Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบคุณเจนนี่ : บุตรของบิดากับมารดาสัญชาติภูฏานเกิดในประเทศไทยจะมีสิทธิในสัญชาติไทยได้อย่างไร ? จะทำหนังสือเดินทางได้อย่างไร ?


บันทึกตอบคำถามเกี่ยวกับสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของประชาชนที่ถามมา โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔

คำถาม

คุณเจนนี่ [IP: 110.168.12.124] เข้ามาถาม  อ.แหวว เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ เวลา ๑๔.๑๘ น. ใน http://www.gotoknow.org/ask/archanwell/13655 โดยมีใจความว่า

“ อาจารย์แหววค่ะ กรณีที่ชายหญิงคู่หนึ่งเป็นสัญชาติภูฎานทั้งคู่ค่ะ (มาพบรักและอยู่กินด้วยกัน ซึ่งฝ่ายหญิงมีครอบครัวที่ภูฎานอยู่แล้ว ฝ่ายชายก็เช่นกันค่ะ) เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยในกรณีโครงการวิจัยมีพาสปอรต์วีซ่าเข้ามาอย่างถูกต้องค่ะ ต่อมาได้คลอดบุตรสาวที่ประเทศไทยค่ะ ในใบสูติบัตรแจ้งว่าสัญชาติภูฏาณ จากนั้นโครงการหมดสัญญาทั้งคุู่ต้องเดินทางกลับประเทศของตน จึงทิ้งลูกไว้ที่นี่โดยมอบลูกให้สังคมสงเคราะห์ค่ะ ต่อมาเพื่อนของดิฉันก็ได้ไปยื่นคำร้องขอเด็กมาเลี้ยงดู และยื่นคำร้องขอรับเป็นบุตรบุญธรรมเรียบร้อยแล้วค่ะ ปัญหาติดอยู่ที่ว่า อยากให้น้องที่ขอรับมาจากสังคมสงเคราะห์ได้รับสัญชาติไทยค่ะ เพราะตอนนี้น้องอายุ 8 ปี ไม่สามารถทำพาสปอรต์ได้เลย และกำลังเรียนอยู่เกรงว่าจะกระทบกับหลายๆด้านของน้องค่ะ ต้องทำอย่างไรบ้างค่ะ ขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ ขอความกรุณาอาจารย์ตอบด่วนนะค่ะ ร้อนใจค่ะ

หากท่านอาจารย์หรือนักกฎหมายท่านใดจะช่วยตอบให้จักเป็นพระคุณอย่างสูงเลยค่ะ เพิ่มเติมนะค่ะ ของเจนนี่ค่ะ ในกรณีของน้องลูกภูฎานค่ะ เอกสารที่มี คือ 1.ใบสูติบัตร 2. ใบฝากครรภ์มารดา (หญิงภูฎาน) ไปขอคัดมาจากโรงพยาบาลค่ะ 3. เอกสารรับบุตรบุญธรรมอนุมัติแล้วค่ะ 4. หนังสือรับรองการเข้ามาทำงานในโครงการวิจัยของหน่วยงานราชการนั้นๆค่ะ 5.สำเนาพาสปอรต์ของบิดามารดา 6.หนังสือรับรองรายได้ของมารดา (คนไทยซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม) กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์แหวว และทุกท่านที่เข้ามาตอบเป็นอย่างสูงค่ะ

-------

คำตอบ

-------

ในประการแรก การทำหนังสือเดินทางของน้องนั้นน่าจะทำได้โดยสถานกงสุลภูฏาน เพราะว่า น้องน่าจะยังมีสัญชาติภูฏานโดยหลักสืบสายโลหิตนะคะ ได้เคยมีการไปติดต่อแจ้งการเกิดของน้องต่อสถานกงสุลภูฏานไหมคะ ไปจัดการเสียนะคะถ้ายัง

ในประการที่สอง ขอถามข้อเท็จจริงว่า น้องเกิดที่ไหน ? เมื่อไหร่ ? ซึ่งข้อเท็จจริงนี้น่าจะส่งผลต่อสิทธิของน้องในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน

ในประการที่สาม มีการแจ้งชื่อน้องในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยของผู้รับบุตรบุญธรรมแล้วยังคะ  ถ้ายัง โปรดติดต่อเขตหรืออำเภอซึ่งผู้รับบุตรบุญธรรมมีทะเบียนบ้านอยู่นะคะ

          มาอ่านดูอีกรอบ ถ้าน้องมีอายุ ๘ ปี น้องก็น่าจะเกิดประมาณ พ.ศ.๒๕๔๖ ดังนั้น น้องคงไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย การได้สัญชาติไทยนั้น คงต้องใช้วิธีการร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

          ดังนั้น ขอถามต่อไปว่า การรับน้องเป็นบุตรบุญธรรมของคนสัญชาติไทยสมบูรณ์ตามขั้นตอนของกฎหมายเมื่อไหร่คะ ?

          สิ่งที่ตอบได้โดยหลักการ ก็คือ ไม่ว่าน้องจะยังไม่มีสิทธิในสัญชาติไทย น้องก็มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยเพราะเกิดในประเทศไทยและมีบุพการีบุญธรรมเป็นคนสัญชาติไทย และมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศภูฏานเพราะบุพการีตามข้อเท็จจริงเป็นคนสัญชาติภูฏาน ดังนั้น รัฐทั้งสองย่อมจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในตัวน้อง อันอาจหมายความในทางรูปธรรม ก็คือ การออกหนังสือเดินทางให้แก่น้องค่ะ

-------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 444936เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2011 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์แหววเป็นอย่างสูงค่ะ ในรายละเอียดเกี่ยวกับตัวน้อง (บุตรภูฎาน) ดิฉันจะนำเรียนให้ทราบอีกครั้งในวันพฤหัสบดีที่ 23 มิ.ย. ค่ะ

ยินดีค่ะ ข้อเท็จจริงหลายอย่างที่ถามจะส่งผลต่อการคำนวณความเป็นไปได้ที่รัฐไทยจะยอมรับน้องในสถานะคนสัญชาติไทย โปรดหาข้อมูลมานะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท