ไหมอีรี่ : ไหมพันธุ์ใหม่กินใบมันสำปะหลัง


ไหมอีรี่

รังไหม ดักแด้ และผีเสื้อรังไหม ดักแด้ และผีเสื้อ ไหมอีรี่ : ไหมพันธุ์ใหม่กินใบมันสำปะหลัง

ศักยภาพการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม

โดย ศ.ดร.ทิพย์วดี อรรถธรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์*

 

                        ไหมเป็นเส้นใยธรรมชาติที่ได้จากรังที่ห่อหุ้มดักแด้ไหม เส้นใยไหมมีความมันแวววาวโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่น ชาวจีนรู้จักเลี้ยงไหมเพื่อเอาเส้นใยทำเครื่องนุ่งห่มนานกว่า 4000 ปีมาแล้ว และถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าของแผ่นดิน ชาวยุโรปก็รู้จักเลี้ยงไหมมานานแล้ว โดยถือว่าไหมเป็นผ้าพิเศษใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินีและขุนนางชั้นสูงเท่านั้น ผ้าไหมเป็นสิ่งที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษถึงลูกหลานที่แต่ละชาติมีความภาคภูมิใจ เช่น ผ้าไหมไทย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศในทวีปยุโรป จะมีความแตกต่างกันทั้งเนื้อผ้าลวดลายปักบนผ้าและศิลปะการถักทอ ซึ่งทำให้ได้ผ้าที่มีลักษณะต่างๆ กันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติผ้าไหมที่สวยงาม มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงและเป็นที่รู้จักกันดีนั้น คือ ไหมหม่อน (mulberry silk, Bombyx mori) ซึ่งกินใบหม่อนเพียงชนิดเดียวเป็นอาหาร และได้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างสมบูรณ์แล้ว  อย่างไรก็ตามยังมีไหมป่าที่ให้เส้นใยมาใช้ประโยชน์ทำเครื่องนุ่งห่ม และไม่ใช้ใบหม่อนเป็นอาหาร (wild silkworm หรือ non-mulberry silk) อีก 8 ชนิด ได้แก่ Antheraea pernyi, A. yamamai, A. proylei, A. assamensis, A. mylitta, A. paphia, Philosamia ricini และ P. cynthia แต่มีเพียง 3 ชนิดคือ ไหมทาซาร์ (tasar silk, A. mylitta และ A. proylei) ไหมมูก้า (muga silk, A. assamensis) และไหมอีรี่ (eri silk, Philosamia ricini) ที่มีการเลี้ยงเป็นอาชีพในประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลี (Sengupta, 1987) ไหมอีรี่เป็นไหมป่าเพียงชนิดเดียวที่มนุษย์สามารถเลี้ยงได้ครบวงจรชีวิตอย่างสมบูรณ์ ส่วนไหมมูก้าและไหมทาซาร์นั้นในบางช่วงของวงจรชีวิตต้องปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติเช่น ในช่วงผสมพันธุ์ต้องเอามาปล่อยไว้บนต้นพืชอาหาร มิฉะนั้นผีเสื้อจะไม่ยอมผสมพันธุ์

 

รูปร่างลักษณะและวงจรชีวิต

          ไหมอีรี่ eri silk, Philosamia ricini เป็นผีเสื้อกลางคืนในอันดับ Lepidoptera วงศ์ Saturniidae เป็นไหมชนิดฟักตลอดปี (polyvoltine) มีวงจรชีวิต 45-60 วัน ประกอบด้วยระยะไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และผีเสื้อ แม่ผีเสื้อวางไข่สีขาวเป็นกลุ่ม แม่ผีเสื้อที่แข็งแรงสมบูรณ์จะวางไข่เฉลี่ยประมาณ 300 ฟอง ในฤดูร้อนไข่จะฟักภายใน 7 วัน แต่ถ้าอากาศเย็นไข่จะอยู่ต่อไปได้นานถึง 24 วันหลังจากฟักออกจากไข่ หนอนไหมอีรี่จะเริ่มกินพืชอาหารทันทีและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจะลอกคราบ 4 ครั้งก่อนเข้าดักแด้ ส่วนหัวของไหมวัยหนึ่งและสองจะเป็นสีดำ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองโดยมีบริเวณสีดำที่แก้มเมื่อถึงวัยสี่และห้า ตัวหนอนมีสีขาว ที่ปล้องอกและท้องแต่ละปล้องมีหนาม 4-6 อันเรียงเป็นแถว ในวัยที่ห้าหนอนไหมจะกินอาหารมากและตัวโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวหนอนโตเต็มที่จะมีขนาดยาว 90-100 มิลลิเมตร ลำตัวจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลืองเมื่อพร้อมจะเข้าดักแด้

            ก่อนจะเข้าดักแด้หนอนไหมจะหยุดกินอาหาร และถ่ายของเสียออกจนหมดกระเพาะ แล้วตัวหนอนจะเริ่มเดินไปมาเพื่อหาที่เหมาะสมต่อการทำรังเข้าดักแด้ ซึ่งมักเป็นตามซอกมุมที่หลบซ่อนได้จากนั้นจะเริ่มทำรังหุ้มตัวเอง ด้วยการคายสารออกมาจากต่อมสร้างเส้นใย (silk gland) สารนี้เมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวเป็นเส้นใย หนอนไหมจะใช้เวลาทำรังเสร็จภายใน 3 วัน ตัวหนอนจะพักอยู่ภายในรังและเริ่มเข้าดักแด้ ประมาณ10-14 วันต่อมาผีเสื้อจะออกจากดักแด้ ผีเสื้อไหมอีรี่มีขนาดใหญ่ เมื่อกางปีกเต็มที่จะยาวถึง 4-5 นิ้ว ปีกมีสีน้ำตาลดำและมีเส้นขวางกลางปีกสีขาว ตรงกลางของแต่ละปีกจะมีรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวสีเหลืองขาวตัดขอบด้วยสีดำสวยงามมาก ส่วนท้องของตัวผู้จะเล็กกว่าตัวเมียการผสมพันธุ์จะเริ่มขึ้นหลังจากผีเสื้อออกจากดักแด้ไม่นาน ตัวเมียจะวางไข่ตอนกลางคืน และอาจวางไข่ได้ 2-3 คืน ผีเสื้อไม่บินและไม่กินอาหาร

 ไหมอีรี่

ไหมอีรี่สามารถเลี้ยงได้ตลอดปีประมาณ 4-5 รุ่นต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ เลี้ยงได้ทั้งในที่สูงและที่ราบ และที่อุณหภูมิตั้งแต่ 25 ถึง 45o C (Sarkar, 1988) มีการทดลองเลี้ยงหนอนไหมอีรี่ด้วยใบพืชชนิดต่างๆ เช่น ละหุ่ง มันสำปะหลัง มะละกอ อ้อยช้าง สบู่ดำ มะยมป่าและสันปลาช่อน พบว่าใช้ใบละหุ่ง (castor plant) เลี้ยงไหมอีรี่ได้ดีที่สุด เพราะหนอนไหมให้รังที่มีขนาดใหญ่และปริมาณเส้นไหมมากที่สุด รองลงมาคือใบมันสำปะหลัง (cassava plant) ส่วนพืชชนิดอื่นอาจใช้เป็นพืชอาหารทดแทนได้ในช่วงที่ใบละหุ่งหรือใบมันสำปะหลังขาดแคลน แต่ไม่สามารถใช้เลี้ยงจนครบวงจรชีวิตได้ (Sengupta and Singh, 1974; Thangavelu and Phuko,1983) ดังนั้นพืชอาหารหลักของหนอนไหมอีรี่ คือ ใบละหุ่งและใบมันสำปะหลัง โดยสามารถใช้เลี้ยงสลับกันได้ (Joshi andMisra,1982) ใบของต้นมันลาย มันต้นและใบลั่นทมก็สามารถนำมาใช้เลี้ยงไหมอีรี่ได้

ใบละหุ่งใบมันสำปะหลัง

ลักษณะของรังและเส้นใยไหมอีรี่

          รังไหมอีรี่มีองค์ประกอบเช่นเดียวกับรังไหมหม่อน คือเป็นเส้นใยที่ประกอบด้วยสาร fibroinล้อมรอบด้วยสาร sericin ซึ่งเป็นสารเหนียวใช้ยึดเส้นใยให้สานกันเป็นรังหุ้มดักแด้ไว้ภายใน รังไหมอีรี่มีลักษณะยาวเรียวสีขาว เส้นใยจะสานกันหลวมกว่ารังไหมหม่อน ปลายข้างหนึ่งค่อนข้างแหลม ปลายอีกข้างหนึ่งมีรูเปิดเล็กๆ เพื่อให้ผีเสื้อออกจากรัง ต่างจากรังไหมหม่อนซึ่งปิดหมดทุกด้าน เส้นไยไหมอีรี่จึงมิได้เป็นเส้นยาวเหมือนไหมหม่อนแต่จะเป็นเส้นสั้นๆ ต้องดึงเส้นใยจากรังด้วยวิธีปั่น (spun) แบเดียวกับการปั่นฝ้าย ไม่ได้ใช้วิธีสาว (reel) แบบไหมหม่อน ดังนั้นจึงไม่ต้องต้มรังตอนที่ยังมีดักแด้ไหมอยู่ในรัง สามารถตัดเปลือกรัง หรือรอให้ผีเสื้อออกมาก่อนจึงนำรังไปต้ม เพื่อละลายสารเหนียวที่เคลือบเส้นไหมออกก่อนที่จะนำไปปั่น คุณสมบัตินี้เป็นข้อดีของไหมอีรี่ คือ ทำให้ไม่ขัดต่อความรู้สึกของผู้ใช้ที่ไม่ต้องการฆ่าตัวไหม การใช้วิธีสาวโดยใช้เครื่องสาวพื้นบ้านแบบไหมหม่อนก็อาจทำได้แต่ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ เส้นใยไหมอีรี่จึงจัดเป็นไหมปั่น (spun silk) ซึ่งเส้นไหมปั่นนั้นเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมด้ายปั่นมาก เพราะเส้นไหมมีความเหนียว ยาว แวววาว สวยงามและราคาดีกว่าเส้นใยฝ้าย ในปัจจุบันอุตสาหกรรมไหมปั่นต้องอาศัยวัตถุดิบจากเศษรังไหมหม่อนที่เสียและสาวไม่ได้ ซึ่งมีไม่เพียงพอจะป้อนโรงงานไหมปั่น (สุธรรม 2534) เส้นใยไหมอีรี่จึงอาจทดแทนความต้องการตรงนี้ได้

 รังไหม ดักแด้ และผีเสื้อ

เส้นไหมอีรี่สามารถติดสีได้ดีทั้งสีสังเคราะห์และสีธรรมชาติ ปัจจุบันมีผู้ให้ความสำคัญกับผ้าพื้นเมืองที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติมาก เพราะให้โทนสีที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาด ดูสบายตา และไม่เบื่อง่าย ที่สำคัญคือมีจุลินทรีย์ย่อยสลายสีได้ ทำให้ไม่ตกค้างเป็นมลพิษ จึงปลอดภัยต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อม วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เช่น พืชชนิดต่างๆ ให้สีต่างกัน ทำให้เกิดความหลากหลายของสีย้อมที่สวยงามต่างกัน เส้นใยไหมอีรี่ที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติจากใยมะพร้าว เปลือกประดู่ มะเกลือดิบ ใบขี้เหล็ก ขมิ้น ใบหูกวาง ใบสบู่เลือด เปลือกต้นมะม่วงหิมพานต์ เปลือกต้นมะม่วงป่า เปลือกเมล็ดฝางแดง มะเกลือ ใบสมอและครั่ง จะติดสีได้ดีและสวยงามแปลกตา

การต้มรังลอกกาวและการย้อม

อุตสาหกรรมการเลี้ยงไหมอีรี่

          เส้นใยไหมอีรี่มีคุณสมบัติเฉพาะ คือ มีความหนานุ่มคล้ายผ้าขนสัตว์แต่ก็ดูดซับเหงื่อและระบายอากาศได้ดี ทำให้ใส่แล้วรู้สึกอบอุ่นในฤดูหนาว และเย็นสบายในฤดูร้อน ไม่สากระคายมือ มีคุณภาพทนทานดีกว่าไหมหม่อน ซักได้ด้วยวิธีธรรมดา ไม่ต้องซักแห้ง เส้นไหมที่ผลิตได้จะมีลักษณะเป็นปุ่มปม มีความเงามันเล็กน้อยซึ่งสวยงามแปลกตาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ประเทศอินเดียและจีนส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีรี่กันมาก แต่ไม่สามารถเลี้ยงได้ตลอดปี เพราะสภาพดินฟ้าอากาศไม่อำนวย ไม่มีแหล่งพืชอาหารที่เหมาะสมและอุดมสมบูรณ์ ในประเทศไทยเริ่มเลี้ยงไหมอีรี่ในปี พ.ศ. 2517 โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยและรักษาพันธุ์ไว้ที่สถานีวิจัยพริ้ว จังหวัดจันทบุรี (พิสิษฐ์ และเตือนจิตต์ 2520) ต่อมาโครงการวิจัยเกษตรที่สูงเพื่อหาอาชีพเสริมให้ชาวเขาทดแทนการปลูกฝิ่น ได้นำไหมอีรี่ขึ้นไปเลี้ยงบนดอยอ่างขางและดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสามารถเลี้ยงได้ดี แต่ก็เลี้ยงไม่ได้ตลอดปี เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นจัด (Wongtong et. al.,1980) ในปี พ.ศ.2533 โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุล ส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีรี่ให้กับเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งปลูกมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก เกษตรกรสามารถนำใบมาเลี้ยงไหมแทนการทิ้งไปเฉยๆ การเด็ดใบมาเลี้ยงไหมไม่เกิน 50% ของใบที่มีทั้งหมด จะไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตหัวมันสำปะหลัง และถ้าเด็ดใบไป 30% กลับทำให้ผลผลิตหัวมันสูงขึ้น (ทิพย์วดี และคณะ 2535)

ในปัจจุบันมีเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังจำนวนมาก สนใจเลือกการเลี้ยงไหมอีรี่เป็นอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัว มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรเข้ารับการฝึกอบรมการเลี้ยงไหมอีรี่ การต้มลอกกาว การย้อมสีและการปั่นเส้นใย และได้ใช้ประสบการณ์และภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่นปรับปรุงวิธีการเลี้ยงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น มีการถักทอเป็นผืนผ้าที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นและสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากไหมอีรี่ตามภูมิความรู้ของแต่ละคน ตัวอย่างของกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับไหมอีรี่ ได้แก่เกษตรกรหลายครัวเรือนในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชลบุรีนครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ชัยภูมิ เป็นต้น เกษตรกรส่วนใหญ่สามารถเลี้ยงไหมอีรี่เองได้เป็นอย่างดี บางครัวเรือนสามารถปั่นเส้นใยและทอเป็นผืนผ้านำออกจำหน่ายได้

การเลี้ยงไหมอีรี่

การใช้ประโยชน์จากไหมอีรี่

            ในประเทศไทยมีงานวิจัยและส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีรี่อยู่ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีการทำในเชิงพาณิชย์เป็นอุตสาหกรรม แนวทางการใช้ประโยชน์จากไหมอีรี่มีมากมาย เช่น :

            1. เส้นใยไหมใช้ทอเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่มีความสวยงามแตกต่างจากผ้าทอจากเส้นใยชนิดอื่น นอกจากนั้นยังเหมาะทำเป็นผ้าม่าน ผ้าปูเตียง ผ้าปูโต๊ะและทอเป็นพรม รวมทั้งสามารถปั่นเส้นใยด้วยเครื่องจักรในโรงงานผสมกับเส้นใยฝ้ายได้ ทำดอกไม้ประดิษฐ์ และวัสดุสวยงามอื่นๆ

            2. ตัวหนอนไหมและดักแด้เป็นอาหารของคนได้ มีปริมาณไซยาไนด์ตกค้างในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภค มีคุณค่าทางโภชนะสูง โดยพบว่าดักแด้มีโปรตีนสูงถึง 54% มีไขมัน (fattyacid) 26% และเป็นไขมันที่ดี (Jintasataporn et.al., 2001) นอกจากนั้นยังพบว่ามีความมันและมีรสชาติอร่อยถูกปากเกษตรกรและผู้คนทั่วไป

            3. เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนะสูง ตัวหนอนไหมและดักแด้สามารถพัฒนาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้เป็นอย่างดี เช่น เป็ด ไก่ หมูและปลา โดยเฉพาะหนอนไหมวัย 3 และ 4 ที่ถูกคัดทิ้ง ไหมอีรี่ยังสามารถพัฒนาเป็นอาหารสำหรับปลาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น เร่งสีในปลาประเภทปลาสวยงาม

            4. สามารถสกัดจากดักแด้และผีเสื้อไหม ได้เลซิตินกึ่งบริสุทธิ์ที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระได้สูงมาก และเป็น emulsifier ที่ดี คือ มีความคงตัวของ emulsion สูง รวมทั้งสามารถสกัดโปรตีนไฮโดรไลเสท ที่เป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องสำอางจากรังไหมและดักแด้ไหม นอกจากนั้นรังไหมยังนำมาบดเป็นผงแป้งละเอียดที่มีความแวววาว ใช้เคลือบวัสดุต่างๆ ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ และงานฝีมือที่สวยงามหลากหลายด้วยภูมิปัญญาของผู้ประดิษฐ์

การรวมกลุ่มของเกษตรกร

 

          5. ไข่และตัวหนอนไหมใช้เป็นอาหารเลี้ยงแมลงที่เป็นประโยชน์ เช่น ใช้ไข่ไหมอีรี่เลี้ยงแตนเบียนไข่ในสกุล Anastatus และ Ooencyrtus ที่ใช้ในการกำจัดมวนลำไยและมวนลิ้นจี่ ศัตรูสำคัญของไม้ผล ใช้ตัวหนอนเลี้ยงมวนพิฆาต Ecocanthecona furcellata ซึ่งเป็นมวนตัวห้ำใช้กำจัดหนอนคืบละหุ่ง หนอนกระทู้ หนอนแก้วส้ม หนอนร่าน หนอนบุ้ง ในสวนส้ม มะนาว มะม่วงและส้มโอ มีหลายหน่วยงานที่เพาะเลี้ยงแมลงตัวห้ำและตัวเบียนเหล่านี้ในห้องปฏิบัติการ การใช้หนอนไหมอีรี่เป็นอาหารจะช่วยลดความยุ่งยากในการเลี้ยงหรือออกจับแมลงศัตรูพืชมาเป็นอาหาร

หนอนไหม ดักแด้ และอาหาร

             6. เส้นใยไหมอีรี่มีความคงทนสูง สานกันได้ละเอียด มีความเหนียว ไม่เปียกน้ำง่าย มีลักษณะเป็นรูเล็กๆ (porous) สามารถพัฒนาเป็นกระดาษกรองที่มีคุณภาพ เหมาะสำหรับใช้ในงานวิจัยและทดลองทางวิทยาศาสตร์

ผลิตภัณฑ์ไหมอีรี่

             ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากไหมอีรี่

 การพัฒนาไหมอีรี่สู่อุตสาหกรรม

            สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เล็งเห็นว่าไหมอีรี่เป็นแมลงที่มีประโยชน์ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาสู่อุตสาหกรรมได้ ซึ่งอาจเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมขนาดกลางในชุมชน เพื่อเป็นอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกร รวมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรบางครอบครัว จึงได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อผลักดันไหมอีรี่สู่อุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินงานไปพร้อมๆ กันในหลายด้าน เพื่อให้เป็นไปอย่างครบวงจร และบังเกิดผลสัมฤทธิ์ งานวิจัยที่ดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ :

                 1. งานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐาน ความรู้พื้นฐานจะช่วยให้รู้จักไหมอีรี่ได้ดีขึ้นและสามารถใช้ประโยชน์จากแมลงชนิดนี้ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง เช่น การศึกษาองค์ประกอบของหนอน ดักแด้และรังไหม การศึกษาคุณค่าทางโภชนะของไหม การผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสทจากไหมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ การศึกษาปริมาณไซยาไนด์ตกค้างในหนอนและดักแด้ไหมอีรี่ การสกัดเลซิตินจากไหมป่าอีรี่ เพื่อใช้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ การศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของเส้นใยการศึกษาสมบัติต่อกระบวนการเคมีสิ่งทอของผลิตภัณฑ์จากเส้นไหมอีรี่ เช่นการลอกกาว การลงแป้งการดูดซึมสีย้อม เพื่อการควบคุมและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

                2. การพัฒนาเทคโนโลยี เทคโนโลยีต่างๆ ทีเกี่ยวกับไหมอีรี่หากมีการพัฒนาให้เหมาะสมจะสามารถเลี้ยงไหมอีรี่และนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เทคโนโลยีการเลี้ยง การสร้างเครื่องจักรเพื่อการปั่นเส้นใยในระดับครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรม กรรมวิธีการปั่นและถักทอเส้นใยด้วยเครื่องจักรอุตสาหกรรม และการผลิตเส้นด้ายและผ้าจากไหมอีรี่ผสมกับเส้นใยอื่นๆ ในระดับหัตถอุตสาหกรรม รวมทั้งเทคโนโลยีการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหมอีรี่ การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

                3. การใช้ประโยชน์ไหมอีรี่แบบครบวงจร  จากที่ทราบว่าทั้งไข่ ตัวหนอน ดักแด้และรังไหม รวมทั้งของเหลือทิ้งจากการเลี้ยงไหม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ งานวิจัยเพื่อพัฒนานำสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มมูลค่าของไหมอีรี่ และเพิ่มความหลากหลายของอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกร เป็นการดึงดูดความสนใจของเกษตรกรและหน่วยงานเอกชนให้หันมาประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับไหมอีรี่

                4. ประเมินผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาไหมอีรี่สู่อุตสาหกรรม การประเมินผลกระทบจากการเลี้ยงไหมอีรี่ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่มีต่อครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติ เช่นการสร้างงานและเพิ่มอาชีพทางเลือกที่ทำรายได้ให้กับชุมชน การสร้างความมั่นคงด้านอาหารและชีวิตที่ดีขึ้น การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว สร้างความสุขและความสามัคคีให้กับชุมชนและสังคมชนบท รวมทั้งศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับการเลี้ยงไหมอีรี่ของเกษตรกร เพื่อปรับกระบวนการส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีรี่ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

 ความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาไหมอีรี่

            จากข้อมูลเรื่องไหมอีรี่และแนวทางพัฒนาการใช้ประโยชน์ ทำให้เห็นได้ว่ากิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับไหมชนิดนี้สามารถพัฒนาเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกร และให้ผู้ประกอบการทั้งสิ้น การวิจัยและพัฒนาไหมอีรี่จึงมีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยอาจกล่าวสรุปได้ดังนี้ :

            1. ข้อดีของไหมอีรี่ คือ หนอนไหมกินใบมันสำปะหลังและใบละหุ่งเป็นอาหาร ทำให้สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกละหุ่งและมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลัก เลี้ยงไหมอีรี่เป็นอาชีพเสริมได้ โดยไม่ต้องลงทุนปลูกพืชอาหารอื่น เกษตรกรได้ประโยชน์ทั้งจากเมล็ดละหุ่ง หัวมันสำปะหลัง และรังไหมรวมทั้งดักแด้ไหม ทำให้มีรายได้พิเศษเพิ่มขึ้น มีงานทำในท้องถิ่น ไม่ละทิ้งบ้าน ครอบครัวและชุมชนไปหางานทำที่อื่นในช่วงนอกฤดูเพาะปลูก

            2. ประเทศไทยส่งออกสินค้าสิ่งทอมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยพึ่งวัตถุดิบจากเส้นใยฝ้ายเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันการปลูกฝ้ายประสบกับปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรู ทำให้ไม่สามารถผลิตเส้นใยได้เพียงพอกับความต้องการ เส้นใยไหมอีรี่เป็นไหมปั่น (spun silk) เช่นเดียวกับฝ้าย จึงอาจใช้ทดแทนฝ้ายได้ การพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีรี่ในประเทศไทย จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมไหมปั่นเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ต้องใช้เศษเหลือจากรังไหมหม่อนที่มีปริมาณจำกัด ซึ่งอาจทำให้ไทยเป็นประเทศ

ผูกขาดส่งไหมปั่นเป็นสินค้าออกไปยังตลาดนานาชาติได้ในอนาคต

            3. การส่งเสริมการเลี้ยงและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหมอีรี่ในท้องที่จะช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น ช่วยสร้างงานในชนบท สร้างอาชีพที่อาจขยายผลเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ผลิตสินค้าส่งออกนำรายได้และชื่อเสียงมาสู่ประเทศได้ นอกจากนั้นการเลี้ยงไหมยังเป็นการส่งเสริมกิจกรรมร่วมกันและสร้างความสามัคคีในครัวเรือนและในชุมชน ไหมอีรี่เลี้ยงได้ง่าย มีความแข็งแรงและทนต่อโรคได้ดีกว่าไหมหม่อน (Attathom, 1987) การเลี้ยงไหมทำให้ทั้งเด็กและผู้สูงวัยได้ทำงานร่วมกัน เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว

            4. สามารถนำไหมอีรี่มาใช้ประโยชน์เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ เช่น ใช้ในการทดลองวิจัยที่ต้องการแมลงเป็นสัตว์ทดลอง เพราะไหมอีรี่เลี้ยงง่ายและมีค่าใช้จ่ายต่ำ นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์กับงานวิจัยที่เกี่ยวกับการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี(Biological control) เพราะสามารถใช้ตัวหนอนไหมเลี้ยงแมลงตัวห้ำและตัวเบียนได้

 ปัญหา การแก้ปัญหาและอนาคตของไหมอีรี่

            อาจกล่าวได้ว่าการเลี้ยงไหมอีรี่ยังเป็นของใหม่ในประเทศไทย และยังมีปัญหาที่ต้องการการเอาใจใส่และแก้ไข การเลี้ยงไหมชนิดนี้ยังมีอยู่ในวงจำกัด โดยจะเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ และ/หรืออยู่ในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐ การส่งเสริมยังไม่เป็นที่แพร่หลายกว้างขวางมากนัก เกษตรกรยังไม่รู้จักและไม่คุ้นเคย จึงมีความลังเลที่จะเริ่มอาชีพนี้ นอกจากนั้นยังขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปั่นเส้นใย การถักทอ การสร้างผลิตภัณฑ์จากเส้นใยตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรเกิดความสนใจในการทำเป็นอาชีพทางเลือกได้หน่วยงานเอกชนยังลังเลที่จะเข้ามารับเทคโนโลยีด้านนี้ เนื่องจากยังต้องการเห็นความแน่นอนในปริมาณการผลิต ต้องการคุณภาพรังและเส้นใยที่ได้มาตรฐาน เพื่อการดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ ที่ต้องมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนที่ชัดเจน ที่สำคัญในปัจจุบันยังไม่มีตลาดแน่นอนที่จะรองรับ รังไหม เส้นใยไหมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของไหมอีรี

            การแก้ปัญหาระยะแรกคงจะต้องเป็นการหาแนวทางที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากไหมอีรี่ได้อย่างหลากหลาย เพื่อเป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรก่อน ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้ทำตามได้และนำไปสู่ความเชื่อมั่นในการเลือกเป็นอาชีพ การเลี้ยงไหมอีรี่คงไม่ใช่เลี้ยงเพื่อเอาเส้นใยมาทำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น แต่คงจะต้องคิดถึงการใช้ประโยชน์ทางด้านอื่น เช่น ใช้ทำผลิตภัณฑ์home textile แบบอื่นๆ เช่น ผ้าปูโต๊ะ ผ้านวม ผ้าม่าน เป็นต้น ซึ่งต้องมีการพัฒนาและออกแบบให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่าง แตกต่างไปจากเส้นใยแบบอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ สกัดสารที่มีมูลค่าสูงจากดักแด้และรังไหมเพื่อใช้ประโยชน์ด้านเครื่องสำอาง สารเสริมสุขภาพและใช้ทางการแพทย์ นอกจากนั้นอาจเป็นอาหารของคน เป็นอาหารหลักหรืออาหารเสริมในอาหารสัตว์เนื่องจากทั้งหนอนไหม และดักแด้ไหมมีโปรตีนและไขมันที่ดีในปริมาณสูง หากสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ การเลี้ยงไหมอีรี่ก็มีอนาคตที่สดใส และจะสามารถพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้

            สิ่งที่จำเป็นสำหรับการส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีรี่ คือ ควรส่งเสริมให้เป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพทางเลือกเฉพาะสำหรับเกษตรกรที่มีอาชีพปลูกมันสำปะหลังหรือละหุ่ง เนื่องจากเกษตรกรปลูกพืชเหล่านี้อยู่แล้ว จึงสามารถนำใบมาเลี้ยงไหมอีรี่ได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งผลิตผลจากพืชและผลิตผลจากไหมอีรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกที่การตลาดของไหมอีรี่ยังมีปัญหาและมีข้อจำกัด

            ไหมอีรี่นั้นมีศักยภาพสูงที่จะเป็นแมลงที่สำคัญทางเศรษฐกิจ แต่อนาคตของไหมอีรี่ในประเทศไทยคงขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องในการพัฒนาจากสถานการณ์ปัจจุบันไปจนเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กในครัวเรือน ชุมชน หรืออุตสาหกรรมใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังต้องสนับสนุนการศึกษาหาองค์ความรู้ ซึ่งยังขาดอยู่อีกมาก ต้องส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อยอดผลิตภัณฑ์และการออกแบบที่เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้การดำเนินงานที่เกี่ยวกับไหมอีรี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพคุ้มทุน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการวิเคราะห์ความต้องการของตลาดและการจัดหาตลาด การเลี้ยงไหมอีรี่จึงยังมีโอกาสที่จะเป็นอาชีพทางเลือกที่ดีของเกษตรกรและเอกชนที่สนใจ อนาคตของไหมอีรี่จะสดใสถ้าภาครัฐ เอกชนและเกษตรกรให้ความสำคัญและร่วมมือกันพัฒนาอย่างจริงจัง

 เอกสารอ้างอิง

 ทิพย์วดี อรรถธรรม วาสนา กันหะสุต และสุธรรม อารีกุล 2535 การเลี้ยงไหมป่าอีรี่ด้วยพืชอาหารชนิดต่างๆ รายงานการประชุมทางวิชาการครั้งที่ 30 สาขาพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2535 หน้า 291-300.

 พิสิษฐ์ เสพสวัสดิ์ และ เตือนจิตต์ สัตยาวิรุทธ์ 2520 ข้อมูลบางประการของไหมป่า กสิกร 50(3):148-157.

 สุธรรม อารีกุล 2534 การเลี้ยงไหมป่าอีรี่เพื่อการพัฒนาอีสาน ข่าวงานวิจัยและเทคโนโลยี 10 (11):1-3

 Attathom,T. 1987. Potential hazards of microbial insecticides to the eri  silkworm Philosamiaricini . Sericologia. 27(3): 481-458.

Jintasataporn, O., Tabthipwon, P., and Ohshima, T. 2001. Chemical composition, lipid classand fatty acid composition of eri silkworm (Philosamia ricini). Proceedings of the JSPS70th International Commemorative Symposium. October 2001. Yokahoma, Japan p.1-2.

 Joshi, K. L. and Misra, S. D. 1982. Silk percentage and effective rate of rearing of erisilkmoth, Philosamia ricini reared on two host plants and their combinations. Entomol.7(1): 107-110.

 Sarkar, D. C. 1988. Eri culture in India. Central Silk Board, Ministry of Textiles, Government of India. Grafo Printers, Bangalore, India.

 Sengupta, K. 1987. Current status of non-mulberry sericulture and its future development.Proceedings of the XV International Sericultural Congress, Section 5: Non- mulberry silk. 2-6 March, 1987. Pattaya, Thailand. p 131-     138.

 Sengupta, K. and Singh, K. 1974. An evaluation of the efficiency of different food plants and their combinations for the rearing of eri silkworm, Philosamia ricini. Proceedings of the First International Seminar on Non-mulberry Silks. Ranchi, India. p.189.

 Thangavelu, K. and Phuko, J. C. D. 1983. Food preference of eri silkworm (Philosamia ricini) (Saturniidae: Lepidoptera). Entomol. 8(4): 311-315.

 Wongtong, S., Areekul, P., Onlamoon, A. and Tragoolgarn, S. 1980. Research on wildsilkworm cultivation in the highland of northern Thailand. Final report. Highland Agriculture Project. 1976-1980. Kasetsart University, Bangkok, Thailand. 199 p.

              …………………………………………………….

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ไหมป่าอีรี่
หมายเลขบันทึก: 441496เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท