บทบาทของคำถามในฐานะ Cueing และ Prompting เพื่อจัดวาระการคิดและให้จังหวะการมีส่วนร่วมต่อกระบวนการเรียนรู้


หากสังเกต จะเห็นว่าที่หน้าจอ GotoKnow เมื่อเราเข้าไปแสดงความเห็น ตอบคำถาม หรือสนทนากลับในกล่องสนทนา รวมไปจนถึงการเข้าไปปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดบันทึกนั้น ก็จะมีคำถามแบบต่างๆปรากฏขึ้นมาสนทนาชวนให้คิด ลักษณะอย่างนี้ ในการออกแบบหน้าจอและการออกแบบปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้กับระบบการประมวลผลอย่างในระบบของ GotoKnow นี้ ก็คงจะมีศัพท์เทคนิคใช้เรียกอย่างเป็นการเฉพาะ 

ในทางจิตวิทยาการศึกษา โดยเฉพาะวิธีคิดและทฤษฎีพื้นฐานสำหรับออกแบบบทเรียนและกิจกรรมต่างๆเพื่อให้เป็นสถานการณ์เงื่อนไขสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองของปัจเจกแล้วละก็ วิธีนี้เรียกว่าการออกแบบตัวให้สัญญาณปฏิบัติหรือการให้คิว (Cueing) และ การจัดปัจจัยแวดล้อมเพื่อสร้างจังหวะและวาระการปฏิสัมพันธ์ (Prompting) ให้กระบวนการคิดภายในปัจเจกกับสภาพแวดล้อมที่เป็นกัลยาณมิตรเพื่อการเรียนรู้ เกิดวาระความสอดคล้องและส่งเสริมเกื้อหนุนกัน หรือศัพท์ทางสื่อและทางการสื่อสารเรียนรู้เรียกว่า การสร้างวาระทางการสื่อสาร (Agenda Setting)

ทฤษฎีจิตวิทยาการศึกษาและจิตวิทยาการเรียนการสอนที่กล่าวถึงและจะช่วยอธิบายให้เข้าใจกลไกการเรียนรู้ภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขเหล่านี้ จะได้จากทฤษฎีการวางเงื่อนไขและการกระตุ้นส่งเสริมการสนองตอบทางการเรียนรู้ที่เป็นภาคขยายออกจากทฤษฎีพื้นฐานของนักจิตวิทยาการศึกษาต่างๆ เช่น เปียเจต์ บรูเนอร์ ธอร์นไดค์ เหล่านี้เป็นต้น

                     

วิธีออกแบบและจัดกิจกรรม Cueing กับ Prompting เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้และฝึกฝนศิลปะของการจัดการเรียนการสอน จะเหมาะสมต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาคนและการพัฒนาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ไปตามจังหวะความพร้อมที่จะสนองตอบต่อสิ่งต่างๆด้วยวุฒิภาวะตนเอง เน้นการพัฒนาพลังของการใฝ่รู้ พัฒนาวิธีเข้าสู่การเรียนรู้และเพิ่มพูนจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งในเด็กเล็กอาจจะอยู่ในรูปของการใช้รูปวาด สัญลักษณ์ สีสัน การเว้นว่าง การเน้นแบบต่างๆ

ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ชีวิตมากหรือผู้ที่มีวุฒิภาวะและมีความคืบหน้าทางการเรียนรู้สูงแล้วนั้น ก็มีข้อแนะนำกันว่า หากจะนำมาใช้ให้ได้ผลดีก็ต้องเน้นสถานการณ์ที่มีความหมายเชื่อมโยงกับประสบการณ์และพื้นฐานชีวิตของกลุ่มเป้าหมายกลุ่มต่างๆ

การใช้คำถามในจังหวะที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ อีกทั้งเป็นคำถามที่วิเคราะห์ให้มีนัยยะสอดคล้องกับกิจกรรมการได้ปฏิสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะสอดคล้องกับหลักการดังกล่าวนี้ กล่าวคือ เป็นตัวกำกับจังหวะให้ฉุกคิดและทำให้เกิดการเพ่งความใส่ใจ ส่วนวิธีในความเป็นตัวคำถามเองนั้น ก็จะทำให้เกิดการประมวลผลสารสนเทศภายในขึ้นจากประสบการณ์ในตัวคน ซึ่งก็จะทำให้ปัจเจกสามารถสร้างความหมายและจัดความสัมพันธ์ต่างๆด้วยตนเองอย่างรวดเร็ว นำไปสู่สถานการณ์ของการเรียนรู้ ทำให้ปัจเจกเกิดประสบการณ์ชุดใหม่อีกชุดหนึ่งด้วยตนเองและเพิ่มพูนความงอกงามเชิงประสบการณ์การเรียนรู้ขึ้นมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ

กระบวนการที่เกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าวนี้ แม้จะมีผู้คนหลายคนได้ประสบกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมภายนอกชุดเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน แต่เนื่องจากโดยกระบวนการแล้ว จะส่งเสริมบทบาทของปัจจัยความแตกต่างระหว่างบุคคล ดังนั้น ทุกคนก็จะได้การเรียนรู้และก่อเกิดภูมิปัญญาเฉพาะตน ที่ในรายละเอียดแล้วจะไม่เหมือนกันไปเลยทีเดียว จึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่เหมาะสมต่อการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตและการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความรู้ที่มีบริบท

หลักคิดและวิธีการอย่างนี้ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งการตั้งคำถามและจัดวางกาลเทศะที่เหมาะสมกลมกลืน ก็จะทำให้ปัจเจกต่างเป็นสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ของกันและกัน ผสมผสานไปกับการทำงานและการทำกิจกรรมชีวิตอื่นๆได้อยู่ตลอดเวลา.

หมายเลขบันทึก: 437284เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2011 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ขอบคุณดอกไม้และกำลังใจจากหนานเกียรติครับ

สวัสีครับอาจารย์

บันทึกนี้ของอาจารย์อ่านและทำความเข้าใจค่อนข้างยาก

ต้องอ่านอย่างมีโยนิโสมนสิการอย่างยิ่ง ซึ่งผมไม่ได้ใช้คุณลักษณะเช่นนี้อ่านหนังสือมานานแล้ว

เนื้อหาแบบนี้ ความยาวขนาดนี้กำลังดีเลยทีเดียวครับ

ผมได้เรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับบันทึกนี้ครับ จริง ๆ ก็ไม่ใช่เฉพาะบันทึกนี้ แต่ในเกือบทุกบันทึกของอาจารย์

ที่พยายามจะเชื่อมโยงปรากฏการณ์เข้ากับแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ อย่างแนบเนียน

ได้ความสามารถแบบนี้สักเสี้ยวหนึ่งของอาจารย์น่าจะทำให้ทำงานได้ดีกว่านี้มากโขเลยครับ...

*ขอบคุณค่ะ..พี่ใหญ่มาต่อการสนทนาจากบันทึกนี้นะคะ..

http://gotoknow.org/blog/wiratkmsr-art/437251?refresh_cache=true

* พี่ใหญ่เห็นด้วยค่ะที่.. จังหวะการตั้งคำถามที่สัมพันธ์กับสถานะการณ์..เป็นสิ่งสำคัญมากๆที่สร้างความเหมาะสมกลมกลืน ที่จะทำให้ปัจเจกต่างเป็นสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ของกันและกัน ผสมผสานไปกับการทำงานและการทำกิจกรรมชีวิตอื่นๆได้อยู่ตลอดเวลา...ทำให้พี่ใหญ่คิดเลยไปถึงความจริงที่ว่า..

* ในชีวิตประจำวันที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา..มีเหตุการณ์มากมายที่เราหาคำตอบของคำถามต่างๆได้ไม่หมดจากทุกพฤติกรรมของบุคคลภายนอก..(เพราะเราไม่ได้เป็นผู้ก่อ เหตุ แห่งคำถามนั้น)..

*ทัศนะในทางพุทธธรรม..จึงมุ่งเน้นให้เราปรับใจเพื่อรองรับสถานะการณ์เหล่านั้นด้วยสติที่มั่นคง..โดยการพิจารณาตั้งคำถามที่เหมาะสมกับ ผล ที่เราคาดหวังที่จะให้เกิดการพัฒนาความคิดต่อยอดจากคำถามนั้นๆของเรา..ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีความหมายต่อกันมากกว่า..

ขอบคุณดอกไม้และกำลังใจจากพี่ใหญ่ครับผม

สวัสดีครับหนานเกียรติ
ผมก็รู้สึกเหมือนข้อสังเกตของหนานเกียรติเลย การอ่านในเว็บและจากจอมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์กับโน๊ตบุ๊คนั้น ทำอย่างไรผมก็อ่านได้ไม่มีความสุขและไม่นิ่งเหมือนอ่านจากกระดาษ และนอกจากไม่นิ่งแล้ว พอสนใจมากๆและเผลออ่านอย่างจดจ่อต่อเนื่องนานๆเข้าก็มักจะเกิดอาการตาลายและเหมือนกับเจ็บหัวตามมาอยู่เรื่อยเสียอีก ตอนนี้เลยไปซื้อเลเซอร์พริ๊นเตอร์มาไว้บ้านเสียเองเลย พออ่านจากจอคอมพิวเอตร์ไม่ไหวก็ต้องยอมเสียเวลาพิมพ์ออกมาอ่านบนกระดาษ ผมจะอ่านหนังสือกระดาษได้ทนและเพลินกว่าครับ

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
ในพุทธธรรมนี่ ที่เกี่ยวกับการตั้งคำถามนั้น ก็มีมากพอสมควรครับ ผมชอบอ่านสำหรับได้อยู่ในบรรยากาศเรื่องเหล่านี้และได้ใช้พิจารณาตนเอง ที่ชอบไปกว่านั้นก็คือ การพัฒนาไปสู่ 'การรู้สึก' 'การเห็น' และ 'การตื่นรู้' แต่ก็เป็นเรื่องที่จะคุยกับคนทั่วไปได้ยาก เพราะเมื่อคุยเรื่อง 'การรู้สึก' นั้น คนทั่วไปมักนึกถึงคำว่า 'Feeling' และที่มีนัยยะไปในทาง 'ความไม่มีเหตุผล' ในขณะที่ภาษาพุทธธรรมนั้น 'ความรู้สึก' จะออกไปในทาง ตื่นตัว-ตื่นรู้ หรือ 'Awaekening' ซึ่งเป็นการเห็นอย่างที่มีและเป็นตามเหตุปัจจัยของสิ่งนั้นๆ และคล้ายกับวิธีทำงานศิลปะที่จะรู้วิธีทำงานโดยใช้ภาวะ Reflection เหมือนกัน

ตอนนี้ GotoKnow เพิ่มคำถามไปด้วยว่า คุณกำลังทำงานอะไรอยู่ เป็นการทำให้มีสติและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้นค่ะ

เป็นลูกเล่นที่น่าสนใจมากครับอาจารย์
เล็กๆน้อยๆแต่ก็ทำให้เกิดพลังในการเรียนรู้
และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆกันอย่างเป็นธรรมชาติ

สวัสดีครับอาจารย์

อาจารย์พอจะมีเวลาอ่าน proposal ให้ผมสักเรื่องนึงไหมครับ

เป็นงานที่จะทำที่บ้านห้วยปลาหลดครับ

คาดว่าจะใช้สมัครเรียนต่อด้วยครับ

ส่งมาเลยครับนานเกียรติ กำลังบอกกับพรรคพวกแถวมหิดลศาลายาอยู่พอดีว่า...

  • ก่อนจะแยกย้ายไปไหนกันคนละทิศละทางนี่ หนานเกียรติ คุณเอกจตุพร คุณดิเรก อาจารย์ณัฐพัชร์ คุณเริงวิชญ์ คุณกานต์ ว่าที่ดอกเตอร์ปุ๋ม เกรียง รวมทั้งนึกถึงครูคิม อาจารย์ขจิต และเจ้าครูอ้อยเล็ก ผมอยากชวนมานั่งเสวนากันทิ้งความคิดและบทเรียนต่างๆของการทำงานเชิงสังคม รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ที่อยู่รายรอบตัวเอง หนังสือ การอ่าน ทรรศนะต่อสื่อ การทำงานชุมชน การศึกษาทางเลือก การทำงานเชิงเปลี่ยนแปลงวิถีทรรศนะของสังคมในมิติใหม่ๆ การมองกลุ่มคนขาดโอกาสกลุ่มต่างๆ เหล่านี้
  • คุยกัน ถอดบทเรียนเอามาแบ่งปันและรวบรวมไว้ ทำหมายเหตุไว้ ผมกับทีมน้องๆอาจารย์กลุ่มหนึ่งจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงกาแฟให้นะครับ หาเวลาหน่อยสิ สักวันหนึ่ง กินข้าว จิบกาแฟ แล้วก็นั่งคุยกัน  
  • จำเพาะในส่วนของหนานเกียรตินั้น อยากชวนทำอะไรด้วยกันเล็กๆเพื่อหาบทเรียนการเชื่อมโยง GotoKnow เข้ากับการทำงานเชิงพื้นที่ของชุมชน ที่มีบล๊อกเกอร์และคนที่ทำงานความรู้ระดับที่เชื่อมกับภาคปฏิบัติของชาวบ้าน กับเครือข่ายวิชาการทั่วๆไปได้ เป็นกลไก ฝากเป็นโจทย์ไว้คิดถึงสักนิดหนึ่งนะครับ หรือแม้แต่เพียงมีข้อสังเกตและการสะท้อนแนวคิดให้ ก็ยังดีครับ อยากจะลองร่วมมือกับ GotoKnow หาบทเรียนการใช้ทำงานเชิงปฏิบัติการสังคมในบางมิติ
  • แต่ถ้าสามารถเชื่อมโยงเข้ากับงานชุมชนคลองปลาหลดและการศึกษาต่อของหนานเกียรติไปด้วยก็จะยิ่งดีครับ จะได้ทำขยายผลไปบนสิ่งที่มีคนทำได้จริงๆอยู่แล้ว ก็เลยอาจจะสอดคล้องกับ Proposal ของหนานเกียรติพอดีไปด้วยนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์

ขอบพระคุณอาจารย์นะครับ ผมเองก็ใฝ่ฝันที่จะร่วมงานกับอาจารย์อย่างน้อยสักคราวหนึ่งในชีวิต น่าจะทำให้ผมเติบโตในทางวิชาการมากขึ้น ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งเลยครับ

เรื่องการนัดพบปะกัน ผมเห็นด้วยและยินดีเข้าร่วมครับ จะให้ผมช่วยอะไรอาจารย์เอ่ยปากได้เลยนะครับ

ปีนี้ผมคิดว่าผมคงต้องบังคับเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในวงวิชาการ เพราะรู้สึกว่าเริ่มตีบตัน จึงไปสมัครเรียนที่ ม.ศิลปากร ครับ เป็นการเรียนแบบทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว แต่ไม่รู้ว่าเขาจะรับผมหรือเปล่าครับ

ผมส่ง proposal นี้ไปครับ

แม้ว่าไม่ผ่านการพิจารณาให้เรียนต่อ อย่างไรผมก็จะเดินหน้างานวิจัยนี้ครับ หากอาจารย์พอมีเวลาช่วยดูให้หน่อยนะครับ

เยี่ยมไปเลยละหนานเกียรติ

  • เสนอแบบชั่วคราวไปก่อนบางแง่มุมเผื่อได้มีเวลา insigth ยามว่างและตอนเล่นกับเฌวานะครับ
  • เสนอให้เพิ่ม อีก ๒ ส่วน นิดเดียว ซึ่งจะทำให้งานวิจัยนี้เป็นปฏิบัติการเชิงสังคมไปด้วย และทำให้เชื่อโยงไปสู่การ Practice ในกรอบความคิดของความเป็นโลกาภิวัตน์ในทางวิทยาการและเทคโนโลยีสำหรับเชื่อมโยงทางความรู้และสารสนเทศไปด้วยทันที คือ.....(๑) หลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลและก่อนทำ Final Report นั้น สามารถเพิ่มขั้นตอนการทำ Community Consultation and Community Feedbacking Circle เพิ่มขึ้นมาอีกเป็นขั้นตอนเล็กๆอีกขั้นตอนหนึ่งเพื่อเป็นวิธี  Virify ข้อมูลที่ Move ชุมชนได้ด้วย ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของการจัดเวทีเรียนรู้ชุมชน เวทีวิเคราะห์เป็นกลุ่มประชาคมชาวบ้านและเครือข่ายปัจเจกท้องถิ่น เวทีแผนแม่บทชุมชน การเพิ่มขั้นตอนนี้ จะเป็นผลดี ๒ อย่างต่อชุมชนและต่อกระบวนการวิจัย ต่อชุมชนนั้นก็จะได้เรียนรู้และได้ความรู้สะท้อนกลับไปสู่วิถีชีวิตชุมชน บูรณาการความเป็นท้องถิ่นกับวิธีคิดของโลกาภิวัตน์ไปด้วยในตัว และในทางการวิจัยนั้น ก็จะเป็นการพัฒนาความเป็นนวัตกรรมของวิธีวิจัย ให้เป็นเครื่องมือความรู้สำหรับปฏิบัติการเคลื่อนไหวชุมชนไปด้วย ซึ่งงานแนว PRA ที่ีออกไปทาง Ethnograph และ Anthropology อย่างที่เป็นอยู่ทั่วไปนั้น มักไม่ค่อยมีมิตินี้กันมากนัก
  • (๒) เพิ่มอีกขั้นหนึ่งคือ ออกแบบการปฏิสัมพันธ์ของความรู้ โยนเข้าเครือข่าย GotoKnow ให้มีบทบาทเป็น Community-Social Learning ซึ่งก็จะมีบทบาทต่อกระบวนการวิจัยเองหลายอย่าง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความเป็นโลกาภิวัติน์ทางการปฏิบัติการไปด้วยเลย และโครงร่างนี้ก็จะเป็นการเชื่อมต่อการทำงานกันได้อย่างที่ผมกล่าวถึงแล้วพอดีนะครับ
  • ควรเพิ่มการวิจัยเชิงสังเคราะห์ทฤษฎีพื้นฐาน สังเคราะห์ระบบวิธีคิด ต่อเนื่องจากผลการวิจัยที่ได้จาก Proposal นี้ เพื่อหาองค์ความรู้และแนวทฤษฎีการอธิบายที่เข้มแข็ง ขึ้นอีกโครงการย่อยหนึ่งครับ ไม่อย่างนั้นจะไม่พอสำหรับงาน ป.เอกครับ วันหลังจะคุยต่อให้ฟัง งานของหนานเกียรติมีพื้นฐานน่าสนใจอยู่แล้วครับ

สวัสดีครับอาจารย์

ขอบพระคุณมาก ๆ ครับ สำหรับคำแนะนำ

จริง ๆ แล้วในส่วนข้อ (๑) ที่อาจารย์แนะนำนั้น ไม่รู้ว่าผมทำไมถึงคิดไม่ถึง ทั้งที่น่าจะคิดได้แบบนี้ ต้องขอขอบคุณอาจารย์อีกคร้ังที่ทำให้คิดประเด็นนี้ขึ้นมาได้

ในส่วนข้อ (๒) นั้น ดูเหมือนว่าจะเข้าใจ แต่ก็ยังไม่กระจ่างครับ จะรบกวนขออาจารย์ขยายความอีกสักนิด

ในส่วนสุดท้ายที่อาจารย์แนะนำ น่าสนใจมาก ๆ ครับ จริง ๆ น่าจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นมาก่อนแล้ว แต่เป็นเพราะความอ่อนด้วยความสามารถทางด้านวิชาการ จึงยังไม่สามารถทำได้ในช่วงนี้ ดีใจมากที่อาจารย์จะคุยต่อในประเด็นนี้

ขอบพระคุณมากครับ...

สวัสดีครับหนานเกียรติ
ตรงข้อ (๒) นั้น หากออกแบบการวิจัย ให้ระหว่างที่ทำ โดยเฉพาะการลงภาคสนาม รวมไปจนถึงแทนที่จะเน้นการสร้างแบบสอบถามและเครื่องมือวิจัยไปเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน ก็สามารถแปรการสร้างแบบสอบถามและเครื่องมือการวิจัยเหล่านั้น ให้กลายเป็นการสร้างเครือข่ายชาวบ้านให้มีความสามารถเป็นเครือข่ายและทีมวิจัยแบบชาวบาน-ชาวบ้าน รู้วิธีตั้งคำถามและเก็บรวบรวมข้อมูลและกลั่นกรองประสบการณ์ต่างๆมาเล่า ซึ่งก็ย่อมเกิดผลดีต่อการเคลื่อนไหวทางการปฏิบัติของชุมชนได้มากกว่าการมีคำถามเหมือนกันแต่เป็นรายข้อนิ่งๆอยู่ในกระดาษที่เราจะต้องหาคนไปอ่านคำถามนั้นเพื่อให้ชาวบ้านตอบมาอีกทีหนึ่ง ดังนั้น การลงชุมชนก็สามารถผสมผสานทั้งการลงไปเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม และจัดกลุ่มนั่งพูดคุยถอดบทเรียนตนเองของชาวบ้าน จะด้วยวิธีฝึกฝนให้รู้จักการเล่าเรื่องต่อความคิดกันเป็นกลุ่ม วาดรูปช่วยหรืออย่างไรก็แล้วแต่ ....สิ่งเหล่านี้ก็จะสะท้อนความเป็นท้องถิ่นและความเป็นจริงในโลกทรรศน์ของชุมชน

เมื่อทำกิจกรรมลักษณะนี้แล้ว โดยปรกติ เราก็ต้องทำ Field note หรือวิธีเก็บรวบรวมข้อมูลรายกิจกรรมย่อย ตรงนี้และครับที่สามารถออกแบบให้สามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายจัดการความรู้ของ GotoKnow ได้ คือ ไม่ว่าจะไปได้ข้อมูลอะไรและอย่างไรมาจากบทเรียนของชุมชน ทั้งเรื่องเล่า รูปถ่าย การสนทนากลุ่ม การถอดบทเรียน ฯลฯ แทนที่เราจะบันทึกสนามเอาไว้เยอะๆ เมื่อถึงระดับหนึ่งก็ค่อยวิเคราะห์และเขียนรายงานทีเดียว ซึ่งก็จะเสียโอาสกชื่อมปฏิสัมพันธ์ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมและโลกกว้าง ก็นำเอาข้อมูลที่ได้ทีละนิดมาย่อยและบันทึกเผยแพร่(ในส่วนที่เผยแพร่ได้) ทางเว็บบล๊อก GotoKnow ในรูปแบบทีเหมือนกับบันทึกสะสมข้อมูลไปด้วย ดังนั้น ด้วยวิธีออกแบบการเก็บข้อมูลและการทำบันทึกย่อยๆเสียใหม่ให้เข้ามาเชื่อมโยงกับ GotoKnow ทางใดทางหนึ่ง หนานเกียรติก็ไม่เพียงจะสามารถทำบันทึกข้อมูลได้เหมือนเดิมตามที่ต้องทำอยู่แล้วเท่านั้น แต่วิธีบันทึกและย่อยความรู้ปฏิสัมพันธ์กับสาธารณะผ่านเครือข่ายใน GotoKnow ไปด้วย ก็กลับจะทำให้พลังเคลื่อนไหวของสังคมบนมิติความเป็นสังคมโลกาภิวัตน์ เชื่อมโยงลงไปถึงความเป็นชุมชนท้องถิ่นได้ ด้วยวิธีจัดการความรู้ไปบนกระบวนการวิจัยอย่างนี้ให้พอดีๆไปด้วย

บันทึกอย่างที่กล่าวถึงนี้ก็ไม่ได้ทำอะไรขึ้นมาใหม่ เพียงแต่วางแผนทำให้การเขียนบันทึกและการเคลื่อนไหวต่อไปนี้ในบางส่วนมีความเชื่อมโยงทางเนื้อหาและเรื่องราวกับเรื่องที่ทำในชุมชนคลองปลาหลดไปด้วย เท่านั้นเอง และตรงส่นที่เชื่อมโยงให้เข้ามาเกี่ยวข้องกันพอได้นี้ ก็ออกแบบให้เป็น Mini-Research Proposal กุมคอนเซ็ปไปด้วยเสีเลย เพื่อให้เป็นโครงการย่อยเล็กๆอีกโครงการหนึ่ง อยู่ในชุดโปรแกรมการวิจัยเดียวกัน ลองสะท้อนเป็นกำลังความคิดให้กันเฉยๆนะครับ ยังไม่ต้องหยุดหาแนวคิดดีๆเยอะๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท