ระบบจัดการเหมืองฝายกับสิทธิชุมชน : ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายปัจจุบันกับกฎหมายมังรายศาสตร์


ระบบจัดการเหมืองฝายกับสิทธิชุมชน : ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายปัจจุบันกับกฎหมายมังรายศาสตร์

ระบบจัดการเหมืองฝายกับสิทธิชุมชน : ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายปัจจุบันกับกฎหมายมังรายศาสตร์[1] 

Community Rights and Management system for Check Dams: A Comparatives Study of Present and Mung-Rai Code

 

คณาภรณ์ ธนูธรรมเจริญ[2] 

อาจารย์ ดร. สุชาดา รัตนพิบูลย์[3]

อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล[4] 

 

1. บทนำ 

ระบบ จัดการเหมืองฝาย[5] ของชาวล้านนาไทยนับได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม จารีตประเพณีและภูมิปัญญาที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งระบบการจัดการเหมืองฝายดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำธรรมชาติในการเกษตรกรรมและนับได้ว่า เป็นมรดกที่ได้ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยการกระทำดังกล่าวนั้นปรากฏในเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ในกฎหมายมังราย ศาสตร์[6] ซึ่งระบบการจัดการเหมืองฝายถือได้ว่ามีความสำคัญต่อระบบการปกครองในอดีต ถึงขนาดได้มีการตราขึ้นเป็นกฎหมายหรืออาญาของแผ่นดินไว้ในกฎหมายมังราย ศาสตร์

 

ในปัจจุบันระบบจัดการเหมืองฝายที่ยึดถือปฏิบัติ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนั้นยังคงมีวิถีการที่ดำรงอยู่ตามจารีตประเพณีและ ภูมิปัญญาดั้งเดิม ด้วยแต่วิธีการดั้งเดิมในโครงสร้างของเหมืองฝาย[7] บำรุงรักษาซ่อมแซม และองค์กรต่างๆ ที่ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในปัจจุบันมีผลในทางกฎหมายในระดับพระราช บัญญัติหลายฉบับที่เกี่ยวกับการป่าไม้และการชลประทาน ด้วยระบบจัดการเหมืองฝายอันเป็นวัฒนธรรม จารีตประเพณีและภูมิปัญญาดั้งเดิมตามแบบวิถีชีวิตของชุมชนล้านนาที่สมควรได้ รับการรับรองคุ้มครองจากกฎหมาย อันเป็นสิทธิชุมชน ตามมาตรา 66[8] แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักร

 

2. การจัดการทรัพยากรน้ำด้วยระบบเหมืองฝายศึกษาพัฒนาการจากกฎหมายมังรายศาสตร์

การ จัดการเหมืองฝายในกฎหมายมังรายศาสตร์ เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับสังคมเกษตรกรรมของชาวล้านนาผู้อาศัยอยู่ตาม ที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา เพื่อทดน้ำเข้ามาใช้ในการเกษตร เมื่อถึงสมัยของพญามังรายที่ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ จึงได้มีการยกความรู้เรื่องระบบจัดการเหมืองฝายขึ้นเป็นความรู้ของอาณาจักร และตราไว้ใน ”กฎหมายมังรายศาสตร์” ที่มีวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาอันเกี่ยวกับระบบจัดการเหมืองฝาย ซึ่งในปัจจุบันยังคงยึดถือและปฏิบัติสืบมาอย่างต่อเนื่อง

 

ลักษณะ เด่นชัดที่ทำให้ระบบจัดการเหมืองฝายสามารถสืบทอดและแสดงความต่อเนื่องออกมา ได้ชัดเจนและยาวนานคือ องค์กรเหมืองฝาย[9] และกระบวนการการจัดตั้งองค์กรที่ให้อำนาจและหน้าที่ในระบบจัดการเหมืองฝาย อันเป็นการสร้างกลุ่มผู้ปกครองผู้ใช้อำนาจของชุมชนในนามของชุมชนเอง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีผู้ที่ตำแหน่งสูงลดหลั่นกันลงไป ซึ่งอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบก็มากน้อยตามความสำคัญของตำแหน่งต่างๆ เหล่านั้น ทำให้ระบบเหมืองฝายมีสภาพเป็นหน่วยงานหรือองค์กรบริหารลักษณะหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากระบบภูมิปัญญาที่สั่งสมและคิดสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ที่เข้ากับระบบยุติธรรมตามชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับ วิถีชีวิต วัฒนธรรม จารีตประเพณี ของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งก็มีความยืดหยุ่นไปตามสภาพสังคม โดยในสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีองค์กรกลุ่มเหล่านี้ดำเนินงานอยู่ใน ชุมชนกลุ่มผู้ใช้น้ำจากระบบจัดการเหมืองฝาย จะเห็นได้ว่าระบบจัดการเหมืองฝายนั้นมีความสำคัญต่อการปกครองระดับชุมชนและ บ้านเมืองเป็นอย่างมาก ซึ่งในอดีตสมัยพญามังรายได้ทรงบันทึกหรือตราไว้เป็นบทบัญญัติในกฎหมายมังราย ศาสตร์ ที่ปัจจุบันนับได้ว่าเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งของสังคมไทย กฎหมายฉบับนี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างการชล ประทานโดยระบบเหมืองฝายกับการดำเนินชีวิตของประชนชาวล้านนาได้อย่างดี ซึ่งกฎหมายมังรายศาสตร์ยังมุ่งให้ความยุติธรรมอย่างเต็มที่แก่ชุมชนชาวล้าน นา ซึ่งในปัจจุบันนั้นหลักการคุ้มครองความยุติธรรมในกฎหมายมังรายศาสตร์ยังคง สืบทอดต่อมา จนในปัจจุบันกลายเป็นลักษณะของสัญญาประชาคมที่เรียกกันทั่วไปในล้านนาว่า “สัญญาเหมืองฝาย”[10] อันเป็นกฎเกณฑ์แห่งการแบ่งปัน กำหนดโทษและบทลงโทษ ที่มาจากข้อตกลงกันเองของประชาชนในหมู่บ้านทั้งหลายที่เป็นสมาชิก ซึ่งอาศัยจารีตประเพณีและกฎหมายมังรายศาสตร์เป็นพื้นฐาน อันเป็นข้อตกลงที่ถูกปรับให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน

 

3 มาตรการทางกฎหมายปัจจุบันในการรับรองสิทธิชุมชนต่อระบบจัดการเหมืองฝาย

แนว คิดอันเกี่ยวกับเรื่องสิทธิชุมชนอันมีความสัมพันธ์กับระบบจัดการเหมืองฝาย พบว่าแนวคิดด้านสิทธิชุมชนนั้นเป็นการพิจารณาวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาที่สามารถค้นหาได้โดยวิธีการทางนิติศาสตร์ ที่มีจุดกำเนิดมาจาก“วัฒนธรรมทางศีลธรรม”[11] และเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของแนวคิดของสิทธิชุมชนและระบบจัดการเหมืองฝาย สิทธิชุมชนไม่ได้เกิดขึ้นจากการรับรองของรัฐ แต่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น ดังเช่นระบบจัดกรเหมืองฝายที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้จากการดำรงชีวิตตาม วัฒนธรรม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นปรากฏการณ์ตามวิถีชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นของชาติ ดังนั้นตามแนวคิดด้านการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐจึงมีหน้าที่ที่จะต้องให้การรับรองคุ้มครองระบบจัดการเหมืองฝายในฐานะที่ เป็นจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ ขณะที่แนวคิดในทางระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของมนุษย์ซึ่งเป็น สิทธิขั้นพื้นฐาน ที่กำหนดหลักประกันของสิทธิมนุษยชน และมีบทบาทในการให้ความคุ้มครองสิทธิชุมชนอยู่มิใช่น้อย อีกทั้งการที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิชุมชนไว้ในรัฐ ธรรมนูญ ดังนั้น สิทธิชุมชนในระบบจัดการเหมืองฝายจึงเป็นความผูกพันระหว่างรัฐกับประชาชนใน รัฐที่รัฐต้องรับรองและคุ้มครองสิทธิให้มีขึ้นตามกฎหมายตามแนวคิดเรื่อง สิทธิชุมชน

 

สิทธิชุมชนนั้นเป็นแนวคิดของสิทธิที่มองด้านการ ให้ความคุ้มครองชุมชน ที่ต้องการให้ชุมชนเป็นประธานแห่งสิทธิ แล้วยังเป็นการให้ความสำคัญกับระบบสิทธิในการจัดการทรัพยากรเชิงซ้อนกับ อำนาจรัฐที่การบริหารจัดการทรัพยากรไม่ควรถูกผูกขาดไว้กับหน่วยใดหน่วยหนึ่ง อันเป็นการสนับสนุนหลักการมีส่วนร่วมในการจัดการ และเป็นการเปิดโอกาส ให้ใช้สิทธิชุมชนได้ในหลายระดับ[12] ในกรณีระบบจัดการเหมืองฝาย ทรัพยากรป่าไม้และน้ำยังคงเป็นการบริหารจัดการโดยรัฐ ในขณะที่ชุมชนมีสิทธิในการจัดการแบ่งสันปันส่วนน้ำตามวิถีชีวิต และควบคุมดำเนินการตามระบบเหมืองฝาย ซึ่งชุมชนในระบบจัดการเหมืองฝายก็ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ หรือในกรณีป่าชุมชน ป่ายังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ แต่ชุมชนก็สามารถจัดการพื้นที่และควบคุมดำเนินการต่างๆ ภายในชุมชน และสามารถใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนได้ตามที่ตกลงไว้ การจัดการทรัพยากรตามแนวคิดสิทธิชุมชนจึงสะท้อนระบบสิทธิเชิงซ้อน ที่สามารถดำรงอยู่ควบคู่กับวิถีชีวิตของชุมชน

 

ระบบจัดการ เหมืองฝายซึ่งถือเป็นสิทธิชุมชนนั้นย่อมไม่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายของรัฐเกี่ยวกับการป่าไม้และกฎหมายเกี่ยว กับน้ำด้วย กล่าวคือ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และทรัพยากรน้ำที่ถือเป็นต้นทุนของประชา ชาติโดยส่วนรวมที่รัฐมีหน้าที่สำคัญต้องเข้าไปบริหารจัดการนั้น โดยหลักการแล้ว ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐก็จริงอยู่ แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่พึงตระหนักคือ กฎหมายป่าไม้และกฎหมายเกี่ยวกับน้ำที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐและจัดตั้ง องค์กรขึ้นมาดูแลรับผิดชอบนั้นอาจมีลักษณะ “กดทับ”ต่อระบบการจัดการเหมืองฝายที่เคยมีมาแต่เดิม

 

บทที่ 4 วิเคราะห์สิทธิชุมชนในการจัดการเหมืองฝาย

สิทธิ ชุมชนที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น โดยเราสามารถวิเคราะห์ศึกษาผ่านหลักกฎหมายในมาตรา 4[13] แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยการพิจารณาความหมายของจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นตามตัวบทประกอบกับลักษณะ สำคัญของจารีตประเพณีตามแนวคิดทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาโดยทั่วไปได้ว่า จารีตประเพณีมีลักษณะหรือองค์ประกอบ ที่สำคัญอย่างไรบ้าง แท้จริงแล้ว แนวคิดทางนิติศาสตร์ว่าด้วยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่ปรากฏในประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 นั้นก็มีวิธีการสืบค้นข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในแต่ละชุมชนเป็นสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อพิจารณาองค์ประกอบจารีตประเพณี[14] ในทางนิติศาสตร์ก็จะพบแนวคิดว่าด้วยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นซึ่งเกี่ยว เนื่องและสัมพันธ์โดยตรงกับแนวคิดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยสิทธิชุมชน จากการอธิบายด้วยวิธีการนี้ การศึกษาสิทธิชุมชนจะสามารถพบจุดเกาะเกี่ยวที่สามารถอธิบายและให้เหตุผลใน เรื่องการปรากฏตัวอย่างชัดเจนของสิทธิชุมชนในทางกฎหมายได้อย่างชัดเจน ทั้งในบทบัญญัติทางแพ่งซึ่งถือเป็นแนวคิดพื้นฐานรองรับระบบกฎหมายทั้งหมด (จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น) และในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนซึ่งรับรองสิทธิชุมชนไว้ เป็นการพิเศษเฉพาะด้วย แนวทางในการพิสูจน์ว่ากฎหมายชาวบ้านที่นักนิติศาสตร์เข้าใจนั้น ยังมีตัวตนอยู่ในระบบกฎหมายและสังคมปัจจุบัน ดังที่อาจารย์ ฐาปนันท์  นิพิฏฐกุล[15] ได้เคยแสดงความเห็นไว้

 

ข้อพิจารณาประการสำคัญ ของระบบจัดการเหมืองฝายที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการยอมรับโดยกฎหมายลายลักษณ์ อักษร คือ กฎหมายมังรายศาสตร์ แต่ในปัจจุบันไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรใดที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนถึง เรื่องดังกล่าว ที่ใกล้เคียงที่สุดที่สามารถนำมาพิจารณาได้คือ เรื่องสัญญาเมื่อชุมชนตกลงทำสัญญาเหมืองฝายกัน เพื่อผูกพันชาวบ้านในชุมชน ซึ่งถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่มีคู่สัญญาหลายฝ่าย การบังคับใช้ย่อมเป็นไปตามกฎหมายลักษณะสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

สิทธิ ชุมชนนับเป็นการคุ้มครองวิถีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของชุมชน และไม่ขัดกับหลักอำนาจแห่งรัฐ การศึกษาเนื้อหาแห่งสิทธิจึงมีความสำคัญ เพราะต้องศึกษาให้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อการพิจารณา ค้นหาสิทธิชุมชน ดังที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองคุ้มครองไว้เช่น สิทธิชุมชนกับระบบจัดการเหมืองฝาย แม้ข้อเท็จจริงของที่มาของสิทธิชุมชนอาจจะแตกต่างกัน เช่นมีที่มาจากธรรมชาติหรือสังคม แต่สิทธิชุมชนนั้นมีแนวทางเดียวกันคือการธำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิต ตามรูปแบบของชุมชนและความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนไทย ที่มีวัฒนธรรม จารีตประเพณีที่แตกต่างกันแต่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ

 

5 บทสรุปและข้อเสนอแนะ 

วิถี ชีวิตของชาวล้านนาพบว่า ระบบจัดการเหมืองฝายนั้นนอกจากจะเป็นเรื่องการชลประทานเพื่อการเกษตรแล้ว ยังเป็นที่มาของความสัมพันธ์ในสังคมด้วยเช่นกัน อาทิเช่น อำนาจหน้าที่ในระบบจัดการเหมืองฝาย แต่ละตำแหน่งในการบริหารจัดการจะมีอำนาจหน้าที่เฉพาะลดหลั่นกันลงไป โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ในระดับชุมชนที่มีอยู่และการมีส่วนร่วมในกิจกรรม จัดการทรัพยากรน้ำในชุมชน นับแต่ชุมชนระดับต้นน้ำตลอดลุ่มน้ำทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า การบริหารจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝายเป็นระบบการจัดการที่สมาชิกเหมืองฝาย ให้การยอมรับร่วมกันว่ามีความยุติธรรม ส่งเสริมความร่วมมือสามัคคีและการแบ่งปันน้ำอย่างเป็นธรรมระหว่างกัน

ทั้ง นี้ ยังกล่าวได้ว่า ระบบจัดการเหมืองฝายนั้นเป็นทั้งวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชาวล้านนาอีกด้วย ซึ่งนอกจากพิธีกรรมอันเกี่ยวกับความเชื่อในระบบเหมืองฝายที่ปรากฏให้เห็น แล้ว ในปัจจุบัน เราจะพบว่า ยังมีการทำ “สัญญาเหมืองฝาย” ที่มีวิวัฒนาการมาจากกฎหมายมังรายศาสตร์ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สำคัญชิ้นหนึ่งที่รับรองความมีอยู่จริงในอดีตของระบบเหมืองฝายด้วย ในตัวสัญญาเหมืองฝายนี้จะกำหนดกฎเกณฑ์และข้อบังคับโดยความสมัครใจของชุมชน ผู้ใช้น้ำในเหมืองฝาย ข้อที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งก็คือ เนื้อหาสาระที่ระบุในสัญญานั้นมีผลบังคับอย่างจริงจังและทุกฝ่ายใช้ยึดถือ เป็นแนวปฏิบัติร่วมกันอย่างเคร่งครัดในชุมชนด้วย

 

การให้การ รับรองและคุ้มครองระบบจัดการเหมืองฝายให้เป็นสิทธิชุมชนนั้น ต้องนับว่าเป็นแนวคิดใหม่ในการจัดสรรและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติของรัฐโดย ประชาชน กล่าวคือ สิทธิชุมชนนั้นเป็นพื้นฐานการเข้าถึงและการให้ความสำคัญกับจารีตประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งนโยบายหรือแนวทางการพัฒนาในโลกที่สามในปัจจุบันล้วนแต่ให้ความสำคัญกับ หลักการพึ่งพาตนเองของประชาชน กล่าวคือ การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศนั้นจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบพื้นฐานที่สุด ซึ่งได้แก่ ประชาชนที่รวมกลุ่มกันเป็นชุมชน และหากชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้หรือสามารถใช้จารีตประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีอยู่ให้เกิดการพัฒนาขึ้นได้อย่างแท้จริง สังคมก็จะมีความเข้มแข็งนับจากรากฐานขึ้นมาที่เดียว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคม กล่าวคือ ค่านิยม ความคิด จริยธรรมและศีลธรรม ดังนั้น การให้การรับรองสิทธิชุมชนจึงเป็นการเกื้อกูลและส่งเสริมชุมชนให้รู้จักใช้ และจัดการทรัพยากรธรรมชาติในเชิงสร้างสรรค์ได้ด้วยวิถีชีวิตของตนเอง นับเป็นต้นทุนที่หาได้ง่ายและเหมาะสมกับวิถีชีวิตในชุมชน

เมื่อระบบ จัดการเหมืองฝายเป็นวิถีชีวิตของชุมชน และชุมชนได้ยอมรับการคงอยู่ของเหมืองฝายด้วยการทำสัญญาเหมืองฝาย เพื่อใช้บังคับกันเอง ดังนั้น จึงควรมีกฎหมายที่กำหนดสาระสำคัญของสัญญาเหมืองฝาย กำหนดให้การดำเนินกิจกรรมต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐกับชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ และเกิดการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของตนเอง รวมถึงเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและ ยั่งยืน เพราะสัญญาเหมืองฝายมาจากจารีตประเพณีการใช้น้ำที่สอดคล้องกับความต้องการ และประโยชน์ของประชาชน

 

 

[1] บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ เรื่อง “ระบบจัดการเหมืองฝายกับสิทธิชุมชน : ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายปัจจุบันกับกฎหมายมังรายศาสตร์”.

[2] นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยพายัพ.

[3] อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ.

[4] อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[5] ศุภชัย นิมมานเหมินท์, การจัดการชลประทานแบบพื้นเมืองของล้านนาไท (เหมือง ฝาย และพนัง): ปัจจัยที่มีผลต่อความร่วมมือของสมาชิกกลุ่มชลประทานราษฎร์ ในการจัดการการใช้น้ำในพื้นที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน วิทยานิพนธ์, (ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2532) หน้า 25.

[6] ประเสริฐ ณ นคร., มังรายศาสตร์ เรียบเรียงเป็นภาษาปัจจุบัน จากต้นฉบับอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี, (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยศรินครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2521) หน้า 1.

[7] พรพิไล เลิศวิชา, สุพชัย เมถิน และนนธชัย นามเทพ, เหมืองฝาย จัดการน้ำ จัดการคน บนพื้นฐานภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม, (เชียงใหม่ : ธารปัญญา), หน้า 49.

[8] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 66 บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน”.

[9] สุวิทย์ ธีรศาศวัต, ประวัติศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร, (กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2548) หน้า 108.

[10] พรพิไล เลิศวิชา, สุพชัย เมถิน และนนธชัย นามเทพ, เหมืองฝาย จัดการน้ำ จัดการคน บนพื้นฐานภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม, (เชียงใหม่ : ธารปัญญา, 2552), หน้า 96-97.

[11] สมยศ เชื้อไทย, คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่งกับหลักทั่วไป, (พิมพ์ครั้งที่ 15,กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2551), หน้า 42.

[12] สุนีย์ มัลลิกะมาลย์, รัฐธรรมนูญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545), หน้า 57-67.

[13] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 บัญญัติว่า “กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ

เมื่อ ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งและถ้าบทกฎหมาย เช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”.

[14] ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, “สิทธิชุมชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกับการปรากฏตัวของกฎหมายจารีตประเพณี”, (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ธันวาคม 2548), หน้า 16.

[15] เรื่องเดียวกัน.

คำสำคัญ (Tags): #สิทธิชุมชน
หมายเลขบันทึก: 444354เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2011 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท