หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ทางที่ควรเลือกในการรักษาแผลเบาหวาน


.

พานักศึกษาไปฝึกงานที่สถานีอนามัยแห่งหนึ่ง เห็นผู้สูงอายุเป็นแผลเบาหวาน พากันตัดนิ้ว ตัดเท้าเต็มไปหมด สถานีอนามัยก็ตั้งรับอยู่อย่างนั้น วันนี้ตัดไปหนึ่งนิ้ว มาอีกสองสามเดือนตัดไปอีกสามนิ้วอะไรอย่างนี้ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่

 

     ดร.ทักษิณาร์ ไกรราช อาจารย์ประจำวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม จ.มหาสารคาม เล่าถึงเหตุการณ์สะเทือนใจในคราวนั้น และกล่าวต่อว่า

เราพบว่าผู้สูงอายุเป็นโรคเรื้อรังเยอะมาก โดยเฉพาะเบาหวาน เจอเป็นอันดับแรก

     และในบรรดาผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน ดร.ทักษิณาร์ ยังได้พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่เป็นแผลที่เท้าและต้องลงเอยด้วยการตัดอวัยวะทิ้งไป จากการศึกษาข้อมูล ทำให้ได้พบว่าปัญหาเรื่องการสูญเสียอวัยวะจากการเป็นโรคเบาหวานในจังหวัดมหาสารคาม มีความรุนแรงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ ๓ ตำบล ที่เลือกเป็นพื้นที่ทำงาน ดร.ทักษิณาร์ เล่าว่า

ในสามตำบลนี้มันซีเรียสมาก ๆ คือปี ๕๑ เจอผู้ป่วยของมหาสารคามมีคนถูกตัดนิ้วเท้าถูกตัดขาตัดส่วนปลาย ๑๐๐ รายเราก็เลยไม่ไหวแล้วมั้ง สูงสุดคือสามตำบลนี้ เราก็รู้สึกไม่ไหวแล้วนะ ก็เลยเขียนโครงการขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้

     โครงการที่กล่าวถึงนั้นคือ “โครงการสานสามวัยป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุด้วยแนวทางวิถีแห่งพุทธ” เป็นการทำงานกับกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานใน ๗ หมู่บ้าน ในพื้นที่ ๓ ตำบล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้ชุดโครงการพี่-น้องสูงวัย อาสาสร้างสุจ ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุในสังคมไทย

     ดร.ทักษิณาร์ เล่าถึงการทำงานขั้นตอนแรกของโครงการฯ ว่า ในการลงพื้นที่เพื่อตรวจคัดกรองผู้สูงอายุ ทำให้พบว่ามีผู้เป็นโรคเบาหวาน และผู้ที่มีภาวะเสี่ยงจำนวนมาก ซึ่งมีตัวเลขที่สูงกว่าจำนวนที่ได้จากสถานีอนามัยจำนวนมาก และจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้สูงอายุที่มาคัดกรองพบว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองของผู้ป่วยสูงอายุเหล่านี้ ซึ่งเดิมทีเดียวกิจกรรมการอบรมนั้นกำหนดไว้สำหรับอบรมผู้ดูแลเพียงเท่านั้น

เราไปพบคนไข้แผลเรื้อรัง น่าตกใจมาก กับผ้าพันแผลเหมือนไม่ได้เปลี่ยนเลย เพราะอย่างนี้ทำให้ต้องตัดทิ้งไปหลายนิ้ว

     หลังจากได้คัดกรองเสร็จแล้ว ทางโครงการฯ ได้จัดอบรมให้แก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ ดร.ทักษิณาร์ เล่าว่า การอบรมเน้นเนื้อหาที่นำไปใช้ได้จริงในการปฏิบัติตน ไม่เน้นความเป็นทางการ

การอบรมผู้สูงอายุในแต่ละครั้ง ใช้เวลา ๑ วัน เพราะว่าผู้สูงอายุเขาไม่สามารถจะมานั่งอบรมได้นาน ๆ หลักสูตรก็เป็นแบบย่อ เน้นความรู้ที่เอาไปใช้ได้จริง คือเราจะไม่มาสอนแบบทางการ จะสอนภาษาง่าย ๆ แล้วก็ให้ฝึกปฏิบัติ ทำให้ดูเลย

     เนื้อหาการอบรมนอกจากจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับโรคเบาหวาน หลักการปฏิบัติตนซึ่งบรรยายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แล้วยังมีการอธิบายแนวทางการปฏิบัติตัวทั้งเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การควบคุมอารมณ์ และที่สำคัญการสอนหลักปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มิได้เป็นแผลที่เท้า แต่มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดแผลที่เท้า

สอนให้เขาเหยียบลูกมะกรูด เพราะในลูกมะกรูดมันมีต่อมของน้ำมันหอมระเหย มีคุณลักษณะร้อน ยิ่งบีบหรือเหยียบมันจะช่วยขยายเส้นเลือด ขยายเส้นประสาท ถ้าคนไม่มีแรงเหยียบก็จะให้แช่ในน้ำ เอามะกรูดบีบลงไปสี่ห้าลูก แล้วก็แช่เช้าเย็น ถ้ามีคนดูแลให้ใช้น้ำอุ่นเพราะจะช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ถ้าไม่มีใครดูแลก็ให้น้ำธรรมดา

     เนื่องจากผู้เข้ารับการอบรมจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นแผลเรื้อรัง เนื้อหาการอบรมหนึ่งคือการดูแลแผลเรื้อรังด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีกรรมวิธีการไม่ยุ่งยาก สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง และสามารถให้ผลในการรักษาได้เป็นอย่างดี มีผู้รักษาแผลด้วยวิธีนี้จำนวนไม่น้อย

     วิธีการรักษาดังกล่าว จะใช้เปลือกมังคุดหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปตากแดดให้แห้งแล้วบดให้ละเอียด จากนั้นนำมาผสมกับน้ำปูนขาวตามสัดส่วน นำสำลีชุบน้ำปูนใสที่ผสมกับเปลือกมังคุดบดมาปิดทับแผลไว้ ทำเช่นนี้วันละครั้งไปเรื่อย ๆ

     ดร.ทักษิณาร์ เล่ากรณีผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ป่วยเบาหวานและมีแผลเรื้อรัง มาเข้ารับการอบรม หลังจากการอบรมไม่ได้มาทำแผลต่อเนื่องทำให้แผลกำเริบมากขึ้น การลงไปเยี่ยมบ้านทำให้พบปัญหานี้และได้ช่วยแก้ปัญหาจี้ให้มาทำแผลและรักษาด้วยปลือกมังคุด โดยมีเจ้าหน้าที่ที่สถานีอนามัยเป็นผู้ดำเนินการให้ จนกระทั่งอาการดีขึ้น

     อาจกล่าวได้ว่าโครงการฯ นี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน ทั้งที่มีและไม่มีแผลที่เท้า การจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ทำให้ผู้สูงอายุมีหลักปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเป็นผลดีต่อการควบคุมโรคมิให้ลุกลามขยายตัว จากการติดตามลงไปเยี่ยมบ้านของทีมงานโครงการฯ พบว่า หลายรายมีการปรับตัวและใช้ความรู้ที่ได้จากการอบรม ดร.ทักษิณาร์ เล่าว่า

ตอนที่เราไปเยี่ยมมีหลายคนที่เป็นแผล เขาก็ทำแผลตามที่สอนไปเดี๋ยวนี้แผลหายไปหลายคนแล้ว อย่างตาอุ้ยเนี่ยถูกตัดนิ้วไปสามนิ้ว ตอนนี้แผลหายแล้ว ส่วนแม่นางตอนมาอบรมกับเรา เราก็ตามเยี่ยมบ้าน เราก็ไปจี้ให้เขามาทำแผลที่สถานีอนามัย ภายในเดือนเดียวที่ใส่เปลือกมังคุดตอนนี้แผลหายละไม่งั้นต้องลามถึงขา สรุปแล้วเกือบสิบรายที่ใช้เปลือกมังคุดรักษาแล้วแผลหาย

     แนวโน้มปัญหาโรคเบาหวานในประเทศไทยยังไม่มีแนวโน้มที่ลดลง กลับมีทิศทางไปในฝั่งตรงกันข้าม รัฐบางต้องแบกรับภาระกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาแผลของผู้ป่วยเบาหวาน ขณะที่ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเผชิญกับการสูญเสียนิ้วและเท้าไป

     ประสบการณ์และบทเรียนของโครงการฯ นี้ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีประการหนึ่งสำหรับสถานพยาบาลที่ต้องจัดการกับปัญหานี้ ที่ใช้จ่ายไม่มากนักและเห็นผลมาแล้วที่ จ.มหาสารคาม

 

อ่านเอกสารถอดบทเรียนฉบับเต็มโครงการนี้ได้ที่นี่ครับ

.

หมายเลขบันทึก: 438566เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ที่รพปากพะยูนก็ตัดนิ้วเท้าไปหลายคนแล้ว ทั้งที่ ออกไปรณรงค์ ให้ความรู้มิได้ขาดแต่ยังมีมากขึ้นเรื่อยๆครับ

ล่าสุดได้ติดต่อพื้นที่ และได้ให้เบอร์ โทรติดต่อโดยตรง และได้บอกว่าให้ติดต่อ ผมมีเวลาจะลงไปพื้นที่ด้วย

(จดเบอร์น้องตุ๊กตาไว้แล้วแต่ทำหายแล้ว

สวัสดีค่ะ

  • เป็นโครงการที่ดีมาก ๆ เลยค่ะ
  • พี่อิงเคยอยู่กับคนที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ต้องพยายามป้องกันไม่ให้เกิดแผล มิฉะนั้นก็จะรักษาให้หายยากจริง ๆ
  • น้องหนานเกียรติสบายดีนะคะ คิดถึงเฌวาจัง

เบาหวานนี่ร้ายกาจจริง

  • แม่ผมเป็นมานานหลายปี
  • ยาเป็นกำมือต่อมื้อเลย
  • ข่าวว่าเป็นพันธุกรรมเสียด้วย
  • จริงเปล่าครับ
  • ดิฉันเจอคนไข้เบาหวานทุกวัน วันละมากๆ ค่ะ
  • การรักษาเบาหวานที่ดีที่สุดคือ "พบกันครึ่งทาง" ระหว่างหมอกับคนไข้  คือ หมอรักษา คนไข้ต้องปรับพฤติกรรมค่ะ  (งานวิจัยทุกชิ้นยืนยันค่ะ)
  • คือ การปรับเรื่องอาหาร และ เพิ่มการออกกำลังกาย (สองเรื่องนี้เป็นงานที่ยากเหลือเกิน ทั้งที่รู้ว่าเป็นประโยชน์ ไม่เฉพาะคนไข้ แม้แต่คนทั่วไปก็มักทำไม่ได้)
  • และประมาณ 80% ขอบคนไข้ยังไม่สามารถปรับพฤติกรรม คือ ยังกินตามใจ กินมาก และไม่ออกกำลังกายค่ะ
  • การเพิ่มยาไปเรื่อยๆ ทำได้ แต่จะถึงจุดที่เพิ่มไม่ได้ คือทำอย่างไรน้ำตาลก็ไม่ลง หรือขึ้นๆ ลงๆ
  • สุดท้ายที่หนีไม่พ้น คือ ไตเสื่อม และตาบอด
  • อาการชาเท้า และเท้าเป็นแผลนี่ก็เป็นผลจากการไม่สามารถคุมน้ำตาลได้เช่นกัน
  • ดิฉันกำลังมีคำๆ หนึ่งโผล่ขึ้นมาคือ "การมีวินัยในตนเอง" ทำให้คนไข้โรคเรื้อรังเอาชนะโรคได้  หมอเก่งแค่ไหนก็ทำให้ไม่ได้ค่ะ (และคุณลักษณะนี้พร่องในคนไทยจำนวนไม่น้อยค่ะ)
  • เบาหวานเพิ่มขึ้นทั่วโลก  มันมาพร้อมกับการกินอาหารที่เปลี่ยนไปจาก กินอาหารจริงๆ  ไปกินอาหารขยะ  ในอเมริกาคนอายุน้อยๆ เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 
  • ต่อไปเบาหวานจะเป็นปัญหาใหญ่พอๆ กับโรคถุงลมโป่งพองที่เกิดจากการสูบบุหรี่  โรคเรื้อรังทั้งหลายใช้เงินงบประมาณชาติสูงจริงๆ อย่างน่าตกใจค่ะอาจารย์
  • ลูกชายไปทำงานที่ รพ.พระปกเกล้าฯ จันท์ บอกว่า  รพ.ติดลบกว่า 200 ล้าน กำลังจะไม่มีเงินจ่ายหมอ (ของเงินแม่ใช้ไปก่อนนะแม่...ฮ่า..ฮ่า..)  และทุกโรงพยาบาลกำลังจะหมดตัวภายใน 10 ปี
  • สิ่งที่อาจารย์เล่า เป็นคุณกับคนไข้ และเป็นคุณกับกระเป๋าเงินของประเทศ  ดิฉันขอบคุณค่ะ
  • หวังว่าความรู้ที่อาจารย์ไปให้แก่คนไข้จะอยู่ไปนานๆ และถ่ายทอดไปในวงกว้างนะคะ
  • เป็นประโยชน์มากเลยนะบันทึกนี้....
  • ด้วยความระลึกถึงนะคะ....

แนะนำครับ เอนกคลินิกการแพทย์แผนไทย รักษาแผลเรื้อรังจากโรคเบาหวาน ดูแลคลินิกโดยคุณหมอเอนก แพทย์แผนไทย จ.ขอนแก่น เป็นคลินิกที่ให้การดูแล สุขภาพ รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน - แผลเบาหวาน ด้วยยาสมุนไพรไทยที่มีคุณภาพ มาตราฐาน รักษาด้วยวิธีธรรมชาติบำบัด ปลอดภัย เพราะคุณหมอใส่ใจผู้ป่วยทุกคนที่มารักษา ด้วยประสบการณ์ของคุณหมอผู้รักษาที่สังสมมามากกว่า 30 ปี ตอบโจทย์ทุกปัญหา อาการของโรคเบาหวาน - แผลเบาหวาน ยืนยันการรักษาว่าได้ผลจริง หายจริงครับ สนใจติดต่อ ปรึกษาสอบถามได้ที่ โทร.081-0556460 หรือ Line ID anek91 ดูข้อมูลการรักษา ข่าวสาร เพิ่มเติมได้ที่ FB แฟนเพจ เอนกคลินิกการแพทย์แผนไทย รักษาแผลเรื้อรังจากโรคเบาหวาน ตามลิ้งค์นี้ https://www.facebook.com/Morthai.anake เอนกคลินิกการแพทย์แผนไทย มั่นใจให้คุณหมอดูแลรักษาโรคเบาหวาน - แผลเบาหวาน เพื่อความสุขของผู้ป่วยจะกลับคืนมาแน่นอนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท