๘๔.ภาวะผู้นำปฏิบัติของ‘คนงานความรู้’ KW : Knowledge Worker


เมื่อครั้งเตรียมทำสื่อนิทรรศการ หนังสือ และแผ่นป้ายต่างๆ เพื่อไปออกเต๊นท์จัดนิทรรศการ ‘เวทีคนหนองบัว’ กับเพื่อนๆและพี่ๆน้องๆชาวหนองบัว ระหว่างเทศกาลงานประจำปี ไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์  ปี ๒๕๕๔ ของชาวอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่าง ๒๔-๒๘ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมานั้น ผมได้ไปติดต่อทำแผ่นป้ายนิทรรศการด้วยการพิมพ์งานคอมพิวเตอร์กราฟิคบนแผ่นไวนีล โดยรวมแล้วก็ได้งานด้วยคุณภาพอันน่าพอใจมากทีเดียว แต่ก็มีบางส่วนที่ทำเอาชีวิตโกลาหลและเกิดข้อติดขัดอย่างที่คาดไม่ถึง ซึ่งทำให้เห็นความสำคัญของความเป็น ‘คนงานความรู้’ สำหรับการทำงานในยุคปัจจุบัน

ในวันที่ทางกราฟิคเฮ้าส์แจ้งว่างานเสร็จแล้วนั้น ผมไปรับงานด้วยความรู้สึกมั่นใจมากอย่างยิ่ง ทั้งเชื่อมือกราฟิคเฮ้าส์และเจ้าน้องที่เป็นมือกราฟิคอาร์ตให้แก่ผม เมื่อไปถึงก็ได้รับงาน หลังชำระค่าใช้จ่ายอย่างไม่รีรอแล้ว ก่อนจะหอบขึ้นรถก็ช่วยกันแผ่ออกดูความเรียบร้อย แต่พอได้เห็นก็ให้ต้องชงักไปเป็นครู่ เพราะแผ่นนิทรรศการหลายแผ่นนั้นเรียกภาษาศิลปะได้ว่า ‘ไม่ลงตัว’ และน่าจะทำได้ดีกว่าที่ได้เห็น ทั้งในแง่องค์ประกอบทางศิลปะ เนื้อหา และรูปแบบข้อมูลการอ้างอิง

หลายแผ่นทำคำบรรยายภาพเสียใหญ่โตพร้อมทั้งล้อมกรอบเหมือนกับเป็นเนื้อหาสำคัญ แทนที่จะเป็นส่วนประกอบเล็กๆที่ด้านล่างของแต่ละภาพ ในขณะที่ส่วนที่เป็นหัวข้อและเนื้อหาสำคัญกลับไม่ได้เน้นให้เกิดความคิดรวบยอดจากการเห็นตามหลักการใช้ภาษานิเทศน์ศิลป์ซึ่งจะช่วยให้คนเห็นแก่นความคิดของเรื่องและสร้างบทสรุปเพื่อจำเป็นภาพได้ดีขึ้น

ภาพบางภาพที่ควรจะเน้นและจัดวางให้เป็นแก่นเรื่องก็กลายเป็นภาพที่จัดวางเหมือนเป็นส่วนเกิน บางแผ่นก็จัดวางภาพและเนื้อหาอย่างเสียสมดุล แออัดและขาดจุดเน้น ในขณะที่ปล่อยพื้นที่อีกส่วนหนึ่งให้ว่างเปล่า นอกจากนี้ แผ่นป้ายเพื่อติดเป็นชื่อนิทรรศการซึ่งเป็นแผ่นใหญ่ ๓ เมตรสำหรับติดหน้าเต๊นท์และไม่น่าจะผิดพลาดได้นั้น ก็กลับเป็นแผ่นที่ทำให้ผมต้องขอเรียกน้องที่ทำกราฟิคให้มาคุย หลังจากยืนดูและชั่งใจอยู่พักหนึ่งว่าจะคุยดีหรือไม่เพราะกลัวเด็กจะเสียกำลังใจ 

แผ่นใหญ่ที่ว่านี้ ตัวเกริ่นนำที่ควรจะเป็นตัวเล็กๆ เขากลับทำเป็นตัวใหญ่ ส่วนชื่อหัวข้อนิทรรศการที่ควรจะเป็นตัวใหญ่ๆ เขาก็กลับทำเป็นตัวเล็กๆ กลับกันไปหมดราวกับไม่ได้อ่านข้อความให้เข้าใจ ผมใช้วิธีเหมือนเดินดูไปด้วยกันแล้วก็คุยอย่างคนทำงานทางศิลปะเพื่อให้เขาได้มุมมองเพื่อการทำงานกราฟิคอาร์ตต่อไปเท่านั้น ไม่ต้องการให้เป็นบรรยากาศของการตำหนิ เพราะยินดีที่จะรับไปใช้งานทั้งหมด สำหรับผมแล้วเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่แก้ปัญหาได้ไม่ยาก แต่ก็ควรนำมาเรียนรู้เพื่อเอาไว้ใช้ทำงานในอนาคต

                       

ภาพที่ ๑ แผ่นภาพนิทรรศการเหลือที่ว่างเกือบ ๑ ใน ๔ ของแต่ละแผ่น ในขณะที่เนื้อหาเป็นจำนวนมากกลับไปแออัดในบางพื้นที่ ลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการขาดการมองให้ทั่วทั้งแผ่นและไม่ได้ใช้ความรู้ในการจัดองค์ประกอบของแผ่นนิทรรศการให้เหมาะสมกับขนาดที่เลือกใช้

                      

                      

ภาพที่ ๒ และภาพที่ ๓ การเหลือที่ว่างในขณะที่รายละเอียด ภาพประกอบ และข้อมูลการอ้างอิงต่างๆ สามารถออกแบบและจัดวางองค์ประกอบให้ช่วยการอ่านแผ่นนิทรรศการได้อีก ภาพหลายภาพนำไปจัดแออัดอยู่รวมกัน ในขณะที่สามารถขยายให้เป็นจุดเด่นในบางภาพและใช้พื้นที่ได้เหมาะสมมากกว่าเดิม ในงานอื่นๆก็อาจจะเกิดปัญหาทางการปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน ซึ่งจัดว่าเป็นความไม่กล้าตัดสินใจและไม่กล้าใช้วิจารณญาณเพื่อแก้ปัญหาระหว่างการปฏิบัติ หากสร้างให้เกิดขึ้นได้ คนทำงานก็จะจัดว่าเป็น 'คนงานความรู้'

ประสบการณ์อย่างนี้ เป็นสิ่งที่มักจะพบเห็นได้อยู่เสมอในองค์กรการทำงาน ที่คนทำงานเป็นจำนวนไม่น้อยมักจะทำงานกันได้เพียงระดับเทคนิคปฏิบัติ ที่ให้ผลออกมาเหมือนกับไม่เห็นความคิด ไม่เข้าใจความหมาย ขาดการใช้วิจารณญาณในการแก้ปัญหา และไม่เข้าใจเนื้อหาของสิ่งที่ได้ทำ หากพบปัญหาการปฏิบัติหรือพบว่าสถานการณ์เฉพาะหน้าและความเป็นจริงทางการปฏิบัตินั้นมีรายละเอียดที่ผู้มอบหลักคิดของงานไม่ได้สั่งอย่างเจาะจงไว้ ก็หาวิธีใช้ความรู้ความเข้าใจมาจัดการความเปลี่ยนแปลงและสร้างความคิดริเริ่มแปรวิกฤติต่างๆให้เป็นโอกาสที่ดีไม่ได้ ซึ่งถ้าหากเป็นการทำงานในองค์กรและกับคนต่างสาขา นอกจากจะทำให้ต้องสิ้นเปลืองกำลังคน ทรัพยากร และเวลา รวมทั้งแยกส่วนจนมากเกินความจำเป็นในงานพื้นฐานที่ควรจะทำได้เบ็ดเสร็จในตนเองแล้ว ก็จะทำให้งานต่างๆ ออกมาไม่ดีอีกด้วย

การทำงานในลักษณะดังกล่าว ในบางสถานการณ์และในองค์กรบางประเภท จึงอาจจำเป็นต้องพัฒนาคนทำงานแบบ ‘คนงานความรู้’ ซึ่งนอกจากความสามารถทำงานเชิงเทคนิคปฏิบัติได้แล้ว ในการนำเอาความรู้ความสามารถเชิงเทคนิคปฏิบัติและเทคนิคการทำงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่เนื้อหางานต่างๆนั้น จะพบว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและซอล์ฟแวร์ที่แทบจะทำงานแทนความสามารถของคนได้เกือบทั้งหมดนั้นไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาปฏิบัติที่ต้องใช้วิจารณญาณของมนุษย์เข้าช่วย จึงมีความจำเป็นมากที่จะต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะตนเองทางด้านต่างๆควบคู่ไปกับการทำงาน เช่น

  • ทักษะการหารือ เปิดรับข้อมูล การรู้จักพูดคุยสนทนาและตั้งคำถามเพื่อรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการทำงานและประสานงานปฏิบัติกับคนต่างสาขา
  • ทักษะการนำเสนอและแสดงความคิดเห็นต่องานปฏิบัติ เพื่อทำงานความคิดด้วยกันให้ได้โมเดลการปฏิบัติที่หลากหลายและเหมาะสมที่สุดเมื่อต้องลงมือทำจริง
  • ทักษะการคิดและแก้ปัญหาด้วยวิจารณญาณตนเอง
  • ทักษะการพูดนำเสนอรายงาน แจกแจงงานที่ทำ เพื่อเกิดความเข้าใจและร่วมมือกันของผู้อื่น
  • การอ่านและศึกษาค้นคว้าเพื่อใช้ความรู้ทำงาน
  • การเรียนรู้การปฏิบัติ พัฒนาปัญญาปฏิบัติ
  • การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเพิ่มพูนความรู้อยู่ตลอดเวลา
  • ทักษะการเข้าใจและทำงานร่วมกับผู้อื่น
  • ทักษะการสื่อสารและประสานงานกับผู้อื่น

                      

ภาพที่ ๔ การทำให้การทำงานต่างๆมีกระบวนการเรียนรู้และมีโอกาสได้ทำงานเชิงความคิด ตลอดจนได้ถ่ายทอดและนำเสนอเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับงานที่ทำ จะเป็นกระบวนการเรียนรู้และวิธีสร้างภาวะผู้นำปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับองค์กรที่ต้องทำงานด้วยความรู้ ในภาพ นักวิจัย นักวิชาการศึกษา เจ้าหน้าที่บริหาร และกลุ่มปฏิบัติงานสนับสนุนทางวิชาการของภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกันวิเคราะห์สภาวการณ์และความจำเป็นในอนาคตเพื่อนำเสนอยุทธศาสตร์การทำงานจากจุดยืนของผู้ปฏิบัติ ทำให้คนทำงานมีโอกาสเข้าใจเนื้องานและตัวความคิดที่เชื่อมโยงอยู่กับงาน ซึ่งเมื่อทำงานปฏิบัติก็จะทำให้มีภาวะผู้นำปฏิบัติที่ดี

สิ่งเหล่านี้ นับว่าเป็นทักษะสำคัญของ ‘คนงานความรู้’ ที่จะต้องเรียนรู้และสร้างทักษะปฏิบัติขึ้นจากการทำงาน อีกทั้งคนทำงานในทุกสาขา โดยเฉพาะในหน่วยงานที่ต้องทำงานเกี่ยวกับความรู้ เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันวิชาการ หน่วยงานราชการ และงานบริการสาธารณะ มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการปฏิบัติให้สื่อสะท้อนถึงความเป็น 'คนงานความรู้'

สามารถใช้ความรู้มองให้เห็นปัญหา เพื่อทำงานความคิดริเริ่มในการปฏิบัติ ต้องใช้ความรู้ในการประสานงาน ร่วมมือกับผู้อื่น ตลอดจนต้องใช้ความรู้สร้างความคิดเพื่อประเมินสภาพความจำเป็นในเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆที่ต้องเผชิญ พร้อมกับใช้วิจารณญาณในการแก้ปัญหาด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสม ทำให้ไม่เพียงได้งานที่เสร็จสิ้นในเชิงปริมาณ แต่ได้คุณภาพและความมีจิตวิญญาณอันแตกต่างของงานอีกด้วย.

หมายเลขบันทึก: 437171เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2011 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ท่านช่างหาคำ มาเล่า ว่าด้วย ประสบการณ์  'คนงานความรู้ ' เพื่อก่อประโยชน์ ให้กับส่วนรวมอย่างแท้จริง  

มาบันทึกใหม่ไม่เคยผิดหวังเลยสักครั้ง.....

กราบขอบพระคุณดอกไม้กำลังใจ
จากท่านพระอาจารย์มหาแลครับผม

สวัสดีครับคุณอุ้มบุญครับ
เป็นเกร็ดประสบการณ์ที่เรามักเจออยู่เสมอในการทำงานนะครับ
นำมาพิจารณาเพื่อเรียนรู้จากงานทั่วๆไปที่มักได้เจอเหมือนกัน
ก็ได้วิธีคิดเก็บสะสมไว้ได้ดีเหมือนกันนะครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

  • Knowledge Worker แปลเป็นไทยแล้วแปลกๆ ดีนะคะ แต่ก็ตรงตัวดีค่ะ คนทำงานความรู้ ..
  • การทำงานชุดนิทรรศการชุดนี้มองเห็นได้ชัดตั้งแต่ผู้รับงานกับคนทำงานนั้นแยกส่วนกันชัดเจน เมื่อการสื่อสารที่ต้องมีคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้มีปัญหาตามมา ไม่มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนทำงาน และขาดทักษะข้อที่ ๓ ค่ะ สำหรับตัวเองงานชุดนี้ถือเป็นบทเรียนเลยค่ะอาจารย์ ..
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท