงหาหนทาง "เอาๆๆๆๆ..." ทั้งในทางที่ชอบและไม่ชอบ ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้าง "ความอ่อนแอ" ทั้งทางปัญญาและร่างกาย ให้กับคนชั้นล่าง (ว่าตามนัยการแบ่งชั้นตามความเข้าใจของสังคมไทย) เพราะตัวเองจะได้สวาปามได้โดยสะดวกต่อไปได้เรื่อยๆ
  • ผลก็เลยทำให้"คนชั้นล่าง"สนุกสุขสมอยู่กับอารมณ์"การถูกเอาใจ"จากรัฐ จนอ่อนแอกันชนิดหลงตัวเองว่า "ฉันคือเทวดา" ที่รัฐจะต้องดูแลอย่างใส่ใจในทุกเรื่อง
  • ซึ่งในเรื่องนี้ กระผมและคณะผู้ร่วมงาน (ทั้งชุมชนในเขตบริการของโรงเรียน และ "ทีมมหาวิชชาลัยธรรมชาติ" ซึ่งนำโดย ร.ต.ต.วิชัย สุริยุทธ ตำรวจนักปลูกต้นไม้แห่งอำเภอปรางค์กู่) ต่างก็มองเห็นอย่างเข้าใจ
  • จึงได้พยายามจัดการศึกษาในแบบที่ท่าน ดร. ได้กรุณาให้คำแนะนำ
  • ลองดูตัวอย่างที่ ลิงค์นี้ ดูนะครับ
  • ผิด-ถูกอย่างไร กระผมพร้อมน้อมรับคำติชมและคำแนะนำเสมอครับ
  • หวังว่าที่บล้อกนี้ คงได้มีโอกาสต้อนรับที่ ดร. อีกนะครับ
  • ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงอีกครั้ง
  • สวัสดีครับ

อ่านบทความของอาจารย์แล้วทำให้ผมมีความรู้สึกดีครับ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ผมรู้ว่าบุคลากรที่อยู่ในวงการศึกษารับรู้ปัญหาทุกอย่าง แต่เป็นด้วยระบบการศึกษาที่ถูกกำหนดมา จึงพาให้เป็นอย่างที่เห็น ผมมีคำถามทุกครั้งเมื่อลูกกลับจากโรงเรียนว่า ทำไมๆๆๆๆ แต่ก็ไม่รู้จะไปขอความกระจ่างกับใครเพราะเป็นอย่างนี้ทุกโรงเรียน จนกลายเป็นเรื่องปกติ คนที่คิดสงสัยกลายเป็นคนแปลกแยกจึงอัดอั้นอยู่ในใจ ครูให้การบ้านเด็ก หลายๆ วิชาพร้อมๆ กันโดยไม่ได้นัดหมาย แล้วที่ให้มามันมากเกินกว่าธรรมชาติของเด็กวัยนี้จะทำไหว...ลูกต้องทำการบ้านถึงตีหนึ่งตีสอง ...ปีนี้จำนวนเด็กที่สอบเข้าเรียน ม.1 ในกาญจนบุรี เด็กที่สอบเข้าเรียนโครงการเด็กศักยภาพ เด็กอีพี ไอพี ล้วนแต่เป็นเด็กที่พ่อแม่มีเงินส่งไปเรียนพิเศษทั้งสิ้น เด็กที่พ่อแม่ยากจน หรือเด็กที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วยการเรียนพิเศษกลายเป็นเด็กชั้น2 (ลูกผมด้วย 1 คน)และทราบมาว่าครูไม่ให้ความสนใจด้วย จะเอาใจแต่เด็กที่เก่งอยู่แล้ว...ปัญหาเหล่านี้ไม่ทราบว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงรับรู้เรื่องบ้างหรือเปล่า พอพูดถึงเรื่องปฏิรูประบบการศึกษาก็มีคนเยาะเย้ยว่า ให้ไปย้ายภูเขาหิมาลัยยังจะง่ายกว่ามาคิดปฎิรูปการศึกษาไทย...ฟังแล้วจะรู้สึกอะไรกันบ้างก็ไม่รู้...เฮ้อ ผมเตรียมใจไว้แล้วครับว่าถ้าระบบการสอนเป็นอย่างที่คนเขาว่าจริงๆ ผมจะเอาลูกผมออกนอกระบบแล้วมาจัดการเรียนการสอนเอง...เน้นทักษะชีวิตที่สามารถนำไปใช้ได้จริง...

Ico48

สวัสดีครับ คุณหนุ่มเอม

  • ขอบคุณมากครับที่ให้เกียรติครูวุฒิ
  • ซึ่งตอนนี้เท่ากับว่าคุณหนุ่มเอม เป็นหนึ่งในผู้ปกครองเด็กๆที่ครูวุฒิได้เก็บเป็นข้อมูลที่บอกเล่าถึงความเป็นจริงของการศึกษาไทย
  • โดยเป็นข้อมูลจากคำบอกเล่าที่ชัดแจ้งที่สุด เพราะสะท้อน"ความรู้สึก"ออกมาเป็นตัวอักษรที่ใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้
  • กระผมเข้าใจว่า มีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่เจอสถานการณ์และมีความรู้สึกเช่นนี้ แต่ไม่ใคร่มีพื้นที่และโอกาสที่จะแสดงความรู้สึกนั้นออกมา (แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าเป็นธรรมดา เพราะเคยชินดังว่า)
  • แต่หากได้เห็นจังๆและพินิจพิเคราะห์จากกรณีที่ "เด็กบางคนถูกเพื่อนไล่ออกจากกลุ่ม แล้วติด 0  หรือ ร เพียงเพราะเด็กคนนั้น"ไม่มีตังค์ออกค่าใช้จ่ายในการทำงานกลุ่มกับเพื่อน" เพราะพ่อแม่หาไม่ทันเท่านั้นเอง
  • ข้อจำกัดเพียงแค่นี้แหละครับ ที่ตัดสิน "อนาคต"ของเด็ก
  • และเรื่องอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญ"ที่นักการเมืองเขาเอาไว้หาเสียงเรื่องเรียนฟรี"ครับ แต่ทั้งหลายทั้งหมด เขาก็เกาไม่ถูกที่คัน และไม่จริงใจที่จะเกาด้วยครับ
  • กระผมตามไปฟังเพลงเพราะๆที่บล้อกแล้วนะครับ เพราะมาก.... และแสดงถึงกึ๋นของคนแต่งได้อย่างถึงแก่นเลยครับ
  • ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงอีกครั้ง
  • สวัสดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท