๔๑. ผู้สูงอายุนั้น...สำคัญไฉน (ตอน ๒)


การทำงานร่วมกับชุมชนไม่มีเวลาราชการ มีแต่เวลาราษฎร ที่พร้อมจะให้คำปรึกษาหรือเข้าไปร่วมทำงานด้วยตลอดเวลา

           ทุกวันพุธแรกของเดือน  จะมีคลินิกความดัน เบาหวาน ของชุมชนควนขนุน ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เจ็ดโมงเช้าของวันที่ 4 พฤษภาคม 54  ซึ่งตรงกับพุธแรกของเดือนนี้  ผู้เขียนและคณะจึงตามไปดู ตามประสาคนชอบซอกแซก

            อสม. และเจ้าหน้าที่มากันตั้งแต่ 6 โมงเช้า เตรียมพื้นที่และอุปกรณ์ รวมทั้งมีอาหารเช้า ได้แก่  ข้าวยำ,แกงจืดและเครื่องดื่ม ให้ผู้ที่มารับบริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุรับประทานหลังจากเจาะเลือดแล้ว

 

              เจ้าหน้าที่ต้องรีบรับประทานอาหารกันก่อน เพื่อจะได้ไป ให้บริการ รูปซ้ายบน พี่จำปาแม่ครัวใหญ่ค่ะ

 

    

 

         เมื่อผู้สูงอายุมาถึงก็จะมีการลงทะเบียน  ชั่งน้ำหนัก วัดรอบเอว เจาะเลือด รับประทานอาหารเช้าและรอพบหมอ หลายคนเดินมาเพราะบ้านอยู่ใกล้ ๆ  บางคนปั่นจักรยาน บางคนขับมอเตอร์ไซด์ ช่วงสาย ๆ  อสม.จะมีการตรวจสอบว่าผู้สูงอายุในความรับผิดชอบของตนเองมาครบหรือยัง  หากยังมาไม่ครบก็จะไปตาม ผู้สูงอายุที่มาไม่ได้ อสม.ก็จะเอาเครื่องวัดความดันไปวัดให้ที่บ้าน แต่ละครั้งจะมีผู้มารับบริการประมาณ 30 คน  

          คลินิกนี้เรียกว่า คลินิกหยอดกระปุก   เพราะทุกคนที่มาจะหยอดเงินใส่ในกระปุกคนละ  20  บาท เป็นค่าอาหารเช้า และอื่น ๆ ที่อาจจะต้องใช้  เช่น  ค่าน้ำมันรถให้ อสม.ไปรับยาของผู้สูงอายุที่โรงพยาบาล

 

                  ชั่งน้ำหนัก  วัดรอบเอว  วัดความดัน

 

       

 

           เสร็จแล้วก็หยอดเงินใส่กระปุก ร่วมด้วยช่วยกันค่ะ

 

       

 

        อสม.จะเป็นผู้เจาะเลือดเพื่อดูเบาหวาน เจาะเฉพาะปลายนิ้ว เจาะเสร็จปุ๊บ รู้ผลปั๊บ อสม.ถามผู้เขียนว่าจะเจาะไหม  ผู้เขียนรีบบอกว่ากินข้าวยำมาแล้วค้า...เจาะไม่ด้าย...  (กลัวเจ็บด้วย hi hi) อสม.ก็เลยเจาะตัวเองให้ดูเป็นตัวอย่าง บอกว่าสบายมาก ไม่เจ็บ ๆๆๆ ค้า...  

            อสม.บางคนบอกว่าลองเจาะตัวเองมาครบทุกนิ้วแล้ว เรียกว่าเชี่ยวชาญในการเจาะเลือดแล้วละ ผู้เขียนลองถามคนที่มาตรวจว่าเจ็บไหม เขาบอกว่าไม่เจ็บ  แถมบางคนวันนี้ไม่ต้องเจาะเลือดก็ยังขอเจาะเลย บอกว่าอยากรู้ว่าเบาหวานขึ้นรึเปล่า อสม.ของเราก็จัดให้  เจาะเลือดให้  ยอดจริง ๆ  อสม.ของเรา

 

             อุปกรณ์ในการเจาะเลือด รู้ผลภายในไม่ถึงนาที

 

      

 

            ก่อน 8 โมงเช้าเล็กน้อย คุณหมอไกรสร  โตทับเที่ยง จากโรงพยาบาลศูนย์ตรัง ก็มาถึง คุณหมอจะมาตรวจที่นี่เป็นประจำ     ใช้เวลาตรวจชั่วโมงกว่า ๆ ตรวจเสร็จแล้วคุณหมอก็จะมารับประทานข้าวยำ   ผู้เขียนเลยได้มีโอกาสคุยด้วย   

 

         คุณหมอไกรสรบอกว่า คลินิกความดัน เบาหวานเกิดขึ้นเพราะมีผู้ที่เป็นความดันและเบาหวานมาตรวจคัดกรองและรักษาที่ PCUจำนวนมาก เพื่อที่จะลดความแน่นของการมารับบริการ จึงมาให้บริการเพิ่มขึ้นที่ชุมชนขนุน  ความสำเร็จของการให้บริการที่นี่เกิดขึ้นเพราะความร่วมมือของ อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลศูนย์ตรัง  โดยเฉพาะคุณปรีดา  สาราลักษณ์ เป็นผู้ที่เข้าถึงชุมชน เธอจะใช้เวลาช่วงเช้าและช่วงเย็นหลังเลิกงานมาสร้างสัมพันธภาพในชุมชน  ช่วงแรก ๆ  ก็มีผู้ที่ไม่ค่อยไว้วางใจ เพราะกลัวเธอจะมาสร้างฐานเสียงทางการเมือง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป  ทุกคนก็ทราบว่าเธอเข้ามาเพื่อดูแลด้านสุขภาพให้กับชุมชนเท่านั้น และเรียกเธอว่า หมอน้อย  คุณปรีดาบอกว่ารู้สึกภูมิใจที่ชาวบ้านเรียกเธอว่าหมอ ทั้ง ๆ  ที่เธอไม่ใช่หมอ 

 

 

                            ซักประวัติก่อนส่งให้หมอตรวจ

 

                        คุณหมอไกรสรภาพบนเสื้อเขียวค่ะ

 

        

 

          หลังจากที่คุณหมอไกรสร ตรวจทุกคนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการให้นั่งเป็นกลุ่ม สวดมนต์ไหว้พระ จากนั้นจะซักถามถึงผลการตรวจเบาหวาน ความดัน  น้ำหนัก ให้สุขศึกษาและออกกำลังกายโดยการยืดเหยียด และร้องเพลง  สุดท้ายมีการนัดหมายถึงกิจกรรมที่จะทำในครั้งต่อไป ซึ่งคราวนี้จะให้ไปทำบุญที่วัดร่วมกัน  ให้โหวตว่าจะเลือกวัดอะไร 

 

      

 

           ผู้เขียนสังเกตการทำงานของหมอน้อย (คุณปรีดา) มา 2-3 วัน ติดต่อกัน รู้สึกชื่นชมในความสามารถของเธอ หมอน้อยของเรามีวิธีการพูดที่มีลูกล่อลูกชนมากมาย แต่ที่สำคัญเห็นผลงานเชิงประจักษ์ของเธอหลายประการ  คนที่จะทำงานให้เข้าถึงชุมชนต้องเป็นแบบนี้ เธอย้ำกับผู้เขียนเป็นครั้งที่สองว่าสำหรับเธอ ไม่มีเวลาราชการ  มีแต่เวลาราษฎร   ประชาชนสามารถขอคำปรึกษา หรือพร้อมที่จะลงชุมชนได้ตลอดเวลา ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนเหมือนเวลาราชการ 

            ก่อนที่ผู้สูงอายุจะกลับบ้าน ก็จะมีการจัดยาให้กับตามที่หมอสั่ง  ยาบางตัวที่คลินิกไม่มี ก็จะให้  อสม.ขับมอเตอร์ไซด์ไปรับยาที่โรงพยาบาลศูนย์ตรัง  คุณปรีดาบอกว่า ปกติหากนั่งรถรับจ้างไปโรงพยาบาลไป-กลับ ประมาณ 40  บาท  แถมต้องเสียเวลาอีก เลยให้ อสม.ไปรับเพียงคนเดียว  ค่าน้ำมันเบิกจากเงินที่หยอดในกระปุกตามที่พูดถึงในตอนต้นค่ะ 

 

              แบบประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการ

        

 

          ก่อนจบขอฝากรอยยิ้มหวาน ๆ  ของยายกล่อมและยายหริ่ง คุณยายทั้งสองเป็นพี่น้องกันค่ะ  ยายกล่อมอายุ 80 กว่า (คนซ้าย) ยายหริ่งก็เกือบ 80 ปี   คุณยายบอกว่าขอให้ทุกคนสู้  สู้....  อย่าท้อแท้กับอุปสรรค  คุณยายทั้งสองจะเป็นกำลังใจให้จ้า... 

 

    

 

                                         ขอบคุณค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 440370เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2011 23:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 02:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • มาบอกว่า สว. ที่เป็นเบาหวาน ก็ต้องระวังเรื่องโรคปริทันต์ด้วยนะคะ ... มันเป็นความเสี่ยง
  • น่ารักจัง คลินิกหยอดกระปุก ...
  • Ico48
  • ตอนนี้ทำงานบูรณาการงานแม่และเด็ก และทันตสาธารณสุขด้วย
  • พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีปัญหาในช่องปาก อาจทำให้เด็กที่คลอดน้ำหนักน้อยและคลอดก่อนกำหนดได้
  • สรุปว่าเรื่องฟันสำคัญสำหรับทุกกลุ่มวัยนะ....
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท