วิถีชีวิต "ไททรงดำ"


ไททรงดำ หรือลาวโซ่ง

ข้อมูลและประวัติ ไททรงดำ

 

ประวัติความเป็นมาของไทดำ (ไททรงดำหรือลาวโซ่ง)

          แถน หรือ เมืองแถงในปัจจุบัน คือ เมืองเดียนเบียนฟู อยู่ในประเทศเวียดนาม สภาพถูมิอากาศและภูมิประเทศเป็นภูเขาล้อมรอบ ตรงกลางเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ ลักษณะเป็นแอ่งกระทะมี แม่น้ำยวม หรือยมไหลผ่าน ชาวไททรงดำนิยมนุ่งกางเกงทั้งชายและหญิง และกางเกงไททรงดำเรียกว่า “ซ่วง” จึงนำมาเรียก ลาวซ่วง แปลว่า ลาวนุ่งกางเกงต่อมีเรียกเพี้ยนเป็น “ลาวโซ่ง” ในปัจจุบัน

          การอพยบของไททรงดำแบ่งออกเป็น 2 ยุค ยุคแรกในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) เป็นแม่ทัพไปตีประเทศลาวที่เมืองทัน (ซือหงี) และเมืองม่อย 2 เมืองนี้อยู่ติดกับเวียดนามและเป็นเมืองที่ชาวไททรงดำอาศัยอยู่ พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่ที่เมืองเพชรบุรี และต่อมาในรัชกาลที่ 1 พ.ศ.2334 เจ้าเมืองเวียงจันทร์ได้กวาดต้อนไททรงดำประมาณ 40,000 คน เข้ามาถวายรัชกาลที่ 1 ครั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้ผู้คนเหล่านี้อยู่ที่เมืองเพชรบุรี

สาเหตุที่ชาวไทดำ หรือไทยทรงดำอยู่ที่เมืองเพชรบุรี

          เพราะเป็นเมืองที่มีสภาพภูมิประเทศคล้ายเมืองแถน (แถง) คือ มีป่า ภูเขา หุบห้วย ลำธารและน้ำท่วมไม่ถึง เช่น บริเวณเขาวัง เขาทโมน เขาอีโก้ เขาย้อย เขาขวด บ้านป่าตาล บ้านเขาแร้ง บ้านหนองปรง บ้านหนองจิก บ้านหนองกระพร้อ บ้านห้วยท่าช้าง บ้านวังตะโก บ้านทับคาง บ้านเวียงคอย บ้านท่าลาว บ้านสะพานยายหน ฯลฯ

ความพยายามเดินทางกลับถิ่นฐานเดิมของชาวไทดำหรือไททรงดำ

          ชาวไทดำรุ่นเก่ามีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะเดินทางกลับไปถิ่นฐานเดิมของตนคือ เมืองแถน แคว้นสิบสองจุไทย จึงรวบรวมเพื่อนบ้านใกล้เคียงออกเดินทางจากเมืองเพชรบุรี ขึ้นไปทางเหนือ เมื่อถึงฤดูฝน ก็พัก ณ ที่ไดที่หนึ่งทำนาเพื่อหาเสบียงไว้สำหรับเดินทางต่อไป การเดินทางแบบนี้ต้องใช้เวลาหลายๆเดือน หรือหลายปี พวกเดินทางไปจะหยุดพักและตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน เมื่อเขาเหล่านั้นมีกำลังพอก็เดินทางต่อไปอีกเช่นนี้ จนคนแก่ตายไประหว่างการเดินทาง ลูกหลานไม่สามารถเดินทางกลับได้ จึงตั้งหลักแหล่งอาศัยทั่วไป ปะปนกับคนถิ่นเดิมและสามารถอยู่ด้วยกันเป็นเพื่อนบ้านได้อย่างดี เพราะชาวไทดำเป็นผู้มีนิสัยรักสงบเอื้ออารีต่อทุกคน มีน้ำใจดี ช่วยเหลือเกื้อหนุนคนข้างเคียงมีความนับถือดุจญาติพี่น้อง

ลักษณะบ้านเรือนของชาวไทดำหรือไททรงดำ

          บ้านของไทดำ (ลาวโซ่ง) เรียกว่า “เฮือนลาว”ลักษณะบ้านเรือนดั้งเดิมเป็นเรือนหลังใหญ่มีหน้าจั่ว ที่จั่วหน้าบ้านจะมีไม้ทำเหมือนเขาควายอยู่บนยอดจั่ว ชาวไทดำหรือลาวโซ่งเรียกว่า “ขอกุด” ซึ่งชาวไทดำถือว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความสำเร็จ ส่วนระเบียงบ้านทั้งหน้าและหลังบ้านพร้อมทั้งมีบันไดลงทั้งหน้าและหลัง ระเบียงด้านหน้าเป็นที่รับแขกผู้หญิง เรียงระเบียงว่า”กกชาน” ส่วนระเบียงด้านหลังเรียกว่า “กว้าน” สำหรับรับแขกผู้ชาย ส่วนในตัวบ้านจัดมุมใดมุมหนึ่งให้เป็นห้องสำหรับเป็นที่อยู่ของ “ผีบรรพบุรุษ” เรียกว่า “กะล้อห๋อง” ในห้องผีจะต้องเจาะช่องข้างฝาบ้านไว้ 1 ช่อง เพื่อเวลาทำพิธีเสนเรือนจะต้องส่งอาหารที่ทำพิธีให้บรรพบุรุษทางช่องนี้ ส่วนตัวบ้านให้จัดเป็นมุนนอนมุมหนึ่ง มุมครัวมุมหนึ่งที่ครัวจะมีเตาไฟและอุปกรณ์การหุงต้มด้วยหม้อดิน เหนือเตาไฟขึ้นไป จะมีหิ้งเพื่อเก็บของใช้จำพวกหวายและไม้ไผ่ เพื่อที่จะรักษาเนื้อไม้และหวายไม่ให้มอดกิน เมื่อเวลาหุงหาอาหารควันไฟจะขึ้นไปรมของใช้บนหิ้ง ซึ่งไทดำ จะเรียกหิ้งนี้ว่า “ส่า” ส่วนทางมุนนอนจะเห็นที่นอนและมุ้งซึ่งล้วนแล้วจะเป็นสีดำทั้งสิ้นและจะไม่มีการเก็บที่นอนกันจะกางมุ้งตลอด เพราะถือว่านั่นเป็นที่ส่วนตัว หรือเป็นห้องอีกห้องหนึ่งเช่นกัน ถัดออกไปอีกก็จะมีหิ้งเก็บของเกี่ยวกับเสื้อผ้าของใช้ที่มีค่าใส่ไว้ในหีบที่ทำด้วยไม้ไผ่ ซึ่งไทดำใช้แทนตู้เสื้อผ้าเรียกหีบนี้ว่า “ขมุก” ส่วนของหลังคาบ้านมุงด้วยหญ้าคา ฝาบ้านขัดแตะทำด้วยไม้ไผ่ ไม่มีช่องหน้าต่าง มีคตินิยมว่า “หญิงต้องเย็บปักเป็น ส่วนชายจะต้องฟั่นเชือกควายได้” จึงจะออกเรือนได้

วิถีชีวิตของชาวไทดำหรือลาวโซ่ง

          ชาวไทดำมีอาชีพหลัก คือ การทำนา ทำไร่ อาชีพรองลงมา คือ จักรสาน เลี้ยงไหม ทอผ้า เย็บหมอน เย็บกระเป๋า โดยการเก็บเอาเศษผ้าต่างๆ ที่เหลือจากการเย็บเสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่มแล้วนำมาประดิษฐ์เป็นชั้นเล็กชิ้นน้อย และสนกระจกใส่ในชิ้นผ้านั้น แล้วนำมาติดกับหน้าหมอนหรือกระเป๋าคาดเอวของผู้ชาย ซึ่งเรียกว่า “ฝักเอว” และงานฝีมืออีกมากมาย และมีรับราชการบ้างแล้วแต่ฐานะของครอบครัว

อาหารหลังของชาวไทดำ หรือลาวโซ่ง

          อาหารหลัก คือ กับข้าวที่มีรสค่อนข้างจัด เช่น แกงหน่อส้ม ผักจุ๊บ แจ่วเอือดด้าน แกงหยวกกล้วย น้ำพริกปลาร้า แกงผำ หมูลอยเลือดต้า แกงบอน และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนข้าวนั้นจะกินข้าวเหนียว ปัจจุบันกินข้าวจ้าวมากกว่าข้าวเหนียว อาหารแต่ละอย่างที่กล่าวมานั้นล้วนแต่อยู่ในพิธีกรรมต่างๆ กันทั้งสิ้น

การแต่งกายของไทดำ หรือลาวโซ่ง

          การแต่งกายของไททรงดำเป็นเผ่าพันธุ์เดียวในโลกที่ประหยัดและบอกลักษณะการแต่งกายแต่ละความหมายได้ชัดเจน พอจะแยกเป็น 2 ประเภท คือ แบบเป็นพิธี และไม่เป็นพิธี สีที่ใช้เป็นหลัก มี 5 สี คือ ดำ ขาว เขียว แดงเลือดหมู และแสด

การแต่งกายของชายไทดำ หรือไททรงดำ

          กางเกงมี 2 แบบ ซ่วงก้อม กับ ซ่วงฮี เสื้อไท เสื้อฮี งานไม่เป็นพิธี ใช้ซ่วงก้อม กับเสื้อไท งานพิธี ซ่วงฮีหรือกางเกงขายาว และเสื้อฮี หากใส่เสื้อไทนิยมคาดกระป๋องบุหรี่หรือเงิน เสื้อไทเป็นเสื้อคอตั้ง ไม่มีปกตรงแขนยาว ตรงสะโพกจะบานออกติดกระดุมถี่เท่าใดแสดงถึงเป็นคนละเอียดรอบคอบ นิยมติด 19 เม็ด 21 เม็ด 27 เม็ด กระดุม1 ชุดเรียกว่า 1 ซุ่ม จะติดจำนวนคี่ ดังนั้นหากใครติดรังดุมมากเท่าใดญาติต้องช่วยใส่ลูกกระดุมให้ เป็นการแสดงออกถึงการเอื้ออาทรต่อกัน ผ้าขาวม้าลาวโซ่งนิยมพาดบ่า หรือ โพกศีรษะ ผ้าขาวม้าจะเป็นลายทางๆ ไม่เป็นตาสี่เหลี่ยม สีที่ใช้คั่นผ้าขาวม้าเป็นสีหลักดังกล่าว พื้นมักจะเป็นสีขาวไม่นิยมพื้นสีดำ เสื้อฮีชาย ที่คอเดินด้ายหลายสีชายเสื้อด้านในตกแต่งด้วยเอื้อแส่ว ด้านข้างตัวเสื้อจะเย็นขอกุด เป็นจุดสวยที่จะโชว์ คือบริเวณนี้เพราะอยู่ด้านนอก ใต้รักแร้ จะตกแต่งด้วยเอื้อแส่ว ไม่มีเสื้อชั้นในหรือกางเกงใน กางเกงในใช้ซ่วงก้อม

การแต่งกายของหญิงไทดำ หรือไททรงดำ

          มีแบบเป็นพิธี และไม่เป็นพิธี แบบไม่เป็นพิธี หญิงนุ่งผ้าถุงลายแตงโมกับเสื้อก้อม ผ้าสไบต้องใช้เป็นประจำสำหรับคล้องคอเวลาคุยกับหนุ่ม เอาไว้โพกผมมิให้หลุดเวลาทำงานหรือพันเอวหรือสะโพกเวลาทำงานเพื่อให้กระชับหรือนุ่งผ้าตาหมี่เอาไว้ใช้ในพิธีเสน ซึ่งสิ่งของสวยงามไปให้ผีใช้ แบบเป็นพิธี นุ่งผ้าซิ่นตาหมี่หรือผ้าซิ่นลายแตงโมกับเสื้อฮี การใส่เสื้อฮี หมายถึงการแต่งกายอย่างเรียบร้อยแสดงถึงความเคารพ การใส่เสื้อฮีจะใส่ด้านที่ไม่มีลวดลายสวยงาม สำหรับด้นในของเสื้อฮีใช้ในการคลุมโลงศพเพียงอย่างเดียว คลุมทั้งศพผู้หญิงหรือศพผู้ชาย แต่ใช้เสื้อฮีผู้หญิงไม่ใช้เสื้อฮีผู้ชายแม้กระทั่งแต่งกายให้ศพ ก็ต้องใส่เสื้อฮี เพื่อที่จะได้ไปเฝ้าแถน และต้องใส่ด้านที่คนมีชีวิตใส่ เสื้อฮีใช้ในงานมงคลและอวดมงคล บอกถึงฐานะของผู้ใส่ว่าเป็นเขยหรือสะใภ้

การนุ่งผ้านุ่ง

          เด็กจะนุ่งทบไปข้างหน้าเหมือนคนไทย เริ่มเป็นสาวเริ่มนุ่งผ้าต่อหัวซิ่นและนุ่งแบบ “หน้าวัว” คือ ทบทั้ง 2 ด้าน มาไว้ตรงกลางหน้าท้องและพับมุมผ้ามารวมตรงหน้าท้องทั้งนี้เพื่อสะดวกในการเดินทาง เพราะการทอผ้าด้วยมือหากแรงกระแทกไม่แข็งแรงเนื้อผ้าจะแยก นุ่งก็ต้องระวัง นั่งก็ต้องระวัง

ผ้าเปี้ยว

          หมายถึง ผ้าดำที่ตกแต่งด้วยดอก ซึ่งทำด้วยเส้นไหม จะมีลวดลายต่างๆที่นิยมมากคือ “เปียว” เปียวดอก จะมีด้านละ 2 ดอก ดอกจะขดเป็นวงกลม มี 8 ขด ตรงกลางจะเป็นเหลี่ยมหากตัดชายผ้าเปียวเป็นสาวเหลี่ยมแล้วทำดอกทั้ง 4 ด้าน เรียกว่า “เปียวขาบัว” หากทำเป็นลายคล้ายดาวกระจาย เรียกว่า “เปียวเบาะผักแว่น” แต่ที่จะปรากฏเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด คือ เปียวเบาะ หญิงที่จะใช้เปียวได้ต้องมีอายุและแต่งงานแล้ว เด็กสาวใช้ผ้าแถบ (สไบสี)

เสื้อตั๊ก

          คือใส่เสื้อทุกข์เมื่อญาติผู้ใหญ่เสียชีวิต ผู้ที่จะใส่คือ ลูกหลานใกล้ชิด จะเป็นผีเดียวกันหรือไม่ใช่ผีเดียวกัน หากเป้นญาติใส่เสื้อตั๊ก เสื้อตั๊กใช้แบบเดียวกันทั้งชายและหญิง มีลักษณะเป็นคอแหลม ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เย็บไม่ต้องมั่นคงพออยู่ได้ไม่มีแขน ใช้แขนในตัว หากพ่อแม่เสียชีวิต ลูกๆต้องโพกศีรษะด้วยผ้าขาวตัดเป็นสี่เหลี่ยมแล้วพับเป็นสาวเหลี่ยมโพกศีรษะ การโพกศีรษะต้องระวังมีผู้ใกล้ชิดมีชีวิตอยู่ไม่นิยมโพกศีรษะใส่เสื้อตั๊กอย่างเดียว

เครื่องประดับของชาวไทดำ

          เครื่องประดับจะประดับด้วยเงินทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ตุ้มหู สร้อยคอ กำไลมือ กำไลข้อเท้า เข็มขัดคาดเอว ส่วนผู้ชายก็จะมีเข็มขัดคาดเอวเหมือนกัน แต่จะทำด้วยผ้าที่มีลวดลายสวยงามมากโดยจะใช้กระจกเงา ฝนเป็นอันกลมๆ เล็กๆ ถักด้วยด้ายรอบกระจกและใช้ผ้าสีตัดเป็นลวดลายปะเป็นแถวๆ ด้านในเย็บเป็นกระเป๋าใส่ของส่วนตัว เช่น ยาเส้น ใบจาก ไม้ขีด ยาประจำตัว และสตางค์

เสื้อผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

  1. เสื้อไทชาย
  2. เสื้อก้อมหญิง
  3. เสื้อฮีชาย
  4. เสื้อฮีหญิง
  5. เสื้อห่งแห่ง
  6. เสื้อน้อย (เสื้อชั้นในสตรีชาวไทดำ)
  7. ส้วงก้อมชาย
  8. ผ้าซิ้นลายแตงโม
  9. เสื้อตั๊ก

 

แหล่งข้อมูล
พระครูอาทร ประชารักษ์ เจ้าคณะตำบลปากน้ำ เจ้าอาวาสวัดดอนรวบ จังหวัดชุมพร
อาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย ผู้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลไทยทรงดำ จังหวัดเพชรบุรี
นายก อบต. หนองปรง อำเถอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
สุรพงศ์ จันทร์พงษ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สมข.5 ชุมพร
คำสำคัญ (Tags): #ไททรงดำ
หมายเลขบันทึก: 440392เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2011 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
สภาวัณธรรมตำบลบางหมาก

ข้อมูลบางส่วนยังไม่ถูกต้องควรต้องแก้ไขครับ

วันนี้ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับไททรงดำก็ได้มาเจอบันทึกนี้ครับ ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ

ไททรงดำก็มีที่ชุมพรอยู่ไม่น้อยนะครับ คุณยายผมอยู่อำเภอหลังสวนบอกว่าท่านสืบเชื้อสายมาจาก "ลาวโซ่ง" หรือไททรงดำครับ

ไม่อยากให้ ไทดำ เป็นไท กางเกง หรือไทผ้าส้วง คนไทดำเป็นชนชาติกลุ่มไท คือกลุ่มที่ใช้ ภาษาไท ชนกลุ่มไท อาศัยอยู่ตั้งแต่ตอนบนของพม่า เรียกว่าไทใหญ่ จีนตอนล่าง เขตปกครองพิเศษ สิบสองปันนา ไทลื้อ ตอนเหนือของเวียตนาม พวกไทดำ ไทแดง ไทขาว กลุ่มไทดำอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเวียตนาม ตามพงศาวดารเมืองไล จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร 2507 เมืองที่ไทดำอยู่นั้น เช่น เมืองแถน เมืองควาย เมืองตุงเป็นต้น มี 12 เมืองเรียกว่าเมืองสิบสองผู้ไท หรือสิบสองจุไท คำว่าจุ มาจากคำว่าเจิว เป็นภาษาแกว แปลว่า เมือง เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีกล่าวถึงดินแดนสิบสองจุไท ในพ.ศ.2430 ว่าเป็นเมืองของพวกไทดำ ดังพวกลาวเพชรบุรี คำว่าลาวนั้นเป็นคำที่คนที่อยู่ในประเทศไทยเรียกคนที่ข้ามจากฝั่งโขงมาไทย เรียกว่าลาวทั้งหมด เช่นมาจากเมืองเวียงจันท์ก็เรียกว่าลาวเวียง มาจากเมืองพวน ก็เรียกว่าลาวพวน มาจากหลวงพระบางก็เรียกว่าลาวคั่ง เป็นต้น ส่วนคนไทดำไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศลาว แต่ข้ามแม่น้ำโขงมาเช่นกัน จึงถูกเรียกว่า ลาวไปด้วย ซึ่งคนในประเทศลาวเขาก็ไม่ยอมรับว่าไทดำเป็นลาว คนไทดำเรียกตนเองและพวกเดียวกันว่าไท หรือ ไต เช่น ไตบ้านดอน ไทบ้านยาง ไทเมืองเพชรเป็นต้น ไม่ได้เรียกตนเองว่าลาวเลย

ในการปกครองบ้านเมืองของไทดำ แบ่งเมืองออกเป็น 2 ชั้น หรือ3 ชั้นแล้วแต่เมือง คนที่อาศัยอยู่ในกำแพงเมือง เรียกว่าไทกวงเมือง หรือไทเมือง ส่วนพวกที่อยู่นอกกำแพงเมือง เรียกว่า ไทโซ่ง หรือไตโซ่ง การที่พวกโซ่งเป็นคนที่อาศัยอยู่นอกกำแพงเมือง จึงเป็นการง่ายที่จะถูกกวาดต้อน พวกไทดำที่ถูกกวาดต้อนจึงเป็นพวกไทโซ่งเสียเป็นส่วนมาก ในหนึ่งเมืองจะประกอบไปด้วย 4 โซ่ง เช่นที่เมืองลา มีโซ่งปัน โซ่งป้อง โซ่งหอหลวง โซ่งล่ามหอ (หนึ่ง โซ่งจะประกอบไปด้วยหมู่บ้าน 5-10 หมู่บ้าน) ดังนั้นคำว่าโซ่ง ก็หมายถึง พวกชนบท พวกบ้านนอก หรือพวกด้อยวัฒนธรรม พวกการศึกษาต่ำ พวกโง่ อะไรทำนองนั้น การที่พวกเราเรียก ไทดำ ว่าโซ่ง พวกโซ่งก็หมายถึงคุณกำลังเรียกเขาว่า ไอ้บ้านนอก ไอ้โง่อะไรทำนองนั้น เช่นเราคนสุพรรณไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ เขาเรียกเราว่าไอ้สุพรรณไอ้บ้านนอกเรายังโกรธเลย ไทดำก็เหมือนกัน ถูกเรียกว่าโซ่ง หรือไอ้บ้านนอก ไอ้โง่ เขาก็ต้องโกรธเช่นกัน ดังนั้นต่อไปนี้ให้เรียกเขาว่า ไทดำ หรือผู้ไทดำ

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/101411
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท