SOAR VS. SWOT Analysis


SOAR VS. SWOT Analysis

SOAR Analysis (ออกเสียงว่า ซออาร์ ครับ ผมขอปรับแก้ไขการออกเสียงใหม่หลังจากที่ได้มีการถกเถียงกันในกลุ่นนักวิชาการว่าการออกเสียงและการเขียนภาษาไทยควรเขียนอย่างไร ผมได้ไปค้นคว้าวิธีการเขียนคำภาษาไทยตามหลักการเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภามาจึงได้ขอแก้ไขคำภาษาไทยใหม่ครับ) เป็นหลักการวิเคราะห์องค์กรหรือหน่วยงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนทางด้านกลยุทธ์ที่พัฒนามาจาก SWOT Analysis (เริ่มใช้ครั้งแรกปี 1940) หลายคนคงคุ้นเคยกับการใช้ SWOT Analysis ในการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ภายในองค์กร และมองหาโอกาส อุปสรรค ที่อยู่ภายนอกองค์กร แล้วนำเอาข้อมูลที่ได้มาวางแผนทางด้านกลยุทธ์ของหน่วยงานหรือองค์กรของตนเอง แต่ในปัจจุบันเราอาจจะพบว่าการใช้เครื่องมือ SWOT Analysis ยังถือว่าไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน เพราะว่า สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การวางแผนโดยผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า SWOT Analysis ขาดการเชื่อมโยงกับ วิสัยทัศน์ พันธะกิจ และเป้าหมายในอนาคตของหน่วยงานหรือองค์กร นอกจากนี้ ยังเป็นการวิเคราะห์แบบที่เรียกว่า การวิเคราะห์จากผู้บริหารตามการบริหารแบบบนลงล่าง (Top-down management) ซึ่งมีข้อด้อยตรงที่ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ร่วมงานในระดับล่าง ขาดข้อมูลหน้างานจริงที่หลายครั้งผู้บริหารที่จัดทำ SWOT ไม่มีข้อมูล ทำให้เวลานำไปวางแผนกลยุทธ์และนำไปปฎิบัติจริง ไม่ได้ผลตามที่ขาดหวังไว้อีกด้วย

 SWOT Analysis เป็นการวิเคราะห์ในช่วงเวลาปัจจุบันที่เรียกว่า Snapshot หมายถึงการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลในขณะเวลานั้น และเป็นการมองทั้งเชิงบวก (positive) คือ จุดแข็งและโอกาส  และเชิงลบ (negative) คือ จุดอ่อนและอุปสรรค เช่น ตอนนี้เรามีจุดแข็งอะไรบ้างที่เหนือกว่าคู่แข่ง (strengths) ขณะนี้เรามีจุดอ่อนอะไรบ้างที่ด้อยกว่าคู่แข่ง (weaknesses) ปัจจุบันนี้มีปัจจัยภายนอกอะไรที่จะสนับสนุนให้เรามีโอกาสในการทำงาน ในการตลาดหรือในการขาย ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของเรา (opportunities) และสุดท้ายปัจจัยภายนอกอะไรที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของหน่วยงานหรือองค์กรของเรา (threats) เมื่อวิเคราะห์เสร็จแล้ว องค์กรส่วนใหญ่ก็จะหาทางออกโดยการแก้ไขจุดอ่อน โดยหวังว่าการแก้ไขจุดอ่อนจะทำให้องค์กรบรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ แต่ในเมื่อสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง คู่แข่งขันก็มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว สิ่งที่วิเคราะห์มาแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา อาจต้องทำการวางแผนใหม่ อาจจะมีจุดอ่อนเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่างเพียงชั่วข้ามคืน โดยที่ไม่ทันตั้งตัว นอกจากนี้จากประสบการณ์ในการไปเป็นวิทยากร และผู้ให้คำปรึกษากับหลายหน่วยงานในช่วยระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา พบว่า การใช้ SWOT Analysis เป็นครั้งมือในการวิเคราะห์ปัจจัยภายในจะสร้างความไม่พอใจระหว่างหน่วยงาน เมื่อพิจารณาจุดอ่อนในองค์กร หรือมองว่าปัญหาขององค์กรอยู่ที่จุดไหน ส่วนไหน ทำให้เกิดการไม่พอใจกัน แบ่งแยกกัน ไม่่รวมมือกันแก้ปัญหา ต่างคนต่างปกป้องหน่วยงานและลูกน้องของตน จนหลายครั้งกลยุทธ์ที่จัดทำไม่ได้ผลและไม่ได้ความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาองค์กรอีกด้วย

ดังนั้น การวางแผนทางกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับองค์กรสมัยใหม่ และเหมาะสมกับการนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กรของผู้นำแบบ AL นั้น ต้องใช้ เครื่องมือที่เรียกวา ซออาร์ (SOAR Analysis) ซึ่งมีความหมายดังนี้

           

        S= Strength จุดแข็ง ข้อดีขององค์กร จากมุมมองทั้งภายในและภายนอกองค์กร

        O= Opportunities มีโอกาสอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์กับองค์กรของเรา

        A= Aspirations เป้าหมายในอนาคตที่อยากจะเป็น หรือสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคตกับองค์กร

        R= Results ผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ซึ่งสอดคล้องกับ Aspirations   

เราสามารถเชื่อมโยงผลการวิเคราะห์ทั้ง 4 ด้านเข้าด้วยกันได้ตามตารางข้างล่างนี้

 

 

Strategic

Inquiry

สิ่งที่ต้องค้นหาในเชิงกลยุทธ์

 

 

Strengths 

1. ทรัพยากรหรือสิ่งที่ดีที่สุดที่เรามีในขณะนี้มีอะไรบ้าง 

2. สิ่งที่เราทำได้ดีกว่าคู่แข่งมีอะไรบ้าง

3. ผู้มีส่วนร่วมประทับใจอะไรในสิ่งที่เป็นตัวเราบ้าง

 

Opportunities 

1. มีโอกาสภายในและภายนอกที่เป็นไปได้อะไรบ้างที่จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรของเรา เช่น นโยบายผู้บริหาร กระแสสังคม แนวโน้มพฤติกรรมพนักงานหรือผู้บริโภค ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นต้น

 

Appreciative

Intent

เจตนาหรือสิ่งดีๆที่อยากเห็นเพื่อองค์กร

 

 

Aspirations 

สิ่งดีๆที่เราอยากเห็น อยากให้เกิดขึ้นกับองค์กรของเราในอนาคต เช่น วิสัยทัศน์ พันธะกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมายที่ต้องการแก้ไข

 

Results 

ผลลัพธ์ที่เราอยากเห็นและสามารถวัดผลออกมาเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งถ้าทำสำเร็จตามผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ ก็จะทำให้ วิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายเป็นจริงได้

 ที่มา ปรับปรุงจาก Stavros. J. & Hinrichs, G. (2007). SOARing to High and Engaging Performance: an Appreciative Approach to Strategy. AI Practitioner, August 2007.

 

หลักการสำคัญในการนำเครื่องมือซออาร์มาใช้คือ

การที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบ กระบวนการทั้ง 4 ด้าน ซึ่งอาจจะต้องมีการทำหลายครั้งในหลายระดับ แล้วนำมารวบรวมเป็นการวิเคราะห์ในขั้นสุดท้ายเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดจากสมาชิกทุกคนทุกระดับ 

ข้อดีของการใช้ SOAR Analysis คือ

  1. ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ วางแผนงาน และทำตามแผนงานนั้น ตามแนวคิดพื้นฐานด้าน AI ซึ่งจะทำให้ก่อให้เกิดการร่วมมือกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้ดีกว่าวิธีการวิเคราะห์จากผู้บริหารอย่างเดียว(Top-down SWOT analysis)
  2. เป็นการสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กรเชิงบวก โดยมุ่งไปที่จุดแข็ง สิ่งที่ประสบความสำเร็จที่ผ่านมา ค้นหาโอกาสแห่งความสำเร็จ สร้างแรงบันดาลใจให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน และสามารถกำหนดผลงานที่ตั้งไว้ในแต่ละช่วงได้
  3. ซออาร์ (SOAR Analysis) เป็นตัวเชื่อมโยง วิสัยทัศน์ (vision) พันธะกิจ (mission) และเป้าหมาย (goals) ที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดขึ้น ให้เป็นรูปธรรมในเชิงแผนงานที่สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันในปัจจุบันมากขึ้น
  4. ทำให้ขวัญ กำลังใจของพนักงานมากขึ้น สร้างการมีส่วนร่วม มีวิสัยทัศน์เดียวกัน มีการทำงานเป็นทีมของคนในองค์กรดีขึ้น ร่วมมือกันมากขึ้น เพราะสิ่งที่ทุกคนอยากเห็นอยากได้ ถูกรวบรวมไว้ด้วยกัน (โดยใช้กระบวนการ 4-D cycles of AI)
  5. ทำให้การพัฒนาองค์กร การแก้ไขปัญหา และการนำกลยุทธ์ไปปฎิบัติมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น เพราะคนที่ทำงานในระดับปฎิบัติการหรือที่เรียกว่า คนที่อยู่หน้างาน ได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง บางครั้งองค์กรจะได้นวัตกรรมใหม่ๆในการทำงานและแก้ไขปัญหาจากกลุ่มคนเหล่านี้อย่างมากมาย

 

สำหรับผู้นำพลังบวก (AL)และผู้ที่อยากเปลี่ยนแปลงองค์กรเชิงบวกลองนำเอาซออาร์ (SOAR Analysis) ไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนกลยุทธ์จะก่อให้เกิดผลดีต่อองค์กรอย่างไรบ้าง อย่าลืมบอกกันบ้างนะครับ

  

  ดร.อัจฉริยะ อุปการกุล

(Ph.D.OD)

หมายเลขบันทึก: 441791เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2011 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2018 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์มากครับ

อยากทราบว่ารายละเอียดเพิ่มเติมสามารถค้นคว้า

จากแหล่งใดบ้างครับ ขอบคุณมากครับ

สมัยที่ยังไม่เกษียณเคยทำงานแผนงาน ของโรงเรียน ก็วิเคราะห์ แต่swot เพิ่งได้ยิน soar ที่มาอ่านบันทึกของท่านครับ ไม่ทราบว่า

ที่ โรงเรียนเข้าเปลี่ยนแปลงหรือยังน่าจะไปเป็นวิทยากรอบรมนะครับ

เป็นบทความที่น่าสนใจและมีประโยชน์อย่างยิ่ง ผมขออนุญาตนำไปแชร์ในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ หลายองค์กรน่าจะยังใช้ SWOT analysis กันอยู่ แต่ก็คงมีหลายองค์กรที่ใช้ soar และขอเรียนถามอาจารย์หากมีการนำเครื่องมือทั้ง2ตัวมาปรับประยุกต์ใช้แบบคู่กัน มีองค์ไหนใช้แล้วบ้าง ผลเป็นประการใดครับ

เป็นบทความที่น่าสนใจและมีประโยชน์อย่างยิ่ง ผมขออนุญาตนำไปแชร์ในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ หลายองค์กรน่าจะยังใช้ SWOT analysis กันอยู่ แต่ก็คงมีหลายองค์กรที่ใช้ soar และขอเรียนถามอาจารย์หากมีการนำเครื่องมือทั้ง2ตัวมาปรับประยุกต์ใช้แบบคู่กัน มีองค์ไหนใช้แล้วบ้าง ผลเป็นประการใดครับ

สุดยอดมากครับอาจารย์ฯ สามารถเอาปรับใช้ได้จริง และมีเข็มทิศชี้เส้นทางได้อนาคตได้ชัดเจนมากครับ

@Dr.pawaruth ยินดีครับ แชร์ได้เลยครับ ตอนนี้องค์กรชั้นนำเช่น VISA ก็นำ SOAR ไปใช้เป็นหลักแล้วครับ ปกติแล้วถ้าเลือกใช้ SOAR แล้ว จะไม่ใช้ SWOT มาร่วมด้วยครับ เพราะวิธีคิดจะขัดแย้งกันในการทำงานครับ เวลาที่ผมนำไปใช้กับองค์กรต่างๆ จะไม่ใช้ SWOTเลยครับ

@aaaaa999 ขอบคุณมากครับ มีข้อติดขัดอย่างไร เอามาแชร์กันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท