ประชาธิปไตย-การเลือกตั้ง-ข้อห้าม-ความกลัว


สนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยที่ทุกคนกล้าพูดในสิ่งที่ตนเองคิดหรือสงสัยออกมา ผ่านการทำงานในทุกขั้นตอน

     ช่วงนี้บรรยากาศการเลือกตั้งกำลังเข้มข้น นั่งทำงานอยู่ในสำนักงานก็จะได้ยินเสียงรถหาเสียงเปิดเทปซ้ำๆกันทุกวันให้เลือกเบอร์นั้นเบอร์นี้ วันแรกๆเสียงดังมากจนเลขาฯคิดในใจว่า ฉันจะไม่เลือกเบอร์ที่ทำเสียงดังรบกวนชาวบ้านอย่างนี้แน่นอน คงมีการร้องเรียนกันบ้างช่วงหลังเสียงจึงค่อยเบาลง

     เนื่องจากมูลนิธิพูนพลังทำงานเกี่ยวกับการศึกษา และไม่ได้เน้นหนักกับกิจกรรมการศึกษาเรื่องประชาธิปไตย จึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือกตั้ง แต่เราก็สนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยที่ทุกคนกล้าพูดในสิ่งที่ตนเองคิดหรือสงสัยออกมา ผ่านการทำงานในทุกขั้นตอน แม้แต่เด็กนักเรียนที่ได้รับทุนก็สามารถติดต่อสอบถามเรื่องต่างๆกับทางมูลนิธิโดยตรงได้ ไม่ต้องนั่งรออยู่เฉยๆว่าเมื่อไหร่ทุนการศึกษาจะลอยมาหา เพียงเพราะหวาดกลัวอะไรบางอย่างที่มองไม่เห็น

     เลขาฯเองก็ไม่คิดว่ามูลนิธิที่ทำงานเงียบๆอย่างพูนพลังจะต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวอะไรกับการเลือกตั้ง โดยส่วนตัวได้ไปดำเนินการขอใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้าไว้แล้ว เพราะปีนี้กำหนดมอบทุนคาบเกี่ยวกับวันเลือกตั้งพอดี ซึ่งคิดว่าก็ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะการสนับสนุนการศึกษาที่ทำมาอย่างต่อเนื่องทุกปีและการประกาศกำหนดการอย่างเปิดเผย ก็น่าจะเป็นเครื่องยืนยันเจตนารมณ์ของมูลนิธิได้

     แต่หลังจากส่งจดหมายขอความร่วมมือเรื่องการมอบทุนไปทางหน่วยงานการศึกษาแต่ละจังหวัด เจ้าหน้าที่จังหวัดหนึ่งก็รีบโทรศัพท์มา บอกว่า จัดมอบทุนวันเลือกตั้งไม่ได้ เจ้าหน้าที่ในวงการศึกษาไม่พร้อม และเลขาฯต้องไปอ่านกฎหมายเลือกตั้งให้ดี เพราะการทำอย่างนี้ผิดกฎหมาย

     เลขาฯสะดุ้ง รู้สึกผิดมากเพราะลืมไปเสียสนิทว่าเจ้าหน้าที่วงการศึกษาจะต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการต่างๆมากมายในการเลือกตั้ง และคงไม่พร้อมทั้งบุคลากรและสถานที่จริงๆ ยอมรับว่าเสียมารยาทมาก แต่ก็สงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า การมอบทุนการศึกษาในวันเลือกตั้งจะผิดกฎหมายข้อไหนได้อย่างไร

 

     เมื่อสงสัยก็ต้องค้นคว้ากันหน่อยค่ะ เอกสารการเลือกตั้งที่ส่งมาที่บ้าน เขียนถึงข้อห้ามกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งไว้ว่า

-  ห้ามซื้อเสียง หรือจัดเตรียมซื้อเสียง / ห้ามรับเงินและประโยชน์อื่นใดเพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง

-  ห้ามหาเสียงและห้ามขายหรือจัดเลี้ยงสุรา ตั้งแต่ 18:00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง

-  ห้ามนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิของลูกจ้าง / ห้ามขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง

-  ห้ามจัดยานพาหนะ (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้งโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสาร

-  ห้ามทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดอย่างจงใจ / ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนแล้วด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆ

-  ห้ามเล่นการพนันขันต่อใดๆเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง

-  ห้ามเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (โพลล์) ในระหว่างเวลา 7 วันก่อนเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง  

 

     ข้อที่อ่านแล้วบางคนอาจจะคิดว่าหมิ่นเหม่ ก็คือ การมอบทุนการศึกษา ซึ่งนักเรียนจะเป็นผู้รับเงิน แต่มูลนิธิก็มีรายชื่อนักเรียนต่อเนื่องที่รับทุนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่ได้แจกเพื่อให้ไปลงคะแนนให้ใคร และเด็กๆส่วนใหญ่ก็ยังอายุไม่ถึง ไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ด้วยซ้ำ

     อีกข้อหนึ่งคือ การหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ไปใช้สิทธิ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับผู้ปกครองหรืออาจารย์ที่พานักเรียนมา แต่พิธีรับมอบทุนของมูลนิธิก็จัดในช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย ใช้เวลาไม่เกินสองชั่วโมงก็เสร็จสิ้น ไม่น่าจะเป็นการหน่วงเหนี่ยวไปได้

     เมื่อตีความแล้วรู้สึกว่ามูลนิธิบริสุทธิ์ใจ ไม่เห็นต้องกลัวอะไร เลขาฯก็เลยโทร.ไปคุยกับเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ขอโทษขอโพยเป็นการใหญ่ที่กำหนดพิธีรับมอบทุนกันในวันเลือกตั้ง แต่เนื่องจากผู้มามอบทุนเป็นชาวต่างชาติ และต้องเดินทางมอบทุนในจังหวัดต่างๆ 11 จังหวัดให้เสร็จสิ้นภายใน 8 วัน จึงหลีกเลี่ยงหรือเปลี่ยนวันได้ยากมาก อยากจะขอความกรุณาจริงๆ เจ้าหน้าที่คงอารมณ์เย็นลง จึงตอบว่า เรื่องนี้ทำไม่ได้เพราะเจ้านายสั่งไว้ หน่วยงานราชการคงไม่สามารถให้ความร่วมมือได้เพราะอาจเกิดข้อครหา (ครั้งนี้ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องกฎหมาย) เจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งให้คำแนะนำว่า ควรลองติดต่อขอใช้สถานที่ของหน่วยงานเอกชน น่าจะยืดหยุ่นได้มากกว่าราชการ

     เลขาฯก็เลยไปติดต่อหน่วยงานเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดนั้น เจ้าหน้าที่ตอบรับอย่างดี และมีคนรู้จักกันท่านหนึ่งแนะนำว่า ให้หน่วยงานเอกชนนั้นทำหนังสือไปแจ้ง กกต.จังหวัดไว้ล่วงหน้า เพื่อแสดงความโปร่งใสว่าเรามีกำหนดการไว้แล้วและดำเนินการอย่างเปิดเผย

     ปรากฏว่าเมื่อเจ้าหน้าที่หน่วยงานนั้นไปถามเป็นการส่วนตัวอย่างไม่เป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ใน กกต. จังหวัด กลับได้รับคำตอบว่า จัดไม่ได้ เดี๋ยวจะถูกร้องเรียน มีตัวอย่างมาแล้วในหลายจังหวัด ทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเลยดีกว่า คือไม่อนุญาตไปเลย เรื่องจึงกลับมาที่เลขาฯใหม่ ว่าจะทำอย่างไรต่อไป

     เลขาฯจึงโทรศัพท์ไปสอบถามที่สำนักงาน กกต.จังหวัดนั้น โชคดีมากที่ได้สนทนากับพนักงานสืบสวนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายโดยตรง หลังจากเจ้าหน้าที่สอบถามเหตุผลว่าทำไมจึงต้องจัดงานในวันเลือกตั้ง และทราบว่ามูลนิธิมีกำหนดการไว้แล้วอย่างเปิดเผย เป็นกำหนดการต่อเนื่อง ผู้มามอบทุนเป็นชาวต่างชาติ ก็ตอบอย่างชัดเจนว่า ทำได้ ไม่มีปัญหา เพียงขออย่าให้มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็สามารถดำเนินการได้เป็นปกติ ไม่ว่าจะขอใช้สถานที่ของหน่วยงานใด

     ในเมื่อเจ้าหน้าที่ใน กกต.ยืนยันว่าไม่ผิดกฎหมาย และหน่วยงานที่จะช่วยอนุเคราะห์สถานที่ก็ไม่ขัดข้อง เลขาฯก็เลยกำลังจะทำจดหมายจากมูลนิธิไปถึง กกต. จังหวัดโดยตรง เพื่อแจ้งรายละเอียดทั้งหมดอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง

     แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่อาจจะทำให้เสียเวลาไปบ้าง แต่ก็ทำให้เลขาฯได้พบกับสภาพความเป็นจริงของประชาธิปไตย-การเลือกตั้ง-ข้อห้าม และความกลัว ที่มีอยู่ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ยังใจชื้นอยู่บ้างที่มีเจ้าหน้าที่ กกต. ที่รับฟังและตอบคำถามข้อสงสัยของประชาชนอย่างเป็นกันเองและมีหลักการ หวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้บรรยากาศความหวาดกลัวที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงผ่อนคลายลงจนหมดไป เหลือเพียงประชาธิปไตยที่เต็มไปด้วยความกล้า ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่ต้องเกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น

หมายเลขบันทึก: 444613เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2011 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท