หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

SHA : ร.พ.กะพ้อ จ.ปัตตานี (๖)


.

พยาบาลสาวน้ำตาคลอเบ้า เมื่อหญิงชรามาจับที่มือด้วยนัยน์ตาในลักษณะเดียวกัน เธอนึกตำหนิตัวเองในใจว่าทำไมจึงบาปหนาเช่นนี้ 

     ซาฮีมี รือสะ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้างานผู้ป่วยนอก รู้สึกถึงความผิดบาปตนเองอย่างหนัก หลังจากที่เธอได้พบปะและเห็นสภาพความทุกข์ยากของหญิงชราซึ่งนอนป่วยอยู่บนบ้านสภาพที่ผุพังและซอมซ่อหลังเล็ก ๆ ด้วยก่อนหน้านั้นการลงมาเยี่ยมผู้ป่วยรายนี้นั้นมิได้เกิดจากความเต็มใจ เธอมาตามคำสั่งของผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ต้องการให้ลงไปเรียนรู้ทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีปัญหาด้านการรักษาด้วยความขุ่นเคืองในใจ

     เธอนั่งตำหนิผู้บังคับบัญชาที่มอบหมายให้เธอลงมาเยี่ยมคนไข้ตลอดทางขณะที่นั่งรถมา ไม่เพียงเพราะสิ่งที่ได้รับมอบหมายนี้ยังไม่คุ้นชินเท่านั้น แต่เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ก็เริ่มรุนแรงขึ้น ทั้งนี้หมู่บ้านที่จะลงไปเยี่ยมคนไข้นั้นก็อยู่ในพื้นที่สีแดง

รู้สึกไม่พอใจมาก เพราะเคยชินอยู่กับโรงพยาบาล ไม่อยากไปคลุกคลีกับชาวบ้าน นั่งรถไปก็นั่งคิดไปในใจว่าทำไมต้องเป็นเราด้วย ตอนนั้นคิดว่าไปให้มันเสร็จ ๆ ซะ...

     ทันทีที่เธอและทีมงานเห็นสภาพบ้านก็เริ่มรู้สึกผิดกับความรู้สึกของตัวเอง และเมื่อได้พบเห็นสภาพความทุกข์ยากของผู้ป่วย เห็นแววตาที่แสดงถึงความยินดี ความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจก็หายไป

     หญิงชราที่เธอลงไปเยี่ยมนั้น เป็นผู้ป่วยเบาหวาน มีแผลที่เท้า สภาพแผลเหวอะหวะ มีภาวะแทรกซ้อนเป็นไตวาย ในระยะหลังผู้ป่วยรายนี้ไม่เคยไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล แต่จะให้ลูกชายไปรับยาที่โรงพยาบาลแทน

     ก่อนหน้าที่จะมีกิจกรรมเยี่ยมบ้านผู้ป่วยนั้น การรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังจะดำเนินการเฉพาะที่โรงพยาบาล ซาฮีมี เล่าว่า

     “เดิมมีคนไข้มา เราก็ซักประวัติ แล้วก็ส่งไปตรวจกับแพทย์ แพทย์ก็สะท้อนกลับมาว่า แทนที่จะซักประวัติเฉย ๆ ก็ให้สอนและให้คำแนะนำคนไข้ในระหว่างที่รอพบแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกาย เรื่องอาหาร  และได้แนะนำว่าช่วงบ่ายหลังจากที่คนไข้ซาลงแล้วก็น่าจะมีการลงไปเยี่ยมผู้ป่วยในหมู่บ้าน ดูความเป็นอยู่ของชาวบ้านว่าเป็นอย่างไร ให้ลงไปดูพฤติกรรมที่บ้านว่าเป็นอย่างไร ทำไมมาโรงพยาบาลแล้วอาการไม่ดีขึ้น คุมอะไรไม่ได้เลย...”

     ในขณะนั้นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่โรงพยาบาลให้การรักษามีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ มีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น ซึ่งการให้สุขศึกษาแก่ผู้ป่วยยังดำเนินการค่อนข้างน้อย การดำเนินการจะเน้นไปทางด้านการรักษาเสียเป็นส่วนใหญ่ กระทั่งผู้อำนวยการฯ ได้มอบหมายให้ลงไปติดตามเยี่ยมบ้าน

คนไข้ดีใจมากเมื่อเราลงไปเยี่ยม คนไข้จับมือ เราก็น้ำตาซึมคิดว่าตัวเองนี่บาปหนามากที่รู้สึกไม่ดีกับการลงมาเยี่ยมบ้าน ตอนนั้นก็เลยคิดว่าอยากจะทำอะไรก็ได้ให้แกมีชีวิตในบั้นปลายที่ดีที่สุด ก็ขอให้ลูกชายเอาตัวคนไข้มาโรงพยาบาลในวันนั้นเลย...

     หญิงชราได้รับการดูแลอย่างเต็มที่จากโรงพยาบาล แม้ว่าจะเสียไปแล้ว แต่เหตุการณ์ในคราวนั้นก็ทำให้ ซาฮีมี และทีมงาน เข้าใจถึงสภาพปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้ป่วย ที่สำคัญก็คือทำให้ทัศนคติการลงเยี่ยมบ้านก็เปลี่ยนไป

     จากนั้นเป็นต้นมา การเยี่ยมบ้านและลงไปให้สุขศึกษากับผู้ป่วยของโรงพยาบาลได้ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น และได้ส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังของโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้ปวยดูแลตัวเองดีขึ้นจากการลงไปแนะนำของเรา ตอนอยู่โรงพยาบาลเราก็ให้คำแนะนำแบบกลาง ๆ พอเราลงไปเห็นสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย ทำให้การแนะนำการปฏิบัติตนของผู้ป่วยสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ผู้ป่วยก็ให้ความเชื่อถือและปฏิบัติตาม...

 

โปรดติดตามตอนต่อไป...

 

.

คำสำคัญ (Tags): #sha#ร.พ.กะพ้อ
หมายเลขบันทึก: 443252เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2011 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นี้คือการให้...ที่สุดท้ายทั้งสองฝ่ายจะได้รับสิ่งที่เรียกว่าความสุข.....

การให้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษย์จริงค่ะ....

มาทักทายอ้ายบ่าวหลังอาหารเที่ยง...คราวนี้ไปไกลแท้น่อเจ้า...^_^

มีความสุขกับการทำงานวันศุกร์นะคะพี่หนาน...

สวัสดีค่ะ

รออ่านเรื่องจากกะพ้อ  พี่คิม เขียนยังไม่จบ  โปรดกลับไปอ่านใหม่นะคะ  กำลังจะออกไปโอนเงิน  วันก่อนไม่ว่างสักวันเดียว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท