๔๒. ผู้สูงอายุนั้น...สำคัญไฉน ? ตอนที่ ๓ ตอนจบ


ต้องมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่อยู่ในวัยทำงาน เพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ

        วันที่  3 พฤษภาคม 54  ผู้เขียนได้ไปดูการดูแลผู้สูงอายุที่ ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ไปดูการดูแลผู้สูงอายุที่ชุมชนควนขนุน  ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง ทั้งสองชุมชนได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยผลัดกันไปดูงานของแต่ละพื้นที่  ตามไปดูตอนก่อนหน้านี้ได้ที่นี่ ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2     

  

         

           ลุงอัมพร มานะกล้าหรือลุงพร ประธาน อสม.และประธานชมรมผู้สูงอายุของปะเหลียน พร้อมทั้งคุณสมฤดี จริงจิตร พยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัว โรงพยาบาลปะเหลียน และเครือข่ายจาก อบต. และในชุมชนของปะเหลี่ยน มากล่าวต้อนรับ   

 

     ลุงสมพร รูปซ้ายบน  ส่วนคุณสมฤดี รูปซ้ายล่างค่ะ

   

     

          

           ลุงพรมีเรื่องคุยให้ฟังหลายเรื่อง แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเล่าสู่กันฟังเพราะจะได้เป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ดำเนินงานในกลุ่มผู้สูงอายุด้วย   

 

          ลุงพรได้คุยให้ฟังถึงการที่มีผู้สูงอายุไปดูงาน แล้วเสียชีวิตในระหว่างทาง โดยเสียชีวิตในโรงแรมที่พัก ขณะที่พักอยู่คนเดียว ก่อนหน้านั้นลูกหลานก็ห้ามไม่ให้ไปเพราะเป็นห่วงสุขภาพ แต่คุณลุงที่ตายก็ยังยืนยันว่าอยากจะไป  นอนแล้วก็ตายไปเฉย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ลุงพรบอกว่าอาจจะเป็นเพราะหนาวตายเพราะปรับแอร์ไม่เป็น  แต่ไม่มีใครรู้สาเหตุที่แน่นอน  ปํญหาที่ตามมา ได้แก่การส่งศพกลับบ้าน ต้องหาหน่วยงานมาช่วยส่งศพกลับ  สุดท้ายก็ได้หน่วยงานสาธารณสุขซึ่งไม่ได้เป็นผู้จัดให้ไปดูงานขอให้มูลนิธิฯ ช่วยส่งศพกลับ  

 

           คุณปรีดา  สาราลักษณ์ จากชุมชนควนขนุน  ต.ทับเที่ยง      อ.เมือง จ.ตรัง ที่เดินทางมาดูงานด้วยบอกว่า ก่อนที่ผู้สูงอายุจะเดินทางออกนอกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดที่เป็นเจ้าภาพ  ผู้สูง อายุ ควรจะแจ้งให้พี่เลี้ยงที่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบด้วยและตรวจสุขภาพก่อนทุกครั้ง นอกจากนี้เธอยังบอกว่า หากเธอจัดให้ผู้สูงอายุไปที่ไหน เมื่อเข้าสู่ที่พักเธอจะไปเคาะประตูทุกห้อง  ถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง เปิดแอร์เป็นรึเปล่า เปิดน้ำเป็นรึเปล่า  ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่มีปัญหา ทำเป็น เพราะกลัวเสียหน้า (เรียกเสียง ฮา... กันใหญ่) แต่พอเข้าไปให้ทำให้ดู  ปรากฎว่าบางคนใช้ไม่เป็น เพราะการอธิบายให้ทราบถึงวิธีการใช้ห้องน้ำ หรืออุปกรณ์ที่ผู้สูงอายุไม่มีประสบการณ์ในการใช้มาก่อนนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ มองข้ามไม่ได้ 

 

           นอกจากกล่าวต้อนรับแล้ว มีกิจกรรมให้รำวงร่วมกัน โดยมีลุงพรเป็นนักร้อง แต่งเองร้องเองในช่วงขณะนั้นเลย

    

          

           จากนั้นได้ไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้าน ผู้เขียนรู้สึกประทับใจคู่ของป้าหนอมและลุงจิตร  ป้าหนอมอายุ 72  ปี ขณะที่ลุงจิตรอายุ 77 ปี  ลุงจิตรตาสู้แสงสว่างไม่ได้ จะมองเห็นไม่ชัดนัก เวลาเดินต้องใช้  Walker ช่วย เป็นมา 12  ปี ป้าหนอมดูแลลุงจิตรเป็นอย่างดี  ฟันของลุงจิตรยังคงแข็งแรงและมีฟันเต็มปาก 

         ลุงจิตรความจำไม่ค่อยดีนัก จะเรียกถามจากป้าจิตรตลอด แต่ก็เป็นคนอารมณ์ดี ร้องเพลงเป็นท่อนสั้น ๆ  ให้ฟังได้ ลุงจิตรจะนั่งได้เป็นช่วง ๆ   แล้วขอนอนคุย เพราะนั่งนานจะรู้สึกมึนหัว        

         ลุงจิตรเป็นคนภาคกลางส่วนป้าหนอมเป็นคนภาคใต้ ผู้เขียนถามว่าแล้วพบกันได้อย่างไร ลุงจิตรเล่าให้ฟังได้เป็นฉาก ๆ อย่างอารมณ์ดี ถึงแม้ว่าจะลืมบางเรื่อง แต่เรื่องนี้ลุงจิตรเล่าได้อย่างไม่ลืมเลือน เป็นความประทับใจที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะไปเขียนนิยายชีวิตรักของหนุ่มกรุงกับสาวบ้านนาอย่างในทีวีได้เลยทีเดียว

 

            การนอนเฉย ๆ  มา 12  ปี น่าจะเกิดการเบื่อหน่าย  ลุงจิตรบอกว่าไม่ชอบฟังวิทยุ ส่วนทีวีไม่ได้ดูมานานแล้วเนื่องจากตาสู้แสงไม่ได้  ชอบนอนนิ่ง ๆ ยังอยากมีชีวิตอยู่ คิดว่าการไม่ตายนี่ก็ดีแล้ว คนที่สำคัญคือป้าหนอม บอกป้าหนอมว่า แกอย่าทิ้งฉัน  ป้าหนอมเป็น อสม. บางครั้งก็ต้องออกไปประชุม หรือออกไปทำงานตามหน้าที่ ไปไหนก็จะบอกลุงจิตรทุกครั้ง ที่สำคัญต้อง เชื่อใจซึ่งกันและกัน  ลุงจิตรก็จะอนุญาตให้ป้าหนอมไป  เวลาไปไหนป้าหนอมก็จะบอกเพื่อนบ้านด้วยเพื่อให้มาช่วยดูแล อาหารการกินลุงจิตรพอจะช่วยตัวเองได้บ้าง โดยป้าหนอมจะจัดเตรียมไว้ให้ก่อน   

 

        ลุงจิตรบอกว่า ยังอยากมีชีวิตอยู่เพื่อดูความเติบโตของลูกหลาน  ห่วงหลาน อยากให้เรียนสูง ๆ  ต้องไม่ฟุ้งซ่าน เพราะอยู่คนเดียวอาจจะคิดมาก สิ่งที่ผูกใจคือ  พระ เป็นที่พึ่งทางใจ มีบทภาวนาที่ลุงจิตรท่องอยู่เป็นประจำ   

       

           จากนั้นได้ไปเยี่ยมผู้สูงอายุอีก 2-3  คน บางรายนอนติดเตียงมา 2 ปี พูดไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  ลูกหลานช่วยดูแล โดยให้นอนบนเตียงไม้ที่ประกอบด้วยไม้เป็นแผ่น ๆ สามารถเอาไม้ออกบางแผ่นได้ ปูเสื่อทับ มีก๊อกน้ำอยู่ใกล้ ๆ เวลาอาบน้ำก็อาบให้บนเตียง เวลาขับถ่ายก็เปิดแผ่นไม้ที่ประกอบเป็นเตียงออกบางแผ่น ถ่ายลงไปใต้เตียงที่มีแผ่นพลาสติกรอง และปล่อยให้ไหลลงท่อต่อไป    

 

          ผู้เขียนเคยเห็นบ้านทางภาคใต้หลายหลัง ที่เป็นบ้านยกพื้น จะมีพื้นที่ ที่เป็นแผ่นกระดานที่สามารถเปิดออกสำหรับให้ขับถ่ายลงไปยังข้างล่างได้  ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับผู้สูงอายุ หรือคนที่ไม่สบาย บางบ้านใช้สำหรับขับถ่ายเวลากลางคืน เพราะสมัยก่อนห้องน้ำไม่ได้อยู่ในบ้าน  

 

              อสม.และอาสาสมัครชมรมผู้สูงอายุนำเยี่ยมบ้าน

   

  

   

         

          อสม.บอกว่า หมอแอ๊ด (คุณสมฤดี   จริงจิตร) เป็นผู้ที่ช่วยเหลือ ผู้สูงอายุอย่างเต็มกำลัง เวลามีงานขอให้โทรบอก หมอแอ๊ดอยู่ถึงทับเที่ยง (อ.เมือง) ก็ยังมา บอกว่าไม่รู้ว่าหมอแอ๊ดเกษียณแล้วใครจะมาทำแทน อสม.คงจะเลิกทำงานนี้เหมือนกันหากไม่มีหมอแอ๊ด  น่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่มีเวลาคุยกับคุณสมฤดี  แต่คิดว่าในการถอดบทเรียนการทำงานของชุมชนผู้สูงอายุทั้งในชุมชนควนขนุน   ต.ทับเที่ยง อ.เมือง และชุมชนท่าข้าม อ.ปะเหลียน ซึ่งทั้งสองแห่งอยู่ในจังหวัดตรัง  ของคุณจรินทรัตน์  แซ่น่า จากศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา  คงจะมีคำตอบว่า คุณสมฤดี  จริงจิตร มีหลักการในการทำงานอย่างไร   อสม.จึงรักและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

 

              ปะเหลียนเลี้ยงอาหารเที่ยงด้วยขนมจีน  ข้าวยำ และมีน้ำดื่มที่ทำจากลูกหม่อน (ที่นำไปเลี้ยงตัวไหม) ช่วยกันทำโดยมีป้าหนอมเป็นหัวเรือใหญ่

 

     ขนมจีนและข้าวยำที่อร่อยจนต้องเติมอีกจาน    

              ต้นหม่อนและลูกหม่อน 

           

            ผู้สูงอายุทั้งสองตำบลได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่   จากการเข้าไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ ทำให้ผู้เขียนได้ข้อคิดหลายประการ   

  

     ประการแรก ผู้สูงอายุที่มีอายุยืนยาวมากขึ้น  ทำอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่เป็นภาระให้กับครอบครัวและสังคม

    ประการที่สอง : พวกเรา ที่อยู่ในวัยทำงาน ต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุที่มีคุณภาพ ขณะนี้เราเตรียมความพร้อมได้ระดับใด  เพราะหากมัวแต่รอ เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุก็อาจจะสายไปเสียแล้ว 

    ประการที่สาม :  น่าจะมีชมรมวัยก่อนสูงอายุ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่วัยสูงอายุ  ขณะนี้ผู้เขียนกำลังรวบรวมเพื่อน ๆ สมัยเรียนประถม- มัธยม มาเข้าร่วมก๊วนเตรียมความพร้อม อย่างน้อย ๆ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยกันกระตุ้นในการดูแลตนเอง  

 

 

            ต้องขอขอบคุณ คุณจรินทรัตน์  แซ่น่า  อีกครั้งที่ชักชวนให้ผู้เขียนไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ซึ้งถึงสัจจธรรมเมื่อสูงวัย 

 

 

             ก่อนจบขอฝากข้อคิดดี ๆ  ที่ได้จากชุมชนท่าข้าม อ.ปะเหลียน จังหวัดตรังค่ะ

        

         ต้องรู้จักใช้เงิน  อย่าให้เงินเป็นนาย วางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบ  ใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่   จัดเวลาในการดำเนินชีวิตให้เหมาะสม รู้จักกิน  รู้จักใช้  รู้จักเก็บ  เที่ยวบ้างอย่างพอประมาณ เพราะพอสูงวัยแล้ว  มีเวลา มีเงิน แต่ไม่มีแรง จะไปไหนก็ลำบาก  แล้วแต่แนวคิดของแต่ละคนค่ะ

 

                          สวัสดีค่ะ

หมายเลขบันทึก: 440725เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะคุณ'สุดารัตน์  ธีระวร'

แวะมาชื่นชม 'การดูแลผู้สูงอายุ'ค่ะ

เห็นด้วยกับข้อคิดดี ๆ จากชุมชนท่าข้าม อ.ปะเหลียน จังหวัดตรังค่ะ

"คนทุกคนที่ก่อเกิดมา ย่อมแก่ชรา ตาฟาง ท่าทางซึมเซา แม้ตัวเราเองนี้หนอก็คงแก่เฒ่า รู้กาลอัปเฉาแห้งเหี่ยวกันไปตามวัย ไร้เรี่ยวแรงสู้ทำมาหากิน จะดีดจะดิ้น ทุกข์ทนไปได้อย่างไร ถึงวันนั้นเราคงเหงาว้าเหว่าหัวใจ แล้วจะมีใครเยื่อใยเราให้คลายเหงา" เป็นการเตรียมความพร้อมเยี่ยมมากค่ะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

  • เห็นด้วยทั้ง 3 ข้อเลย ทำอย่างไรให้ ... เมื่อเราๆ สูงวัยแล้ว จึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีเน๊อะ

        Ico48    Ico48

  • สวัสดึค่ะ ดร.พจนา และคุณแจ่มใส
  • ทุกคนต้องเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ
  • การเตรียมความพร้อมไว้ก่อนดีที่สุดค่ะ
  • ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยียนค่ะ

    Ico48  สวัสดีค่ะ หมอนน

  • เรื่องฟันก็สำคัญนะค่ะ
  • สูงวัยแล้วฟันไม่ดี ก็เป็นปัญหา
  • หมอนนสบายดีนะค่ะ

 

 

อ่านบันทึกนี้ไปยิ้มไป  เรื่องการใช้อุปกรณ์ใน โรงแรมไม่เป็น

จากเรื่องเล่า ชาวศูนย์ 12 บางคน ยังเปิดน้ำร้อนได้แต่เปิดน้ำเย็นไม่ได้

ลองคิดดูว่าเวลาอาบน้ำจะทำไง

ตอนนี้เขี้ยวกำลังเตรียมทำโครงการ เกี่ยวกับการป้องกันการหกล้มใน ผส.

ไว้โครงการผ่านจะเอารายละเอียดมาแชร์

แต่ที่แน่ๆตอนนี้ทุบบ้านรื้อห้องน้ำใหม่

เอาอ่างอาบน้ำออก

เพราะกลัวจะต้าว

  • เรื่องการหกล้มของผู้สูงอายุสำคัญมากเลยละ
  • บางคนสะโพกหักก่อนล้มถึงพื้้นเสียอีก
  • อ่างอาบน้ำในโรงแรมก็ต้องระวังเช่นกัน
  • จะรออ่านเรื่องดี ๆ  จากเขี้ยวจ้า

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท